วันอาทิตย์, พฤษภาคม 31, 2563

สองพรรคร่วม ปชป.-ภท.เล่น ‘ลูกไม้’ กระตุกหนวดหัวหน้า ขณะที่คณะ 'ก้าวหน้า' เดินต่อกัดติดกองทัพ


ข้ามช้อตไปบ่ายสองวันนี้ (๓๑ พ.ค.) ในการประชุมสภา พรก.การเงิน ๓ ฉบับผ่านฉลุยแน่ แม้นว่าจะ “ส่อเค้าบานปลาย” อย่างที่ มติชน ว่าก็เถอะ เพราะเสียงเต็มของฝ่าย ไม่เก่งเศรษฐกิจนำอยู่ขาดลอยกว่า ๖๐ คน และไม่มีทางที่สองพรรคร่วมจะแตกแถวทั้งหมด

ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยน่าจะเล่น ลูกไม้กระตุกหนวดหัวหน้าใหญ่ให้สำนึก ว่านี่อยู่ใน วิถีการเมือง ละนะ ต้องเจี๊ยวจ๊าวกันธรรมดา ไม่ใช่สยบสงบเสงี่ยมเหมือนตอนรัฐบาลที่แล้ว ซ้ายหันขวาหันตามทั่นผู้นำเสมอไป

ถึงแม้จะยังทำตัวเป็นคุณพ่องรู้ดี สอนสั่ง “อย่าเอาไอ้นี่ไปพันไอ้นั่น พันกันไปพันกันมา มันพันได้ทั้งวัน พูดไปอภิปรายไปทั้งวันมันก็ไม่จบ” ฝ่ายค้านเขาไม่ฟังอยู่แล้วกับวาทกรรมจำอวด คราวนี้พวกพรรคร่วมเองเอาบ้าง เป็นสมาชิกสภาก็ต้องพูด จะให้อมสากทั้งวันได้ไง

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรค ปชป.ต้องการอภิปรายให้ถึงแก่นเรื่องงบฯ ฟื้นฟู ๔ แสนล้านในคณะกรรมาธิการ เพราะไม่ไว้ใจ “อาจไม่ตรงเป้าหมายและเกิดความไม่โปร่งใส หากรัฐบาลให้ตั้ง กมธ.วิสามัญฯ” ก็จะลดการตรวจสอบนอกสภาได้บ้าง

ตัวอย่างมีเห็นๆ จากที่ คณะก้าวหน้า กัดติดกองทัพ “ตรวจสอบสวัสดิการเชิงพาณิชย์” อีกครั้งหลังจากพ้น ๖ เดือนตาม สัญญาสุภาพบุรุษที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล เคยไปนั่งจับคางตัวเองคุยกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อต้นกันยา ๖๒

มาวันนี้ ๘ เดือนนับแต่การนัดพบ และ ๒ เดือนให้หลัง แดงหย่าย นั่งบนภูดู ตลก.รัฐธรรมนูญเถือเนื้ออนาคตใหม่ยุ่ยยับเหลือแต่ผังผืดที่ยังเหนียวพอยึดยั้ง ฟูมฟักองคาพยพให้ฟื้นกลับมาแกร่งกล้าใหม่ ธนาธรได้ออกล่าหาใบเสร็จมายัน

ไปตีกอล์ฟที่สวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เก็บใบเสร็จและใบกำกับภาษีมาแสกนพบว่ายังเป็นของ ทบ.อยู่ ไม่มีโรงแรมดุสิตธานีบริหารตามคำสัตย์ ผบ. “พร้อมทั้งตรวจสอบสโมสรฟุตบอล อาร์มี ยูไนเต็ด ที่มี พล.อ.อภิรัชต์ เป็นประธาน...

