“พาดหัวข่าวเช้านี้ เตรียมต่อ ‘พรก.ฉุกเฉิน’ อีก ๑ เดือน” จากทวี้ตของ ‘ไอ้วาฬ’ @iwhale (ไอเวล) ว่ายังจะมีเคอร์ฟิว ปิดห้าง
ปิดสถานบริการต่างๆ ยาวต่อไปสุดเดือนพฤษภา อาจมีผ่อนปรนบางส่วน แต่ส่วนที่ ‘ทหาร’ใช้อำนาจเกินจำเป็นคงมีได้เป็นครั้งคราว
คือส่วนที่ไม่เกี่ยว ‘โควิด-๑๙’ เท่าไหร่ แต่ก็เข้าขอบข่ายอำนาจไม่ปกติ
เมื่อ “ทหารชุดปราบปรามยาเสพติด
บุกอุ้มเอาตัวลูกชายสองพี่น้องที่อยู่ในกระท่องนาท้ายหมู่บ้าน
ในเขตพื้นที่บ้านยางคำ ต.อุ่มเหม้า ก่อนหายตัวปริศนา”
แล้วปรากฏว่าคนหนึ่งตาย อีกคนสาหัสจนบัดนี้ยังร่อแร่
สองหนุ่มนครพนมอายุ ๓๓ ปี กับ ๒๙ ปี ถูกทหารนอกเครื่องแบบ ๗ คนไปนำตัวจากกระท่อมปลายนาไปควบคุมไว้ที่ฐานปฏิบัติการ
อ้างว่าทั้งสองเสพยา พอสองชั่วโมงต่อมาพ่อแม่หนุ่มไปตามทวง
ทหารยอมปล่อยตัวออกมาในสภาพอาการบาดเจ็บหนัก
มีทั้งรอยฟกช้ำและบาดแผลจึงส่งโรงพยาบาล คนพี่ไม่รอด คนน้องยังมีชีวิตแต่ซี่โครงหักอีกนานกว่าจะหายดี
พ่อแม่จึงไปแจ้งความ ถามว่าถ้าติดยาทำไมไม่ส่งดำเนินคดี กลับซ้อมถึงตาย
น่าอายก็ตรงที่แม่ทัพภาค ๒ ตอแหล
แก้ตัวน้ำขุ่นๆ ว่า “บุคคลทั้งสองได้วิ่งหนีการจับกุมของทางเจ้าหน้าที่จนต้องวิ่งไล่ตามกันไปจนสามารถจับกุมตัวได้
แต่ทั้งสองคนก็ไม่ยอมจึงเกิดการชกต่อยกันเกิดขึ้น จนสามารถจับกุมได้และนำตัวมาสอบสวนที่ฐาน”
ก็ธรรมดา แม้ว่าทั้งสองจะเสพยาติดจริงย่อมวิ่งหนีเป็นธรรมดา
ไหงตอนที่กำลังสอบสวน คนหนึ่ง “เกิดอาการปวดหลัง จากนั้นมีอาการชักเกร็ง”
จนต้องส่งโรงพยาบาล ซึ่ง สุณัย ผาสุก @sunaibkk แห่งฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ บอก
“แม่ทัพพูดตรงกันข้ามกับปากคำของเหยื่อที่รอดตายเลย
จากถูกจับไปซ้อมทรมานในหน่วยทหารกลายเป็นชกต่อยชุลมุนกันระหว่างจับกุมตัว”
และระหว่างชาปณกิจลูกคนที่เสียชีวิต ทหาร ๗ คนไปขอขมาต่อศพ “ทั้งหมดให้การรับสารภาพว่ากระทำจริง”
แต่ว่า “ทหารที่ถูกกล่าวหาทั้ง ๗ นาย
จะถูกนำตัวไปสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามระเบียบของข้าราชการทหาร”
นี่ไงกระบวนการยุติธรรมในภาวะฉุกเฉิน ท้ายสุดศาลทหารอาจสั่งปลดคนทั้งเจ็ดจากตำแหน่งในราชการ
แลกกับ ๑ ชีวิตกับ ๑ สาหัส
(https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_3983513, https://mgronline.com/local/detail/9630000040803 และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2147206)
ข้ามไปประเด็นการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลประยุทธ์
จันทร์โอชา “จนถึงวันนี้..รัฐบาลต้องมีความจริงใจและต้องรีบเปิดสภา
