วันศุกร์, เมษายน 24, 2563

กลับไปอ่าน “ตุลาการภิวัตน์” ของธีรยุทธ บุญมี - สมชาย ปรีชาศิลปกุล




กลับไปอ่าน “ตุลาการภิวัตน์” ของธีรยุทธ บุญมี

Somchai Preechasinlapakun | Sep 13, 2017
ที่มา 1O1

งานเขียนเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์”[1] ของธีรยุทธ บุญมี ได้ปรากฏตัวและแพร่หลายอย่างกว้างขวางในสังคมไทยตั้งแต่ประมาณช่วงกลางปี 2549 ภายหลังจากรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุดเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่ง และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม เข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2549

ในการนี้ทรงมีพระบรมราโชวาทแก่คณะตุลาการ ทั้ง 2 คณะ เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขวิกฤตการเมืองของชาติที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น[2]

บางส่วนของพระราชดำรัสที่ให้แก่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรม มีดังนี้

“ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นสำคัญที่จะบอกได้ ศาลอื่นๆ ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอะไร ไม่มีข้ออ้างที่จะอ้างได้มากกว่าศาลฎีกา เพราะว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะมีสิทธิที่จะพูด ที่จะตัดสิน”

และบางส่วนของพระราชดำรัสที่ให้แก่ตุลาการศาลปกครอง มีดังนี้

“ที่ได้ปฏิญาณนั้นมีความสำคัญมาก เพราะว่ากว้างขวาง หน้าที่ของผู้พิพากษา หน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปกครอง มีหน้าที่กว้างขวางมาก ซึ่งเกรงว่าท่านอาจจะนึกว่า หน้าที่ของผู้ที่เป็นศาลปกครองมีขอบข่ายที่ไม่กว้างขวาง ที่จริงกว้างขวางมาก”

พระราชดำรัสดังกล่าวได้กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญต่อการพลิกเปลี่ยนบทบาทของฝ่ายตุลาการ ธีรยุทธ บุญมี ในฐานะปัญญาชนสาธารณะคนสำคัญของสังคมไทยมีความเห็นว่าพระราชดำรัสครั้งนี้เป็น “พระราชวิสัยทัศน์ที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง”[3] ในรัชสมัยของพระองค์

และเขาได้นำเสนอกรอบการพิจารณาพระราชดำรัสดังกล่าวในเดือนถัดมา (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ณ โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ) โดยได้ให้คำอธิบายต่อพระราชดำรัสว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อกระบวนการตุลาการภิวัตน์

“เป็นการมองอำนาจศาลอย่างกว้างขวาง แนวที่เปิดทางให้กับสิ่งที่ประเทศยุโรปเรียกว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์ของระบบการปกครอง (judicialization of politics) และสหรัฐอเมริกาเรียกการตรวจสอบฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติโดยระบบตุลาการ (power of judicial review) ซึ่งคือการที่อำนาจตุลาการเข้าตรวจสอบการออกกฎหมาย การใช้อำนาจของนักการเมืองอย่างจริงจัง”[4]

ในมุมมองของธีรยุทธ เขาสนับสนุนบทบาทของฝ่ายตุลาการในการทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงสภาพปัญหาและความจำเป็นในการใช้ตุลาการภิวัตน์เข้ามาแก้ไขปัญหา ดังนี้[5]

จุดเริ่มต้นเกิดจากปัญหาของระบบการเลือกตั้ง ซึ่ง “เน้นการเลือกตั้ง การซื้อเสียง การโฆษณาชวนเชื่อ แต่เกิดผลกว้างขวางขึ้น ก็ช่วงทักษิณ (ชินวัตร) ซึ่งมีการใช้การตลาดและนโยบายประชานิยม ใช้เงินของประเทศซื้อความนิยมจากประชาชนรากหญ้า”

ผลสืบเนื่องก็คือ “ทำให้การปกครองระบอบรัฐสภากลายเป็นลัทธิรัฐสภาที่ถือเอาสภามีอำนาจสูงสุดเพราะเป็นตัวแทนของประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่รัฐสภานี้กลับไม่ได้มุ่งหมายให้ความสำคัญแก่การออกกฎหมายที่ปกป้องผลประโยชน์ประชาชน แต่เป็นรัฐสภาที่ให้ความสำคัญกับรัฐบาล นโยบายรัฐบาลหรือพรรคตนเอง … หากก้าวไปสุดขั้วก็จะกลายเป็นระบบเผด็จการหรือเผด็จการโดยรัฐสภาได้”

และผลสืบเนื่องถัดมาคือ “ทำให้อำนาจและกระบวนการตรวจสอบไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดคอร์รัปชันและผลประโยชน์ทับซ้อน”

