วันอังคาร, เมษายน 28, 2563

หุ้นส่วนเศรษฐกิจ ‘ทรานสแปซิฟิค’ ที่ ปชป.ถอนวาระ นี่อาจเปิดแผลหนองในของ 'ตู่สอง'


จะเป็น ‘Game of Thrones’ อย่างที่มีบางคนตั้งข้อสังเกตุหรือเปล่า ไม่แน่นัก จากการที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขอถอนประเด็นเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.วันนี้ ให้ไทยเข้าร่วม ‘CPTPP’ ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ทรานสแปซิฟิค

ทวี้ตเตี้ยนรายหนึ่งอ้างภาวะไม่ลงรอยภายในรัฐบาลตู่สอง ว่า ปชป.อยากจะเอาใจกลุ่มทุนในแวดวงของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ต้นคิดเข้าร่วมภาคี ๑๑ ชาติ แต่งานนี้พรรคร่วมสำมะคัญอย่าง ภูมิใจไทยเมินเพราะไม่เห็นประโยชน์อะไร

@ChpTeerachai โยงไปที่การเมือง “ส่วน พปชร. แตกคอกันเอง ประวิตรจะยึดอำนาจจากพรรค ไล่อุตตม สนธิรัตน์ สมคิด แล้วตั้งตัวเองเป็นหัวหน้าก่อนปรับ ครม. ประยุทธ์เลยยืด พรก.ฉุกเฉิน เพื่อกระชับอำนาจให้นานที่สุด”

สื่อมีเส้น คมชัดลึก ของนิวส์เน็ตเวิร์คงัดโผวงในเรื่องยึด พปชร. เอามาเปิดโปงว่าถ้า ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าคุมพลังประชารัฐด้วยตนเองดังแผนละก็ จะไปนั่งแทน อนุพงษ์ เผ่าจินดา เพื่อชักใยมหาดไทยโดยตรงเสียที

(ปัญหาเพียงว่า จะเอาอนุพงษ์ไปลงตรงไหน) ส่วนกระทรวงสำคัญคือคลัง วาง สันติ พร้อมพัฒน์ ไปกำกับโดยมีโปรเฟสเซ่อโฆษก นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ขยับขึ้น รมช. ทำให้เดาได้ว่า ด็อกเต้อโฆษก ศบค. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผ่านทดลองงาน อาจได้เป็นโฆษกรัฐบาลในไม่ช้า

ดูจากการวางตัวตามแผนที่อ้างนั้น ณัฐพล ทีปสุวรรณ ย้ายไปพลังงาน แล้วให้ อนุชา นาคาศัย ไปอยู่ศึกษาธิการ ดูเหมือนสาย กปปส.ที่กำลังเข้าโปรฯ ปูนบำเหน็จ จะเขี่ยสาย ประชารัฐ ได้สำเร็จ แต่ทว่าช้าก่อน Thanapol Eawsakul ติง

“ปัจจัยชี้ขาดการปรับ ครม. อยู่ที่พระมหากษัตริย์ครับว่าจะอนุญาตให้ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ ก่อนที่จะเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา ๑๖๑ ของรัฐธรรมนูญหรือไม่” นั่นต้องดูกันไป ว่าสายเยอรมนีโปรด กปปส.หรือประชารัฐ

เกล็ดการเมืองก็ว่ากันไป แต่ที่เป็นครีบเป็นเหงือกหายใจอยู่ที่กลุ่มทุนหนุนพรรคการเมือง ปชป.เข้าไปดีลกับพลังประชารัฐโดยหวังผลกับกลุ่มอุตสาหกรรมยา และเคมีการเกษตรสำเร็จไหม เสียงจากภาคประชาชนยังมีบทบาทอยู่

ปัจจุบันกลุ่ม เอฟทีเอว้อทช์ที่มี กรรณิการ์ กิตติเวชกุล ส่งเสียงดัง ประกาศ “เป้าหมายของเราคือ รัฐบาลต้องยกเลิกการเข้าร่วม CPTPP ไม่เอา UPOV1991” เพราะทั้งสองกรณีจะเป็นภัยต่อประเทศและเกษตรกรใหญ่หลวง
 
