จุดตายของรัฐวิสาหกิจไทย
เผยครั้งแรก! คลิปปลุกปฎิรูปรัฐวิสาหกิจไทย แต่ถูกผู้นำทุบโต๊ะ ไม่เอา-ไม่ได้เรื่องเลย!
จุดตายของรัฐวิสาหกิจไทย
.
รัฐวิสาหกิจไทยมีปัญหามากมาย ที่มีกำไร ก็ล้วนมาจากการผูกขาด (Monopoly) หรือมีส่วนจากการผูกขาด ไม่ก็มีคู่แข่งน้อยราย (Oligopoly) แต่รายไหนที่ต้องแข่งกับเอกชน มีแต่ขาดทุนยับเยิน เช่น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารที่เคยผูกขาด เคยทำกำไรได้สบายๆ แต่ประชาชนต้องใช้บริการที่ราคาแพง คุณภาพต่ำเตี้ยเมื่อเทียบกับนานาประเทศ แถมอัตคัตขาดแคลน ประชาชนคิดจะมีโทรศัพท์สักเครื่องต้องรอเป็นหลายปี จ่ายใต้โต๊ะวุ่นวาย แม้ต่อมาถึงยุคแบ่งสัมปทานไปให้เอกชนเข้ามาให้บริการด้วย (ซึ่งแท้ที่จริงก็คือการเอา ‘อำนาจผูกขาด’ ไปทะยอยแบ่งให้เช่าแก่เอกชน) ตัวเองที่ลงแข่งกับเอกชนผู้รับสัมปทานด้วยก็ขาดทุนมากมาย ในขณะที่เอกชนกำไรมหาศาลรวยเอารวยเอา
.
หรือจะยกตัวอย่างกิจการด้านการขนส่ง ไม่ว่ารถไฟ รถเมล์ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่ผิวเผินดูเหมือนเป็นธุรกิจผูกขาด แต่แท้จริงต้องแข่งกับทางเลือกอื่นๆ เช่น รถไฟต้องแข่งกับสายการบินต้นทุนต่ำ (low-cost carriers) รถทัวร์ และรถบรรทุก รถเมล์ต้องแข่งกับรถร่วม รถแท็กซี่ ไปจนถึงวินมอเตอร์ไซด์ ผลปรากฏก็เลยล้วนขาดทุนบักโกรกเป็นหลักหมื่นล้านแสนล้านกันทั้งนั้น
.
อย่าง ‘การบินไทย’ รักคุณเท่าฟ้าก็เหมือนกัน เคยเป็นสายการบินชั้นนำของโลก มีกำไรต่อเนื่องมาช้านาน แต่พอถูกเปิดน่านฟ้าเสรี เปิดให้มีการแข่งขัน ซึ่งประชาชนอิ่มเอม ค่าเดินทางลดต่ำลง จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มพรวดจาก 10 ล้านคนเป็น 40 ล้านคน ชาวบ้านตาสีตาสามีทางเลือกเดินทางมากขึ้นในต้นทุนที่ต่ำลง ไฉน ‘ป้าม่วง’ ที่เคยยิ่งยงกลับกลายเป็นร่อแร่ ขาดทุนแทบทุกปีจนใกล้จะล้มละลาย
.
หลายคนชี้นิ้วไปที่นักการเมือง โดยเฉพาะการส่งกรรมการที่ ‘ไม่เก่ง’ (ไม่มีทักษะ) ‘ไม่ดี’ (โกง) ‘ไม่เกี่ยว’(ไม่มีประสบการณ์) มาบริหาร ทำให้รัฐวิสาหกิจร่อแร่
.
แต่มันเป็นแค่นั้นจริงหรือ...
.
ยกตัวอย่างการบินไทยที่กำลังโด่งดัง ถ้าไปดูรายชื่อกรรมการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ล้วนแต่เป็นคนดี-คนเก่งจำนวนมากมาย เช่น นักวิชาการชั้นนำอย่างศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรือข้าราชการชั้นยอดอย่าง ดร.เสนาะ อูนากูล ดร.พิสิฐ ภัคเกษม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล คุณบัณฑิต บุณยะปาณะ ดร.อำพน กิตติอำพน ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ หรือนักธุรกิจนักการเงินระดับเหยียบเมฆ เช่น ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย คุณชาติศิริ โสภณพณิช ฯลฯ
.
