วันอาทิตย์, ธันวาคม 01, 2562

ติดคุก ๒๘ ปี ไม่มีการ 'พักโทษ' หักหาญเหี้ยมเกรียมเพื่อ 'เชิดชูสถาบันกษัตริย์'


ความต่างที่อย่างไรก็ไม่เหมือน ก็คือเรื่อง คำสั่ง เหนือ หลักการในกระบวนยุติธรรมไทย “ไม่ได้มีเหตุแค้นเคืองอะไร” แค่ “ทำตามที่ได้รับมอบหมาย” เท่านั้น แต่จนบัดนี้ยังไม่มีตัวตน คนสั่ง

นั่นเป็นข้อชี้แจงของ เสธ.พี้ท พันเอก พิทักษ์พล ชูศรี พูดถึงกรณีแจ้งความ ไผ่ ดาวดิน ในความผิด ม.๑๑๒ เพียงแค่จากการที่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แชร์ข่าวบีบีซีเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ ๑๐ หลังจากฝ่ายข่าวกรองและสันติบาลแจ้งมา

ไผ่ ติดคุกอยู่นานหลายปี ถูกศาลปฏิเสธการ พักโทษ ซ้ำแล้วซ้ำอีก (เช่นเดียวกับ สมยศ พฤกษาเกษมสุข) ด้วยเหตุผลว่าเป็นความผิด “กระทบต่อสถาบันหลักของชาติอันเป็นที่รักใคร่เทิดทูนของปวงชนชาวไทย”
 
ที่น่าเวทนาทั้งต่อผู้ต้องรับเคราะห์กรรม และ หลักการ ระบบยุติธรรมไทย จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “ปัจจุบันยังมีผู้ต้องขังที่ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก

และ คดีสิ้นสุดแล้ว ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอีกอย่างน้อย ๒๕ คน” รวมทั้ง ศศิพิมลผู้ต้องหานำลงข้อความ ๗ ชิ้นบนเฟชบุ๊ค หมิ่นกษัตริย์ซึ่งไม่ได้ใช้ชื่อของเธอเอง และเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ แต่ก็จำใจรับสารภาพเพื่อให้ได้ลดโทษ

ศศิพิมลถูกตัดสินจำคุก ๕๖ ปี ลดกึ่งหนึ่งเหลือ ๒๘ ปี ถูกคุมขังมาตั้งแต่กลางเดือนกุมภา ๕๘ จนบัดนี้เกือบ ๕ ปีแล้ว ไม่เพียงถูกปฏิเสธการประกันตัวมาโดยตลอด ยังถูกคัดค้านการอภัยโทษในโอกาสต่างๆ ทั้งที่จัดอยู่ในประเภทนักโทษชั้นดีเยี่ยม

แม้แต่ล่าสุด ๒๘ พฤศจิกา ๖๒ ไม่ได้รับอนุญาตให้พักโทษอีกครั้งด้วยข้ออ้างว่า “เพราะคดีของเธอเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง และเป็นความผิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งสันนิษฐานไว้ก่อนว่า “อาจจะมีโอกาสไปกระทำความผิดซ้ำ”

และพิสดารไปกว่านั้น อนุกรรมการพักโทษยกเหตุไม่อนุญาตอย่างสุดยอดว่า “ผู้ต้องขังยังได้รับการลดหย่อนโทษจากการพระราชทานอภัยโทษมาแล้ว ๓ ครั้ง เหลืออัตราโทษอีกไม่มากนัก” หรือประมาณ ๑ ปี ๕ เดือน


เกือบปีครึ่งนี่ ไม่มากนักสำหรับคนตัดสิน แต่มันทับถมล้นหลามสำหรับคนที่สูญเสียอิสรภาพ ยิ่งเมื่อ “มีศศิพิมลเพียงคนเดียวที่ไม่ได้รับอนุญาต” ปล่อยตัวร่วมกับผู้ได้รับการพักโทษชุดที่สองทั้งสิ้น ๓๐ คน ด้วยแล้ว

ทั้งแม่และลูกสองคนของเธอแทบหัวใจสลาย มิพักที่มิตรรัก คนใกล้ชิด และเพื่อนบ้านที่เห็นอกเห็นใจของครอบครัวศศิพิมลจะรู้สึกอย่างไรกับความปวดร้าวของชาวบ้าน จากผลแห่งการเชิดชูสถาบันกษัตริย์ด้วยการหักหาญเหี้ยมเกรียม
 
ทำนองเดียวกับชาวบ้านสกลนครที่ติดคุก เพราะที่ดินทำกินถูกทางการประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ดังที่ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.สารคาม เล่าถึงวิบากกรมของ พ่อสมัย หรือ ตาสำราญ กลางรัก วัย ๗๓ ปี

ที่ถูก จัดระเบียบ ยัดคุกพร้อมกับส่วนหนึ่งของชาวบ้านกว่า ๓๐ คน “บางคนลูกติดคุก แม่ช็อคจนเสียชีวิตและลูกเสียสติ เด็กบางคนต้องออกจากการศึกษาเพื่อมาเป็นกำลังหลักดูแลครอบครัวหลังพ่อแม่ติดคุก” ทั้งที่ไม่รู้มาก่อนว่าจะเป็นความผิด

“มีทั้งลวงชาวบ้านทั้งหมู่บ้านว่าจะให้สิทธิในที่ดินทำกินและให้ยืนแปลง” ดังตาสำราญเล่า “เขาเอาป่าไม้มาแถลงการณ์ว่าไม่จับชาวบ้าน จะไม่เอาโทษชาวบ้าน ขอแค่พื้นที่คืน ให้พวกเรายืนชี้แปลงที่ดิน แต่พอศาลตัดสินออกมากลับตรงกันข้ามเลย”

หนักกว่านั้น “บางกรณีสนธิกำลัง บังคับอพยพ และเผาบ้านเรือน ดังกรณีของปู่คออี้และกะเหรี่ยงที่แก่งกระจาน” นั่นคือ “การที่รัฐก่ออาชญากรรมกับคนจน และคนจนไม่มีโอกาสที่จะร้องขอความเป็นธรรม”


อจ.ไชยณรงค์ โพล่งออกมาอย่างนั้นเพื่อเทียบเคียงกับกรณีครอบครองที่ป่าหลายร้อยไร่ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.คนโปรดของพรรครัฐบาล คสช.๒ ผู้ซึ่งล่าสุดร้องอ้อนห้ามคนก่นด่าในฐานที่ตนมี เพศแม่