วันพุธ, เมษายน 29, 2563

มันถึงจุดนี้แล้วหรือ มีคนพูดถึง ‘สลิ่ม’ ว่า “ถ้าเราไม่ฆ่ามัน มันก็ฆ่าเรา”


มันถึงจุดนี้แล้วหรือ มีคนพูดถึง สลิ่มว่า “ถ้าเราไม่ฆ่ามัน มันก็ฆ่าเรา” ต้นสายปลายเหตุมาจากข่าวหญิงวัย ๕๙ ปีคนหนึ่งรอเงินเยียวยา ๕ พันนานแล้วไม่มา นึกว่าเขาไม่ให้จึงไปเรียกร้องอยู่คนเดียวหน้ากระทรวงคลัง แต่ไม่มีใครใส่ใจ

ต่อเมื่อเธอเกิดคลั่งกินสารเบื่อหนูประท้วง ทำท่าจะอาการสาหัส จึงได้มีการเรียกหน่วยกู้ชีพพาไปโรงพยาบาล เป็นข่าวใหญ่จนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังต้องออกมาแถลง ถึงการตรวจสอบข้อมูลพบว่า

หญิงวัยกลางคนนั้น “เป็นผู้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ๕ พันบาท (จริง) อยู่ในกลุ่มที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการตรวจสอบไปแล้วและอยู่ระหว่างการรอโอนเงิน” ระยะเวลาสามเดือนที่รอ ย่อมทำให้คนที่ไม่มีจะกิน ทำอะไรบ้าบอได้

แม้กระทั่งพยายามฆ่าตัวตาย ท้ายที่สุดปลอดภัย มีตัวแทนจากปลัดกระทรวงการคลังนำกระเช้าดอกไม้ไปเยี่ยม แจ้งให้ทราบว่าได้มีการโอนเงิน ๕ พันเข้าบัญชีให้แล้วในวันพุธนี้ เป็นข่าวขึ้นมาอีกว่า “ประชดได้ผล” ตามพาดหัวของ โพสต์ทูเดย์
 
อนิจจา มันทำให้หญิงผู้นั้น เจ็บ ซ้ำสองเข้าไปอีก เมื่อมีคนไทยจำนวนหนึ่งมากหรือน้อยแค่ไหนไม่รู้ แต่ส่งเสียงดังมาก (ทางสื่อสังคม) บริภาษณ์จาบจ้วงอย่างรังเกียจเดียดฉันท์ ชนิดผู้เก็บมาเล่าบอกว่า #ไม่ต้องมาเป็นควายแดงด้วย ขอ #แค่เป็นคนก็พอแล้ว

อย่างรายนี้ใช้ชื่อ Khunanon Thamma ถากถาง “มันกินน้อยไป มันเลยไม่ตาย แน่จริงไม่กินทั้งถุงละ” จิตใจเต็มไปด้วยความเกลียดเช่นนี้ ชื่อตระกูลไม่น่าจะ ธรรมาอาจจะเป็น ทำ (หะ) มา ก็ได้ ส่วน Tewee Niamratna หาว่าเป็น ฆาตกรรมอำพราง เสียนี่

เขาบอก “ยายังเหลือเท่าเดิม...คนคิดฆ่าตัวตายไม่ไปอยู่ในที่แบบนั้น” ก็มี ทิพย์อาภา แก้วกัลญา ไปเสริม บอก “แหมอีป้าตีบทแตก พอได้ยินว่าจะได้เงิน ๕ พันนี่ รีบฟื้นเลยนะคะ อีดอก...ทีหลังอยากตายจริงๆ กินให้หมดถุงสิคะ

เหลือเอาไว้ทำไม แดกยังไม่ถึง ๑ ช้อนโต๊ะเลยค่ะ รู้สัดส่วนการแดกด้วย” โดยที่ แม่อ้อย รัชนี อุ้ยอ้ำ แรงกว่า “ทีหลังคิดจะฆ่าตัวตายนะ ช่วยไปทำให้ไกลๆ ทีเถอะ อย่ามาทำให้เป็นภาระสังคม” ก็ได้ Bunny Paragon ขยายความ

ว่า “สถานการณ์อย่างนี้ควรต้องปล่อยให้รัฐบาลทำงานแก้ปัญหาให้เต็มที่ ไม่ใช่มาฉุดรั้งให้เสียเวลา เสียสมาธิ” แล้วแนะว่า “ถ้าป้าอยู่เป็นคนเหมือนคนอื่นไม่ได้ ก็ไปฆ่าตัวตายเถอะ” โดยมี พิชัย กลับทับลังค์ ลงรายละเอียด

“ถ้าจะฆ่าตัวตาย ให้เขียนจดหมายไว้ แล้วไปฆ่าตัวตายในที่ลับๆ จะได้ตายสมใจ กินยาหนูต่อหน้าฝูงคน หมอก็ล้วงท้องทันซิป้า” ขณะที่ Somsak Raksayot สรุปความว่าป้า “อยากดัง ไม่ได้อยากตาย” Payfay Andaman เห็นด้วยว่า “เรียกร้องความสนใจ”

เหล่านั้นเป็น กรอบความคิดที่เรียกกันว่า สลิ่ม โดยแท้ ซึ่งจะมองการกระทำที่ไม่อยู่ในกรอบซึ่งพวกเขาเทิดทูลเป็นเรื่องเสแสร้ง ก่อกวน มุ่งร้าย และฉวยโอกาสแก่ตน อันเป็นความคิดคร่ำครึ (conservative) ในประเทศตะวันตก ที่มองว่าคนจนเอาเปรียบจากระบบสวัสดิการ

ในระบอบประชาธิปไตยตะวันตก การเรียกร้องและประท้วงในสิ่งที่ตนไม่ได้รับการอนุเคราะห์จากรัฐบาล ขณะที่มีคนอื่นๆ ได้ เป็นสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออก หากไม่ทำอย่างนั้นก็จะไม่มีใครรับรู้ กลายเป็นผู้โชคร้ายเสียเปรียบ หรือ ‘fall through the crack’ ไป

การกระทำของป้าวัย ๕๙ ที่เป็นข่าวไม่น่าจะเป็นการเสแสร้งฉวยโอกาสอย่างที่บรรดาสลิ่มกล่าวหา เธอเป็นผู้เสียประโยชน์ที่จนปัญญาไม่รู้จะไปทวงคืนให้ได้ผลอย่างไร จึงได้คิดสั้น เหตุการณ์แบบเดียวกันอีกรายที่หน้าประตูสี่ ก.คลังชี้ชัด
 
หญิงวัย ๕๔ รายนี้เจอปัญหาแบบเดียวกันคือรอเงินเยียวยาเสียจน มันเครียดมาก“แม้จะไม่เคยรวย แต่ก็ไม่เคยท้อ ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ตอนนี้ก็ไม่แน่...หน้ามืดมาก็ไม่แน่ ไม่มีทางออก” นางวิไล อาชีพขายเสื้อผ้าในตลาดนัดที่ต้องปิดเพราะพิษโควิดครวญ

แต่ก็ไปประท้วง “อยากให้คลังเมตตา เพราะตนต้องเลี้ยงครอบครัว จะให้ฆ่าตัวตายก่อนได้เงินเยียวยา มันไม่ถูกต้อง จึงขอนอนหน้าประตู มันเหนื่อย ไม่มีแรง ไม่ได้กินข้าว” โชคดีของเธอที่ไม่ต้องเจ็บซ้ำสองจากปากหะมาของประชากรสลิ่ม