วันจันทร์, พฤษภาคม 25, 2563

ทวนความจำอีกที... เหตุใดเยาวชนรุ่นใหม่จึงกล้าลุกขึ้นงัดข้อกับทางการ - BBC Thai


..

ประท้วงฮ่องกง : เหตุใดเยาวชนรุ่นใหม่จึงกล้าลุกขึ้นงัดข้อกับทางการ




เฮลิเออร์ เฉิง
บีบีซีนิวส์ ฮ่องกง
18 มิถุนายน 2019

ในช่วงเวลาเพียง 1 สัปดาห์ คนในฮ่องกงได้เห็นการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่สุดนับแต่เคยมีมาถึง 2 ครั้ง อีกทั้งยังเป็นการประท้วงที่มีการปะทะรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีด้วย โดยที่แนวหน้าของการประท้วงครั้งนี้คือบรรดาคนหนุ่มสาว ซึ่งหลายคนยังเป็นวัยรุ่น

อะไรทำให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ลุกฮือขึ้นแสดงการขัดขืนอย่างแข็งกร้าวและพวกเขาใช้กลยุทธ์ใดในการบีบให้ทางการทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขา

"เราร้องตะโกนใส่ผู้คนเพื่อให้พวกเขาวิ่ง"

"ถูกพ่อแม่ไล่ออกจากบ้านหลังไปประท้วง"

"ฉันโดนแก๊สน้ำตาเป็นครั้งแรก - น้ำตาไหลไม่หยุดควบคุมไม่ได้"

"ฉันกลัวที่จะเปิดเผยชื่อจริง"

นี่ไม่ใช่ถ้อยคำที่หลายคนคาดว่าจะได้ยินจากปากของคนฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากปากของหนุ่มสาวอายุ 17-21 ปี

ที่ผ่านมา ภาพจำของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อวัยรุ่นฮ่องกง "ทั่วไป" ก็คือคนที่สนใจเรื่องเรียนหนังสือและหาเงินมากกว่าจะสนใจเรื่องกิจกรรมทางการเมืองหรือการคิดแบบสร้างสรรค์

แต่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นถนนรอบสภานิติบัญญัติฮ่องกงตกอยู่ในวงล้อมของคลื่นคนหนุ่มสาวที่สวมหน้ากากอนามัยปิดบังใบหน้า พร้อมเครื่องกีดขวาง และตอบโต้ด้วยการขว้างปากระป๋องแก๊สน้ำตากลับใส่ตำรวจ

ผู้ประท้วงหลายคนยังเด็กเกินไปที่จะเข้าร่วมการ "ประท้วงร่มเหลือง" เมื่อปี 2014 ซึ่งชาวฮ่องกงจำนวนมากออกไปปักหลักชุมนุมบนท้องถนนนานหลายสัปดาห์เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะเลือกผู้นำด้วยตัวเองตามวิถีประชาธิปไตย



ความกังวลต่ออนาคตใต้เงาจีน

การประท้วงเมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "อ็อกคิวพาย เซ็นทรัล" (Occupy Central) จบลงโดยไม่ได้รับการยอมโอนอ่อนผ่อนตามใด ๆ ที่เป็นรูปธรรมจากรัฐบาล

แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป

การประท้วงครั้งล่าสุด เป็นการคัดค้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่จะเปิดทางให้พลเมืองฮ่องกงถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างหนักจนทำให้ นางแครี่ แลม ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงต้องประกาศระงับร่างกฎหมายฉบับนี้ลงชั่วคราว พร้อมกล่าวขอโทษที่รัฐบาลทำงานไม่ดีพอจนสร้างความผิดหวังและเสียใจให้ประชาชนจำนวนมาก

แล้วการประท้วงครั้งนี้ต่างออกไปอย่างไร และคนรุ่นใหม่เหล่านี้มีบทบาทสำคัญอย่างไรบ้าง



