วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 21, 2563

ฟื้นฟูการบินไทย ฤ จะเหมือน Japan Airlines ? Japan Airlines เขาฟื้นฟูกันอย่างไร…ใครต้องสูญเสีย...




ผมดีใจนะครับที่การบินไทยและรัฐบาลเลือกทางเดินที่ควรเลือกครับ แต่วันนี้มันยังเป็นแค่ทางแยกแรก หนทางยังอีกยาวไกล และเราต้องการผู้นำทางที่มีความสามารถ และกล้าที่จะเปลี่ยน และแน่นอนว่าต้องมีบางคนที่จะต้องสูญเสีย
เพื่อไม่ให้เราหวังสูงกับมันมากเกินไป ผมขอเอากรณีศึกษาของการฟื้นฟูกิจการของ Japan Airlines ที่คนพูดถึงกันว่าประสบความสำเร็จมากๆ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น แต่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยได้ยินว่ามีใครบ้างต้องรับความเสียหายจากการที่ Japan Airlines เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
วันนี้เลยขอไล่รายชื่อผู้เกี่ยวข้องที่โดนผลกระทบ จากการที่ Japan Airlines เข้ากระบวนการฟื้นฟูเมื่อปี 2553 และออกจากกระบวนการฟื้นฟูในปี 2555
1. ด้วยกฎหมายล้มละลายที่เข้มงวดของญี่ปุ่นที่ยึดในความเชื่อที่ว่าถ้าบริษัทมีปัญหา ผู้ถือหุ้นจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายก่อนเจ้าหนี้ ผู้ถือหุ้นของ Japan Airlines ทั้งหมด 380,000 คน โดนลดทุน 100% และบริษัทเข้าควบรวมกับบริษัทย่อยคือ Japan Airlines International และเปลี่ยนชื่อกลับมาเป็น Japan Airlines แปลว่าไม่มีหุ้นเหลือเลยในบริษัทใหม่ครับ
2. ธนาคารและสถาบันการเงิน ยอมลดหนี้ของตน 87.5% (521.5 พันล้านเยน) จน article บางอันบอกว่านี้ไม่ใช่ haircut (ตัดผม) แต่เป็นการ shave (โกนหัว) เสียมากกว่า
3. ผู้โดยสารโดนผลกระทบจากการลดจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศจาก 148 มาเป็น 109 เที่ยวบิน และเที่ยวบินนานาชาติจาก 75 มาเป็น 65 เที่ยวบิน (จากเดือนมี.ค. 2553 - มี.ค. 2556)
4. พนักงาน ค่าตอบแทนของพนักงานขับเครื่องบิน พนักงานต้อนรับ พนักงานภาคพื้น ถูกลดลง 21%, 24% และ 25% ตามลำดับ ในระหว่างปี 2551 - ปี 2554 การประกันชั่วโมงบินถูกยกเลิกทั้งหมด กองทุนสำรองเลี้ยงชีพถูกหักผลประโยชน์ลง 50% สำหรับพนักงาน และ 30% สำหรับพนักงานที่เกษียณอายุแล้ว นอกจากนี้ยังลดพนักงานอีก 15,700 คนจาก 47,000 คน แน่นอนที่สุด สหภาพแรงงานย่อมไม่พอใจเป็นอย่างมากและประท้วงในเรื่องนี้ แต่พอ ETIC ขู่ที่จะไม่ให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือ Japan Airlines ถ้าหากสหภาพแรงงานทั้งสองของบริษัทจะออกมาประท้วง ประเด็นความขัดแย้งก็ลดลง
5. เจ้าหนี้การค้า ไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะให้บริษัทดำเนินการต่อไปได้
6. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล คือ Development Bank of Japan (DBJ) ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยการปล่อย bridge financing ให้ 100 พันล้านเยน ส่วนที่เป็นหนี้ได้รับการคุ้มครอง แต่ส่วนที่เป็นหุ้นบุริมสิทธิ์มูลค่า 20 พันล้านเยนได้รับผลกระทบจากการลดทุนทั้งหมด
ผมคงทิ้งท้ายไว้ตรงนี้ว่านักลงทุนอย่าเพิ่งดีใจกับข่าวการเข้ากระบวนการฟื้นฟูของการบินไทยจนเกินไปครับ หนทางยังอีกยาวไกล และยังต้องถางกันอีกมากครับ
แต่ก็ต้องขอให้กำลังใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และหวังว่าจะร่วมกันผลักดันให้การบินไทยกลับมาเป็นสายการบินชั้นนำของโลกในเร็ววันครับ
เดี๋ยวตอนหน้ามาดูกันว่า Japan Airlines ภายใต้การลงทุนของ ETIC และวิธีการบริหารแบบ Amoeba Management ของคุณลุง Inamori ทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ
ป.ล. ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรใดๆ ครับ ข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลในอดีตของ Japan Airlines ไม่สามารถเปรียบเทียบกับการบินไทยได้ เป็นเพียงข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น
ที่มา:
https://en.wikipedia.org/wiki/Enterprise_Turnaround_Initiative_Corporation_of_Japan
https://en.wikipedia.org/wiki/Japan_Airlines
Yasuhiro Monden, Management of Enterprise Crises in Japan
...



