วันอังคาร, เมษายน 21, 2563

เรื่องราวชีวิตของ "แม่ทิพย์" พังทลายเพราะ 112 "ทำไมมันถึงทำกันได้ขนาดนี้”



ชีวิตของ "แม่ทิพย์" เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งก็เหมือนคนทำมาหากินทั่วไป แม้แม่ทิพย์จะสนใจการเมืองแต่ก็ไม่เคยไปร่วมการชุมนุมเพราะภาระทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย เธอได้แต่เพียงติดตามข่าวและใช้เฟซบุ๊กแชร์ข่าวหรือแสดงความเห็นทางการเมืองเท่านั้น

ทว่าการโพสต์ภาพของเธอกับเพื่อนและข้อความที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีลักษณะเป็นการเสียดสีพระมหากษัตริย์ก็เพียงพอแล้วที่จำทำให้เธอต้องถูกจองจำเป็นเวลาเก้าเดือน ถึงแม้ว่าโทษจำคุกของเธอจะน้อยกว่าผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีกหลายคนแต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้ชีวิตของเธอพังทลายชนิดที่ยากจะซ่อมแซม

"ทำไมมันถึงทำกันได้ขนาดนี้”

"เราทำงานรับใช้ประชาชนมา 35 ปี ทำมาอย่างเต็มที่ พอมาเจอแค่นี้ กับคำพูดแค่นี้ กับทัศนคติทางการเมืองที่เราอยู่คนละฝั่งกับเขา แล้วเขาต้องทำเราถึงขนาดนี้ มันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง”

คือความในใจบางส่วนที่ "แม่ทิพย์" ระบายออกมาหลังได้รับอิสรภาพ ตั้งคำถามถึงความร้ายแรงของโทษทัณฑ์ที่เธอได้รับ

เมื่อถามถึงความคิดความเชื่อทางการเมืองหลังพ้นโทษ คำตอบที่เจือด้วยเสียงของความเจ็บปวดของเธอคือ

“มุมมองเรื่องการเมืองไม่เปลี่ยนมีแต่หนักแน่นขึ้น ยังมีความคิดความฝันว่าสักวันก่อนที่จะตายคงได้เห็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่จากสภาพที่เป็นอยู่ คิดว่าตัวเองคงไม่ได้เห็น เพราะอายุก็มากแล้ว”

อ่าน ‘แม่ทิพย์’: การโพสต์ภาพชุดดำกับชีวิตที่พังทลาย >>>
https://freedom.ilaw.or.th/node/808

ดูรายละเอียดคดีของ"แม่ทิพย์" ที่นี่ >>> https://freedom.ilaw.or.th/case/642

อ่าน 112 the series ตอนอื่นๆ ที่นี่ >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/162
...

‘แม่ทิพย์’: การโพสต์ภาพชุดดำกับชีวิตที่พังทลาย



20 เมษายน 2020
ILAW

ปี 2557 หลังคสช.เพิ่งยึดอำนาจ ข่าวการจับกุมคนที่โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง ดังที่คสช.สัญญาไว้ว่าการปกป้องสถาบันจะเป็นภารกิจอันดับต้นๆ

หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษาในหลวงรัชกาลที่ 9 ในปีเดียวกัน มีรายงานข่าวเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในภาคอีสานถูกควบคุมตัวไปสอบสวน เพราะโพสต์ภาพถ่ายเธอกับเพื่อนอีก 4 คนสวมเสื้อสีดำในช่วงใกล้วันคล้ายวันเฉลิมฯ

หลังรายงานข่าวชิ้นนั้น เรื่องราวของ “แม่ทิพย์” (ผู้ขอสงวนนามตัวเอง) ก็เลือนหายไปจนไม่มีใครรู้ว่าเธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นเวลานานถึง 9 เดือน
หากเปรียบเทียบกับจำเลยคดี 112 คนอื่นที่ถูกดำเนินคดีในความผิดกรรมเดียวคนอื่น เช่น กรณีจตุภัทร์ หรือ ไผ่ดาวดิน ที่ถูกคุมขังเกือบ 2 ปีครึ่ง คฑาวุธ อดีตนักจัดรายการวิจารณ์การเมืองที่ถูกคุมขังราว 2 ปี 5 เดือน จ่าประสิทธ์ อดีตส.ส.และแกนนำคนเสื้อแดงที่ถูกจองจำ 1 ปี 10 เดือน ระยะเวลาในคุกของแม่ทิพย์ก็ยังถือว่าสั้นกว่า แต่มันก็นานพอที่จะทำให้ชีวิตต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง


จุดเริ่มต้นความสนใจการเมือง

แม่ทิพย์เป็นชาวอีสานโดยกำเนิด พ่อกับแม่ของเธอทำนาอยู่ที่จังหวัดบ้านเกิดในภาคอีสาน ตัวเธอไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบชั้นมัธยมก็เข้ารับการอบรมและเริ่มทำงานในโรงพยาบาลจังหวัดบ้านเกิดตั้งแต่ปี 2522 โดยทำหน้าที่ดูแลเครื่องมือแพทย์ และแม้ว่าจะไม่ได้เรียนพยาบาล แต่การทำงานหน้างานก็ต้องช่วยคุณหมอดูแลคนไข้ด้วย

เธอไม่ได้เรียนจบอุดมศึกษาและทำงานในสายงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ก็มีความสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สังคม และการเมือง ตั้งแต่สมัยเด็กแม่ทิพย์ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสต์และหนังสือศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นต่างๆ เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์แบบค้นคว้าอ่านเอง จึงไม่แปลกที่เธอจะเลือกเชื่อหรือตั้งคำถามกับสิ่งที่ตัวเองอ่านได้อย่างเป็นอิสระ

ความสนใจการเมืองเกิดขึ้นภายหลังและเป็นการต่อยอดมาจากความสนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม แม่ทิพย์เล่าว่าเธอมาเริ่มสนใจอย่างจริงจังในสมัยที่ พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี
“เมื่อก่อนมันไม่มีสื่อแบบนี้นะ เราก็ยังเข้าใจว่าเปรมน่ะเป็นคนที่ดีที่สุดเพราะว่าใจซื่อมือสะอาด”

หลังจากนั้นในยุคที่พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ (ซึ่งเป็นพ่อของพล.อ.อภิรัชต์ ผบ.ทบ.) ทำรัฐประหาร แม่ทิพย์ก็เริ่มรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากล เพราะรัฐบาล พล.อ.ชาติชายกำลังบริหารประเทศด้วยดี มีนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าแต่กลับถูกยึดอำนาจ กระนั้น ก็ได้แต่เพียงติดตามข่าว ไม่ได้ออกมาร่วมชุมนุมแต่อย่างใด

ไทยรักไทยกับนโยบายที่ไม่ใช่แค่ “ขายฝัน”

แม่ทิพย์เล่าต่อว่า เธอมีเพื่อนชาวมหาสารคามคนหนึ่งประกอบอาชีพเป็นครู แต่เขาบอกว่าไม่อยากเป็นครูไปตลอดชีวิตแต่อยากเล่นการเมือง พอทักษิณ ชินวัตร จัดตั้งพรรคไทยรักไทย เพื่อนของแม่ทิพย์ก็ลาออกไปสมัคร ส.ส.กับพรรคไทยรักไทย แม่ทิพย์ก็ได้แต่ให้กำลังใจเพื่อน ต่อมาเพื่อนของเธอก็ได้รับเลือกเป็นส.ส.หลายสมัย

แม้ว่าด้วยเงื่อนไขส่วนตัว แม่ทิพย์ไม่สามารถจะมีส่วนร่วมทางการเมืองได้มากไปกว่าการเลือกตั้งและติดตามข่าวการเมืองแต่เธอก็ยอมรับว่า เป็นผู้สนับสนุนพรรคไทยรักไทย เพราะเห็นแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ สามารถทำให้สิ่งที่เคยหาเสียงไว้กลายเป็นความจริงขึ้นมาได้สำเร็จ เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์

สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค แม่ทิพย์ซึ่งอยู่กับงานสาธารณสุขมานานเห็นว่า มันได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง จากเดิมที่คนไข้ยากจนต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาหาหมอ พวกเขาสามารถรักษาตัวได้แม้จะป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องใช้เงินรักษามาก พอกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มมาชุมนุม แม่ทิพย์ก็เริ่มตั้งคำถามว่าจะออกมาประท้วงอะไรกันเพราะทุกอย่างก็ดูจะเป็นไปด้วยดี การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ นับได้ว่าเป็นจุดที่เธอเริ่มตกผลึกในความคิดทางการเมืองของตัวเอง