สำหรับเหตุผลสำคัญในการสนับสนุนบทบาทการแก้ไขปัญหาโดยฝ่ายตุลาการในสังคมไทยนั้น ธีรยุทธเน้นว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในกระแสเดียวกันกับที่ปรากฏขึ้นในหลายประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหาจากระบอบประชาธิปไตย พร้อมกับการเพิ่มบทบาทของฝ่ายตุลาการเข้ามาในทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเพิ่มขึ้น

“ประชาธิปไตยทุกแห่งในโลกประสบปัญหาคล้ายๆ กันคือ การที่กลุ่มทุน บรรษัทขนาดใหญ่ กลุ่มผลประโยชน์ขนาดใหญ่ เข้ามามีอำนาจเหนือรัฐ ฉกฉวยประโยชน์ไปเป็นเฉพาะของส่วนตน รัฐสภาอ่อนแอ ถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร ทำให้แยกอำนาจตรวจสอบ ถ่วงดุลภายในของอำนาจอธิปไตยไม่สามารถเกิดเป็นจริงได้ เกิดใช้อำนาจแนวเบ็ดเสร็จเผด็จการขึ้น จึงมีกระบวนการตุลาการภิวัตน์ คือการให้อำนาจอำนาจแก่ฝ่ายตุลาการในการตรวจสอบถ่วงดุลสองอำนาจใหญ่คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้”[6]

อิทธิพลทางแนวคิดของธีรยุทธ ในการตีความหมายพระราชดำรัสและเชื่อมโยงมาถึงบทบาทของฝ่ายตุลาการได้ส่งผลกระทบอย่างมาก ดังจะพบว่า “ตุลาการภิวัตน์” ได้กลายเป็นกระแสการเคลื่อนไหวที่สำคัญในสังคมไทยนับจากนั้นเป็นต้นมา ได้มีการให้ความเห็นในทิศทางที่เป็นการสนับสนุนให้ฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในห้วงเวลานั้นเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

นับจากนั้นเป็นต้นมา ฝ่ายตุลาการได้เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในการเมืองไทย แม้ฝ่ายสนับสนุนคาดหวังให้สถาบันตุลาการเป็นสถาบันหนึ่งในการช่วยแก้ไขความยุ่งยากของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่ไม่ทำให้ความขัดแย้งในสังคมไทยคลี่คลายลง กลับกลายเป็นว่าผลอีกด้านหนึ่งได้ปรากฏกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่อฝ่ายตุลาการเกิดขึ้นอย่างมากพร้อมกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การหวนกลับไปอ่าน “ตุลาการภิวัตน์” ภายหลังจาก 1 ทศวรรษผ่านไป อาจจะทำให้พอมองเห็นได้ว่าอะไรคือบทเรียนสำคัญจากงานชิ้นนี้ที่สังคมควรต้องรับไว้เป็นประสบการณ์บ้าง

ประการแรก ตุลาการภิวัตน์ในมุมมองของธีรยุทธ เป็นปรากฏการณ์ที่จะส่งผลด้านบวกโดยเฉพาะในระบอบการเมืองที่สถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งได้ครอบครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยปรากฏการณ์ตุลาการภิวัตน์จะเข้ามาช่วยตรวจสอบให้ระบบการเมืองสามารถดำเนินไปบนความยุติธรรมและถูกต้องมากยิ่งขึ้น

ทั้งที่หากสำรวจงานทางวิชาการอย่างกว้างขวาง ก็จะสามารถพบได้โดยไม่ยากเย็นว่า ในหลายสังคม บทบาทของตุลาการสามารถส่งผลกระทบในด้านที่อาจนำมาสู่ปัญหาได้เช่นกัน มีการศึกษาในเชิงเปรียบเทียบบทบาทของฝ่ายตุลาการเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในต้นศตวรรษที่ 21 เช่น งานของ Tom Ginsburg, Judicial Review in New Democracies (New York: Cambridge University Press, 2003) และ C. Neal Tate and Torbjorn Vallinder (ed.) The Global Expansion of Judicial Power (New York University Press, 1995) เป็นต้น ได้ชี้ให้เห็นบทบาทที่อาจผันแปรไปเป็น “ตุลาการการเมือง” ได้ (politicization of the judiciary)