Enterprise Turnaround Initiative Corporation of Japan (ETIC) อัศวินม้าขาวที่มากอบกู้ Japan Airlines
(ขอใช้ปี ค.ศ. นะครับ)
หลายๆ คนอาจจะงงว่า ETIC นี่คืออะไร และทำไมเข้ามาช่วย Japan Airlines จนทำให้ Japan Airlines อยู่รอดมาได้ทุกวันนี้
ก่อนอื่น ต้องเล่าให้ฟังว่า ญี่ปุ่นมีวิธีการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ไม่เหมือนที่อื่นในโลก ญี่ปุ่นมักจะแก้ปัญหาอะไรด้วยตนเอง และรัฐบาลกับเอกชนก็มีความเหนียวแน่นของมันเอง ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความสามารถและแนวโน้มที่จะใช้เครื่องมือทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนเข้าแก้ปัญหา จึงสามารถมีวิธีการที่ไม่เหมือนชาวบ้านออกมาแก้ปัญหา (unconventional)
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ประเทศญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจฟองสบู่ทั้งในภาคธุรกิจและภาคเอกชน พอฟองสบู่แตก รัฐบาลก็ใช้ระบบการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยไปจนเป็นศูนย์ ทำให้เศรษฐกิจอยู่รอดมาได้ แต่ก็ค่อนข้างอ่อนแอ โดยเฉพาะภาคการเงินที่มี NPL ค่อนข้างสูง
จนกระทั่งในปี 2002 สมัยนายกรัฐมนตรี Koizumi คณะรัฐมนตรีได้ประกาศมาตรการ Financial Revitalization Program ที่พยายามให้ธนาคารลด NPL จาก 8.4% ลงมาเหลือ 4.2% ภา ยในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนนี้คือการจัดตั้ง IRCJ (Industrial Revitalization Corporation of Japan) ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาซื้อหนี้เสียและเอาไปบริหาร ซึ่งได้ลงทุนไปในบริษัท 41 แห่ง ซึ่งมีหนี้รวมประมาณ 4 ล้านล้านเยน และยังบริหารงานได้กำไรมาถึง 40 พันล้านเยนด้วย ก่อนที่จะเลิกกิจการไปในปี 2007 ซึ่งตอนนั้นใช้เงินไปเพียง 1.2 ล้านล้านเยน จากที่รัฐบาลตั้งงบให้ถึง 10 ล้านล้านเยน ซึ่งทำให้ NPL ของธนาคารใหญ่ๆ ลดลงไปมาก แต่กับพบว่าธนาคารระดับเขต (Regional banks) กลับไม่ได้มี NPL ลดตามที่ตั้งใจไว้ ประกอบกับเป้าหมายในการแก้ NPL ย้ายจากบริษัทใหญ่ๆ ไปสู่ SME ดังนั้นรัฐบาลจึงร่วมมือกับเอกชนจัดตั้ง ETIC เพื่อการนี้ ดังนั้นเงินส่วนหนึ่งจึงมาจากหน่วยงานท้องถิ่น, ธนาคาร และบริษัทในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยโครงสร้างการถือหุ้นมี DCI-J (Deposit Insurance Corporation of Japan) เป็นผู้ถือหุ้นหลัก
ดังนั้น การที่ ETIC จะไปช่วย Japan Airlines นั้นย่อมได้รับการวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ แต่ตอนนั้นเงินที่ได้รับประกันจากรัฐบาลสูงถึง 1.6 ล้านล้านเยน แต่มีการใช้ไปเพียง 370 พันล้านเยนเท่านั้น ในที่สุด ETIC จึงสามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือ Japan Airlines ได้
ETIC ในปัจจุบันได้มีการโอนย้ายไปเป็น Regional Economy Vitalization Corporation of Japan (REVIC) ตั้งแต่ปี 2013
เดี๋ยวเรามาดูประวัติคุณลุง Inamori กับแนวทางบริหารแบบ Amoeba Management กัน
ที่มา:
Fumihito Gotoh, Japanese Resistance to American Financial Hegemony
https://www.globalasia.org/v5no2/feature/the-real-story-of-the-problems-at-japan-airlines_kazuhiko-toyama
https://www.flightglobal.com/japan-airlines-gets-court-approval-for-restructuring-plan/97170.article
https://web.archive.org/web/20120304091908/http://www.etic-j.co.jp/pdf/english.pdf
http://www.revic.co.jp/en/about/index.html
...