หนุ่มสาวฮ่องกงเริ่มตระหนักและตื่นตัวเรื่องการเมืองเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอัตราการลงทะเบียนเลือกตั้งของคนอายุ 18-35 ปี เพิ่มขึ้นจาก 58% ในปี 2000 มาอยู่ที่ 70% ในปี 2016

นี่อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องที่ว่าอนาคตทางการเมืองของฮ่องกงกำลังเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วง

ปัจจุบันฮ่องกงได้รับสิทธิพิเศษและเสรีภาพจากข้อตกลงที่อังกฤษทำกับจีนในการส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน

แต่ในปี 2047 ข้อตกลงที่ให้สถานะพิเศษดังกล่าวแก่ฮ่องกงจะหมดอายุลง และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในตอนนั้น

สำหรับหนุ่มสาวยุคปัจจุบันแล้ว มองว่าปี 2047 คืออนาคตที่ไม่ห่างไกลเลย ดังนั้นการประท้วงของพวกเขาจึงถูกขับเคลื่อนด้วยความกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน รวมทั้งความรู้สึกว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่กำลังเข้าใกล้พวกเขาขึ้นทุกขณะ

GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพผู้จัดการประท้วงอ้างว่า มีผู้ชุมนุมมากถึง 2 ล้านคน เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.


ความไม่แน่ใจว่าระบบการปกครองจะคุ้มครองพวกเขาได้อีกต่อไปหรือไม่ หนุ่มสาวเหล่านี้จึงคิดหา ปรับเทคนิค และเรียนรู้ศิลปะการขัดขืนที่มีความซับซ้อน

ผู้ประท้วงทุกคนที่ดิฉันได้สัมภาษณ์ ซึ่งเข้าร่วมการประท้วงที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการเมื่อ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่างขอให้ฉันปกปิดชื่อและข้อมูลส่วนตัว เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุม

"เราใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ร่วมการประท้วง และหลังจากนั้นเราจะลบประวัติการใช้งานในโทรศัพท์ไอโฟนของพวกเราและในกูเกิลแมพ" แดน นักศึกษาวัย 18 ปี ที่ช่วยผู้ประท้วงสร้างเครื่องกีดขวางจากรั้วเหล็ก บอกกับบีบีซี

บางคนใช้วิธีที่ซับซ้อนเพื่อเลี่ยงการถูกแกะรอยตามจับจากทางการ เช่นการซื้อตั๋วรถไฟแบบกระดาษ แทนที่จะใช้บัตรเดินทางแบบชำระเงินล่วงหน้าที่พวกเขาใช้เดินทางในชีวิตประจำวัน

ขณะที่อีกหลายคนเพิ่มความระวังเรื่องการพูดคุยเรื่องการประท้วงในโซเชียลมีเดียที่เปิดเป็นสาธารณะ โดยบางคนเลือกที่จะพูดคุยเฉพาะในแอปพลิเคชันสนทนาที่มีมาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มงวดและมีฟังก์ชันที่ข้อความสามารถทำลายตัวเองได้ เช่น เทเลแกรม

แจ็กกี ผู้นำนักศึกษาวัย 20 ปี บอกว่า "ช่วงการประท้วงอ็อกคิวพาย เราส่วนใหญ่ไม่ได้คิดเรื่องการปกปิดตัวตนของเราเอง เราใช้เฟซบุ๊ก อิสตาแกรม และวอทส์แอพในการเผยแพร่ข้อมูล แต่ปีนี้เราได้เห็นเสรีภาพทางการพูดในฮ่องกงเลวร้ายลง"

แจ็กกี ต้องนอนที่มหาวิทยาลัย เพราะกลัวว่าจะถูกตำรวจจับหากกลับบ้าน

สายสัมพันธ์ขาดสะบั้น

ผู้ประท้วงหลายคน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำถูกจับกุม และบางคนถูกจับที่โรงพยาบาลซึ่งพวกเขาเข้ารักษาอาการบาดเจ็บ

