วันจันทร์, พฤษภาคม 11, 2563

"รัฐไทยใช้ พรก.ฉุกเฉินคุ้มมั๊ย?" อ่านโพสนี้แล้ว สมองอาจจะเหนื่อย แต่คุ้มค่า




วันก่อนที่รับเชิญสัมมนาออนไลน์ จาก มศว.นั้น มีคำถามหนึ่งน่าสนใจมาก "รัฐไทยใช้ พรก.ฉุกเฉินคุ้มมั๊ย?" อย่าว่าแต่คุ้มมั๊ยเลย เอาจริงๆ ทวด. งง ว่าตอนนี้ทำไม่ไม่ยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน และใช้ พรบ.โรคติดต่อ (หรือที่เราพูดติดปากกันว่า พรบ.ควบคุมโรค) ได้แล้ว แรงเหวี่ยงของความต่อเนื่องนิวนอร์มอล มันจะแพ้ทางแรงปะทุพฤติกรรมเดิมจากความกดดัน

วันนี้สอนการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ทำให้นึกถึงหนังสือสองเล่ม คือ Disaster Policy and Politics ของ Richard Sylves และ Methods of Disaster Research ของ Robert A. Stallings กับคำกล่าวของอาจารย์ Comfort ว่า

"Disasters are, in a way, only man-made. Crises are naturally and originally just emergency where mismanagement makes them disasters"
"ภัยพิบัติเอาเข้าจริง เกิดจากมนุษย์ทั้งสิ้น เพราะวิกฤติโดยธรรมชาติและกำเนิดนั้นมักจะเป็นเพียงภาวะฉุกเฉิน แต่การจัดการที่ผิดพลาดนี่ล่ะ ที่ทำให้มันกลายเป็นภัยพิบัติ"

จวบจนถึงวันนี้ นับเป็นเวลาถึง 39 วันที่บังคับเข้มข้น + 7 วันที่ผ่อนคลายบ้างบางส่วน หลังจากวันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลไทยประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน ในกรณีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งกรมควบคุมโรคระบุให้เป็น "โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง" ซึ่งคำสัมภาษณ์หลายครั้งของ ทวด.นั้น พยายามจะหาเหตุผลและความเข้าใจให้กับ พรก.ฉุกเฉิน เพราะรู้ว่ามาตรการการจัดการในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคมนั้น เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนความไม่มั่นใจ ข้อมูลที่ไม่รอบด้าน และการวิเคราะห์สถานการณ์ที่มีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจการตัดสินใจ ที่มีหลักการแตกต่างกัน

การวิ่งคลุกฝุ่นแก้ไขมาตรการหย่อนยานด้านการกำกับดูแลนักท่องเที่ยว การติดตามและจัดทำระบบข้อมูลสุขภาพนักท่องเที่ยวที่ไม่เข้มข้น การไม่สามารถสื่อสารความเสี่ยงเพื่อขอความร่วมมือจากภาคสาธารณะได้เต็มที่ และการ "อยู่ๆ" ประกาศปิดกิจกรรมที่เป็นแหล่งแรงงานของกรุงเทพมหานคร ตามด้วยปริมณฑล ทำให้เกิดการกระจัดกระจายของตุ่มแดงใหญ่ๆ กลายเป็นผื่นทั่วตัว ทำให้เกิดถาวะ "ไร้ความสามารถในการควบคุมและดูแล" ประชาชนในทุกลักษณะพื้นที่ขึ้นมาพร้อมๆกัน จนดูเหมือนต้องใช้อำนาจของ พรก.ฉุกเฉินขึ้นฟาดลงกลางใจทุกภาคส่วน ด้วยเพราะไม่สามารถใช้มาตรการรักษารยะห่างทางสังคมได้ แต่การที่ไม่สามารถสร้างระยะห่างทางสังคมได้นั้น "ไม่ใช่เพราะประชาชนไม่ทำตาม" แต่เพราะ "การตัดสินใจในการบริหารจัดการของรัฐวิ่งไล่ตามปัญหาและล้มเหลวในการบังคับใช้มาตรการ" ในหลายส่วนตั้งแต่เริ่มต้น