ดังอดีต รมว.สาธารณสุข เช่น นพ.มงคล ณ สงขลา ค้านเต็มที่โดยชี้ชัดว่าการเข้าร่วมภาคีทำให้ไทยและประเทศกำลังพัฒนาถูกเอาเปรียบ “โดยเฉพาะการเข้าถึงยา ไทยจะไม่สามารถใช้สิทธิ (ซีแอล) นำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวี และยามะเร็งมาใช้ดูแลรักษาประชาชนได้”

กับด้านเกษตรกรรม “เกษตรกร ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองผูกขาด นำไปปลูกในฤดูกาลถัดไปได้ จะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกครั้ง” อันเป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลนำไปรณรงค์คัดค้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคชี้

ว่าถ้าไทยเข้าร่วม “ตลาดที่ไทยจะได้เพิ่ม คือ เม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ขณะที่อีก ๙ ประเทศสมาชิกที่เหลือ (สหรัฐออกไปแล้วเมื่อกรกฎา ๖๐) ไทยมีข้อตกลงการการค้าเสรี FTA แล้วทั้งหมด ไม่ควรจะต้องยอมให้ประเทศไทยเสียอํานาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจถึงขั้นนี้”

ผู้คัดค้านอื่นๆ มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย โดย จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด ย้ำว่าหลักการ CPTPP นี้โบราณสิ้นดี “วิกฤติโควิด-๑๙ ได้เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจโลกไปแล้วโดยสิ้นเชิง แทนที่รัฐบาลไทยจะปรับตัวให้ทันสมัย กลับ “ทำเพื่อผลประโยชน์สำหรับบางกลุ่มและธุรกิจต่างชาติ
 
อีกรายที่แสดงอาการไม่เห็นด้วยอย่างแรงก็คือ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พูดถึงการผูกขาดซื้อเมล็ดพันธุ์พืชโดยบรรษัทข้ามชาติ ตามที่บทบัญญัติของ หุ้นส่วนเศรษฐกิจฯ กำกับไว้ “ท้ายที่สุดอาชีพเกษตรกรล่มสลายแน่นอน

มิหนำซ้ำคนที่ออกมาค้านอีกรายกลับเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เอง อลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการเกษตรฯ ให้ความเห็นว่า “ประเทศประเทศไทยในวันข้างหน้า ต้องลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ ยืนบนขาตัวเองมากขึ้น

ดังนั้นอย่าด่วนไปเซ็นสัญญา ต้องศึกษาระบบ CPTPP ที่เป็นซูเปอร์เอฟทีเอให้ถี่ถ้วนก่อน รวมทั้งเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์และ จีเอ็มโอโดยเฉพาะได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ UPOV หรืออนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ได้ “ตกผลึกแล้วหรือ”

'เอฟทีเอ ว้อทช์' ซึ่งรณรงค์ค้านการเข้าร่วมภาคีหุ้นส่วนเศรษฐกิจฯ นี้แต่ต้น โต้แย้งการโฆษณาชวนเชื่อของรองนายกฯ สมคิด ที่ว่า “กระตุ้นเศรษฐกิจประเทศราวร้อยละ ๐.๑๒ ของจีดีพีรวม ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ ๑๓,๓๒๓ ล้านบาท” นั้น

“งานศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังพบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและทรัพยากรชีวภาพ จากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ มีมูลค่าราว ๑๒๒,๗๑๗ ๒๒๓,๑๑๖ ล้านบาท/ปี”

นั่นคือหวังได้ประโยชน์ให้แก่อุตสาหกรรมบางกลุ่ม ซึ่งอาศัยสายป่านจากบรรษัทข้ามชาติหมื่นกว่าล้าน แต่ก่อความเสียหายให้แก่เกษตรกรไทยและธุรกิจยารักษาโรคถึงกว่า ๒ แสนล้านบาท เช่นนี้มีเสียงก่นด่าว่า ไม่เห็นหัวประชาชนน่ะใช่เลย