ทำเป็นดุดันและกลั่นกล้าด้วยเสียงดัง
ทั้งที่บุคคลิกปกติไม่ให้ ทั่วๆ ไปมักหลุกหลิกและลุกลน
แต่นี่เป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด แค่สร้างภาพกลางสภา “ทุกคนเสียภาษีเหมือนกันหมด...พวกท่านเป็นหนี้ผมเองก็เป็นหนี้ด้วย”
ประยุทธ์แถกเรื่อง พรบ.การเงินสามฉบับที่จะก่อหนี้เพิ่มให้แก่ประเทศอีก
๑.๙ ล้านล้านบาท ไม่ว่าจะมาในรูปแบบเงินกู้ต้องจ่ายดอกเบี้ย
หรือเงินอุ้มสถาบันการเงิน แล้วยังโบ้ยบ้ายโทษคนโน้นคนนี้ เป็นความเคยชินไม่เคยยอมรับผิด
แถ “ตัวเลขหนี้สาธารณะที่ปรากฎขึ้นมานั้น เกิดมาหลายรัฐบาลก่อนหน้านี้”
รัฐบาลที่แล้วนั่นแหละตัวดี ถลุงเสียไม่มี จาก ๔๐% มาสู่
๔๑ เดี๋ยวนี้ ๕๐ ฝีมือคุณเฮียทั้งนั้น แม้ผู้ว่าแบ๊งค์ชาติแจงโครงการซ้อฟโลนว่าไม่ใช่เงินกู้
แค่ ๕ แสนล้านบาทก็หนี้ทางอ้อม
วิรไท สันติประภพ บอกสภาว่า “ธปท.ปล่อยเงินออกไปให้สถาบันการเงิน
เมื่อครบ ๒ ปีสถาบันการเงินก็จะนำเงินที่มีการกู้จาก ธปท. กลับมาคืน
ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นภาระภาษีให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต”
แต่ก็เป็นสองปีที่เงินก้อนนี้ไร้ค่า
ที่เหลือนอกนั้นอีกล้านล้านครึ่งนั่นภาระบนหลังประชาชนโดยตรง
ส่วนที่ประยุทธ์อ้างต่างชาติชื่นชม ก็คงเรื่องที่โควิด-๑๙ ไม่แพร่ขยายมากมายในไทย
มันเป็นผลของการตื่นรู้และมีน้ำอดน้ำทนของประชาชน
ปฏิบัติตนเพื่อการป้องกันอย่างเคร่งครัด
แน่นอนว่ารัฐบาลย่อมรับความชอบไปตามฟอร์ม
แต่ระหว่างการดำเนินมาตรการสกัดกั้นแพร่เชื้อ
มีเรื่องผิดผีผิดไข้มากมายที่รัฐบาลไม่รู้เท่าทัน บางอย่างเจ้าเล่ห์เพทุบายด้วยเป้าหมายทางการเมือง
เช่นการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน อ้างเพื่อไม่ให้เกิดการอลหม่าน
ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่สามารถนำมาใช้กำกับไม่ให้เกิดการสับสนได้หลายสถาน
มันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องบริหารจัดการกฎหมายเหล่านั้นให้เกิดประสิทธิภาพ โดยยึดถือการละเว้นก้าวล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชนก่อนอื่นใด
หากแต่รัฐบาลของประยุทธ์ จันทร์โอชา ชุดนี้ที่สืบเนื่องกรรมวิธีปกครองจากรัฐบาลของคณะยึดอำนาจ
คสช. มาครึ่งใบ ยังเต็มไปด้วยแนวคิดและทางปฏิบัติอย่าง ‘เผด็จการ’ เกือบเต็มใบ
ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายโดยไม่เกิดการงอกเงย หรือการอธิบายเหตุด้วยความเท็จ
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ
ที่แสดงว่าประเทศไทยยังเป็นกึ่งรัฐทหาร และขาดแคลนหลักการสิทธิมนุษยชนสากล ปรากฏเมื่อคณะกรรมาธิการยุติธรรมฯ