การรักษาระยะห่างทางสังคมนั้น รัฐตีโจทย์ผิด เพราะการรักษาระยะห่างทางสังคมไม่ใช่แค่เพียงการออกมาบอกให้ประชาชนใส่หน้ากาก แต่มันต้องจัดให้มีการเข้าถึงหน้ากากได้โดยสะดวก และไม่ใช่การให้พกแอลกอฮอลและหมั่นล้างมือ โดยไม่สามารถจัดให้สถานที่ต่างๆทั้งที่เป็นรัฐและเอกชนมีองค์ประกอบเหล่านี้จัดเตรียมไว้ให้ และไม่ใช่การบอกให้อยู่บ้านเข้าไว้โดยไม่ไตร่ตรองเงื่อนไขการอยู่บ้านว่า "อยู่ได้หรือไม่ได้อย่างไร" หากทำไม่ได้ มาตรการฝั่งรัฐยิ่งต้องมุ่งเน้นการจัดสรรให้มี ดังนั้นการรักษาระยะห่างทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดสรรด้วยครึ่งหนึ่ง และรัฐต้องขอความร่วมมือในภาคส่วนที่ยึดครองกิจกรรมในสังคมที่เหลืออยู่ ให้ทำการเหลื่อมเวลาการทำงานอย่างเป็นทางการ เพราะส่งปลต่อความแออัดในพื้นที่และการเดินทางสาธารณะ รวมถึงสถานศึกษาที่ต้องมีการเหลื่อมเวลาและจัดการเรียนการสอนแบบสั้นๆ แทนภาคการศึกษาที่ยาวนาน โดยเฉพาะเด็กเล็ก (ที่อยู่บ้านกะพ่อแม่มากไปจนเริ่มไม่มีความสุขแระ ที่บ้านมีคนนึง) และการวางแบบแผนขั้นตอนการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ลักษณะต่างๆให้ได้ "ตั้งนาน" แล้ว

ใช้ พรก.ฉุกเฉิน ก็ใช้ไม่คุ้มที่โดนด่า เพราะ พรก.ฉุกเฉินไม่ใช่ยาวิเศษ ผลที่ได้ในตอนนี้ ด้วยความสามารถทางการแพทย์ สาธารณสุข และความร่วมมือร่วม(ฝืนๆ)ใจของประชาชนทั้งนั้น แลกมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจและจิตใจ นี่ยังไม่นับรวมที่จะต้องใช้เวลาในการขยับกลับสู่ความใกล้เคียงปรกติ ที่มีความระแวดระวังกว่าเดิม เพื่อทำการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ที่จะตามมาอีก ด้วยเหตุนี้ ระยะเวลา 39+7 วัน ที่ใช้ไปนั้น เป็นการซื้อเวลาในการจัดเตรียมมาตรการที่ราคาแพงมาก และหากรอไปอีกถึงวันที่ 17 นั่นให้เดาว่า ให้รอจากวันที่ 3 พฤษภาคม ที่ผ่อนคลายมาตรการไป 14 วัน คงเพื่อดูการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมนั่นเอง เอาจริงๆ หากจะใช้เวลาขนาดนี้ ใช้ พรบ.โรคติดต่อก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเคอร์ฟิวและใช้ พรก.ฉุกเฉินต่อแล้ว เพราะตอนนี้กระทรวง กรม ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายกเล็ก ก็ลุกขึ้นตั้งหลักที่จะตัดสินใจเอง ในการจัดมาตรการตามเกณฑ์ทางการแพทย์ที่ให้แนวทางการผ่อนปรนกิจการรูปแบบต่างๆแล้ว หรือหากพูดในภาษารัฐศาสตร์คือ การกลับมาใช้อำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัดเหนือการจัดการพื้นที่ของตน โดยความเห็นชอบจากมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข จากคณะกรรมการควบคุมโรคประจำจังหวัด ที่มีการกำกับทิศทางจากกรมควบคุมโรคส่วนกลาง

