หลังสี่ทุ่ม เป็นเวลา #เคอร์ฟิว สำหรับประเทศไทยหากใครออกนอกบ้านจะมีความผิด แต่มาตรการเช่นนี้ไม่ใช่แนวคิดแบบเดียวในการรับมือ #โควิด19 เดนมาร์กเป็นประเทศที่คิดตรงกันข้าม
พิมพ์ลภัส ลี้กิจเจริญผล เป็นนักวิจัยด้านระบาดวิทยาที่อาศัยอยู่ในเดนมาร์กแชร์ประสบการณ์ให้พวกเรา โดยเชื่อว่า รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส คำนึงถึงหลักมนุษยชน และเป็นรัฐสวัสดิการ แบบเดนมาร์ก จะเป็นรัฐที่พร้อมรับกับวิกฤติ และวิกฤติโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐที่เป็นประชาธิปไตยสามารถทำได้
ที่เดนมาร์กก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เป็นการออกกฎหมายโดยผ่านสภา ไม่ใช่คำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยคนเดนมาร์กปฏิบัติตามไม่ใช่เพราะเขาเชื่อฟังรัฐบาล แต่เพราะคนเดนมาร์กเชื่อใจรัฐบาลตัวเอง แถลงการณ์ของฝั่งภาครัฐก็ออกมาอย่างชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และองค์กรของรัฐต่างพูดในแนวเดียวกัน
เดนมาร์กมีการห้ามชุมนุมเกิน 10 คน และให้คนอยู่กับบ้าน โดยไม่มีการกำหนดเคอร์ฟิว เพราะการห้ามรวมตัวกันนั้น ได้เพิ่ม social distancing อยู่แล้ว และเมื่อคนเดนมาร์กสามารถเลือกเวลาที่จะออกจากบ้านได้เอง ไม่ว่าจะออกไปจับจ่ายซื้อของ หรือออกไปเดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ทำให้ supermarket ไม่มีคนมากเกินไป
การรวมตัวกัน สังสรรค์ กินเหล้าโดยเฉพาะวัยรุ่น ยังมีอยู่ แต่ไม่มีการรวมกันมากกว่า 10 คน ถ้าจะมีก็เป็นกลุ่มเพื่อน หรือญาติไม่กี่คน แม้แต่โบสถ์ ในช่วงอีสเตอร์ที่ผ่านมา มีการประกอบพิธีทางศาสนาแต่ไม่มีคนเข้าร่วม มีการถ่ายทอดพิธีจากโบสต์ผ่านออนไลน์
https://ilaw.or.th/node/5628
....
รับมือโควิดในเดนมาร์ก : ตัวอย่างรัฐประชาธิปไตย ออกกฎหมายด่วนยังต้องผ่านสภา
เรื่องโดย พิมพ์ลภัส ลี้กิจเจริญผล
นักวิจัยด้านระบาดวิทยาของเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ และแบคทีเรียก่อโรคจากสัตว์สู่คน (Zoonotic disease) ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก ร่วมแชร์การรับมือวิกฤติโควิท-19 ที่เดนมาร์กให้ฟัง
24 เม.ย. 2563
1. มาตรการ lockdown
เดนมาร์กเริ่มมีโควิท-19 เคสแรกปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สองอาทิตย์ต่อมาเดนมาร์กไม่รอช้า ตัดสินใจสั่ง lockdown ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เหตุผลหลักที่ต้อง lockdown คือ เพื่อ lower down the curve หรือ ทำให้กราฟจำนวนผู้ติดเชื้อไม่พุ่งสูงเกินไปเพื่อไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะรับได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นกับอิตาลี และสเปน
มาตรการ lockdown ประกาศออกมาอย่างชัดเจน เริ่มจากปิดพรมแดนทันที มีแค่คนเดนมาร์ก และคนต่างชาติที่ทำงานที่เดนมาร์กสามารถเข้ามาได้เท่านั้น ซึ่งป้องกันการแพร่เชื้อที่มาจากต่างประเทศ พนักงานรัฐทุกคน work from home ทันที ซึ่งพนักงานบริษัทต่างๆ ก็ work from home ด้วย
คนเดนมาร์กเดินทางโดยใช้บริการขนส่งสาธารณะจำนวนมาก การให้ทุกคน work from home ได้ จะลดการแพร่เชื้อจากการเดินทางภายในประเทศ ร้านอาหาร คาเฟ่ ผับ บาร์ ร้านนวด ร้านตัดผม ห้างต่างๆ ปิดทันที เพื่อลดการแพร่เชื้อเช่นกัน แต่ ร้านอาหารบางร้านยังเปิด แต่เปิดแบบ take away เท่านั้น supermarket ยังเปิดปกติ และมีมาตรการชัดเจนท่ีห้ามมีคนมากเกินไปภายใน supermarket
