วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 28, 2563

สัปดาห์นี้ใครอยากฟัง #ประชุมสภา ให้เข้าใจ ต้องมาฟังธนาธรอธิบาย




สัปดาห์นี้ใครอยากฟัง #ประชุมสภา ให้เข้าใจ ต้องมาฟังธนาธรอธิบาย

May 26, 2020

คณะก้าวหน้า - Progressive Movement

[ เจาะ 3 พ.ร.ก. กำหนดก้าวต่อไปประเทศไทยหลังโควิด ]

สัปดาห์นี้สภาผู้แทนราษฎรจะกลับมาเป็นเวทีสำคัญเพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชนอีกครั้ง

พ.ร.ก. สำคัญ 3 ฉบับเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังโควิด จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา และนี่คือเงินกู้ก้อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย หากนำมาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย ไม่รัดกุม และเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง คนวัยทำงานและคนรุ่นต่อไปคือผู้ที่ต้องแบกรับภาระการจ่ายเงินต้นและดอกของเงินกู้ก้อนนี้ไปอีก 50 ปี 

ในทางกลับกัน หากใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชน นี่จะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะสร้างประเทศไทยให้ก้าวไกลกว่าเดิมได้หลังพ้นภัยโควิด 

กฎหมายทั้ง 3 ฉบับจะเข้าสภาวันพุธนี้ แต่คนไทยกลับไม่รู้ถึงรายละเอียดการใช้จ่ายของมัน และรัฐบาลก็ชี้แจงรายละเอียดของเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้มาเพียง 2 หน้ากระดาษ 

ผมอยากให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันคิด และช่วยกันตรวจสอบติดตามการใช้เงิน เพราะนี่คือเงินภาษีในอนาคตของพวกเรา 

ใครอยากรู้ว่า เงิน 1.9 ล้านล้านบาท จากภาษีในอนาคต จากเงินของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน จะถูกนำไปใช้อย่างไร ใครอยากติดตามฟังการอภิปรายอย่างเข้าใจ และให้สนุก 

ฟังผมอธิบายในคลิปนี้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนไปติดตามการอภิปรายในสภาครับ
...



[ ร่วมติดตามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล อภิปราย พ.ร.ก. 4 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ]

วันนี้ 27 พฤษภาคม 2563 สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ได้ประชุมครั้งแรกในปีที่ 2 โดยมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด 4 ฉบับ และการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ....

กฎหมายกลุ่มนี้กระทบกับ "เงิน" ที่เป็นของคนไทยทั้งชาติร่วมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท จึงอยากให้ทุกคนได้ติดตามการอภิปรายและการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ซึ่งเป็น "ผู้แทน" ของประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน มาใช้อำนาจสูงสุดนั้นแทนพวกเขา

เมื่อ 1 ปี 2 วันที่แล้ว วันที่ 25 พฤษภาคม 2562 ผมได้เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร และปฏิญาณตนเข้ารับหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในชีวิต ถ้อยคำในการปฏิญาณตนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดมีอยู่ว่า

"ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ"

ถ้อยคำการปฏิญาณตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแตกต่างจากองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐอื่นๆ ทั้งหมด ตรงที่ไม่มีถ้อยคำว่า "จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์"

สาเหตุมาจากสองประการ

ประการแรก สภาผู้แทนราษฎรเป็นเพียงองค์กรเดียวที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง ไม่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง สำหรับประเทศไทยที่ใช้ระบบสองสภา แม้บางช่วงบางตอน เรามีสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง แต่รัฐธรรมนูญก็ยังกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาปฏิญาณตามถ้อยคำเดียวกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทั้งหมดปฏิญาณเหมือนกัน

ประการที่สอง ในหนังสือ "หลังม่านการเมือง" ของอาจารย์วิษณุ เครืองาม หน้า 41 ได้ให้เหตุผลไว้ว่า "...ที่เป็นเช่นนี้ก็สืบเนื่องมาจากคตินิยมฝรั่งที่เคยถือกันมาแต่เดิมในอังกฤษอีกนั่นแหละ ว่ารัฐบาลเป็นผู้รับภาระบริหารราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ ดังที่เรียกว่า "รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" เมื่อจะเข้าทำงานจึงต้องเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ และต้องกล่าวถ้อยคำแสดงความจงรักภักดี เพราะว่ากำลังจะทำ "ราชการ" ส่วนสมาชิกรัฐสภานั้นถือว่าไม่ได้ทำ "ราชการ" แต่ทำกิจของประชาชน"

การปฏิญาณตนร่วมกันของบุคคลที่ราษฎรเลือกมา ในที่ประชุมของตนเอง จึงเป็นพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ เพื่อย้ำถึงความเป็น "ผู้แทน" ของราษฎร

...

