วันอาทิตย์, พฤษภาคม 24, 2563

ชวนอ่าน... บนถนนสายตาสว่าง(ของคนเสื้อแดง) โดย กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์




1 ทศวรรษแห่งการล้อมปราบคนเสื้อแดง ท่ามกลางวาทกรรมล้มเจ้า ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ที่เอื้อให้เกิดใบอนุญาตฆ่าได้ แต่ดูเหมือนเมื่ออำนาจรัฐยิ่งข่มยิ่งกด มวลชนยิ่ง ‘ตาสว่าง’

ไม่ว่าจะมีคนล้มตายด้วย ‘เขตใช้กระสุนจริง’ ไปจนถึงมีคนต้องคดีจนเข้าคุกตารางมากแค่ไหน ภาวะตาสว่างของประชาชนอาจเป็นสิ่งเดียวที่รัฐควบคุมลำบากที่สุดท่ามกลางการเมืองมวลชน

101 สัมภาษณ์ กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยมวลชนคนเสื้อแดงในประเด็น ‘ตาสว่างปากกระซิบ’ (My Eyes Are Open but My Lips Are Whispering: Linguistic and Symbolic Forms of Resistance in Thailand during 2006-2016)

น่าสนใจว่าถนนแห่งการตื่นตัวทางการเมืองที่วิ่งไปสู่การถูกปราบจนบาดเจ็บล้มตาย และเวียนมาสู่ภาวะตื่นรู้ใหม่เป็นอย่างไร กระทั่งในอนาคต ฝ่ายประชาธิปไตยจะหลุดพ้นจากเส้นทางดังกล่าวได้หรือไม่
.
แซมเปิล...

ขออ้างคำพูดของแกนนำเสื้อแดงคนหนึ่งที่ได้พูดในงานศพคุณเทิดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ คนเสื้อแดงที่ถูกยิงตายในเดือนเมษายนปี 2553 เขาพูดว่า “ความรักทำให้เราตาบอด แต่ว่าความตายทำให้เราตาสว่าง” หลังจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น เป็นที่ทราบกันว่าคำที่เรียกว่า ‘ตาสว่าง’ มันแพร่หลายไปในวงกว้าง

ฉะนั้นอยากจะขอย้อนไปว่า ‘ตาสว่าง’ มีที่มาจากไหน มันไม่ได้อยู่ดีๆ จะผุดขึ้นมาในงานศพปี 53 คำๆ นี้ถือได้ว่าเป็นศัพท์ทางการเมืองที่สำคัญ เพราะไม่เพียงแต่จะสะท้อนสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางความคิดความเชื่อผู้พูด หากแต่ยังเป็นคำสั้นๆ ที่ผู้พูดใช้สื่อถึงบางอย่างที่อาจไม่สามารถกล่าวอย่างเปิดเผยได้ในสังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย

เมื่อย้อนรอยสืบเสาะก็ค้นพบว่า สัญลักษณ์คำทางการเมืองแบบนี้ถูกใช้ครั้งแรกใน (เว็บ) บอร์ดฟ้าเดียวกัน ช่วงประมาณปี 2550 หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2549 เพราะมีคนไปตั้งกระทู้ว่า “คุณตาสว่างเมื่อไหร่?” และมีคนมาเขียนตั้งแต่ว่า “เมื่อเข้าเรียนคลาสของอาจารย์ใจ อึ๊งภากรณ์” บางคนตอบว่า “เมื่ออ่านฟ้าเดียวกัน ปกโค้ก”

‘ตาสว่าง’ เริ่มเป็นคำทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 49 แต่ไม่ได้แพร่หลายมาก มิหนำซ้ำมันอาจจะเป็นคำที่จำกัดอยู่แค่ในหมู่แวดวงปัญญาชน ใครล่ะที่จะมีโอกาสได้เรียนกับอาจารย์ใจ ใครล่ะจะมีโอกาสได้เข้าถึงนิตยสารฟ้าเดียวกัน มันมีความเป็นนักวิชาการมากๆ

