วันพฤหัสบดี, เมษายน 30, 2563

ยืดเวลา พรก.ฉุกเฉินอีกหนึ่งเดือนเพื่อปรับกระบวนการเมืองให้กลับมาเข้าที่ ประชาชนต้องแบกหนี้จากพวกประยุทธ์ไม่มีที่จบสิ้น

“เป็นธรรมชาติ” ของการเมืองไทย ดังที่ สุวิทย์ เมษิณทรีย์ รมว.มหาลัยพูดถึงความวุ่นวายภายในพรรคที่ คสช.ตั้ง เรื่องพี่ใหญ่ป้อมจะเข้าไปคุม พปชร.ด้วยตนเอง พร้อมกับการปรับ ครม.ครั้งใหญ่ ลงเอยว่า ลุงตูบห้ามทัพ สยบกระแสไว้ก่อน

คนนั้นว่าต้องโฟกัสไปที่แก้ปัญหาโควิด-๑๙ ก่อน คนนี้ว่าประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่าเพิ่งทะเลาะการเมือง แต่ก็มาสะดุดหยุดที่ คนดีประยุทธ์ จันทร์โอชา เบรค “ปมการเมืองในช่วงนี้ไม่สำคัญ...อำนาจการตัดสินใจปรับ ครม.เป็นของนายกฯ คนเดียว”

ส่วนที่เขกหัวเสี่ยค่ายเนรวิน อนุทิน ชาญวีรกูล กลางที่ประชุมว่า “คุณก็รู้เรื่อง คุณทำความความเข้าใจกับเรื่องของคุณบ้างหรือไม่” ต่อกรณีมีการปรับลดงบประมาณหลักประกันสุขภาพออกไป ๒,๔๐๐ ล้านแล้วโดนช้าวบ้านด่ากระจุยจนต้องถอย นั่นก็ ธรรมชาติ เช่นกัน

หันไปทางเฮียป้อมได้แต่เออๆ “ไม่มีอะไรๆ...จบแล้วๆ” พอเขาถามแล้วทำไมมีคนอยากให้ ทั่นผู้เฒ่า เป็นหัวหน้าพรรคเล่า ปู่เค้าก็ไม่ได้ยินคำถามซะงั้น ตอนนี้ก๊วน สมคิด-อุตตม-สุริยะ-ธรรมนัสก็เลยยังลอยตัวอยู่เหนือดราม่า

ทางด้านประธานวิป วิรัช รัตนเศรษฐ์ สุชาติ ชมกลิ่น หัวหน้าทีม ส.ส. กับพวกที่ส้มเกือบจะหล่นใส่ เสี่ยแฮ้งค์ อนุชา นาคาสัย และ ณัฐพล ทีปสุวรรณ ณ กปปส. ก็ได้แต่ครับๆ หลังจากนายกฯ ต่อสายตรงถึงบางคน แล้วอีกบางคนรีบพูดเอง “ผมไม่รู้เรื่อง”

ยังแต่ เสธ.อ้น คนของนายที่คุยโอ่ว่า “ไปกดดันนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลาออกจากหัวหน้าพรรค พปชร.” และไปล็อบบี้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐให้ลาออกเกินครึ่งของที่มีอยู่ ๓๔ คน เพื่อเปิดทางเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคกันใหม่

ไม่มีใครกล้าแตะ เว้นแต่ กอริลล่าฝ่ายค้านอย่าง เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เดินเครื่อง “รวบรวมข้อมูล...เพื่อยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป” ในข้อหาเป็น “ส.ว.ห้ามฝักใฝ่ใดๆ ในทางการเมือง”


จะว่างานนี้ซื้อเวลาจนกว่าจะถึงวันเปิดสภาสมัยสามัญ ๒๒ พฤษภาก็ได้ ในเมื่อระหว่างนี้ถึงนั้น ยืดเวลา พรก.ฉุกเฉินอีกหนึ่งเดือนเพื่อปรับกระบวนการเมืองให้กลับมาเข้าที่ ในเมื่อการขยายเวลา ล็อคดาวน์นี้ทำเพื่อการเมืองยิ่งกว่าการแพทย์

“โฆษก ศบค. อ้างข้อมูล หน่วยงานด้านการข่าว ทำโพลถามประชาชนกว่า ๔ หมื่นคน ปรากฏ ๗๐% เห็นด้วยกับการประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล” คือไม่ได้ให้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แจ่มแจ้ง นอกจากอ้างโพล