ประการที่สอง ธีรยุทธเสนอแนวคิดเรื่องตุลาการภิวัตน์ให้เป็นเสมือนหนึ่งปรากฏการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อตุลาการภิวัตน์สามารถเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกได้ สิ่งเหล่านั้นก็ย่อมสามารถบังเกิดขึ้นในสังคมไทยได้เช่นกัน โดยไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างทางด้านปัจจัยภายในของสถาบันตุลาการในต่างประเทศกับสถาบันตุลาการภายในสังคมไทย ทั้งที่ปัจจัยดังกล่าวมีความสำคัญไม่น้อยต่อลักษณะการแสดงบทบาทของสถาบันตุลาการต่อสภาพปัญหาทางการเมือง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของสังคมไทยจะเห็นได้ว่าฝ่ายตุลาการของไทยมีความเกี่ยวข้องหรือถูกตรวจสอบจากสังคมในระดับที่ต่ำ เงื่อนไขดังกล่าวย่อมมีผลอย่างมากต่อการที่จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “ตุลาการการเมือง”

ประการที่สาม ในการนำเสนอของธีรยุทธ บุญมี ได้ชี้ให้เห็นว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เพียงการขยายบทบาทของฝ่ายตุลาการในประเด็นปัญหาทางการเมืองเพียงอย่างเดียว หากยังหมายความรวมถึงการทำหน้าที่ในการเสริมสร้างและขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้กว้างขวางและมั่นคงยิ่งขึ้น เช่น การปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนจากบรรษัทขนาดใหญ่ การให้ความเป็นธรรมทางอาชีพ สวัสดิการแก่เด็ก ผู้หญิงชนกลุ่มน้อย การสร้างความยุติธรรมทางสังคม เป็นต้น[7]

แต่จะพบได้ว่าหลังจากปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” มามากกว่า 1 ทศวรรษ ปรากฏว่าบทบาทที่เด่นชัดของฝ่ายตุลาการโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่ประจักษ์ชัดในการแสดงบทบาททางการเมือง แต่กลับไม่มีคำวินิจฉัยที่วาง “บรรทัดฐานใหม่” เกี่ยวกับการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดแต่อย่างใด

ประการที่สี่ แม้โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจกันว่า การแสดงบทบาทของฝ่ายตุลาการคือการเข้ามากำกับหรือตรวจสอบอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่สำหรับตุลาการภิวัตน์ในสังคมไทยมีความแตกต่างไปอย่างเห็นได้ชัด อำนาจกำกับและตรวจสอบจะมุ่งจัดการกับนักการเมือง/พรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างมากเป็นสำคัญ ปฏิบัติการขององค์กรอิสระในหลายกรณีล้วนทำให้เกิดคำถามและข้อโต้แย้งได้อย่างกว้างขวาง ขณะที่หากเป็นนักการเมือง/พรรคการเมืองที่เป็นเสียงข้างน้อยก็แทบมิได้ถูกทำให้ระคายเคืองแม้แต่น้อย

เป็นไปได้อย่างไรที่การดำเนินนโยบายที่มุ่งเป้ากับคนรากหญ้ากลายเป็นความผิดอย่างร้ายแรง แต่การใช้กำลังเข่นฆ่าประชาชนกลางกรุงเทพฯ กลับไม่สามารถนำคดีไปสู่การวินิจฉัยของศาลได้

ประการสุดท้าย ข้อบกพร่องทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถเข้าใจได้ ถ้าหากประเมินค่างานเขียนเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” ในฐานะที่เป็น political propaganda ชิ้นหนึ่ง ซึ่งมีวัตถุประสงค์และความคาดหมายทางการเมืองที่ชัดเจน งานชิ้นนี้มีพลังต่อการสร้างแรงขับเคลื่อนทางการเมืองอย่างไม่อาจปฏิเสธในการโค่นล้มอำนาจทางการเมืองของสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

หากพิจารณาในแง่นี้ธีรยุทธ ก็คือนักการเมืองอีกคนหนึ่งนั่นเอง

แต่ถ้าหากจะประเมินคุณค่าในทางวิชาการแล้ว งานเขียนเรื่อง “ตุลาการภิวัตน์” คงต้องถูกประเมินความน่าเชื่อถือ ความเข้าใจทางด้านแนวคิด รวมทั้งความเท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางด้านความรู้ในประเด็นบทบาทของฝ่ายตุลาการในโลกต้นศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก

อ้างอิง

[1] ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review), (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2549)

[2] สืบค้นระบบออนไลน์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเข้าเฝ้าในครั้งนี้เป็นเฉพาะตุลาการจากศาลปกครองสูงสุด และผู้พิพากษาจากศาลยุติธรรมเพียงเท่านั้น ในขณะที่ในห้วงเวลาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าถูกแทรกแซงอำนาจจากฝ่ายบริหาร ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่

[3] ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review), หน้า 41

[4] ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review), หน้า 16

[5] ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review), หน้า 14

[6] ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review), หน้า 25

[7] ธีรยุทธ บุญมี, ตุลาการภิวัตน์ (Judicial review), หน้า 30, 44