วันอังคาร, เมษายน 07, 2563

สถานะวิกฤตโควิด สร้าง ‘demagogues’ ทั้งผู้นำ ‘เหลิงตัว’ และพวกลิ่วล้อ ‘สอพลอ’


เขาว่าสถานการณ์นั้นสร้างวีรบุรุษ แต่สถานะวิกฤตโควิด-๑๙ กลับทำให้เกิด ‘demagogues’ ทั้งผู้นำ เหลิงตัวและพวกลิ่วล้อ สอพลอ

จากสถานการณ์เมื่อวาน ตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อ ๖ เมษายน เพิ่มอีก ๕๑ ราย รวมทั้งสิ้น ๒,๒๒๐ ราย รักษาหายไปแล้วเกือบ ๘๐๐ ราย แต่เสียชีวิตเพิ่มเป็น ๒๖ ราย หากดูตามเส้นกร๊าฟจำนวนที่ตรวจจะเห็นว่า ในหมู่ประเทศอาเซียนไทยยังแค่กลางๆ

แนวโน้ม ‘trajectory’ ยังลูกผีลูกคน พุ่งขึ้นไม่มากแต่ก็ยังไม่เข้าสู่แนวราบ เนื่องเพราะการตรวจทำได้ไม่มากอย่างมาเลเซีย ซึ่งตรวจมากกว่าก็พบมากกว่า แต่จำนวนผู้เสียชีวิตฟิลิปปินส์แซงมาเลย์ ที่ ๑๔๔ ศพต่อ ๕๗ ทำให้ไทยติดอันดับสามเรื่องคนตาย
 
นี่เองเป็นเหตุให้รัฐบาลซึ่งเตรียมตัวยกระดับมาตรการไปสู่ขั้นหนัก หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มไม่หยุดในอัตราเร่งหลังจากพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จกลับพระราชฐานสัญจรของพระองค์ในเยอรมนี เมื่อเสร็จพระราชพิธีบวงสรวงปฐมกษัตริย์ในกรุงเทพฯ

หนังสือสั่งการของปลัดกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานฝ่ายปกครองให้ เตรียมการหากจะมีการสั่งห้ามผู้คนออกจากบ้าน หรือ เคอร์ฟิว ๒๔ ชั่วโมงเกิดขึ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมายเข้าไปยังศูนย์โควิด-๑๙ หรือ ศบค.

จนโฆษกศูนย์ฯ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ต้องถอดหน้ากากอนามัยหลังจากให้รายละเอียดสถานการณ์เสร็จแล้ว (เพื่อจะให้ผู้ชมเห็นวิธีจีบปากว่าซีเรียสละมัง) เพื่อจะโต้ว่ายังไม่มีการเคอร์ฟิว ๒๔ ชั่วโมง แต่เป็นเพียงการสื่อสารกับฝ่ายปกครองเท่านั้น

แล้วก็เลยไปถึงโครงการเยียวยา #เราไม่ทิ้งกัน ด้วยว่า “ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนมากถึง ๒๔.๒ ล้านคน ซึ่งขอบคุณประชาชนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แต่เยอะมาก จากที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ครั้งแรกเพียง ๓ ล้าน”

เกรงว่า “ถ้าต้องจัดสรรงบประมาณมาด้านนี้ด้านเดียว การรักษาพยาบาลและด้านอื่นๆ คงมีปัญหาแน่นอน” ซึ่งที่จริงก็เป็นปัญหาธรรมดาของผู้บริหารประเทศทั้งหลาย ต้องหาทางจัดการให้ลุล่วงไปให้ได้ทั้งนั้น แต่ทั่นโฆษกฯ ก็เลือกที่จะแสดงตนดั่งผู้ใช้อำนาจฉุกเฉิน

นอกจากจะตำหนิว่าประชาชนว่า ตื่นตระหนกที่ตีความการ “เตรียมการเพื่อยกระดับ” ว่าเป็นการเตรียมประกาศเคอร์ฟิว “พออ่านเอกสารของทางราชการไม่ออกก็เป็นตุเป็นตะขึ้นมา มีผลกระทบเกิดขึ้น” ขู่ให้ระวัง “ช่วงนี้อยู่ในระหว่างการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉะนั้นการแชร์ข้อมูลไม่เป็นจริงนั้นมีโทษ”

แล้วยังบอกกับผู้ที่ไปลงทะเบียนขอรับการเยียวยา ๕ พันบาทเป็นเวลา ๓ เดือน ให้ไปดูคุณสมบัติของตนกันอีกที ถ้า “พบว่าตัวเองลงไปแล้วไม่ใช่ ไปถอนออกได้เลยครับ เพราะว่าถ้าไม่ใช่ ด้านหนึ่งเขามี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จมีโทษด้วย”

ทั่นโฆษกฯ ยกตัวอย่างพลเมืองดี ๓ แสนคนที่ “แสดงความรับผิดชอบเข้าไปยกเลิกหลังทราบว่าตนเองไม่มีคุณสมบัติ...ซึ่งจะช่วยให้ไม่เป็นภาระงานของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” ดังนั้น “ถ้าท่านเป็นคนลง ท่านก็เป็นคนเอาออกซะ

ถ้าเอาออกไปซักเป็นล้าน ภาระงานของเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังก็จะได้ลดน้อยลง การไปช่วยเหลือเยียวยากับคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจะได้เร็วขึ้น” พูดตรงๆ อย่างนี้แทนที่จะดูดี กลับทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกถูกข่มขู่

เพราะไม่ใช่ทุกคนที่รู้ตัวดี ว่าตนมีคุณสมบัติผ่านหรือไม่ การแห่ไปลงทะเบียนยี่สิบกว่าล้านคนก็เพียง ลองดู ได้ก็ดี ไม่ได้ก็แล้วไปเป็นธรรมดา เจ้าหน้าที่กระทรวงคลังหรือเจ้าหน้าที่ใดๆ ในระบบต้องจัดการให้โครงการบรรลุ จะมากจะน้อยก็อยู่ในกรอบของ หน้าที่ นั้น

จนป่านนี้น่าจะเป็นที่รู้แจ้งกันทั้งประเทศแล้วตั้งแต่คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีรัฐมนตรีบางคนทำคลิปอวด ว่ายน้ำฟิตกายสู้โควิด ไปถึงโฆษกหน้ามน ไม่ว่าจะโปรเฟสเซ่อหญิงไม่ค่อยรู้สีสาหรือด็อกเต้อชายรู้มากมาย รู้แก่ใจกันดีว่านี่ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา

หมดเวลาสร้างภาพ อวดพจนะได้แล้ว ประชาชนต้องการข้อมูลที่เป็นจริงและทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช่คำสอนคำสั่งที่มักจะไล่หลังสถานการณ์อยู่ร่ำไป