แม้นว่าโพลนั้นมาจากการข่าวทหารให้ตัวเลข ว่าหากคุมเข้มสุดๆ จะติดเชื้อเพิ่ม ๑๕-๓๐ รายต่อวัน ถ้าผ่อนปรนบ้างก็จะเพิ่มจาก ๔๐ ถึง ๗๐ คน แต่คลายล็อคทั้งหมด “คาดพบผู้ติดเชื้อหน้าใหม่ ๕๐๐-,๐๐๐ ราย/วัน” ซึ่งเป็นไปได้แต่ไม่มีหลักฐานหนุน

เรื่องของเรื่องมันวกไปหา เงินๆ ทองๆ อีกนั่นละ ในเมื่อเปิดสภาฯ งวดนี้ ฝ่ายค้านเอาแน่ แผนกู้และผันงบประมาณรวม ๑.๙ ล้าน ซึ่ง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทยตอกย้ำว่าเป็น “#หนี้ก้อนใหญ่สุด ในประวัติศาสตร์ชาติไทย”

และ “จะไม่ยอม #ตีเช็คเปล่าให้รัฐบาลไปใช้แบบไร้ประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส” โดยกำหนดข้อเรียกร้อง ๓ อย่าง ต้องเยียวยาให้ทั่วถึง ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ และต้องมีการลงทุนเพื่ออนาคตด้วย นั้นอยู่บนพื้นฐานที่ว่า
 
“ประยุทธ์ขึ้นแท่นนายกฯ ที่สร้างหนี้มากที่สุดของชาติ” ตามใบเสร็จ ปี ๕๘ ประยุทธ์กู้ ๒ แสน ๕ หมื่นล้าน พอ ๕๙ ตู่ขอยืมอีก ๓ แสน ๙ หมื่นล้าน ถึงปี ๖๐ ตูบเพิ่มสถิติกู้เป็น ๔ แสน ๕ หมื่นล้าน ครั้นเข้าปี ๖๑ กลายเป็นซีรี่ย์ต่อเนื่อง

รัฐบาล คสช.๒สร้างหนี้เพิ่มอีกแสนล้านเป็น ๕ แสน ๕ หมื่นล้าน แล้วสลับขาให้ประชาชนตายใจ จัดอัตรากู้ของปี ๖๒ ไปอยู่ที่ ๔ แสน ๕ หมื่นล้านเท่าปี ๖๐ เพื่อที่จะก้าวกระโดดในปีนี้ เพราะมีโควิด-๑๙ มาช่วยแบะท่าให้

ประยุทธ์ จันทร์โอชา (แอนด์เดอะแก๊ง) เลยจัดภาระให้แก่ลูกหลานตามใช้หนี้อีก ๑ ล้านล้านบาท ท่ามกลางบรรยากาศอำนวย เพราะเหตุด้วยรัฐบาลนี้ไม่มีความสามารถจัดเก็บรายได้เข้ารัฐอย่างควร สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเพิ่งแจ้ง
 
“๖ เดือนแรกของปีงบประมาณ ๒๕๖๓ (ต.ค. ๖๒-มี.ค. ๖๓) จัดเก็บได้ ๑.๑๔ ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ ๑๕,๕๗๒ ล้านบาท หรือ ๑.%” ยังไม่นับอนาคตไม่ไกลที่กระทรวงคลังต้องค้ำประกันเงินกู้เสริมสภาพคล่องสายการบินไทยอีก ๕ หมื่นล้านบาท

เห็นเห็นว่าประชาชนต้องแบกหนี้จากพวกประยุทธ์ไม่มีที่จบสิ้น โดยที่รายได้หลักของประเทศจากรัฐวิสาหกิจนั้นมาจากกองสลากฯ มากสุด ตามด้วยการไฟฟ้าฯ และการปิโตรเลี่ยมฯ ทั้งสามนี่ลูกค้าหลักเป็นชาวบ้านรายได้ต่ำสุดไปถึงปานกลางทั้งนั้น
 
คนจนเป็นกลุ่มประชาชนที่ซื้อหวยมากกว่าใครๆ เพราะความจนทำให้ต้องพึ่งพา ลาภลอย ขณะที่คนชั้นกลางสัมมาอาชีพจ่ายค่าน้ำค่าไฟกันเต็มพิกัด แถมยังโดนเก็บค่าบริการแบบก้าวกระโดดเสียอีก ยังมองไม่เห็นว่าภาระเงินกู้ที่ประยุทธ์ก่อ จะแบ่งไปให้พวกหุ้นส่วนประชารัฐบ้างตรงไหน

(https://www.voicetv.co.th/read/NHXMyIaX2 และ https://www.thairath.co.th/news/business/1833831)