ผู้ประท้วงวัย 22 ปี คนหนึ่งซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ดูแลกลุ่มเทเลแกรมที่เผยแพร่ข้อมูลการประท้วงก็ถูกจับกุมในข้อหา "ก่อกวนสร้างความวุ่นวายในที่สาธารณะ"

แจ็กกีเกรงว่า บรรดานักศึกษาที่เป็นแกนนำการประท้วงเมื่อ 12 มิ.ย.จะตกเป็นเป้าหมายของทางการเพราะพวกเขามีประวัติที่ดี

"ฉันนอนที่สำนักงานสหภาพนักศึกษาเพราะกลัวว่าจะถูกจับกุมถ้ากลับบ้าน" แจ็กกี กล่าว

สิ่งนี้สะท้อนถึงสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ขาดสะบั้นลง เมื่อเทียบกับการประท้วงก่อนหน้านี้ นักเคลื่อนไหวหมดความไว้ใจต่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

REUTERS
คำบรรยายภาพตำรวจถูกวิจารณ์ว่าใช้ความรุนแรงเกินเหตุกับกลุ่มผู้ประท้วง


เมื่อ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าตำรวจเตรียมเข้าตรวจค้นหอพักนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง ซึ่งมีนักศึกษาในหอดังกล่าว 2 คนถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้

ท่ามกลางความความตื่นตระหนก บรรดานักศึกษาต่างโทรแจ้งสมาชิกของสภานิติบัญญัติท้องถิ่นและทนายความ ซึ่งเดินทางไปที่หอพักดังกล่าว ทำให้ท้ายที่สุดตำรวจไม่ได้บุกเข้าไปภายใน

แดน นักศึกษาวัย 18 ปี บอกว่า การกระทำของตำรวจช่วงการประท้วงร่มเหลือง ซึ่งมีตำรวจหลายนายถูกจำคุกฐานทำร้ายร่างกายผู้ประท้วงนั้น ได้ทำลายความเชื่อใจในตำรวจของเขา

"ก่อนหน้านั้น ผมเชื่อว่าตำรวจควรปฏิบัติตามกฎหมายและช่วยเหลือประชาชน...แต่ตอนนี้ตำรวจบางคนอาจปล่อยให้อารมณ์ส่วนตัวเป็นใหญ่"

นักศึกษาและคนทำงานหนุ่มสาวเหล่านี้ดูเหมือนจะกล้าท้าทายกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสงบในที่สาธารณะ และกล้าเสี่ยงถูกจับกุมมากกว่าบรรดาผู้ประท้วงรุ่นก่อน

พวกเขาชี้ว่า พวกเขามีอะไรให้ต้องสู้มากกว่า เพราะได้เข้าสู่ยุคที่สภาพแวดล้อมทางการเมืองมีความไม่แน่นอนมากกว่า

ทอม วัย 20 ปี ซึ่งร่วมการประท้วงครั้งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. บอกว่า เขากลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะได้รับอิทธิพลจาก "ยุคที่เขาเติบโตขึ้นมา"

คนรุ่นเขาโตขึ้นมากับภาพความขัดแย้งทางการเมือง เช่น เมื่อปี 2012 มีแผนการให้เด็กเรียนวิชา "ส่งเสริมความรักชาติจีน" ซึ่งหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าจะเป็นการล้างสมองเด็กและบิดเบือนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่

"ผมได้เห็นนโยบายของรัฐบาลที่พยายามลิดรอนเสรีภาพที่เราโตมากับมัน และมันทำให้ผมมีความรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าผมไม่ต้องการให้ฮ่องกงสูญเสียหลักนิติธรรมและเสรีภาพของเรา"

เบน และ ทอม นักศึกษาที่ช่วยผู้ประท้วงด้านกฎหมายและอุปกรณ์ต่าง ๆ


หนุ่มสาวหลายคน แสดงความไม่พอใจในนโยบายของรัฐบาล เช่น การใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่ไม่เคารพเพลงชาติจีน การตัดสิทธิ์สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตย และจำคุกนักเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของฮ่องกง