จากปี 2550 จนถึงปี 2552 แกนนำมวลชนเสื้อแดงเริ่มหยิบฉวย ‘รหัสการเมือง’ นี้มาใช้บนเวทีชุมนุมบ้าง แต่อาจจะยังเป็นรหัสยังไม่เข้าใจตรงกันในวงกว้าง เช่น คุณจักรภพ เพ็ญแข ที่ตอนนั้นยังไม่ได้ลี้ภัย เขาก็เคยพูดบนเวทีประมาณว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับโรคตาสว่าง ประชาชนต้องเลือกระหว่างระบอบประชาชนธรรมดาหรือระบอบอภิสิทธิ์ชน

นอกจากนั้น เราเห็นไม้หนึ่ง ก.กุนที ใช้คำนี้ในงานบทกวีสถาปนาประชาชนของเขาว่า “บูชาคนตาสว่าง แจ้งกระจ่าง เลิกลุ่มหลง รู้สิทธิ์คนมั่นคง ไม่ใช่ผงใต้ฝ่าตีน” บทกวีนี้มีมาตั้งแต่ปี 2552

รัฐเองก็เริ่มสัมผัสได้ถึงคลื่นใต้น้ำตาสว่างนี้จนทำให้มีการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยข้อหาละเมิดมาตรา112 อันได้แก่ คุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล, ใจ อึ๊งภากรณ์, จักรภพ เพ็ญแข, ชูชีพ ชีวสุทธิ์

ขณะเดียวกัน ช่วงปลายปี 2552 ขบวนการเสื้อแดงเองมีการถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ ชินวัตรด้วย อาจมองได้ว่านี่เป็นสภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่น ในหมู่คนเสื้อแดงเอง

แล้วพอปี 2553 เกิดการสลายการชุมนุม คำว่าตาสว่างก็ระบาดไปทั่ว สะท้อนออกมาพร้อมๆ กับเหตุการณ์ที่มวลชนไปตะโกนที่แยกราชประสงค์ ‘ตาสว่าง’ กลายเป็นศัพท์ทางการเมืองที่มวลชนเข้าใจความหมายตรงกันในวงกว้าง ไม่ได้ปรากฏอยู่แค่ในกราฟิตี้นิรนาม คำๆ นี้ถูกใช้ในกลอนที่คนเสื้อแดงทุกคนคุ้นเคย เรียกกันว่า ‘กลอนสมัคร’ (เผยแพร่ช่วงมิถุนายน 2553) ว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัวชั่วชีวิต เคยหลงผิดถึงขั้นตายแทนได้ หลงตามลมชวนเชื่อทั่วเมื่อไป บัดนี้ไทยตาสว่างเห็นทางธรรม”

นอกจากนี้ นิตยสาร red power ก็ยังนำคำนี้ไปขึ้นปก ‘ประชา ตาสว่าง’ ด้วย

หลังการสลายการชุมนุม แกนนำหลักถูกจำคุก ประกอบกับมวลชนเสื้อแดงมีความคับแค้น มีคำพูดทำนองว่า “แพ้ชนะไม่รู้แต่กูจะสู้กับมึงทุกวัน” แรงปรารถนาแบบนี้มันจึงเปิดโอกาสให้แกนนำรุ่นถัดมามีบทบาทเยอะ เช่น คุณสุรชัย แซ่ด่าน คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำเหล่านี้ยิ่งมีบทบาทริเริ่มการต่อต้านรูปแบบใหม่ๆ ใช้ภาษาใหม่ๆ พร้อมการแสดงออกความคิดทางการเมืองที่แหลมคมขึ้นจากเดิม รวมไปถึงการก่อตัวขึ้นของกลุ่มนักวิชาการนิติราษฎร์ในวันที่ 19 กันยายน 2553 และการจัดเสวนาวิชาการซึ่งเปิดตัวอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อสาธารณชน สิ่งเหล่านี้ยิ่งสอดรับสนับสนุนกับอารมณ์ของมวลชน

