วันพฤหัสบดี, เมษายน 30, 2563

เศร้ากับคำแถลงของอธิบดีกรมสุขภาพจิต กรณีประชาชนฆ่าตัวตาย... ทำไมไม่ได้ยินเสียงเศร้าจากความทุกข์ยากของประชาชน...




ถ้าใจของคุณขาดซึ่ง Empathy แล้ว คุณก็ไม่ใช่จิตแพทย์อีกต่อไป

ผมอ่านคำแถลงของอธิบดีกรมสุขภาพจิตในกรณีที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งนำเสนอว่า “ประชาชนฆ่าตัวตายมากขึ้นแสดงถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหา COVID-19 ของรัฐบาล” ด้วยความรู้สึกอึ้ง ผิดหวังและเศร้าใจแทนประชาชน

เพราะแทนที่กรมสุขภาพจิตจะรับฟังเสียงสะท้อนที่ดังมาจากบรรดาอาจารย์และนักวิชาการเหล่านี้

กรมสุขภาพจิตกลับเลือกใช้ระเบียบวิธีวิจัยทำให้เสียงนี้ด้อยค่าไป(Devalue)

ทั้ง ๆ ที่ในเวลาเช่นนี้กรมสุขภาพจิตจะต้องฟังเสียงทุกเสียง ไม่ว่าเสียงนั้นจะมาจากใคร ผ่านการกลั่นกรองมาดีหรือไม่ เพราะมันคือเสียงของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน การตอบสนองต่อเสียงของประชาชนด้วยการทำให้เสียงนั้นด้อยค่าลง ย่อมไม่เป็นผลดีกับกรมสุขภาพจิตอย่างแน่นอน ยิ่งในสถานการณ์นี้ กรมสุขภาพจิตยิ่งต้องทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น การฟังเสียงประชาชนด้วย Empathy ไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด และมันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้กรมสุขภาพจิตสามารถมีบทบาทนำในการแก้ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชน น่าเสียดายที่อธิบดีกรมสุขภาพจิตกลับเลือกทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม

เหตุการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้วในกรมสุขภาพจิตนี่แหละ อธิบดีกรมสุขภาพจิตในขณะนั้นมีแนวคิดในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตเป็นผู้บริหารกรมในอนาคต โดยเน้นการพัฒนาวิธีคิดและการมองปัญหา

อธิบดีท่านนี้ได้เชิญอาจารย์แพทย์ท่านหนึ่งมาเป็นวิทยากรฝึกอบรม และอาจารย์ก็ได้ใช้ “หลักสูตรฝึกอบรมการวิจัยเชิงคุณภาพ” เป็นอุบายในการฝึกอบรม(เพื่อพัฒนาวิธีคิดและการมองปัญหาให้คนที่จะเติบโตเป็นผู้บริหารรุ่นต่อ ๆ ไปของกรมสุขภาพจิต)

ครั้งหนึ่งภายใต้การอบรมหลักสูตรนี้ เราไปอบรมกันที่โคราชและมีการไปเก็บข้อมูลที่โรงพยาบาลพิมาย ระหว่างที่เรากำลังเดินสำรวจและเก็บข้อมูลกันอยู่นั้น มีรถพยาบาลคันหนึ่งวิ่งเข้ามาในโรงพยาบาลและมีเจ้าหน้าที่เข็นผู้ป่วยลงจากรถเข้าไปในห้องฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวแบบชาวบ้านทั่ว ๆ ไปลงจากรถและวิ่งตามรถเข็นผู้ป่วยเข้าไปในห้องฉุกเฉินพร้อมกับร้องไห้เสียงดังไปตลอดทาง สักพักเธอก็ออกจากห้องฉุกเฉินมานั่งร้องไห้รำพึงรำพันคนเดียวอยู่ที่ม้านั่งหน้าห้องฉุกเฉิน หลังจากนั้นสักครู่ใหญ่ผู้ป่วยรายนี้ก็ถูกเข็นออกจากห้องฉุกเฉินมาขึ้นรถพยาบาลอีกครั้งและวิ่งออกจากโรงพยาบาลไป