ท่านเหล่านี้ล้วนได้รับการยอมรับในความเก่ง ความดี ความซื่อสัตย์ มีความสามารถครอบคลุมทุกๆ ด้านอย่างยากที่จะหาคณะใดในประเทศมาเทียบ แต่ถามว่าทำไมการบินไทยยังมีสภาพอย่างที่เป็นอยู่ ขาดทุนต่อเนื่องยาวนานยิ่งกว่าสายการบินระดับเดียวกันทั่วโลก สรุปได้ว่าปัญหากรรมการ ‘ไม่เก่ง-ไม่ดี-ไม่เกี่ยว’ ไม่น่าจะใช่สาเหตุหลัก หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่สาเหตุเดียว
.
เมื่อ 6 ปีก่อนตอนที่มีรัฐประหารใหม่ๆ รัฐบาลคสช. ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่เรียกกันเท่ๆ ว่า ‘ซูเปอร์บอร์ด’ และประกาศจะปฏิรูปขนานใหญ่ เริ่มตั้งแต่การศึกษาวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน ปรึกษาผู้รู้ทั่วโลก เช่น World Bank OECD ADB จนได้ข้อสรุปว่าจะต้อง ‘ยกเครื่อง’ ระบบบรรษัทภิบาล (Governance)ที่ ใช้บริหารรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง โดยคนร. ได้ทำข้อเสนอชัดเจน เป็นรูปธรรมออกมาเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการอนุมัติทั้งจากคนร. ครม. ผ่านการกลั่นกรองจากกฤษฎีกา และส่งเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ตั้งแต่ปี 2559
.
หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของแผนปฏิรูปตามร่างกฎหมายนี้ ก็คือการจัดตั้ง ‘บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ’ ที่เรียกกันว่า Super Holding Company ขึ้นมาทำหน้าที่เป็น ‘องค์กรเจ้าของ’ คอยกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง โดยมุ่งเน้นให้มีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพ ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอ ต้นทุนต่ำ โปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่มีการรั่วไหล และรักษากิจการให้ทวีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ สมกับที่เป็นสมบัติชาติ โดยแนวทางและหลักการของบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาตินี้ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ และมีข้อพิสูจน์เรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมาแล้วหลายๆ แห่งของโลก เช่น Temasek ของสิงคโปร์ Khazanah Nasional ของมาเลย์เซีย SCIC (The State Capital Investment Corporation) ของเวียตนาม หรือ SASAC (The State-owned Assets Supervision and Administration Commission of the State Council ) ของจีน
.
น่าเสียดาย ที่พอส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่สภาคนดี เหล่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสนช. ดูจะไม่เห็นด้วยที่จะมีการริดรอนอำนาจการบริหารจัดการที่เดิมอยู่ในมือของนักการเมืองและเหล่าข้าราชการลงไป ประกอบกับมีการประกาศต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอขาประจำที่อ้างความรักชาติ-สมบัติชาติเป็นเหตุผลไม้ตายเสมอมา ร่างกฎหมายก็เลยถูกตัดทอนสาระสำคัญออกไปเกือบทั้งหมด พอร่างกฎหมายนี้ผ่านเป็นพรบ.ออกมา ก็เลยกลายเป็นว่าแทบไม่มีการปฏิรูปใดๆ การควบคุมการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจทั้งหลายยังตกอยู่ภายใต้อำนาจของนักการเมืองและข้าราชการประจำดังเดิม
.
การปฏิรูปใหญ่ที่คสช. เคยประกาศประโคมว่าเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ ที่เพิ่มประสิทธิภาพและลดการรั่วไหลในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งที่ถือครองทรัพย์สินของประเทศอยู่กว่า 16 ล้านล้านบาท สุดท้ายก็เลยเป็นแค่ ‘ปะ-ติ-ลูบ’เหมือนการปฏิรูปอื่นๆ ในประเทศนี้ ที่พอไปแตะต้องกลุ่มอำนาจผลประโยชน์เดิมก็ล้วนแต่ดำเนินต่อไปไม่ได้
.
อย่างไรก็ตาม ก่อนผลจะออกมาน่าผิดหวัง ย้อนไปในช่วงปี 2559ซึ่งทางผู้มีอำนาจยังแสดงเจตจำนงที่จะผลักดันให้การปฏิรูปให้เกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ผมและท่านอื่นๆที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันร่างกฎหมาย (ขออนุญาตไม่เอ่ยนามท่านเหล่านั้น เพราะในวันนี้ไม่แน่ใจว่าท่านต้องการให้เอ่ยถึงหรือไม่) ได้ตระหนักถึงโอกาสที่จะเกิดกระแสต่อต้านตั้งแต่แรก จึงพยายามที่จะเดินสายชี้แจงเหตุผล ความจำเป็น และประโยชน์ของการปฏิรูปนี้ให้แก่สื่อมวลชน สถาบันวิชาการ และแม้แต่พรรคการเมืองหลักทั้งสองฝ่าย ซึ่งปรากฎว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
.