ให้ผู้แทนราษฎรได้เข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนปัญหาและร่วมหาทางออกให้ประชาชน” Phumtham Wechayachai พรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านกระตุก
“รัฐบาลไม่ควรต่อ
พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ควรบังคับใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน” น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาฯ
พรรคเจาะที่กรณีโรคระบาดโควิด-๑๙ ขณะที่อดีตเลขาฯ ภูมิธรรม หมายตาเรื่องการเมือง “อย่าทำมึนแล้วดึงเวลาใช้สถานการณ์ฉุกเฉินไปเรื่อยๆ”
ในเมื่อ “เงินที่กำลังจะใช้
ล้วนเป็นเงินกู้ที่ต้องใช้เงินภาษีในอนาคตของประชาชนมาชดใช้ทั้งนั้น”
เขาจี้ถึงการออก พรก.กู้เงินเกือบ ๒ ล้านล้านบาท อ้างแก้วิกฤตโรคระบาด ซึ่งนักวิชาการสำนักที่เคยสนับสนุนรัฐบาลรัฐประหารยังยอมรับ
ว่าประชาชนต้องตามเช็ดตามใช้ไปอีก ๕๐ ปี
โดยเฉพาะที่วงวิชาการการเงินการคลัง ‘หนาว’ กันมากเวลานี้ก็คือ “แบงค์ชาติไทยตั้งกองทุน ๔
แสนล้านเพื่ออัดฉีดเข้าตลาดตราสารหนี้บริษัท” ซึ่ง กานดา นาคน้อย
นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยคอนเน็คติกัตบอก
“รัฐบาลไทยมีแพ็คเกจ SME
กู้ ๒ แสนล้านไหม” ในเมื่อดูจาก ‘โมเดล’
สหรัฐ “ท่ามกลางวิกฤตโควิดในแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ มีมูลค่าเกิน
๕๐% ของเม็ดเงินที่แบงค์ชาติอเมริกันอัดฉีดเข้าตลาดตราสารหนี้บริษัท”
ทว่า พรก.กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย
แม้ระบุว่า “สัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุน
เมื่อเทียบกับแหล่งเงินทุนอื่นของผู้ออกตราสารหนี้ในคราวเดียวกัน
ซึ่งจะต้องไม่เกิน ๕๐%
ของยอดตราสารหนี้ที่จะครบกำหนด”
กลับมีข้อยกเว้น
“เว้นแต่ได้รับผ่อนผันจากคณะกรรมการกำกับกองทุน”
อันมีนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ร่วมอยู่ นอกเหนือจากนั้น “ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นแก่ธนาคารแห่งประเทศไทย
ให้กระทรวงการคลังชดเชยความเสียหาย...ในวงเงินไม่เกิน ๔ หมื่นล้านบาท”
ทั้งหมดนั่นเข้าใจได้ง่ายๆ
ตามประสาชาวบ้านได้ว่า การออกกฎหมายให้กู้เงิน ๔
แสนล้านเอาไปอุ้มบรรษัทการเงินเอกชนที่เป็น ‘cream of the crop’ ในประเทศในเรื่องการทำกำไรนั้น
นอกจากชาวบ้านธรรมดาตาค้างแล้วยังรู้สึกสะอึกว่า เป็นการจับเสือมือเปล่าที่พวกเขาและลูกหลานจะได้รับเกียรติซึ่งไม่ต้องการ
ให้เป็นผู้ใช้หนี้แทนต่อไปอีกครึ่งศตวรรษ