“มึงเป็นเสื้อเหลืองมึงเป็นไป กูยังไม่เป็นเสื้ออะไร แต่กูอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับมึง”

ในที่ทำงาน เพื่อนๆ ของเธอหลายคนสนับสนุนแนวความคิดของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงตัวอย่างชัดเจนในที่ทำงาน คนที่ต้องการแสดงออกหรือชุมนุมก็ลงมารวมตัวกับคนที่กรุงเทพฯ ไม่มีการนำสัญลักษณ์ใดๆ มาใช้ในที่ทำงาน อย่างมากก็แค่จับกุมนั่งพูดคุยการเมืองเป็นครั้งคราว ขณะที่แม่ทิพย์เองก็ได้แต่ฟังบทสนทนาของเพื่อนร่วมงานเงียบๆ
หลังรัฐประหาร 49 การประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงบนโลกออนไลน์

พอเกิดการรัฐประหาร 2549 แม่ทิพย์รู้สึกเสียใจและโกรธไปพร้อมๆ กัน เธอได้แต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“ทำไมมันถึงทำกันได้ขนาดนี้”

แม้จะอัดอั้นและท่วมท้นด้วยความรู้สึกไม่สบายใจ แต่เธอก็ไม่ได้ออกไปร่วมการชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองอะไร และในที่ทำงานเธอก็ไม่ได้แสดงจุดยืนทางการเมืองใดๆ อาจจะมีปรับทุกข์กับเพื่อนที่พอจะมีความเห็นทางการเมืองคล้ายๆ กันบ้างเท่านั้น
ต่อมาปี 2550 ก็มีการเลือกตั้งและพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นเสมือนภาคต่อของพรรคไทยรักไทยก็ชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง เพื่อนของแม่ทิพย์ก็ได้เข้าสภาอีกครั้งหนึ่ง เธอยังคงให้กำลังใจเพื่อนอยู่ห่างๆ

ความผันผวนทางการเมืองไทยทำให้รัฐบาลพลังประชาชนที่เธอเลือกเข้ามาบริหารประเทศอยู่ได้ไม่ครบเทอม และสุดท้ายก็ถูกยุบ

“หลังจากเห็นทักษิณถูก ‘สนธิ บัง’ ยึดอำนาจ เราก็ไม่มีความไว้ใจอะไรอีกเลย แล้วก็คิดว่าไม่ว่าพรรคไหนขึ้นมาก็จะไม่มั่นคง”

พอถึงปี 2552 เธอก็ขยายขอบเขตการมีส่วนร่วมทางการเมืองของตัวเองให้มากขึ้น จากที่เป็นเพียงผู้ชมก็เริ่มใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กที่ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ในหมู่ผู้ใช้ชาวไทยเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เธอเปิดบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วใช้วิธีการตั้งค่าโพสต์เป็นสาธารณะในการแสดงความเห็นทางการเมือง อย่างไรก็ดี ตอนที่เปิดบัญครั้งแรกเธอใช้ชื่อแฝงและใช้รูปดอกไม้เป็นรูปโปรไฟล์ ต่อมามีคนทักว่าทำไมถึงไม่ใช้ชื่อจริง เธอจึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อจริงและใช้คำว่า “Red Shirt” เป็นนามสกุลเพื่อประกาศจุดยืนทางการเมืองของเธอ

เนื้อหาที่โพสต์ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมือง บางครั้งก็แชร์ข่าวมาเฉยๆ บางครั้งก็แถมการวิพากษ์วิจารณ์ประกอบข่าว มีคนเข้ามาขอเป็นเพื่อนก็รับหมดจนเพื่อนบนเฟซบุ๊กเต็ม 5000 คน แม่ทิพย์ระบุว่าเหตุผลหลักที่เปิดเฟซบุ๊กก็เพื่อติดตามการเมืองเพราะเธอไม่มั่นใจว่าสื่ออย่างโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์จะไว้ใจได้แค่ไหน