น่าเสียดายพอเอาเข้าจริงเมื่อถึงเวลาแตกหักของการผลักดันระยะสุดท้าย ผู้นำที่ไม่ได้มีความมุ่งมั่นทางการเมือง (Political Will) ที่แข็งแรง และไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเพียงพอเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการจะทำ พอถูกทักโน่นทักนี่ก็เลยล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำเรื่องยากเอาง่ายๆ ทำแต่สิ่งเล็กน้อยเป็นเพียงลูบหน้าปะจมูกไป
.
จะอย่างไรก็แล้วแต่ ในช่วงเวลาของการเดินสายนั้นเอง ผมได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งบรรษัทรัฐวิสาหกิจแห่งชาติ มีหน้าที่เตรียมการด้านต่างๆ ในการจัดตั้งองค์กร เช่น การทาบทามกรรมการและบุคลากรหลักเพื่อที่จะมาเริ่มบริหารองค์กรได้ในทันทีที่ผ่านกฎหมายออกมาได้สำเร็จ รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในแนวคิดการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยได้ไปขอความร่วมมือจากโปรดิวเซอร์และผู้กำกับระดับมือรางวัลที่ชำนาญการสื่อสารเรื่องยากให้เข้าใจง่าย มาจัดทำคลิปเพื่อเผยแพร่โดยเขากรุณาไม่คิดค่าตัว คิดแต่เพียงค่าใช้จ่ายต้นทุนในการจัดทำ
.
เชื่อไหมครับ คลิปหนังดูสนุกเข้าใจง่าย ที่ทำแล้วเสร็จพร้อมที่จะใช้ประชาสัมพันธ์ทั้งในสื่อหลัก และโซเชียลมีเดียนี้ ได้มีโอกาสฉายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือในการประชุมคนร. เพราะพอฉายเสร็จ ท่านผู้นำหัวโต๊ะซึ่งวันนั้นบังเอิญอารมณ์บ่จอย ไม่รู้หงุดหงิดอะไรมา ตบโต๊ะประกาศเลยว่า “ไม่เอาๆ ไม่ได้เรื่องเลย ทำไมไปตำหนิคนเขาเยอะแยะ เนื้อหาไม่สร้างสรรค์อะไรเลย โยนทิ้งไปเลย เดี๋ยวผมคิดผมเขียนให้ใหม่เองก็ได้ เอาแบบให้มันสร้างสรรค์ๆ” ซึ่งท่านคงกำลังนึกถึงเพลงของท่าน แล้วพอท่านว่าดังนั้นก็มีพลเอกท่านหนึ่งในที่ประชุมเสริมขึ้นมาเลย “ใช่ๆ ที่พวกคุณทำมานี่ ผิดพระราชบัญญัติธงชาติไทยด้วย รู้หรือเปล่า” “ผิดพระราชบัญญัติการจราจรด้วยรู้ไหม” พลเอกอีกท่านเสริมต่อ
.
นี่แหละครับประวัติน่าเวทนาของคลิปประชาสัมพันธ์ที่ไม่ได้เคยถูกฉายอีกเลย และสุดท้ายท่านผู้นำสุดครีเอทีฟก็ไม่เคยคิดการประชาสัมพันธ์อะไรออกมา ซึ่งก็ดีไปอย่าง เพราะการปฏิรูปที่จบลงว่า “เราจะทำเหมือนเดิม” ย่อมไม่ต้องการการชี้แจงประชาสัมพันธ์ใดๆ
.
ในวันนี้ วันที่การบินไทยทำให้ทุกคนหันกลับมาสนใจการทำให้รัฐวิสาหกิจของเราแข่งขันได้ และรุ่งเรืองอีกครั้ง ผมในฐานะส่วนหนึ่งของคณะทำงานที่เคยทุ่มเทอย่างมากเพื่อให้เกิดการปฏิรูป และในฐานะประชาชนไทยที่ยังหวังว่าจะมีการปฏิรูปการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจอย่าง ‘แท้จริง’ ในวันหนึ่งข้างหน้า และในฐานะที่เป็นเจ้าของคลิปนี้ เพราะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายในการจัดทำ โดยไม่เคยไปเบิกเลยแม้แต่บาทเดียว จึงขอถือโอกาสนี้เอาคลิปเก่านี้มาเผยแพร่ เพื่อปลูกฝังความเข้าใจให้ท่านที่สนใจพอทราบหลักว่ารัฐวิสาหกิจที่ดีๆ นั้นเขาบริหารจัดการกันอย่างไร
.
ขอเชิญทัศนาครับ…
บรรยง พงษ์พานิช