วันนี้ผมจะขอมาอธิบายให้เข้าใจกันง่ายว่า ทำแผนฟื้นฟูเฉยๆ ไม่ได้เหรอ
ก่อนที่จะไปตรงนั้นมาเข้าใจ concept ง่ายๆ กันก่อนนะครับ ถ้าใครเคยเห็นงบดุลมันก็จะออกมาเป็นประมาณ
ด้านซ้ายของงบจะบ่งบอกสิ่งของที่บริษัทมีเพื่อไว้ใช้ในการก่อให้เกิดรายได้ เช่น เงินสด ลูกหนี้การค้า เครื่องจักร เป็นต้น
ด้านขวาจะระบุถึงหนี้สิน เช่นเงินกู้ธนาคาร เจ้าหนี้การค้า และส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งมีทุนชำระแล้ว และกำไรสะสม เป็นต้น
สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน
ในบริษัทปกติ สินทรัพย์ก็จะมีมูลค่าสูงกว่าหนี้สิน ทำให้มีส่วนเหลือเป็นทุน ถ้าเหลือกว่าเงินลงทุนที่ลงไปก็จะมีเงินเหลือเป็นกำไรสะสมนั่นเอง
แต่ถ้าบริษัทมีผลประกอบการที่ไม่ดี เงินกำไรสะสมก็จะร่อยหรอ จนกลายเป็นขาดทุนสะสม คือตัวเลขติดลบ ถ้าติดลบมากๆ ก็อาจจะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบได้
ในอีกด้านหนึ่งเราก็ต้องมาดูเรื่องของการใช้จ่ายเงิน ถ้าเงินเข้ามากกว่าเงินออก บริษัทก็จะมีเงินเหลือเพิ่มขึ้น แต่ถ้ากลับกัน เงินของบริษัทก็จะลดลงทุกที ถ้าเมื่อไร เจ้าหนี้ถามหาเงินชำระหนี้ แล้วบริษัทมีจ่ายเสมอ ก็ไม่มีปัญหา
ถ้าเมื่อไรมีปัญหาขาดทุนเรื้อรัง หรือปัญหาเงินสดขาดมือ ก็จะเริ่มมีปัญหากับเจ้าหนี้แล้ว ถ้าอยากแก้ปัญหาแบบไม่ต้องวุ่นวายก็มีทางเลือกหลายทาง
1. เพิ่มรายได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้ขายได้เยอะขึ้น จะได้มีเงินเข้ามากขึ้น
2. ลดค่าใช้จ่าย จะได้มีเงินออกจากมือน้อยลง
3. ขายสินทรัพย์ที่ไม่จำเป็นกับการดำเนินกิจการไปใช้ชำระหนี้
4. กู้เพิ่ม เพื่อได้มีเงินเข้ามาใหม่ไปใช้เจ้าหนี้ที่มีปัญหา
5. เพิ่มทุน เพื่อเอาเงินใหม่จากผู้ถือหุ้นไปชำระหนี้เก่า
สำหรับ 1,2 และ 3 มันก็เหมือนแผนฟื้นฟูปกติ คือทำอย่างไรให้ผลประกอบการดีขึ้นจนเงินเข้ามือมากกว่าเงินออกจากมือ
สำหรับ 4 และ 5 พึงทำได้ในเวลาปกติที่ฐานะบริษัทไม่ย่ำแย่และดูมีอนาคต ถ้ายามย่ำแย่ก็ไม่มีใครอยากให้เงินเพิ่ม เพราะรู้ว่าอาจจะไม่ได้เงินคืน
เมื่อบริษัทมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถชำระได้ และทางเลือก 1,2,3,4 และ 5 ทำแล้วแต่มันยังไม่ดีพอ มันเลยมาสู่ประเด็นเรื่องล้มละลายและการขอความคุ้มครองจากศาลล้มละลาย
ถ้าสินทรัพย์ของบริษัทไม่มีพอชำระหนี้ แต่บริษัทยังมีความสามารถที่จะเอาสินทรัพย์ไปทำรายได้ มูลค่าของกิจการก็อาจจะมากกว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่ได้ อันนี้ล่ะครับเป็นกรณีของการฟื้นฟูกิจการที่พึงทำได้ มันแปลว่าบริษัทมีมูลค่าเกินกว่าที่เจ้าหนี้จะเอาทรัพย์สินของกิจการไปขายทอดตลาด เจ้าหนี้เลยจะมีแรงจูงใจที่ปล่อยให้บริษัทยังดำเนินกิจการต่อไป
