“ล้มเจ้า” ข้ออ้างในการออกใบอนุญาตสังหารหมู่ เมษายน - พฤษภาคม 2553
.
เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา มีกรณีเล็กๆ ทว่าเป็นประเด็นใหญ่ ของอดีตพนักงานร้านขนมเฟรนไชส์รายหนึ่ง ที่โพสต์แสดงความเห็นพาดพิงถึงรัชกาลที่ 9 จนถูกล่าแม่มดและมีผู้พยายามแจ้งความดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
.
บังเอิญว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับช่วงเวลาของการรำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ซึ่งวันสุดท้ายของเหตุการณ์ (19 พฤษภาคม 2553) ก็เวียนมาครบรอบ 10 ปีในวันนี้พอดี
.
โดยหนึ่งในวาทกรรมสำคัญที่สุดที่รัฐบาลในขณะนั้นใช้เป็นข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม ซึ่งกลายเป็นเสมือนการออกใบอนุญาตนำไปสู่การสังหารหมู่ประชาชนอย่างโหดเหี้ยมที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือวลีสั้นๆ ว่า “ล้มเจ้า”
.
ล้มเจ้าเป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจใช้กำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมาตั้งแต่ในอดีต ในปี 2489 คณะราษฎรกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยข้อกล่าวหาว่าลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 จนเกิดการรัฐประหารและขับออกจากการเมืองไทยในเวลาต่อมา ในปี 2519 กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ประท้วงการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ก็ถูกหนังสือพิมพ์และวิทยุข่าวพยายามประโคมว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อมกุฎราชกุมาร จนเกิดการสังหารหมู่ถึงในรั้วมหาวิทยาลัย เกิดเป็นภาพการแขวนคอ-ฟาดเก้าอี้ที่เราคุ้นชินกันทุกวันนี้
.
ในการชุมนุมช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553 ก็เช่นเดียวกัน ประชาชนคนเสื้อแดงที่มารวมตัวประท้วงในเวลานั้นมีข้อเรียกร้องเพียงแค่ให้รัฐบาลยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น แต่รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) กลับใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารในการบ่อนทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุม และสร้างความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุมอย่างเป็นระบบ มีการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการสร้างวาทกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกลุ่มผู้ชุมนุมในทางที่เลวร้าย ไม่ว่าจะเป็น “ถูกจ้างมา”, “ไร้การศึกษา”, “เป็นผู้ก่อการร้าย” และแน่นอนว่ารวมถึง “ล้มเจ้า” มีตัวอย่างรูปธรรมอย่าง “ผังล้มเจ้า” ที่ ศอฉ. พิมพ์แจกสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563 แผนผังในหน้ากระดาษเดียวที่บรรจุรายชื่อของนักการเมือง นักวิชาการ นักธุรกิจ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล แล้วลากเส้นโยงใยกันไปทั่ว สื่อนัยยะว่าบุคคลเหล่านี้คือขบวนการล้มเจ้าขนาดใหญ่ แต่ในเวลาต่อมาหลังการชุมนุมจบลง พล.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ออกมายอมรับว่ารายชื่อในผังดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าเป็นขบวนการล้มเจ้า อ้างว่าเป็นแค่การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของบุคคลต่างๆ เท่านั้น
.
การโหมกระพือวาทกรรมเหล่านี้นำไปสู่การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 94 คน เกือบทั้งหมดคือประชาชนผู้ชุมนุม
.
ข้อหาล้มเจ้าเคยถูกใช้เป็นเครื่องมือฆ่าคนมาแล้วนับสิบนับร้อย และจนถึงวันนี้ก็ยังคงถูกนำมาใช้ทำลายล้างประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองอีกหลากกรรมหลายวาระ ทั้งโดยรัฐและโดยประชาชนด้วยกันเอง (ซึ่งเป็นผลมาจากการโหมวาทกรรมต่างๆ โดยรัฐอีกที) บทเรียนในอดีตยังไม่อาจสร้างความตระหนักรู้ในปัจจุบันได้มากพอ และหากพฤติกรรมเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นต่อไป การฆ่ากันตายครั้งใหญ่ด้วยข้อหาดังกล่าวคงไม่พ้นที่จะต้องเกิดขึ้นอีก
.
(อ่านรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม “เมษายน - พฤษภาคม 2553” จัดทำโดยศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ได้ที่ http://www.pic2010.org/truth/ โดยเรื่องเกี่ยวกับวาทกรรมล้มเจ้าจะอยู่ในบทที่ 8 ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลในช่วงของความขัดแย้ง)
.
https://www.bbc.com/thai/thailand-52614304
https://themomentum.co/9-years-clashes-btw-government-troo…/
https://prachatai.com/journal/2010/05/29338
https://prachatai.com/journal/2011/05/34974
https://prachatai.com/journal/2019/04/81994
https://freedom.ilaw.or.th/blog/112May2010