คำเตือนจากเพื่อนมิตรและคำถามจากทหาร

แม่ทิพย์ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความแสดงความเห็นมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2552 จนเป็นที่รู้จักในหมู่คนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่ง บางครั้งก็มีเพื่อนหรือแฟนคลับที่คอยเตือนบ้างเวลาเห็นเธอโพสต์อะไรที่สุ่มเสี่ยง ตัวเธอเองพอจะรู้จักมาตรา 112 อยู่บ้างและเคยได้ยินเรื่องของคนที่ถูกดำเนินคดีนี้ทั้งอากง SMS และสมยศซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2553 – 2554 แต่เธอก็เชื่อว่าข้อความที่เธอโพสต์ไม่น่ามีอะไรผิดกฎหมาย

ช่วงปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557 การชุมนุมคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่ต่อมาพัฒนาเป็นการชุมนุมขับไล่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยถือเป็นช่วงเวลาตึงเครียด เพื่อนร่วมงานของแม่ทิพย์บางคนที่เป็นบุคลากรในแวดวงการแพทย์ก็ชวนกันไปร่วมชุมนุมร่วมกับ กปปส. ในหน่วยงานถึงกับมีการออกหนังสือเวียนสอบถามว่ามีบุคคลากรคนใดสะดวกจะเดินทางไปร่วมชุมนุมบ้าง แม่ทิพย์ทำงานด้วยความอึดอัดเพราะต้องเก็บความอารมณ์ความรู้สึกไม่เห็นด้วย อาศัยแต่เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ระบายและทุ่มสมาธิไปกับการทำงานแทน

เมื่อเกิดรัฐประหารในปี 2557 มีการจับกุม “แบงค์” นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไปร่วมเล่นละครเจ้าสาวหมาป่า จากนั้นแม่ทิพย์ก็ระมัดระวังในการใช้เฟซบุ๊กมากขึ้น ในเดือนธันวาคม 2557 เธอและเพื่อนได้ไปงานศพคนรู้จัก เธอถ่ายภาพตัวเองกับเพื่อนขณะสวมชุดสีดำแล้วเขียนข้อความประกอบภาพโพสต์ลงบนเฟซบุ๊ก โดยไม่รู้เลยว่าภาพนั้นจะเปลี่ยนชีวิตเธอแบบพลิกผ่ามือ
หลังโพสต์ภาพถ่ายสวมชุดดำได้ 2-3 วัน เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายทหารในจังหวัดประสานมายังหัวหน้างานของเธอว่าต้องการเชิญตัวไปพูดคุยซึ่งเธอก็ให้ความร่วมมือ เพื่อนๆ ที่อยู่ในภาพถ่ายต่างถูกเชิญไปพบทหารที่ค่ายในวันเดียวกันด้วย

ทหารคู่สนทนาถามแม่ทิพย์ว่าเหตุใดจึงสวมเสื้อดำแล้วโพสต์ภาพและข้อความที่ทหารเห็นว่าเป็นการเสียดสีและเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 9 เพราะภาพชุดดำดังกล่าวถูกโพสต์ในวันไล่เลี่ยกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ เธอได้แต่ชี้แจงไปว่าโพสต์ภาพนั้นเพราะเดินทางไปงานศพพ่อเพื่อนไม่ได้มีความหมายทางการเมือง ทหารยังรวบรวมข้อความอื่นๆ ที่เธอเคยแสดงความเห็นทางการเมืองก่อนหน้านี้มาสอบถามด้วย แสดงให้เห็นว่ามีการติดตามและทำข้อมูลเกี่ยวกับเธอมาระยะหนึ่งแล้ว

ใน 12 ชั่วโมงที่ถูกสอบปากคำ หนึ่งในข้อความที่ทหารยกขึ้นมาสอบถามคือ ข้อความที่เธอแสดงความไม่พอใจต่อคนที่ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ ทหารพยายามซักไซ้ไล่เรียงว่าเธอไม่รู้หรือว่าสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งใด เหตุใดจึงเขียนเช่นนั้น แม่ทิพย์ตอบว่าเธอเพียงแต่ไม่พอใจที่มีคนเอาสีหรือสัญลักษณ์ของสถาบันมาอ้างเพื่อสร้างความแตกแยกเท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่แม่ทิพย์พอจะจับได้จากบทสนทนากับทหารคือพวกเขาคิดว่าจะต้องมีใครบงการหรืออยู่เบื้องหลังเธอ ทั้งที่จริงแล้ววันนั้นเธอแค่โพสต์ภาพถ่ายกับเพื่อนที่ไปงานศพด้วยกันเฉยๆ หลังการสนทนาที่แสนตึงเครียด 12 ชั่วโมงผ่านไป เธอและเพื่อนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านโดยยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา แต่ทั้งหมดต้องเซ็นเอ็มโอยูกับทหารว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย

ชีวิตปกติในวันที่ไม่ปกติ

หลังกลับจากค่ายทหาร แม่ทิพย์กลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่เอาเข้าจริงแล้วมันก็คงไม่ “ปกติ” เสียทีเดียว เพราะสิ่งที่สูญเสียแทบจะทันทีหลังกลับจากค่ายทหารคือ หน้าที่การงาน
เรื่องของแม่ทิพย์เป็นที่รับรู้ในหมู่เพื่อนร่วมงาน และเกิดกระแสเรียกร้องให้ไล่เธอออก ผู้บังคับบัญชาบอกเธอว่าให้ลาพักร้อนไปสัก 1 สัปดาห์ให้กระแสเบาลงแต่อย่างเพิ่งลาออก ทว่าเมื่อแม่ทิพย์ชั่งน้ำหนักดูแล้วก็คิดว่าการลาออกน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดของทุกฝ่าย เพราะหากกลับไปทำงาน นอกจากเธอจะต้องตกอยู่ท่ามกลางข้อครหาแล้ว ผู้บังคับบัญชาของเธอที่ปฏิบัติกับเธอด้วยดีก็จะพลอยเดือดร้อนไปด้วย และอย่างไรเสียรายได้จากบำนาญก็คงพอเลี้ยงตัวเองกับลูกได้

แม่ทิพย์ยื่นใบลาออกจากงานในเดือนธันวาคมโดยให้มีผลตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 เป็นต้นไป เธอรับเงินเดือนก้อนสุดท้ายสิ้นเดือนธันวาคม 2557 และจะได้รับเงินบำนาญในเดือนถัดไป ทว่านับจากนั้นเธอก็ไม่เคยได้รับเงินอีกเลย

แม่ทิพย์มารู้รายละเอียดเรื่องนี้ในภายหลังว่า กรมบัญชีกลางอนุมัติเงินบำนาญของเธอแล้ว แต่ติดปัญหาตรงที่ผู้บริหารหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับหน่วยงานของเธอไม่อนุมัติการจ่าย โดยอ้างว่าเธออยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีร้ายแรงจึงให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อนจนกว่าคดีจะแล้วเสร็จ แต่จนแล้วจนรอดแม้คดีของแม่ทิพย์จะสิ้นสุดลงแล้ว เธอรับโทษจนได้รับการปล่อยตัวแล้ว เธอก็ไม่ได้รับเงินบำนาญแม้แต่บาทเดียว

“เราทำงานรับใช้ประชาชนมา 35 ปี ทำมาอย่างเต็มที่ พอมาเจอแค่นี้ กับคำพูดแค่นี้ กับทัศนคติทางการเมืองที่เราอยู่คนละฝั่งกับเขา แล้วเขาต้องทำเราถึงขนาดนี้ มันหมดทุกสิ่งทุกอย่าง”

ย้อนกลับไปหลังลาออก แม่ทิพย์อยู่บ้านเฉยๆ ขณะที่คดีก็คืบหน้าไปตามลำดับ มีตำรวจนำหมายมาค้นที่บ้านและพาตัวไปตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในชั้นสอบสวนเธอยังไม่ถูกควบคุมตัว ระหว่างนั้นอัยการทหารเรียกแไปฟังคำสั่งคดีรวม 3 ครั้งแต่ก็เลื่อนการสั่งคดีออกไปทั้ง 3 ครั้ง จนกระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 2558 อัยการทหารบอกกับแม่ทิพย์ว่าเขาจำเป็นต้องฟ้องคดีแล้ว เพราะคดีนี้เป็นที่จับตาของประชาชน มีประชาชนบางกลุ่มพูดผ่านไปถึงผู้บังคับบัญชาของเขาทำนองว่าทำไมยังปล่อยให้ “คนหมิ่น” ลอยหน้าลอยตาอยู่

เมื่อถูกฟ้องคดีต่อศาลทหารแล้วแม่ทิพย์ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างสู้คดี เธออยู่ในเรือนจำเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่เธอรับโทษจนครบกำหนดได้รับการปล่อยตัว

