วันจันทร์, เมษายน 20, 2563

บทเรียนแห่งชีวิต คุณสมบัติการเป็นผู้นำของพระยาพหลฯ




พระยาพหลฯ ตั้งคำถามว่าเพื่อที่จะใช้ชีวิตให้สมค่าที่สุดนั้น คนเราควรจะใช้ชีวิตอย่างไรเล่า? ถ้าเราไม่ตายในวันนี้ เราจะไม่ตายในวันหน้าหรือ ถ้าเราต้องตายในวันนี้เพื่อแก่ชาติบ้านเมือง จะไม่ดีกว่าการผัดไว้ตายในพรุ่งนี้ โดยปราศจากความมุ่งหมายอะไรเลยหรือ?

แล้วก็ครอบครัวบุตรภรรยาของเราที่จะอยู่ต่อไปในภายหลังโดยปราศจากความอุปถัมภ์ของเราเล่า? คำตอบก็ปรากฏขึ้นว่าถ้าเราจะต้องตายในวันพรุ่งนี้ บุตรภรรยาของเราก็จะถูกปล่อยไว้แต่ลำพัง เช่นเดียวกับเราที่จะต้องตายในวันนี้เหมือนกัน นอกจากนั้นบุตรภรรยาของคนอีกตั้งหมื่นตั้งแสนที่ได้ถูกปลดปล่อยให้ต่อสู้กับเคราะห์กรรมไปแต่ลำพังในโลกนี้ คนเหล่านั้นเขาอยู่มาได้อย่างไร และอาจประสบความสุขความเจริญในชีวิตได้อย่างไรเล่า ถ้าคนเหล่านั้นเขาอยู่มาได้อย่างไร และอาจประสบความสุขความเจริญมาได้อย่างไร #บุตรภรรยาของเราก็ย่อมจะอยู่ไปได้เช่นคนทั้งหลายเหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับความอุปถัมภ์บำรุงเลี้ยงจากเราก็ตาม

เมื่อได้ตั้งคำถามและตอบคำถามได้ปลอดโปร่งโล่งใจตามนัยที่กล่าวข้างต้นแล้ว ความคิดก็เข้าสู่แนวเดิมแน่วแน่ไม่แปรผันอีกต่อไปอีก พระยาพหลฯ #ได้ปฏิบัติกิจวัตรบำเพ็ญสมาธิอยู่หลายเดือน จิตใจก็แน่วแน่อยู่แต่ในความคิดที่จะเปลี่ยนการปกครองแต่อย่างเดียว และกำลังใจก็ได้แก่กล้าขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งเวลาตีสี่ของวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งพระยาพหลฯ ได้ออกจากบ้านไปทำการ #ซึ่งถ้าไม่สำเร็จก็ตายนั้น เมื่อก้าวลงจากบันไดบ้านขั้นแรกแล้ว พระยาพหลฯ มิได้เหลียงหลังกลับไปสู่เรือนของท่านอีกเลยแม้แต่แวบเดียว น้ำจิตแน่วแน่มั่นคงอยู่แต่ในการกระทำที่รออยู่ข้างหน้าเท่านั้น

เรื่องและภาพ:
กุหลาบ สายประดิษฐ์. เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ: ชนนิยม; 2557
.
ดิฉันขอสรุปคุณสมบัติการเป็นผู้นำของพระยาพหลฯ ในการที่จะปฏิบัติภารกิจอันยากแสนยากให้สำเร็จลุ่ล่วง ซึ่งผู้นำบ้านเราน่าจะนำมาใช้ฟันฝ่าวิกฤติที่มีในยามนี้ จริงๆ แล้วไม่ใช่เพียงแค่ระดับผู้นำเท่านั้น เราทุกคนสามารถนำคุณสมบัติข้อที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ไปใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตได้เช่นเดียวกัน

1) เชื่อมั่นในครอบครัวอันประกอบด้วยภรรยาและบุตร ว่าจะสามารถดำรงชีวิตโดยปราศจากการอุปถัมภ์ของท่านเองได้

2) ทำสมาธิแน่วแน่จิตตั้งมั่นในทุกๆ วัน เพื่อธำรงไว้ซึ่งความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ไม่กลัวตาย อันจะมีประโยชน์สุขของราษฎรเป็นที่หมายมั่น

3) มีความตายเป็นเดิมพัน ซึ่งหากทำการไม่สำเร็จชีวิตจะพบกับจุดจบ ดังนี้แล้วพระยาพหลฯ จึงไม่ประมาทและชะล่าใจกับภารกิจอันแสนหนักเช่นนี้

ขอบคุณที่กรุณาอ่านค่ะ


Sarunya Kaewprasert

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2375645736059157&set=a.1416818285275245&type=3&theater