เร่งดึงฟืนออกจากกองไฟ !
ก่อนจะลุกไหม้เป็นความขัดแย้งแตกหัก
จัดตั้งกลไกถาวร ‘แก้จน-ลดเหลื่อมล้ำ’ ด่วน
__________________________
เงาทมึนใหญ่ที่กำลังตามมาหลัง COVID-19 คือวิกฤตเศรษฐกิจโลก จะแค่ recession หรือถึงขั้น depression หรือ Great Depression อีกไม่นานคงได้รู้กัน ประวัติศาสตร์บอกเราว่าหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกมักจะตามมาด้วยความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในประเทศที่มีเงื่อนไขสะสมอยู่ก่อนแล้วเสมอ และแน่นอนที่สุด ความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่จะเพิ่มมากขึ้นคือฟืนจำนวนมหาศาลในกองไฟแห่งความขัดแย้ง
จะบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว
นอกเหนือจากการที่จะต้องใช้เงินกู้ในส่วน 4 แสนล้านเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชุมชนทั่วประเทศให้เหมาะสมที่สุดแล้ว ยังจะต้องดึงกราฟสัดส่วนคนยากจนที่จะเพิ่มสูงขึ้นจาก COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำให้ลงมาให้ได้
โดย ‘หัวใจ’ ที่จะทำได้ทันทีภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลปัจจุบันและระบอบการเมืองปัจจุบันเท่าที่สติปัญญาของผมจะเสนอได้ โดยประยุกต์ปรับจากสิ่งที่รัฐบาลนี้เคยคิดจะทำอยู่แล้ว ก็คือ...
การจัดตั้ง ‘กลไก’ เพื่อกำหนดทิศทางและกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐในระยะกลางถึงระยะยาวในระดับคิดใหม่ทำใหม่ ปฏิรูปใหญ่ หรือ reset ตลอด 5 ปีจากนี้ไป
กลไกแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำนี้จะต้องเป็นช่องทางพิเศษและเร่งด่วน
อันที่จริงก่อน COVID-19 ประเด็นนี้ก็มีระบุอยู่แล้วในแผนปฏิรูปประเทศ 2 ด้าน คือ ด้านกฎหมาย และด้านเศรษฐกิจ ที่เห็นตรงกันว่าให้จัดตั้งเป็นกลไกพิเศษขึ้นโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำโดยตรง เฉพาะแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายนั้นระบุให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดย ณ นาทีนี้ย่อมหมายถึงเป็นพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 ที่ต้องพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา
แต่คณะรัฐมนตรีชุดที่แล้วมีเห็นว่าเป็นระดับเพียง ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี...’ ก็พอ โดยข้อดีประการหนึ่งคือออกได้เร็ว ไม่ต้องผ่านสภา จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2561 อนุมัติหลักการ ‘ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดควาามเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. ...’ ที่สภาพัฒน์ยกร่างเสนอขึ้นมา
นายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องนี้มากล่าวรายงานประชาชนในรายการศาสตร์พระราชาในอีกสองสามวันถัดมา สร้างความยินดีให้กับประชาชนทั่วประเทศ
แต่จนบัดนี้เวลาผ่านไป 1 ปี 5 เดือนยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ยังไม่มีคณะกรรมการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหหาความยากจนเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในรูปแบบใดทั้งสิ้น
แม้แต่ ‘ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาความยากจน พ.ศ. ....’ ก็ยังไม่เบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เพราะเมื่อคณะรัฐมนตรีรับหลักการแล้วตามกระบวนการก็ส่งต่อไปให้คณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (คกอ.) สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ตรวจร่างฯ แม้จะตรวจและปรับแก้เสร็จแล้ว แต่ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้นมา เมื่อคกอ.แก้ไขแตกต่างไปจากร่างเดิมมาก จนแทบจะกล่าวได้ว่าเสียเจตนารมณ์เดิมไปในสาระสำคัญ
มาถึงวันนี้ COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจร่วมกันกดปุ่ม ff- fast forward ปัญหาความยากจนของประเทศไทยไปไกลในอัตราคูณ 2 คูณ 3
ฟันธงฉับด้วยความเคารพ - ปรับมติคณะรัฐมนตรี 18 ธันวาคม 2561 เสียใหม่เถอะครับ !
ยกระดับกลไกในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำขึ้นเป็นกฎหมายระดับ ‘พระราชบัญญัติ’ ไม่ใช่แค่ระดับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยเร่งตั้งคณะกรรมการยกร่างร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการนี้ขึ้นมาชุดหนึ่งประด้วยกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีกครึ่งหนึ่ง แล้วใช้ตัวร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่สภาพัฒน์ยกร่างเป็นสารตั้งต้น ให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 3 เดือน เพื่อส่งร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาให้ทันพิจารณาภายในสมัยประชุมหน้า
ด้วยเหตุผลดังนี้
(1) จะเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองต่อประชาชนอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลเอาจริงกับการแก้ปัญหาความยากจนของคนกลุ่ม 40 % ล่าง และลดความเหลื่อมล้ำทุกด้านในสังคม
(2) กลไกที่จะสามารถนำทุกหน่วยราชการในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ควรจะต้องเป็นกลไกที่มีกฎหมายพิเศษในระดับพระราชบัญญัติรองรับ เพราะในกระบวนการทำงานตามช่องทางพิเศษจะต้องมีข้อยกเว้นให้หน่วยราชการไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนปกติของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติฉบับอื่น ๆ ของหน่วยงานนั้น ๆ
ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญหนึ่งการปฏิรูปใหญ่ด้านเศรษฐกิจมหภาค หรือเศรษฐกิจด้านทุน หรือเศรษฐกิจเพื่อ GDP ที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำ และกลไกเริ่มขับเคลื่อนแล้ว ประมูลโครงการกันแล้ว
หรือทำนองเดียวกับพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 ให้ธนาคารชาติตั้งกองทุนรับซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชน ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็เสมือนเป็นข้อยกเว้นหรือให้อำนาจเพิ่มเติมแก่ธนาคารชาติให้ชัดเจนนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยและพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
เมื่อประเทศเรามีการปฏิรูปด้านการลงทุนหรือด้าน GDP และแก้ปัญหาวิกฤตให้ภาคธุรกิจใหญ่ ก็จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปและแก้ปัญหาวิกฤตในด้านการกระจายหรือด้านแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไปอย่างสมดุลกัน
(2) การเป็นร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศที่พิจารณาในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาจะเป็นการระดมความคิดเห็นของทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายประชาสังคม ผ่านเวทีกรรมาธิการที่มีตัวแทนของทุกฝ่าย เป็นการสร้างบรรยากาศทางปัญญาในการแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม ทำให้กระแสปฏิรูปประเทศใหญ่ในระดับที่รัฐบาลเองเคยเรียกว่า big rock ถูกจุดขึ้นให้เห็นเป็นรูปธรรม
(3) จะเป็นจังหวะก้าวทางการเมืองที่สร้างสรรค์ และสร้าง ‘ประเด็นทางการเมืองใหม่’ หลังยุค COVID-19 ที่เป็นรูปธรรมในแนวทางการแก้ปัญหาขึ้นมาคู่ขนานกับประเด็นทางการเมืองเดิม ๆ
และหากรัฐบาลนำร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ เข้าสู่การพิจารณาโดยที่ประชุมร่วมของรัฐสภาในเวลาไล่เลี่ยกันด้วย ก็จะยิ่งขับเน้น ‘ประเด็นทางการเมืองใหม่’ หลัง COVID-19 ให้เด่นชัดขึ้นและตีคู่ขึ้นมาจนอาจจะครอบงำประเด็นทางการเมืองเดิม ๆ ได้
(4) นอกจากนั้น ‘ประเด็นทางการเมืองใหม่’ หลัง COVID-19 ที่เกิดขึ้น ยังจะเป็นการดึงคนรุ่นใหม่หรือคนทุกรุ่นที่เริ่มเบื่อประเด็นทางการเมืองเดิม ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำผ่านรูปแบบกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและการรับฟังความคิดเห็น
อาทิ เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติอาจกำหนดให้นิสิตนักศึกษาที่จบปริญญาตรีแล้วยังหางานไม่ได้ เข้ามาเป็นอาสามัครลงพื้นที่เพื่อสำรวจและแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะพื้นที่เฉพาะกรณี หรือการสร้างงานอื่น ๆ ที่มีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการแก้ปัญหาความยากจน
หรือแม้กระทั่งการกำหนดให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปฏิรูประบบการเงิน ระบบภาษี ระบบส่งเสริมการลงทุน หรือแม้กระทั่งระบบพลังงาน ทั้งไฟฟ้าและปิโตรเลียม เป็นขั้นตอนตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
แน่นอนว่าเพื่อให้เกิดผลตามที่กล่าวมาครบถ้วน เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนอกจากจะยึดสารัตถะเดิมของร่างระเบียบฯที่ไปจากสภาพัฒน์แล้ว สมควรให้ในกลไกและกระบวนการมีภาคประชาสังคมหรือองค์กึ่งรัฐกึ่งประชาสังคมที่มีอยู่เข้ามามีส่วนสำคัญในองค์กรนำด้วย ต้องไม่ให้เป็นเรื่องของสภาพัฒน์หรือรัฐราชการฝ่ายเดียว
ขอย้ำว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เรามีกฎหมายพิเศษเพื่อสร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจด้านทุนหรือด้านเพิ่ม GDP มาหลายฉบับ หลังสถานการณ์ COVID-19 ที่เปลี่ยนวิถีโลกวิถีประเทศ จำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นโดยมีกฎหมายพิเศษเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำควบคู่กันไปด้วย
จะติดยึดแต่ทฤษฎี Trickle down effect ที่เป็น Normal เดิม ๆ ของทุกรัฐบาลที่ผ่านมาหาได้ไม่
เริ่มต้นสร้าง New normal ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เกิดในบัดดลเถิด
เร่งดึงฟืนออกจากกองไฟแห่งความขัดแย้งแบบแตกหักและการเปลี่ยนแปลงใหญ่โดยพลัน
คำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
29 เมษายน 2563
https://www.facebook.com/kamnoon/posts/2928176187226316