“เราต้องรอด”

เมื่อศาลทหารไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม่ทิพย์ก็ถูกพาตัวไปฝากขังที่เรือนจำประจำจังหวัดในทันที หลังเสร็จขั้นตอนที่ศาลเจ้าหน้าที่นำตัวเธอขึ้นรถเก๋งคันหนึ่งขับไปส่งที่เรือนจำโดยมีรถติดไซเรนนำหน้า

พอเข้าไปอยู่ในเรือนจำความเครียดก็ถาโถม เธอเล่าว่าตอนเข้ามาใหม่ๆ เธอรู้สึกชาไปหมด แม้ว่าเจ้าหน้าที่บางคนจะพยายามปลอบทำนองว่า ไม่เป็นไรนะ คดีแบบนี้คงไม่ต้องอยู่นาน เดี๋ยวก็ได้ออกแล้ว แต่คำปลอบใจเหล่านั้นก็กลายเป็นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาไป

นอกจากความรู้สึกชาแล้วความคับแค้นก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่เธอรู้สึกได้ขณะถูกคุมขัง การต้องตกงานและสูญเสียอิสรภาพไปเพียงเพราะการโพสต์ข้อความและภาพบนเฟซบุ๊กทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า

“แค่นี้มึงต้องเอากูเข้าคุกเลยเหรอ”

ท่ามกลางความรู้สึกที่ประดังเดเข้ามา แม่ทพิย์ค่อยๆ ปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่และเฝ้าบอกตัวเองว่า

“เราต้องรอดกลับไป”

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เธอยังประคองตัวมาได้ คือ กำลังใจจากพี่น้องและคนในครอบครัว ตอนที่ไปฟังคำสั่งฟ้องของอัยการที่ศาลทหาร แม่ทิพย์ไม่ได้บอกลูกเพราะกลัวจะเป็นห่วงเลยขอให้เพื่อนสนิทพาไป หลังจากศาลไม่ให้ประกันตัวจนต้องสูญสิ้นอิสรภาพช่วง 2-3 วันแรกที่ไม่ได้กลับบ้าน ลูกก็เป็นกังวลว่าแม่หายไปไหน สุดท้ายก็มีคนไปบอกข่าวจนลูกชายได้มาเยี่ยมที่เรือนจำ
เมื่อแม่ลูกได้เห็นหน้ากันต่างคนต่างก็ร้องไห้ แม่ทิพย์ได้แต่คิดวาต้องประคองตัวให้รอดเพื่อกลับไปหาลูก ระหว่างถูกคุมขังลูกชายวัย 31 ปีก็ต้องอยู่บ้านคนเดียวเพราะยังไม่มีครอบครัว ส่วนสามีของเธอก็แยกกันอยู่นานแล้ว และอยู่ต่างจังหวัด

ระหว่างนั้น ญาติที่เป็นทนายเป็นคนเข้ามาให้ความช่วยเหลือทางคดี ถึงตรงนี้เธอต้องเผชิญกับคำถามสำคัญในชีวิตเฉกเช่นที่จำเลยคดีมาตรา 112 คนอื่นๆ ต้องตัดสินใจ นั่นคือจะเลือกยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองโดยให้การปฏิเสธและเข้าสู่กระบวนการต่อสู้คดีที่ไม่รู้จุดจบ หรือก้มหน้ายอมรับสารภาพเพื่อให้คดียุติโดยเร็ว

ด้วยเงื่อนไขทางครอบครัวประกอบกับที่พอจะทราบว่าคดีนี้เป็นคดีที่ยากจะต่อสู้ เธอจึงตัดสินใจรับสารภาพ ศาลทหารพิพากษาจำคุกแม่ทิพย์เป็นเวลา 3 ปีและลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 6 เดือนเพราะรับสารภาพ เธอรู้สึกใจชื้นขึ้นมาบ้างเพราะศาลลงโทษจำคุกสถานเบา สิ่งที่เธอทำหลังศาลมีคำตัดสิน คือ นับถอยหลังวันที่จะพ้นโทษในวันที่ 9 พฤษภาคม 2560