แต่ถ้าบริษัทดำเนินกิจการต่อไปก็ไม่มีค่าสูงกว่ามูลค่าซาก เจ้าหนี้ก็คงไม่อยากให้บริษัทอยู่ต่อไป ปล่อยให้บริษัทล้มละลายแล้วไปบังคับชำระหนี้ด้วยการขายทอดตลาดดีกว่า
กลับมาพูดถึงแผนฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลายกันนิดนึง มันจะมีท่าพิเศษที่สามารถทำได้ขึ้นมา คือ
6. ยืดระยะเวลาชำระหนี้
7. ลดอัตราดอกเบี้ย
8. ลดหนี้
9. แปลงหนี้เป็นทุน
10. การใส่เงินทุนหมุนเวียนใหม่ (DIP financing)
11. ลดทุน
12. อื่นๆ
ท่าพิเศษพิสดารเหล่านี้ล่ะครับเป็นท่าที่ปกติทำได้ยากในภาวะปกติ แต่พอเข้าขบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลาย มันจะทำให้ทุกคนต้องมาคุยกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้การค้า ธนาคาร ผู้ถือหุ้นกู้ หรือผู้ถือหุ้น หรือแม้แต่พนักงานและสหภาพแรงงาน เพราะถ้าตกลงกันไม่ได้ อีกทางเลือกคือล้มละลาย ซึ่งอาจจะมีความเสียหายสูงเกินกว่าที่ทุกคนจะยอมรับได้
ด้วยกระบวนการของศาลล้มละลาย หากดูตามภาพข้างล่างจะเห็นว่ามันดูซับซ้อน ซึ่งแน่นอนมันเป็นดำเนินการที่หินพอสมควร แต่มันมีประโยชน์ที่ทำให้กระบวนการนี้ทำงานไปได้
1. สภาวะการพักชำระหนี้ภายใต้การคุ้มครองจากศาลล้มละลาย automatic stay
2. มีการประกาศให้เจ้าหนี้มาเรียกร้องสิทธิ เจ้าหนี้ที่ไม่มาเรียกร้องก็จะไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ ทำให้รู้มูลหนี้ที่แท้จริงได้
3. มีการทำแผนฟื้นฟู เพื่อทำให้มีการดำเนินการที่ดีขึ้น รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และทุนให้อยู่ในวิสัยที่กิจการจะสามารถชำระได้
4. ศาลจะเข้ามาเป็นตัวกลางในการดูว่าแผนมีความเป็นไปได้ไหม และให้ความยุติธรรมกับผู้ที่เกี่ยวข้องไหม
5. มีการจัดตั้งผู้บริหารแผน ถ้าผู้ถือหุ้นหรือผู้บริหารเดิมฉ้อโกง หรือขาดความสามารถ ก็อาจร้องขอต่อศาลให้มีการจัดตั้งผู้อื่นเป็นผู้บริหารแผนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหารชุดเดิม
6. มีการตรวจสอบเป็นระยะจากศาลว่าดำเนินการได้ตามแผนหรือไม่
ข้อเสียก็คือมีความยุ่งยากอย่างที่เห็นในรูปประกอบ ขั้นตอนเยอะ เสียเวลา เสียทรัพยากรในการเตรียมแผน และทำคำร้องต่อศาล แต่มันก็แลกกับการที่จะได้ล้างไพ่ทำให้บริษัทกลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
จริงๆ กระบวนการฟื้นฟูมีประเด็นปลีกย่อยอีกมาก จึงไม่อาจอธิบายทุกแง่มุม ดังนั้นจึงขออธิบายไว้เพียงสังเขปเพียงเท่านี้
ใครอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ผมแนะนำให้อ่านบทความของคุณรื่นวดี (https://www.thebangkokinsight.com/359091/) เลขา กลต. ที่มีประสบการณ์ตรงจากการทำงานที่กรมบังคับคดีและผลักดันการเปลี่ยนแปลงกฎหมายล้มละลายให้สามารถฟื้นฟูกิจการของ SME ได้ด้วย
ที่มา:
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%87%E0%B8%9A%E0%B8%94%E0%B8%B8%E0%B8%A5
http://www.led.go.th/ff/doc009124.pdf