ดังนั้น การประท้วงของขบวนการร่มเหลืองจึงทิ้งมรดกที่ชัดเจนแต่ขณะเดียวกันก็ซับซ้อนไว้ให้บรรดาผู้ประท้วงในปัจจุบัน

ผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมายังเด็กเกินกว่าที่จะเข้าร่วมการประท้วงของขบวนการร่มเหลืองเมื่อปี 2014 แต่พวกเขามองว่ามันเป็นแรงบันดาลใจและเป็นบทเรียนให้แก่พวกเขา

เบน วัย 20 ปี บอกว่า พ่อแม่ไม่ยอมให้เขาไปร่วมประท้วงอ็อกคิวพาย เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ตอนนี้เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยและรับหน้าที่ผู้นำจัดการประท้วง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นักศึกษาที่เสี่ยงถูกจับกุม

เขามองการประท้วงเมื่อปี 2014 ว่า "ล้มเหลว" เพราะกลุ่มผู้ประท้วงมีความแตกแยกในเป้าหมายการประท้วง ซึ่งรวมถึงเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่ผู้ประท้วงสามารถยอมรับได้

แต่ในครั้งนี้ มีความแตกต่างชัดเจนเพราะผู้ประท้วงไม่ได้เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ต่อสู่เพื่อรักษาสิทธิที่ฮ่องกงมีอยู่ในปัจจุบัน

เบน ชี้ว่าการประท้วงครั้งนี้มีปัจจัยกระตุ้นให้ผู้คนสามัคคีกันมากกว่าคราวที่แล้ว เพราะบรรดาผู้ประท้วงต่าง "ต่อสู้เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่สูญเสียเสรีภาพที่มีอยู่ไป"

กลุ่มผู้ประท้วงครั้งนี้ยังมีการเตรียมตัวอย่างดีสำหรับการเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจลด้วย

ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง นักศึกษาได้เตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้นต่าง ๆ เช่น ยาพ่นสูดสำหรับผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา และน้ำเกลือสำหรับชะล้างกรณีถูกสเปรย์พริกไทย


นักศึกษาเตรียมยาพ่นสูดสำหรับผู้ที่ถูกแก๊สน้ำตา


พวกเขายังเตรียมน้ำดื่มจำนวนมาก


การประท้วงใหญ่เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีประชาชนเข้าร่วมมหาศาล โดยแกนนำจัดการประท้วงระบุว่า มีประชาชนเข้าร่วมเกือบ 2 ล้านคน เพื่อเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติฮ่องกง "ล้มเลิก" การพิจารณาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ระงับการพิจารณาไว้ชั่วคราว

การประท้วงครั้งนี้ ถือเป็นครั้งใหญ่ที่สุดของฮ่องกงในรอบ 30 ปี นับแต่สหราชอาณาจักรคืนฮ่องกงให้แก่จีน และแม้ว่าจะยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ แต่ทอม วัย 20 ปี มองว่า มันเป็นความเคลื่อนไหวที่ "ฉีกธรรมเนียมการประท้วงของฮ่องกงตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา"0.

ขณะที่ อิงกริด ผู้ประท้วงวัย 21 ปี บอกว่า การประท้วงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เธอได้สัมผัสกับแก๊สน้ำตาเป็นครั้งแรกในชีวิต แม้จะเป็นประสบการณ์ที่สร้างความทุกข์ทรมานให้เธอ แต่เธอยืนยันจะเดินหน้าประท้วงต่อไป

"ความกังวลว่าเมืองที่ฉันเรียกว่าบ้านแห่งนี้จะเปลี่ยนไปอย่างไร มีมากกว่าความเป็นห่วงความปลอดภัยของตัวเอง"

ชื่อผู้ประท้วงเป็นนามสมมุติ