วันอาทิตย์, เมษายน 26, 2563

มาดูกันว่ามหาเศรษฐีระดับโลกได้ร่วมช่วยเหลือรับมือสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรบ้าง




เจฟฟ์ เบซอส

เมื่อต้นเดือน ผู้ก่อตั้งบริษัทแอมะซอน (Amazon) และบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกผู้นี้ได้บริจาคเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้ Feeding America เครือข่ายธนาคารอาหารระดับประเทศ นอกจากนี้ แอมะซอน ยังทุ่มเงินอีก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับโครงการพัฒนาการวินิจฉัยเอดับเบิลยูเอส (AWS Diagnostic Development Initiative) ซึ่งมุ่งพัฒนาให้ชุดทดสอบเชื้อโควิด-19 ออกวางตลาดเร็วขึ้น



แอมะซอน ยังได้ว่าจ้างพนักงานเต็มเวลาและชั่วคราวอีก 1 แสนคนทั่วสหรัฐฯ ด้วย แต่บางฝ่ายก็มองว่านี่เป็นผลจากความนิยมซื้อของออนไลน์บนเว็บไซต์แอมะซอนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์รับมือไวรัสโคโรนา โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้สินทรัพย์ของเบซอส เพิ่มขึ้นอีก 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.38 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บิล เกตส์

เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติหลังโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศระงับการสนับสนุนงบประมาณให้องค์การอนามัยโลก สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ซึ่งก่อตั้งโดยมหาเศรษฐีชาวอเมริกันเจ้าของบริษัทไมโครซอฟต์ บิล เกตส์ และภรรยาของเขา เมลินดา เกตส์ เป็นผู้สนับสนุนเงินให้องค์การอนามัยโลกเป็นอันดับที่สองรองจากสหรัฐฯ ซึ่งเงินจากมูลนิธิคิดเป็น 9.76% ในงบประมาณขององค์การอนามัยโลก

เว็บไซต์มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ระบุว่า ได้ให้ทุนรวมแล้วมากกว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการรับมือกับโควิด-19 มูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations หรือ Cepi) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้คนเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนานี้ เว็บไซต์ นสพ.ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า กลุ่ม Cepi กำลังทำการวิจัยคิดค้นวัคซีนไวรัสโคโรนาอยู่ 8 โครงการด้วยกัน โดยต้องใช้เงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยขณะนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร, แคนาดา, เยอรมี, นอร์เวย์ เป็นต้น รวมอย่างน้อย 690 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว

แจ็ค ดอร์ซีย์

ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริหารของทวิตเตอร์ ประกาศในทวิตเตอร์บริจาคเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 28 ของสินทรัพย์เขาทั้งหมด เป็นกองทุนต่อสู้กับโควิด-19 และหลังจากการระบาดใหญ่นี้สิ้นสุดลงแล้ว เงินก้อนนี้จะมุ่งช่วยเหลือด้านสุขภาพและการศึกษาของผู้หญิง และผลักดันแนวคิด Universal Basic Income หรือนโยบายการันตีรายได้พื้นฐานให้กับประชาชน


ไมเคิล บลูมเบิร์ก

จากรายงานโดยนิตยสารฟอร์บส ไมเคิล บลูมเบิร์ก แห่งบริษัทบลูมเบิร์ก แอล.พี. มหาเศรษฐีอันดับ 16 ของโลก ได้ริเริ่มโครงการมูลค่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการช่วยป้องกันหรือชะลอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศที่มีรายได้ระดับกลางหรือต่ำ นอกจากนี้ มูลนิธิบลูกเบิร์กฟิแลนโทรฟีส์ (Bloomberg Philanthropies) ของเขายังทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกอีกด้วย

เขายังได้บริจาคเงิน 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อแจก หรือให้องค์กรไม่หวังผลกำไรในนครนิวยอร์กยืมโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยอีกด้วย

แจ็ค หม่า


REUTERS
คำบรรยายภาพแจ็ค หม่า มีมูลค่าทรัพย์สิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


แจ็ค หม่า ผู้ร่วมก่อตั้ง อาลีบาบา กรุ๊ป บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ และบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย เตรียมบริจาคอุปกรณ์ตรวจเชื้อ 2 หมื่นชุด หน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้น และชุดป้องกัน 1 พันชุด ให้กับแต่ละประเทศในแอฟริกา ก่อนหน้านี้ เขาและมูลนิธิอาลีบาบาประกาศส่งอุปกรณ์ตรวจเชื้อ 5 แสนชุด และหน้ากากอนามัย 1 ล้านชิ้นไปสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เขายังได้บอกว่าจะส่งอุปกรณ์การแพทย์ไปยุโรป รวมถึงประเทศอื่น ๆ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน สเปน รวมถึงไทยด้วย



ที่มา บีบีซีไทย
https://www.bbc.com/thai/international-52340305