มาตรการ lockdown มาพร้อมกับ social distancing โดยห้ามรวมตัวกันเกินกว่า 10 คน เดนมาร์กไม่มีการเคอร์ฟิวใดๆ เพราะการห้ามรวมตัวกันนั้น ได้เพิ่ม social distancing อยู่แล้ว และคนเดนมาร์ก สามารถเลือกเวลาที่จะออกจากบ้านได้เอง ไม่ว่าจะออกไปจับจ่ายซื้อของ หรือออกไปเดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ทำให้ supermarket ไม่มีคนมากเกินไป เพราะไม่ได้ถูกจำกัดเวลาออกจากบ้าน
การรวมตัวกัน สังสรรค์ กินเหล้ากันมั้ย โดยเฉพาะวัยรุ่น ? ยังมีอยู่แน่นอน แต่ไม่มีการรวมกันมากกว่า 10 คน ถ้าจะมีก็เป็นกลุ่มเพื่อน หรือญาติไม่กี่คน แม้แต่โบสถ์ ในช่วงอีสเตอร์ที่ผ่านมา มีการประกอบพิธีทางศาสนาในโบสต์แต่ไม่มีคนเข้าร่วม มีการถ่ายทอดพิธีจากโบสต์ผ่านออนไลน์
เดนมาร์กกำลังอยู่ระหว่างภาคการศึกษา โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปิดทั้งหมดทั้งการเรียนและการทำงาน ดังนั้น การเรียนการสอนทุกอย่าง รวมถึงงานวิจัยต่างๆ ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งทั้งนักเรียนและอาจารย์สามารถปรับตัวทุกอย่างได้อย่างทันที การที่เดนมาร์กสามารถปรับเป็นออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วนั้น เพราะเดนมาร์กได้เปลี่ยนเป็นสังคม digital ไปแล้ว สังคมเดนมาร์กแทบจะเป็น cashless society การจับจ่ายและธุรกรรมการเงินแทบเป็นระบบ digital หมดแล้ว ระบบเอกสารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนได้เปลี่ยนเป็นระบบออนไลน์ ดังนั้น การจะติดต่อกับหน่วยงานรัฐเป็นออนไลน์อยู่แล้ว ซึ่งทำให้พนักงานรัฐสามารถทำงานที่บ้านได้ทันที การเข้าถึงอินเทอร์เน็ทที่เดนมาร์กครอบคลุมถึงทุกที่และทุกคน ทุกคนสามารถเข้าถึง high speed internet ทำให้ทั้งการทำงานและการเรียนการสอนสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ทันที
2. การสื่อสารของภาครัฐ
คนเดนมาร์กปฏิบัติตามมาตรการ lockdown อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่เพราะเขาเชื่อฟังรัฐบาล แต่เพราะคนเดนมาร์กเชื่อใจรัฐบาลตัวเอง
ทำไมเขาถึงเชื่อใจ ?
ทุกครั้งที่นายกเดนมาร์ก เมตต้า เฟรดเดอริเซ่น (Mette Frederiksen) ซึ่งเป็นนายกผู้หญิงคนที่สองของเดนมาร์กแถลงข่าว จะมากันเป็นทีมซึ่งครอบคลุมทั้งสาธารณสุข ทั้งฝ่ายตำรวจ ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ มาตรการต่างๆ ที่บังคับมาพร้อมกับคำอธิบายว่า ทำไมต้องมีมาตรการเช่นนั้น คำอธิบายนั้นตั้งอยู่บนหลักวิทยาศาตร์ ข้อมูลผู้ติดเชื้อและข้อมูลหรือผลกระทบทางเศรษฐกิจ ข้อมูลเหล่านี้โดยเฉพาะข้อมูลผู้ป่วยได้ถูกเผยแพร่อย่างโปร่งใส ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ สื่อมวลชนสามารถรายงานและวิเคราะห์ได้โดยไม่มีข้อห้ามใดๆ
อีกทั้งแถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาอย่างชัดเจน ไม่มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และองค์กรของรัฐต่างพูดในแนวเดียวกัน เพราะได้มีการคุยกันตลอดเวลา (communication and colaboration) เป็นพื้นฐานสำคัญที่คนเดนมาร์กมีทั้งในระดับโรงเรียนจนถึงรัฐสภา
มาตรการพิเศษ หรือกฏหมายพิเศษที่ออกมาบังคับใช้ จะต้องผ่านการโหวตในสภา กฏหมายพิเศษอย่างเช่น การอนุญาติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าบ้านประชาชนได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น เพื่อเพิ่มการควบคุมการแพร่ของเชื้อ กฏหมายแบบนี้ที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนถูกโหวดตกทันที
มาตรการห้ามชุมนุมเกิน 10 คน รัฐบาลเองก็ทำให้เป็นตัวอย่าง การประชุมรัฐสภา รวมถึงการโหวตจะทำได้ทีละไม่เกิน 10 คน เพราะห้ามมีคนเกิน 10 คนในห้องประชุมรัฐสภา ดังนั้น ส.ส. และเจ้าหน้าที่ที่เหลือต้องเข้าคิวรอข้างนอกพร้อมดูการประชุมผ่านจอ TV
ตั้งแต่เร่ิม lockdown นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แถลงข่าวด้วยตัวเองทุกสัปดาห์ ในระหว่างสัปดาห์ทีมต่างๆ หรือรัฐมนตรีฝ่ายต่างๆ จะออกมาแถลง โดยเฉพาะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หลังจากประกาศ lockdown เพียงไม่กี่วัน รัฐบาลออกแถลงการณ์ทันทีเรื่องการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือนี้ครอบคลุมตั้งแต่กิจการขนาดใหญ่ จนถึงกิจการขนาดเล็ก และทุกคนที่ถูกเลิกจ้าง หรือได้รับผลกระทบจากการ lockdown โดยทั้งหมดนี้ทำผ่านระบบอินเตอร์เน็ท เดนมาร์กสามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากเพราะแทบทุกคนที่ทำงานได้เข้าสู่ระบบภาษีและมีข้อมูลรายรับรายจ่ายหมด จึงง่ายมากที่รัฐจะรู้รายได้ที่หายไป และสามารถโอนเงินเพื่อช่วยเหลือได้ทันที
สำหรับเจ้าของกิจการถ้าไม่เลิกจ้าง รัฐจะจ่ายเงินเดือนพนักงานให้อีกด้วย มาตรการนี้ทำให้คนไม่ถูกเลิกจ้าง และต่อให้ถูกเลิกจ้างไม่มีงาน ด้วยความที่เป็นรัฐสวัสดิการ คนที่ไร้งานที่นี่ก็ได้รับเงินเดือนอยู่แล้ว ระหว่างรอหางาน มาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่คิดมาใหม่ รวมทั้งความเป็นรัฐสวัสดิการที่มีอยู่แล้ว ทำให้คนเดนมาร์กลดความกังกลกับอนาคตทางการเงินของตัวเอง และยิ่งเพิ่มความเชื่อใจและพร้อมจะปฏิบัติตามมาตรการ lockdown ของรัฐบาล
3. มาตรการ unlockdown
เดนมาร์กเริ่มเปิดหรือ unlockdown อย่างช้าๆ ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน และวางแผนว่าในวันที่ 10 พฤษภาคมทุกอย่างจะเปิดได้ ทั้งหมดนี้อยู่บนฐานข้อมูลที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ (ซึ่งลดลงจากหลายร้อย เหลือแค่หลัก 100) และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาลมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด
สิ่งแรกที่เดนมาร์กเปิด คือ เนอร์สเซอรี่ โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถม ส่วนที่เหลือทั้งห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัยยังปิดเหมือนเดิม
เหตุใดเดนมาร์กถึงให้เด็กน้อยเป็นกองหน้าเข้าโรงเรียนไปก่อน ?
เหตุผลหลักคือ พ่อแม่ที่ทำงานที่บ้าน ทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะต้องดูแลลูก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งนี่คือปัญหาทางครอบครัวและสิ่งที่คนเดนมาร์กบ่นมาตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา อีกเหตุผลหนึ่ง คือ เด็กติดเชื้อโควิท-19 น้อยกว่าผู้ใหญ่ เดนมาร์กจึงเริ่ม unlock ด้วยการให้เด็กๆ เริ่มกิจกรรมการไปโรงเรียนเป็นปกติก่อน แน่นอนว่า มีทั้งพ่อแม่ที่เห็นด้วยและคัดค้าน ทันทีที่มีนโยบายนี้ พ่อแม่เดนมาร์กรวมตัวกันใน facebook เพื่อคัดค้าน ทั้งห่วงลูกและกลัวว่า ลูกจะติดเชื้อและนำมาแพร่ที่บ้าน ส่วนที่เห็นด้วยก็มีเยอะเช่นกัน และพร้อมส่งลูกกลับไปโรงเรียน
ภาระหนักจึงตกที่ครู ทางโรงเรียนต้องหาคนเพิ่มเพื่อดูแลเด็ก ต้องแยกเด็กไม่ให้มีมากเกินในห้อง ต้องเว้นระยะห่างระหว่างเด็ก ต้องให้ทำกิจกรรมภายนอกให้ได้มากที่สุด ของเล่นทุกอย่างที่เด็กจับต้องถูกเช็ดล้างด้วยแอลกอฮอร์ เด็กๆ เดนมาร์กก็รู้ดีแล้วว่า ต้องล้างมือตลอดเวลาเจลแอลกอฮอล์ เด็กที่มาจากครอบครัวที่ติดเชื้อห้ามมาโรงเรียน