ปีนี้ ต่างจากปีที่แล้ว ผมไม่มีโอกาสได้เข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะถูกคน 7 คนสวมชุดครุยกระทำการในนามศาลรัฐธรรมนูญ สั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปด้วย

แต่นั่นไม่ได้สลักสำคัญอะไรนัก เพราะการเพิกถอนสิทธิเช่นว่านั้นเป็นเพียงกลไกทางกฎหมาย เป็นเพียงอำนาจรัฐแบบทางการที่สกัดขัดขวางเราไม่ให้มีโอกาสได้ทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร แต่กลไกเหล่านั้น ไม่มีวันที่จะตัดขาดความสัมพันธ์ยึดโยงผมกับประชาชน ในจิตสำนึกของผม

ผมยังเป็น "ประชาชน" มีเสรีภาพในการคิดและแสดงออกซึ่งความคิด รณรงค์ทางการเมือง ทำงานทางความคิดกับผู้คน เพื่อหลอมรวมคนทุกคนทุกกลุ่มในนาม "ประชาชน" คนส่วนใหญ่ของแผ่นดินนี้สู้กับ "ชนชั้นนำ" คนไม่กี่คนที่ผูกขาดและสูบกินเอาอำนาจและทรัพยากรไป
...

กุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้บันทึกไว้ในบทความ "ชีวิตไม่มีแต่การเมือง" เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2492 และถูกนำมาพิมพ์ใหม่ในหนังสือชื่อ "มนุษย์ไม่ได้กินแกลบ" ว่า

"การเมืองที่ได้พูด ได้คำราม และได้กรรโชกกันอยู่ในทุกวันนี้ นอกจากมิใช่การเมืองที่จะนำความก้าวหน้า, ความแจ่มใสใหม่ๆ มาสู่ชีวิตของมวลราษฎรไทยแล้ว ยังกล่าวได้ว่าเปนการเมืองที่มีลักษณะเหมือนปลิงที่คอยสูบโลหิตราษฎรที่มีโลหิตต่ำกว่าอัตราปกติอยู่แล้วให้ซีดจากลงไปทุกที

ถ้าผู้แทนราษฎรผู้ใดยังนึกไม่ออกว่าในเวลานี้ เขาควรจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง จึงจะเป็นการรับใช้ประเทศและประชาชนที่ได้เลือกตั้งเขามาแล้ว ข้าพเจ้าใคร่เสนองานแก่เขาสักชิ้นหนึ่งคือ การสอดส่องดูแลว่าโลหิตของราษฎรถูกสูบเอาไปใช้ในทางที่ไม่เปนคุณแก่ตัวเขาหรือจะเปนโทษแก่ตัวเขาประการใดบ้าง

ข้อนี้ข้าพเจ้าหมายถึงว่า ขอท่านผู้แทนราษฎรได้ใส่ใจศึกษาถึงการใช้จ่ายเงินในงบประมาณแผ่นดินทุกรายการว่า ได้ใช้จ่ายไปถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับโดยเคร่งครัดหรือไม่ ได้มีการใช้จ่ายหรือได้มีช่องทางเปิดไว้ให้ใช้จ่ายเงินของแผ่นดินตามอำเภอใจหรือไม่ และได้มีการใช้จ่ายไปในรูปใดบ้าง ที่ท่านเห็นว่าเปนการใช้จ่ายที่มีลักษณะเปนการสูบโลหิตของราษฎรให้จางไปถ่ายเดียว โดยไม่เปนคุณค่าสาระประโยชน์แก่การครองชีพของเขาเลย

ถ้าท่านผู้แทนราษฎรได้กรุณาศึกษาสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แล้วนำรายงานการสอบสวนของท่านออกเปิดเผยแก่สาธารณชน จะเปนโดยทางหนึ่งทางใดก็ตาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านได้ประกอบกิจซึ่งประชาชนคงพร้อมที่จะแซ่ซร้องสรรเสริญ"

ผมขอฝากพี่น้องประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ ผู้เป็นเจ้าของ "เงิน" ของทั้งประเทศร่วมกัน ติดตามการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล

ผมมั่นใจว่า ส.ส. พรรคก้าวไกล - Move Forward Party ที่สืบสานปณิธานของพรรคอนาคตใหม่ จะทำหน้าที่ได้ไม่แตกต่างจากมาตรฐานที่เคยทำในปีที่ผ่านมา และ "ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทุกประการ" สมดังที่ได้ปฏิญาณไว้เมื่อ 1 ปี 2 วันก่อน

#ประชุมสภา #ก้าวไกล #สานต่อภารกิจอนาคตใหม่