ก็ไม่ใช่ว่าไม่เห็นประโยชน์ของ พรก.ฉุกเฉิน ด้วยก็รู้ว่าปัญหาของการใช้ พระราชบัญญัติ อนุบัญญัติ และระเบียบต่างๆพร้อมกัน 40 ฉบับ (ที่เอาไปบังคับใช้ใต้ พรก.ฉุกเฉิน) นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับการบริหารระบบงานแบบรัฐไทย "ที่โดยธรรมชาติทำงานร่วมกันไม่เป็น" และด้วย "เหตุการณ์ที่บานปลายจากมาตรการการจัดการที่ดูเบาความเสี่ยงและการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ" ทำให้มีความจำเป็นต้องสถาปนาอำนาจที่เหนือกว่ามาจัดการกับ "วิกฤติชนิดสถานการณ์ฉุกเฉิน" แต่ไอ้สถานการณ์ฉุกเฉินเนี่ย ปรกติเค้าจัดการกันไม่นานนะคะ คือสถานการณ์ฉุกเฉินนี่เค้ากลายสภาพง่ายค่ะ คือ "ถ้าเก่งก็กลับคืนสภาวะที่จัดการได้ง่าย" แต่ "ถ้าไม่เก่งมันจะกลายร่างเป็นวิกฤติที่หนักหนาขึ้นจนเข้าสู่ภัยพิบัติ" ค่ะ วิกฤติคราวนี้ดิสรัปการจัดการอย่างมาก "โควิด-19 เป็นส่วนกลับของการขยายตัวของสาธารณภัย" คือใช้การควบคุมความปรกติหรือไม่ปรกติให้อยู่ในขอบเขตพื้นที่ของตนเอง เพื่อ "ให้การจัดการตนเองมีความเป็นไปได้" ซึ่งนั่นหมายความถึงทั้งในมิติของการจัดการทางการแพทย์การสาธารณสุข และการจัดการเพื่อให้ได้จัดการทางการแพทย์การสาธารณสุข ให้สามารถกระทำได้ ดังนั้น ยุติ พรก. ฉุกเฉิน และหันมาใช้ พรบ. โรคติดต่ออันตราย เพื่อให้พื้นที่กลับสู่การดำเนินชีวิตด้วยความระมัดระวังรายพื้นที่ จากคำแนะนำทางการแพทย์และสาธารณสุขของพื้นที่แต่ละพื้นที่ได้แล้ว ภายใต้การทำงานหนักอย่างทั่วถึงของพื้นที่และกลไกของมหาดไทย

เอาจริงๆ พรก.ฉุกเฉินจะคุ้มมาก หากใช้ พรก. นี้ในการตีความให้ โรคติดต่ออันตรายร้ายแรง เป็นภัยพิบัติต่อสาธารณะเสียตั้งแต่แรกๆ (มาตรา 4 พรก.ฉุกเฉิน) จะได้เข้าสู่ท่อนนิยามของมาตรา 4 พรบ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ด้วย ซึ่งเป็นที่ที่สามารถใช้กลไกการดำเนินการเพื่อยับยั้ง ช่วยเหลือ และเยียวยาในระดับพื้นที่ได้ การใช้ พรก.ฉุกเฉินที่มีอำนาจสูงกว่านั้น น่าควรจะใช้อำนวยความสะดวกแก่ พรบ.และระเบียบ 40 ฉบับที่เกี่ยวข้องให้สามารถใช้งานได้มากกว่านี้ รวมถึงการกำหนดมาตรการพิเศษต่างๆต่อประชาชนทุกกลุ่มให้ได้มากกว่านี้ วิกฤติครั้งนี้สะท้อนความอ่อนแอในระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจบริหารจัดการเป็นอย่างมาก ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา หน่วยงานทุกหน่วยงานจนถึงระดับสำนักและกรม มีการจัดทำฐานข้อมูลของตนเองเกือบจะทุกรอบวาระผู้บริหาร ข้อมูลเหล่านั้นไม่ใช่ใช้ไม่ได้ แต่ไม่เคยถูกใช้บ่อยมากพอที่จะสะท้อนคุณภาพที่แท้จริงกลับคืนสู่ผู้รักษาระบบ และไม่เคยถูกนำมาใช้เพื่อตัดสินใจในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ ดังนั้นเมื่อต้องจัดการกาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นในบริเวณ "ส่วนกลางของพันธกิจทุกกระทรวง" หรือที่เรียกว่า "พันธกิจร่วมที่ปรกติถูกเรียกว่างานฝาก" จึงไม่แปลกใจว่า "ถึงอยากบริหารจัดการให้ทั่วถึงและตรงตามความต้องการแต่ละกลุ่ม" จึงไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น "ความเข้าอกเข้าใจต่อความเหลื่อมล้ำ" อันนำมาซึ่งความเดือดร้อนจากวิกฤติตัวเดียวกันที่ไม่เท่ากัน จึงทำได้ยากเย็น

#หมดเวลาพักกลับไปทำงานใช้หนี้ต่อก่อน
#เลดี้ดิสแซสเตอร์โคโรนาไวรัส