เก้าเดือนหลังรั้วสูง

ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ ชีวิตวนเวียนอยู่กับกิจวัตรเดิมๆ ตื่นนอนตอนตีห้าขึ้นมาสวดมนต์ พอถึงเวลาก็ลงมาอาบน้ำร่วมกับผู้ต้องขังคนอื่นๆ อีกประมาณร้อยกว่าคน
เธอเล่าว่าสมัยที่เธออยู่ในเรือนจำ มีผู้ต้องขังหญิงทั้งหมดประมาณ 500 กว่าคน ผู้คุมจะแบ่งการอาบน้ำเป็น 3 รอบ เธอจึงต้องอาบน้ำพร้อมกับเพื่อนผู้ต้องขังอีกร้อยกว่าคน การอาบน้ำแต่ละครั้งจะใช้น้ำได้ 9 ขัน ผู้คุมจะเป่านกหวีดให้สัญญาณตักน้ำเป็นรอบๆ รอบละ 3 ขัน รอบแรกใช้ล้างหน้าแปลงฟัน ที่เหลือใช้ล้างตัว ผู้ต้องขังทุกคนจะต้องอาบน้ำให้ทันตามที่เจ้าหน้าที่ให้สัญญาณจะได้เสร็จพร้อมๆ กัน

หลังจากอาบน้ำก็จะกินข้าว เข้าแถวเข้ารพธงชาติ จากนั้นก็จะแยกกันไปทำงานตามกองงาน ยกเว้นใครที่มีญาติมาเยี่ยมก็จะออกไปพบญาติตามรอบแล้วก็กลับเข้ามาทำงานตามกองงานต่อ ช่วงประมาณบ่ายโมงถึงบ่ายสองจะกินข้าวและอาบน้ำอีกรอบเพื่อเข้าเรือนนอนในเวลาประมาณ 15.30 – 16.00 น.

เมื่อขึ้นไปบนห้องขังจะมีทีวีเปิดให้ดูตอน 2 ทุ่ม หลังจากนั้นผู้ต้องขังจะร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีร่วมกันในเวลาประมาณ 20.40 แล้วจึงเข้านอน วิถีชีวิตของเธอและเพื่อนผู้ต้องขังจะวนไปในลักษณะเดิมทุกวัน ที่แตกต่างคือวันเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ต้องทำงาน บางคนจึงใช้เวลาว่างอ่านหนังสือที่คนบริจาคเข้ามาหรือนั่งคุยกัน

ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำผู้ต้องขังที่อายุน้อยกว่าหลายคนคอยให้ความช่วยเหลือแม่ทิพย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ซักผ้าให้ โดยแลกกับการให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจเล็กๆ น้อยๆ เช่น แบ่งอาหารหรือของใช้ให้ แม่ทิพย์บอกว่า เงิน 5 บาท 10 บาทที่ข้างนอกอาจดูไม่ค่อยมีค่ากลับกลายเป็นสิ่งที่มีค่ามากที่นี่ ผู้ต้องขังหลายคนเลือกที่จะทำงานรับจ้างไม่ว่าซักเสื้อผ้า เฝ้าเสื้อผ้าที่ตาก หรือบีบนวด เพื่อแลกกับค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าถึงอาหารที่ไม่ใช่อาหารของโรงเลี้ยง

แม่ทิพย์เล่าด้วยว่า ตอนที่เธออยู่ในเรือนจำมีการส่งนักจิตวิทยามาพูดคุยกับเธอเป็นครั้งคราว เข้าใจว่าอาจเป็นเพราะเธอเคยเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ ทางเรือนจำคงเคยเห็นประสบการณ์ในอดีตที่เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐมาติดคุกมักจะไม่สามารถรับมือกับความเครียดที่ถาโถมเข้ามาได้ บางคนถึงขนาด “หลุด” ไป จึงหวังว่าการให้เธอพบกับนักจิตวิทยาจะช่วยป้องกันไม่ให้เธอเครียดจนเกินไป

สิงหาคม 2559 หรือประมาณ 9 เดือนหลังสูญเสียอิสรภาพ แม่ทิพย์ก็ได้รับข่าวดีโดยไม่รู้ตัว เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษออกมาและเธออยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการปล่อยตัว ตัวแม่ทิพย์เองไม่รู้เรื่อง แต่เพื่อนผู้ต้องขังที่อยู่แดนเดียวกันเป็นคนมาบอก หลายคนพอรู้ว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวก็พากันมากอดแสดงความดีใจ คืนสุดท้ายที่อยู่ในเรือนจำแม่ทิพย์นอนไม่หลับเพราะตื่นเต้นที่จะได้กลับไปอยู่กับลูกอีกครั้ง

