วันเสาร์, พฤษภาคม 30, 2563

เพิ่งได้ยิน “ยืมใช้คงรูป” สำนวน ‘ปกป้องผู้บังคับบัญชา’ (ปปช.) นั่นแล้ว


ปปช.นี่เขาคงเส้นคงวาดีจัง คนของใครย่อมรับใช้ผู้มีพระคุณไม่แชเชือน คิดได้แล้วนาฬิกายืมเพื่อนเนี่ย “เป็นการยืมใช้คงรูป แม้เป็นหนี้ แต่มิใช่หนี้สินตามที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ต้องแสดงในบัญชี” ฉะนี้คดีที่ฟ้องพี่ป้อม หลุดโลด

หลายคนบอกเพิ่งเคยได้ยินว่ามีการ “ยืมใช้คงรูป” ด้วยเหรอ นี่ไง ปปช.บอกแล้ว ใช้เป็นมาตรฐานใหม่ ให้ยืมใช้แล้วยังคงรูปก็โอเคร จะเป็นแหวนเพชร บ้าน แม้กระทั่งธนบัตร เพราะถ้ายังจำนวนเดิม คงรูปเดิมไม่ย่อยสลาย ก็น่าจะได้ทั้งนั้นนะ

ข้อสำคัญขอให้บอกว่ายืมมาเท่านั้น เสียท่า ปปช.ไม่ได้ลงรายละเอียดด้วยว่าคนที่จะใช้แต่คำพูดอ้างว่ายืมนั้นต้องระดับ ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือตาสีตาสาก็ได้ ในเมื่อกรณีนี้ฟังแต่คำพูดอดีตรองหัวหน้า คสช.นายเก่าของประธาน ปปช.พอแล้ว

แม้เมื่อมีการตรวจแหล่งที่มาของนาฬิกา ๒๒ เรือนที่นายปัฐวาท สุขศรีวงศ์ เพื่อนสนิท พล.อ.ประวิตรจากโรงเรียนเซ็นคาเบรียล ไม่ปรากฏหลักฐานการนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ด้วยเหตุที่นายปัฐวาทผู้นี้เป็นมหาเศรษฐีชอบสะสมนาฬิการาคาแพง

จึงเชื่อได้ว่าได้ให้ พล.อ.ประวิตรยืมด้วยความสนิทสนม เพราะเพื่อนคนอื่นๆ ในกลุ่มศิษย์เก่าเซ็นคาเบรียลก็มีที่นายปัฐวาทให้ยืมนาฬิกาสวมใส่เหมือนกันบางคน แม้นไม่สามารถตรวจได้ว่านาฬิกาที่ พล.อ.ประวิตรบอกคืนหมดแล้วยังมีอยู่ไหม เพราะเจ้าของเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม

อันนั้นไม่แน่ใจว่า ปปช.ใช้เหตุผลใดวินิจฉัยตามมาตรฐานใหม่เรื่องการ คงรูปซึ่งปุถุชนอย่างเราๆ ย่อมเข้าใจว่าหมายถึงการมีตัวตนอยู่ของนาฬิกาเหล่านั้น เอาเป็นว่า ปปช.เชื่อทุกถ้อยคำที่ พล.อ.ประวิตรอ้างก็แล้วกัน

จะว่าเพราะ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจเป็นวัวเคยขาของ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ได้นะ ในเมื่อประธานได้ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดีนี้ไปแล้ว และมติ ปปช.ที่เหลือออกมา ๕ ต่อ ๓ ข้างมากขาดลอยอยู่แล้ว แสดงว่าส่วนใหญ่เชื่อว่า “คืนหมดแล้ว” ดังอ้าง

ส่วนการตัดสินว่าการยืมของแพงๆ มาใช้แล้วคืนเจ้าของ (อาจสึกหรอบ้างแต่ยังคงรูปมั้ง) ไม่ต้องแจ้งในบัญชีทรัพย์สิน โดยดูที่ฐานะของผู้ให้ยืม “มากกว่าประเด็นใครเป็นผู้ใช้งานหรือครอบครองในทรัพย์สินนั้น” ดังอิศรานิวส์สันนิษฐาน

ปปช.ให้เหตุผลว่า “ตามคำอธิบายการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินท้ายแบบบัญชีรายการหนี้สินล้วนหมายถึงหนี้สินที่เป็นเงินตราเท่านั้น มิใช่เป็นการยืมใช้สอยได้เปล่าและมีการคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้ให้ยืม”
 
นั่นจะทำให้นักกฎหมายทั่วๆ ไปร้องฮ้อ ยอมรับเป็นมาตรฐานใหม่หรือไม่ มันก็หลังเย็นเสียแล้ว ดังที่อิศราเปรียบเทียบกับคดีรถโฟล์คในบ้านของนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาตัดสินว่าผิด

เพราะ “ดูพฤติการณ์ในการซื้อ การครอบครอง รวมถึงการใช้รถยนต์ด้วย ซึ่งรถยนต์คันดังกล่าวแม้มีชื่อนายเอนก (จงเสถียร เจ้าของบริษัทเอ็มเอ็มพี) เป็นเจ้าของทะเบียนรถยนต์ แต่ในทางปฏิบัติ...เมียนายสุพจน์เป็นผู้ครอบครองและใช้งาน”

จะว่า ปปช.ไม่ยักใช้หลักการผู้ครอบครองของให้ยืมมาพิจารณาแบบศาลอาญานักการเมือง เพราะ พล.อ.ประวิตรใช้เอง (ไม่มีเมีย) แล้วเมียนายสุพจน์ก็ยังเอารถไปให้พระเทพปฏิภาณกวีใช้ ในกิจการเกี่ยวกับเด็กและศาสนาด้วย เลยทำให้กล้อมแกล้มไปได้


แต่ข้อน่าสังเกตุอย่างยิ่งว่า คดีนาฬิกาหรู ๒๒ เรือนที่ พล.อ.ประวิตรใช้และครอบครองในลักษณะทางนามธรรมเช่นเดียวกับที่ภรรยาของอดีตปลัดคมนาคมใช้กับรถโฟล์ค ทำไม ปปช.พิจารณานาฬิกาหรูเป็น หนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน

เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าคืนแล้ว (ตามจำเลยอ้าง) จึงไม่เป็นหนี้ งั้นหรือ ทั้งที่แท้จริงนาฬิกาเหล่านั้นก็คือทรัพย์สินที่เจ้าของให้มาใช้และครอบครองโดยเสน่หา ต่อไปภายหน้าคงต้องจารึกว่า ปปช.ยุคนี้ก็คือ กระบวนการ ปกป้องผู้บังคับบัญชานั่นแล้ว