พบว่ามีการตั้งเอกชนเข้าดำเนินการ” ไม่ได้มีการ ‘ยุบสโมสร’ ไปแล้วดังที่เคยเป็นข่าว “สถานะยังกำกวม เพราะทีมอยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการ ทบ. แต่บริษัทเป็นเอกชนมีผู้ถือหุ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ในกองทัพ” เท่ากับยัง พาณิชย์กลาโหม อยู่ดี
 
ย้อนไปที่เรื่อง กมธ.เงินกู้ ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส. อ่างทองพรรคภูมิใจไทยอีกราย “ขอใช้เอกสิทธิ์ร่วมกับ ส.ส.กว่า ๒๐ คน จากหลายพรรคการเมือง...เสนอญัตติตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.”

อ้าง “เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ที่จะตรวจสอบร่วมกับรัฐบาลเพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์” และเห็นว่า “กลไกของรัฐสภาเป็นช่องทางที่ดีที่สุดในการตรวจสอบ” คนทั่วไปอาจร้องเฮ้ย อะไรกันเนี่ย ปชป.กับ ภท. หักดิบ พปชร.โจ่งแจ้งเชียวหรือ

ถึงอย่างนั้นไม่มีทางที่ทั้ง ปชป.และ ภท.จะกล้างัดข้อกับประยุทธ์และทีม คสช.-ประชารัฐ อาจปล่อยให้พวกเรียกร้องตั้งกรรมาฯ โหวตสวนได้ไม่กี่คน ผลก็ยังไม่อาจยั้งแผนกู้เงินได้อยู่ดี ที่พวกนี้ทำการงูเห่าเฉพาะกิจได้ แค่สะกิดให้รู้ กรูกัดได้นะอย่าเหลิง

อีกด้าน วิปฝ่ายค้านสุทิน คลังแสง แบะท่าไว้แล้ว “ถ้านายกฯ รับเงื่อนไขฝ่ายค้านตั้งคณะกรรมาฯ ตรวจสอบเงินกู้ พวกเราก็อาจโหวตเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.เงินกู้ก็ได้” อันเป็นชั้นเชิงต่อรอง กำขี้ดีกว่ากำตด ในเมื่อเห็นแล้วว่าอย่างไรเสียประยุทธ์ดึงดันไปได้

ผลที่ได้ของฝ่ายค้านอันแท้จริงในการนี้อยู่ที่ เสียงอภิปรายอันอึงคนึงในสภาตลอดไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เปิดแผลเน่าเฟะของรัฐบาล คสช.๒ ซึ่งอ้างด้วยปากขยับยุกยิกของประยุทธ์ว่า ถึงไม่มีน้ำยาก็ยังมีน้ำใสใจจริงนั้นไม่ต้องฟื้นฟู เพราะเกินเยียวยา

ไม่ว่าเสียงข้างมากของรัฐบาลจะแถไถว่า “มีหน่วยงานราชการที่น่าเชื่อถือพิจารณาและกลั่นกรอง” เงินที่จะกู้มาอยู่แล้ว “ไม่จำเป็นต้องตั้ง กมธ.วิสามัญฯ ขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลา รวมทั้งเสียงบประมาณของแผ่นดิน”

มันก็เป็นข้ออ้างย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลทำมาแล้ว ดังการต่ออายุบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉิน ทั้งที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายอย่างมาก ซึ่งกฎหมายปกติครอบพออยู่แล้ว ศบค.ยังทุรังใช้อำนาจฉุกเฉิน เพื่อให้ไม่ลักลั่นเป็น ๗๗ อย่าง ก็ยังฟังไม่ขึ้น

พอถึงเรื่องกู้เงินมาถลุงตั้งเป็นล้านล้าน จะไม่ยอมให้ใครส่องดูได้ แล้วจะมาบอกว่ามี สศช. (กรรมการพัฒนาเศรษฐกิจฯ) สำนักหนี้สาธารณะ ก.คลัง และกรรมการนโยบายระดับจังหวัด (ก.น.จ.) รับภาระหน้าที่อยู่แล้ว ไม่ต้องมีองค์กรกลางรวมศูนย์แบบ กมธ.กำกับแทน

แบบนี้ไม่เรียกว่า เอาแต่ได้ จะแดรกท่าเดียว แล้วเรียกอะไร