สู่อิสรภาพกับโจทก์ชีวิตที่ยากขึ้น

โดยปกติพี่น้องของแม่ทิพย์มักนัดพูดคุยและรับประทานอาหารร่วมกันทุกวันศุกร์ เมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวในวันพฤหัสบดีก็ได้ขอให้พี่ชายที่มารับจากเรือนจำกลับบ้าน โดยขอร้องว่าอย่าเพิ่งบอกข่าวการปล่อยตัวกับญาติคนอื่นๆ พอถึงเวลาที่พี่น้องมารวมตัวกันกินข้าว เธอจึงปรากฏตัว พี่สาวของแม่ทิพย์ร้องไห้ด้วยความดีใจแล้วก็พร่ำบอกว่าได้โปรดอย่าไปคอมเมนท์อะไรแบบนั้นอีก

หลังได้รับอิสรภาพโจทย์ใหญ่ในชีวิตของแม่ทิพย์คือ ปัญหาปากท้อง เพราะเธอไม่ได้รับบำนาญมาตั้งแต่เดือนมกราคม ในช่วงที่อยู่ในเรือนจำ ลูกชายของเธอได้รับผลกระทบจนมีปัญหาเป็นโรคเครียด เขาได้แต่ทำงานขายของออนไลน์เล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่พอต่อการดำรงชีวิต หลังออกจากเรือนจำ ภรรยาของเพื่อนแม่ทิพย์ที่อยู่มหาสารคามชวนแม่ทิพย์ไปดูแลร้านค้าเพื่อช่วยให้เธอพอมีรายได้ แต่หลังจากไปทำงานกับเพื่อนได้ระยะหนึ่งเธอก็ตัดสินใจเลิกทำเพราะต้องไปนอนค้างที่มหาสารคามถึง 5 วัน และกลับมาอยู่บ้านเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ ทำให้ลูกของเธอมีปัญหาความเครียดที่ต้องอยู่คนเดียว จริงๆ แล้วลูกชายมีปัญหาเรื่องความเครียดตั้งแต่ก่อนเธอจะถูกคุมขังแล้ว แต่ 9 เดือนที่เธอหายไปเหมือนยิ่งซ้ำเติมให้ปัญหาหนักขึ้น

เมื่อตัดสินใจเลิกทำงานแม่ทิพย์ก็กลับมาเจอกับปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม โชคยังดีที่ญาติพี่น้องช่วยเหลือจุนเจือกันได้บ้าง แต่มันก็แค่พอให้เธอกับลูกประทังชีวิตรอดไปแต่ละวันเท่านั้น ไม่อาจแก้ไขปัญหาหนี้สินก้อนโตได้

แม่ทิพย์เล่าว่าก่อนเธอถูกจับประมาณ 1 ปีเธอใช้สิทธิกู้เงิน 1,200,000 บาทจากธนาคารแห่งหนึ่งเพื่อนำมาสร้างบ้าน ผ่อนชำระไปได้ประมาณ 140,000 บาทก็มาถูกจับกุม พอไม่มีบำนาญขาดรายได้ก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้หนี้

เมื่อถามถึงความคิดเชื่อทางการเมืองของแม่ทิพย์หลังพ้นโทษ เธอบอกว่าตอนนี้ความเชื่อทางการเมืองของเธอยิ่งแรงกล้าไปกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมหรือโครงสร้างอำนาจทางการเมืองเพราะตัวเธอเองก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ถูกกระทำ แต่ด้วยเงื่อนไขทางครอบครัวประกอบกับประสบการณ์ในเรือนจำทำให้เธอตัดสินใจเลิกแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อสาธารณะ

“มุมมองเรื่องการเมืองไม่เปลี่ยนมีแต่หนักแน่นขึ้น ยังมีความคิดความฝันว่าสักวันก่อนที่จะตายคงได้เห็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่จากสภาพที่เป็นอยู่ คิดว่าตัวเองคงไม่ได้เห็น เพราะอายุก็มากแล้ว”

อ่าน 112 the series ตอนอื่นๆ ที่นี่ >>> https://freedom.ilaw.or.th/node/162