วันเสาร์, พฤษภาคม 30, 2563

"เสียวตูด"




ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา
ถ้าใครติดตามการให้สัมภาษณ์-แสดงความเห็นของดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานหนัก-ต่อเนื่องมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศนี้
ก็คงจะรู้สึกคล้ายๆ กันกับผมว่า"เสียวตูด"
ไม่ใช่เสียวอะไรพรรค์นั้น
แต่เป็นความเสียวที่เกิดจากความประหวั่นพรั่นพรึง ว่านี่เรากำลังนั่งทับ"ระเบิดเวลา"ลูกใหญ่เอาไว้
...
ดร.ศุภวุฒิท่านบอกว่า ชนวนของระเบิดเวลาลูกนี้ตั้งเอาไว้ที่ประมาณ 150 วัน
คือจะระเบิดเมื่อกำหนดเวลาในการ"พักชำระหนี้"ระหว่างสถาบันการเงินและลูกค้าทั้งหลายสิ้นสุดลงในราวต้นเดือนตุลาคม
เพราะการพักชำระหนี้ที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นการ"ยก"เงินต้นหรือดอกเบี้ยให้ผู้กู้
เป็นเพียงแค่การ"พัก"เอาไว้ชั่วคราว
แล้วจะมาเริ่มให้ชำระใหม่เมื่อครบหกเดือน(หลังจากเริ่มมาตั้งแต่ประมาณต้นเดือนเมษายน)
ถึงตอนนี้ภาระหนี้ที่ลูกค้าจะต้องจ่ายแบงก์ คือ 6 เท่าของปกติ เพราะมีดอกเบี้ยถมทับกันมา
ถามว่าบริษัทห้างร้านส่วนใหญ่ที่เป็นหนี้ โดยเฉพาะบรรดาผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางหรือเอสเอ็มอี ทั้งหลาย
จะมีปัญญาจ่ายหนี้ให้สถาบันการเงินหรือไม่
ถ้าการ"เปิดพื้นที่"ในสังคม ยังดำเนินไปอย่างลักปิดลักเปิด
และยังไม่มีทิศทาง-นโยบายชัดเจน ว่าจะหา"เงินใหม่"ที่ไหนเข้ามาจุนเจือ-เยียวยา-ต่ออายุกิจการ แทนที่รายได้จากการส่งออก-การท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศที่หดหายไป
...
ถ้าลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้จะเกิดอะไรขึ้น
สถาบันการเงินจะยอมให้"เอ็นพีแอล"พุ่งขึ้นมหาศาล จนกระทั่งต้องเพิ่มทุนใหม่(ซึ่งอาจจะหาเงิน-คนมาลงทุนไม่ได้)หรือไม่
หรือจะเลือกฟ้องร้องลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลามมาถึงตัว
แล้วลูกค้าจะทำยังไง-ถ้าไม่มีปัญญาจ่ายหนี้คืน
จะยืดต่อไปได้หรือไม่
แบงก์ชาติจะยอมไหม
จะเสี่ยงกับมาตรฐานของธนาคารกลางระหว่างประเทศที่เขากำหนดไว้ไหม
ถ้าไม่ให้ยืดหนี้ต่อไป(ในขณะที่ยังไม่เห็นทางว่ารายใหม่จะเข้ามาอย่างไร)
กิจการจะเจ๊งคาตาไหม
จะมีการปลดคน หรือคนต้องตกงานกันอย่างมโหฬารไหม
ถ้านี่ไม่ใช่ระเบิดเวลาแล้วจะเป็นอะไร
...
ถามว่าใครสามารถถอดชนวนระเบิดนี้ในเวลา 150 วันได้บ้าง
หนึ่งก็คือแบงก์ชาติอย่างที่ว่า
จะตากหน้าไปเจรจากับโลกว่า บ้านนี้เมืองนี้ยังแย่เต็มที
ขอผ่อนผันมาตรฐาน-กฎเกณฑ์ไปยาวๆ
เสี่ยงกับที่เขาจะลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
หรือจะไม่ทำอะไร
หรือจะมีทางออกที่สามแบบไหน
ตรงนี้ยังไม่ชัด
อีกหนึ่งคือรัฐบาล ที่ต้องทำให้เกิดภาพชัดเจน ว่า"การฟื้นตัว"ทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร
จะสร้าง"บรรยากาศ"ให้ธุรกิจกลับฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร
จะ"เพิ่มรายได้-กำลังซื้อ"ให้คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้กลับคืนมาได้อย่างไร
นี่ก็ยังไม่เห็นเหมือนกัน
และรู้สึกว่าจะยากกว่าทางแรกด้วย
ถ้าพิจารณาจาก"ทัศนคติ"ของผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายหรือทิศทางของประเทศในปัจจุบัน
...
เรามีหมอที่ขยันขู่ให้ทุกคนหดหัวเป็นเต่าอยู่ในบ้าน
อดตายอยู่ในกระดองไม่เป็นไร
แต่อย่าออกมาตายด้วยโควิด-19 ให้เสียสถิติ
โดยไม่ได้บอกว่า"ทางสายกลาง" ทางแห่งความสมดุลที่จะรอดทั้งจากโรคระบาด และไม่ล้มหายตายจากไปเพราะพิษเศรษฐกิจ ควรจะอยู่ตรงไหน
เรามีผู้นำประเทศที่เห็นประชาชนเป็นพวก"ด้อยค่า-ด้อยปัญญา" ดีแต่แบมือขอรับความช่วยเหลือ
การ"สงเคราะห์"ของรัฐบาบลจึงเป็น"บุญคุณ"เหลือหลาย
ไม่ใช่"หน้าที่" ที่เขาจะต้องทำในฐานะคนอาสา(เอ๊ะ หรือไม่ได้อาสา แต่ยึดอำนาจมาดื้อๆ)มาเป็นรัฐบาล
...
ลองพิจารณาจากคำแถลงในสภาเมื่อวานนี้ดูแล้วกันครับ
"ถ้าท่านโทษแต่รัฐบาล รัฐบาลไม่สามารถไปล้วงถึงบ้านได้ ท่านต้องรู้จักหน้าที่ หน้าที่ของท่านคือไปลงทะเบียน ไปแก้ไขทะเบียนให้ถูกต้อง"
รัฐบาลต้องบริหารราชการตามกฎหมาย หากประชาชนต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินให้เร็ว ก็ต้องรู้จักหน้าที่และสิทธิของตัวเองด้วยการไปแก้ไขข้อมูลการลงทะเบียนให้ถูกต้อง
เงินเยียวยาเป็นเงินสำหรับการดำรงชีพ ส่วนที่หลายคนบอกว่าเป็นหนี้นั้น ก็ต้องไป "แก้ไขปรับเปลี่ยนพัฒนาตัวเอง" โดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้สนับสนุน
"นี่เป็นเงินดำรงชีพ 3 เดือน แต่ไม่สามารถเอาเงินจำนวนนี้ไปผ่อนมอเตอร์ไซค์ ผ่อนรถได้หรอกครับ"
...
ฟังแล้วมีหวังในชีวิตเพิ่มขึ้น หรือยิ่งหดหู่ลง
ไม่ต้องแจ้งมาก็ได้นะครับ
เข้าใจตรงกันอยู่แล้ว

Thakoon Boonparn

https://www.facebook.com/thakoon.boonparn/posts/10214348011728730