ในห้องฝึกอบรมที่โรงแรม วิทยากรได้ถามว่าเราได้ข้อมูลอะไรมาบ้าง พวกเราตอบอย่างฉาดฉานว่าผู้ป่วยถูกยิงอาการสาหัส โรงพยาบาลแห่งหนึ่งกำลังนำส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา แต่สัญญาณชีพผู้ป่วยไม่ค่อยดีนักและออกซิเจนในถังอาจไม่พอที่จะส่งผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล จึงแวะโรงพยาบาลพิมายเพื่อแก้ไขสัญญาณชีพและเปลี่ยนถังออกซิเจน

วิทยากรถามต่ออีกว่า แล้วผู้หญิงคนที่มาด้วยและร้องไห้คร่ำครวญตลอดนั้นเป็นใคร คำตอบที่เราตอบวิทยากรคือ “คงเป็นญาติผู้ป่วย” (เพราะไม่มีใครได้คุยกับผู้หญิงคนนี้เลย)

คำพูดของวิทยากรในวันนั้นผมจำจนทุกวันนี้ “พวกคุณเป็นจิตแพทย์เป็นนักจิตวิทยากันทั้งนั้น แต่ไม่มีใครได้ยินเสียงของผู้หญิงคนนี้เลย เธอกำลังมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส ต้องมีคนดูแลเธอ แต่ผมก็ไม่เห็นพวกคุณเข้าไปคุยกับเธอเลย เธอเป็นลูกสาวของผู้ป่วยครับ” มันเป็นคำพูดที่กระตุกให้ผมนึกถึงคำว่า “Empathy” ของตัวเองอย่างรุนแรง

พี่น้องชาวสุขภาพจิตทุกท่านครับ ท่านสำรวจความเข้มแข็งของ “Empathy” ในตัวท่านครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ และในวันนี้ถ้าท่านยังไม่ได้ยินเสียงของบรรดาอาจารย์และนักวิชาการที่นำเสนอปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในสถานการณ์ COVID 19 ผมว่าท่านจะต้องทบทวนสิ่งที่เรียกว่า “Empathy” ในตัวของท่านใหม่แล้วล่ะ

สถานการณ์แบบที่เรากำลังเผชิญอยู่กับ COVID 19 ในขณะนี้นี่แหละคือสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ปัญหาโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายของประชาชนอย่างขนานใหญ่ และผมมองว่ามันจะรุนแรงกว่าเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของเราในปี 2540 อีกด้วย

คนจำนวนมากตกงาน ไม่มีกิน ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่มีความหวังในชีวิต กลายเป็นคนไร้ค่า ทั้งหมดคือความสูญเสียที่รุนแรงทั้งสิ้น และเมื่อใดก็ตามที่คนคนหนึ่งเกิดความรู้สึกไม่มีความหวังในชีวิต(Hopeless) ไร้ค่า(Worthless) มองไม่เห็นใครที่จะช่วยได้เลย(Helpless)ขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายก็จะสูงขึ้นมาทันที

ท่านต้องใช้ “Empathy” ท่านจึงจะมองเห็นสิ่งเหล่านี้ การเอาระเบียบวิธีวิจัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการรับฟังเสียงของประชาชนคือการ Devalue เสียงของประชาชน และกีดขวางการทำงานของ “Empathy” ในตัวท่าน แล้วท่านจะช่วยเหลือประชาชนได้อย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้

ประชาชนต้องการท่าน เขาต้องการให้ท่านรับฟังเสียงของพวก เขาจึงได้ส่งเสียงมา จริงอยู่เสียงของพวกเขาอาจไม่เพราะ อาจดูดุดันก้าวร้าว แต่ถ้าใจของท่านยังมี Empathy อยู่ ท่านจะได้ยินเสียงเหล่านี้อย่างชัดเจน ปัญหาที่พวกเขาอยากให้ช่วยเหลือท่านอาจจะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด แต่เพียงแค่ “ท่านรับฟังเสียงของพวกเขาด้วยความรู้สึก “Empathy” เท่านั้น” ท่านก็ช่วยพวกเขาได้เยอะแล้วครับ

ผมจึงเรียกร้องให้ท่าน “ฟังเสียงประชาชน ด้วยใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วย Empathy” ไม่ว่าประชาชนคนนั้นจะเป็นใครก็ตาม เพราะด้วยวิธีนี้เท่านั้น ท่านจึงจะสามารถเข้าถึงความทุกข์ของประชาชนและช่วยประชาชนได้


Udom Pejarasangharn

https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=2618230165083592&id=100006899029309