หลังจากมาตรการเปิดโรงเรียนเด็กเล็กแล้ว รัฐบาลเดนมาร์กเปิดประชุมทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการเปิดมากขึ้น มีเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจจำนวนมากว่าอยากให้เปิดกิจการโดยเร็ว เชื่อว่า ในไม่ช้าหลังจากตกผลึกการหารือจากทุกฝ่ายแล้วรัฐบาลจะเสนอแผนการเปิดมากขึ้น อะไรจะเปิดเป็นสิ่งต่อไปนั้นก็ต้องติดตามกัน
นายก Mette Frederiksen ได้กล่าวไว้ว่า ต่อให้เปิดทุกอย่างแล้ว รวมทั้งเปิดพรมแดน เดนมาร์กก็ไม่สามารถเป็นปกติได้ และก็คงจะเป็นจริงเช่นนั้น เชื่อว่าหลังจาก unlockdown เดนมาร์กจะมีหลักปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้ social distancing ยังคงอยู่ และเพื่อไม่ให้ต้อง lockdown อีก จะมี norm ใหม่ๆ เกิดขึ้นในสังคม แค่ในตอนนี้คนเดนมาร์กได้มีพฤติกรรมการล้างมือ ใช้เจลแอลกอฮอล์อย่างเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการเดินห่างๆ กันตามที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม การใส่หน้ากากยังคงไม่เป็น norm ของทั้งเดนมาร์กและในยุโรป เหตุผลหลัก คือ เดนมาร์กกลัวว่า หากทุกคนใส่หน้ากาก หน้ากากจะไม่พอสำหรับบุคลลกรทางการแพทย์และคนป่วยที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ การที่ไม่ใส่หน้ากากของคนทั่วไปคือการเสียสละหน้ากากให้คนที่จำเป็นก่อน
จะมีการระบาดของเชื้อก่อโรคร้ายแรงแบบนี้หรือมากกว่านี้หรือไม่ เป็นคำถามที่คงไม่ต้องถามอีกต่อไป คำถามที่ควรถามคือ “เมื่อไร” ที่จะมีการระบาดอีก และอย่าลืมว่า ต่อให้ไม่มีไวรัสโคโรน่า เราก็มีเชื้อก่อโรคมากมายที่คร่าชีวิตผู้คนอยู่ทุกๆ วัน เช่น เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ปัญหาเชื้อก่อโรคไม่ว่าที่มีอยู่แล้วหรือที่จะมีในอนาคต รัฐที่พร้อมเท่านั้นถึงรับมือได้
รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส คำนึงถึงหลักมนุษยชน และเป็นรัฐสวัสดิการ แบบเดนมาร์ก และในหลายๆ ประเทศในยุโรป จะเป็นรัฐที่พร้อมรับกับวิกฤติ และวิกฤติโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัฐที่เป็นประชาธิปไตยสามารถทำได้ รัฐประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการสามารถลดการติดเชื้อและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้
รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือเป็นประชาธิปไตยเสี้ยวใบ จะล้มเหลวในการรับมือ นอกจากประชาชนจะติดเชื้อแล้ว ประชาชนจะไม่มีกินด้วย
รัฐที่เห็นคนเป็นคนอย่างเดนมาร์ก จะมองว่า คนจะทำอะไรมันเป็นสิทธิของเขา แค่เขาไม่รวมตัวกันเกินที่กำหนดเป็นพอ จะรวมตัวกันทำอะไรเพื่อหาความสุขและคลายเครียด จะเข้าโบสถ์สวดมนต์ ถือศีลก็ทำไป แต่ห้ามเกินจำนวนที่กำหนดเท่านั้น คงเป็นไปไม่ได้ที่รัฐเดนมาร์กจะสั่งสอนประชาชนว่า กิจกรรมอะไรดีหรือไม่ดี และคงไม่มีทางออกมาตรการเพื่อ “สำเร็จความใคร่ทางศีลธรรมของตัวเอง”
Norm ที่ควรจะเกิดขึ้นมากที่สุดหลังจากวิกฤตินี้ คือ Norm ของการเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น แต่คงจะเป็นไปได้ยากสำหรับรัฐที่หวงอำนาจของตัวเองเกินกว่าที่จะเห็นหัวประชาชน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
รับมือโควิดในเนเธอร์แลนด์: “Intelligent Lockdown” รับมือแบบผ่อนคลายเพระเชื่อมั่นในประชาชน
รับมือโควิดในเยอรมนี : สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในวิกฤติ ผู้นำย้ำหลักประชาธิปไตย
รับมือโควิดในฝรั่งเศส : สร้างระบบกฎหมายขึ้นใหม่ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางสาธารณสุข” ไม่ปนกับการทหาร