บรรยากาศหลังการสลายการชุมนุมเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก มีกิจกรรมคนไปตะโกนว่า “ที่นี่มีคนตาย” ไปปั่นจักรยาน ไปกายบริหารที่กลุ่มวันอาทิตย์สีแดงจัดขึ้น และมีวงเสวนาในมหาวิทยาลัยอีกเยอะมาก อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยที่พื้นที่วิชาการและพื้นที่แห่งการประท้วงขัดขืนผสมปนเปกัน เป็นยุคที่มีการสร้างแนวร่วมระหว่างปัญญาชน ศิลปิน นักวิชาการ และมวลชนคนธรรมดา

สิ่งที่แกนนำปราศรัยบนเวที หรือที่นักวิชาการบรรยายบนเวที มันไม่สำคัญเท่ากับปฏิกิริยาของมวลชนที่เขาโห่ร้องและตอบโต้ เป็นบรรยากาศที่คึกคักมาก ความแพร่หลายของความคิดการเมืองที่แหลมคมขึ้นทำให้แกนนำเสื้อแดงส่วนหนึ่งต้องปรับตัวและพยายามใช้ภาษาสัญลักษณ์ตามมวลชน ยกตัวอย่างเช่น ช่วงกลางปี 2554 ก่อนการเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยจะชนะ

คุณณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เสนอว่า ต่อจากนี้ไปแนวทางการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็น ‘ตาสว่างปากกระซิบ’ เขาเชื่อว่าสู้แบบนี้จะสู้ได้นานกว่า มีโอกาสชนะมากกว่า ตัวเขาเองก็ออกตัวว่าใครจะ ‘ตะโกน’ ก็ไม่เป็นไร ไม่ว่ากัน แต่สำหรับเขาเขาขอสู้ด้วยแนวทางนี้ มันเห็นได้ชัดว่าเวลาที่ณัฐวุฒิพูด ไม่ต้องมีใครมาอธิบายว่าอะไรคือตาสว่าง ทุกคนเข้าใจหมด

หลังจากคุณยิ่งลักษณ์เข้ามาเป็นรัฐบาล หลายคนมองว่าเป็นช่วงหวานชื่นของฝ่ายประชาธิปไตย เป็นการได้ลิ้มรสชัยชนะของคนที่พ่ายแพ้มาหลายครั้งแล้ว แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม แน่ล่ะ ยังมีการรณรงค์ทางการเมือง มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมาย ม.112 มีการเรียกร้องเอาผิดคนที่สั่งฆ่าประชาชน แต่คำว่าตาสว่างไม่ได้ถูกใช้อย่างเปิดเผยในมวลชน มันอยู่ในรูปแบบของการ ‘กระซิบ’ อาจจะอยู่ในเวทีปราศรัยย่อย วงเสวนาย่อยๆ อยู่ในเพลงล้อการเมืองต่างๆ เสน่ห์ของมันคือเป็นอาวุธของคนที่ไม่มีทางสู้ ไม่มีต้นทุนทางสังคม เพราะอย่าลืมว่าช่วงปี 2553-2554 คดีทางการเมืองพุ่งขึ้นเยอะมาก โดยเฉพาะคดี 112

สุดท้ายเมื่อเกิดการรัฐประหาร 2557 ขึ้น การรัฐประหารครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็มุ่งสลายภาวะตาสว่างที่ขึ้นเป็นกระแสสูงหลังปี 53 ดังที่สะท้อนออกมาผ่านรายชื่อคนที่ คสช.เรียกให้ไปรายงานตัว คนที่ตัดสินใจลี้ภัย และเหล่านักกิจกรรมเคลื่อนไหวหรือแม้กระทั่งคนธรรมดาที่โดนข้อหาละเมิดพ.ร.บ.คอมฯ ม.112 หรือ ม.116 พูดง่ายๆ ว่า จากที่เคยเป็น ‘เสียงกระซิบ’ กลายเป็นบอดใบ้ไร้เสียง นี่คือเพดานเสรีภาพที่ถูกทำให้ต่ำลงภายใต้การปกครองของรัฐบาล คสช.

อาจารย์เห็นอะไรเปลี่ยนไปบ้าง พอภาวะตาสว่างถูกรัฐประหาร

อ่านต่อ... อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่