สภาผู้แทนต้องเชิญ ผบ.ทบ.ไปชี้แจงกรณีสิบเอกนายหนึ่งร้องเรียน ว่าถูกผู้บังคับบัญชาข่มขู่
คุกคามเอาชีวิต
เนื่องจาก ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี
เสมียนงบประมาณในกรมสรรพาวุธทหารบกเปิดเผยว่าเกิดการทุจริตยักยอก “เบี้ยเลี้ยงการเดินทางของทหารในศูนย์ซ่อมสร้าง...และค่าใช้จ่ายในโครงการอบรมต่อต้านยาเสพติด
ที่ตนได้มีส่วนรู้เห็น”
ไม่เพียงกองทัพบกตั้งแง่ว่าเรื่องร้องเรียนของทหารผู้น้อยยศแค่นายสิบ
ทำไมต้องถึงกับให้ ผบ.ทบ.ไปชี้แจง ยังปรากฏว่า พล.ต.อภิชาติ อาจสันเทียะ
ผู้บังคับบัญชาของ ‘หมู่อาร์ม’ ผู้ร้องเรียนสั่งสอนลูกน้องถึงทางปฏิบัติซึ่งละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง
“ครั้งนี้เอ็งอาจจะรอด
แต่ครั้งหน้าเอ็งไม่รอดแน่ ถ้าเอ็งทำอีก เขาไม่มียกโทษกันให้บ่อย
เขาให้โอกาสคนครั้งเดียวเท่านั้น ครั้งต่อไปไม่ต้องพูดถึง...ถ้าเอ็งอยากจะเจริญก้าวหน้า
อยากอยู่ในอาชีพนี้ ก็ต้องไปปรับปรุงตัว ศึกษาเรื่องระเบียบวินัยทหาร”
ระเบียบวินัยที่ว่าก็คือ “การที่เราจะเถียงผู้บังคับบัญชา
ทหารไม่ยอม...ถ้ามีความรู้สึกว่าผมไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็เขียนรายงานขึ้นมา...เขียนรายงานนี่แหละ
มันก็ชนะ ถ้าถูกจริงนะ แต่ถ้าไม่ถูกโทษสองเท่า จำไว้เลยนะทหารเรา
...เพราะฉะนั้นทำอะไรให้คิด คิดให้หนัก
อย่าเอาความคิดแบบพลเรือน ร้องเรียนนั่นนี่ไม่เกิดประโยชน์ มันจะย้อนเข้าหาตัวเอง...ถ้าคิดว่าอยู่ไม่ได้
ไม่ชอบชีวิตแบบนี้ก็ลาออกไป...นักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) รุ่นเดียวกับผมนี่
ลาออกไปเกือบครึ่งแล้วนะ”
ผู้บังคับบัญชายังเปรียบเทียบระเบียบทางทหารว่าเป็นกฎหมายเหมือนกันกับ
‘ข้างนอก’ “จะบอกว่าผมทำผิดแล้วผมไม่รู้กฎหมาย
ไม่เกี่ยวคุณอ้างไม่ได้ คุณต้องศึกษาต้องเรียนรู้...นี่หละบอกไว้ เตือนไว้ถ้าอยากมีความก้าวหน้าในอนาคต
ปรับตัวซะ”
(https://prachatai.com/journal/2020/05/87860, https://www.matichon.co.th/politics/news_2206488 และ http://life.voicetv.co.th/read/CPjDw6enx)
ในความเหมือนกับกฎหมายข้างนอกที่ผู้พันอ้าง
มันมีความต่างอย่างสุดโต่งปรากฏอยู่ เพราะว่า ‘ระเบียบของกองทัพ’ นั้นห้ามปูดความมิดีมิร้ายภายในให้ภายนอกรู้ แต่ว่า ‘กฎหมายบ้านเมือง’ (อันเป็นสากล) ย่อมอ้าแขนรับ ‘whistle
blowing’ อยู่เสมอ
ไม่เช่นนั้นสาธารณชนจะรู้แจ้งถึงความชั่วร้ายภายในเครือข่ายอำนาจกดขี่ได้อย่างไร
แต่ประเทศไทยระกำที่การ ‘เป่านกหวีด’
กลับเคยถูกเครือข่ายอำนาจฉกไปเป็นเครื่องมือยึดครองเสียฉิบ