วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 08, 2562

'สุเทือก' แถคดีโรงพักเสียหาย ๑,๗๒๘ ล้าน แต่ยังมีคดีแฟล็ตตำรวจอีก ๓,๙๙๔ ล้าน ชี้ผิดเหมือนกัน


ใครจะว่า เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพลหรืออย่างไรก็สุดแท้ แต่คดีที่ ปปช.ชี้มูลความผิดของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามกฎหมายมาตรา ๑๕๗ นั้น เป็นความผิดทางอาญาอย่างแน่นอนในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิด ไม่ใช่ความผิดในฐานะผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ อย่างที่นายสุเทพพยายามจะแก้ตัว

นายสุเทพชี้แจงเรื่องนี้เมื่อ ๗ ส.ค. ที่บริเวณศาลอาญา ถนนรัชดาฯ ว่า “ป.ช.ช.พยายามกล่าวหาว่าตนเองกระทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในที่สุดก็ไม่มีความผิด เพราะว่ามติ ครม.เกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีอยู่จริง”

เขาพยายามแถว่าคำกล่าวหาของ ปปช.เป็นการชี้ว่า การจัดจ้างสร้างอาคารโรงพัก ๓๙๖ แห่งในปี ๒๕๕๒ นั้น ครม.อนุมัติไปอย่างหนึ่ง โดย “แยกเสนอราคาเป็นรายภาค (๑-๙)” แต่กลับเปลี่ยนเป็น “รวมการจัดจ้างก่อสร้างที่ส่วนกลางในครั้งเดียวและเป็นสัญญาเดียวโดยไม่เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา”

สุเทพอ้างว่าการจัดจ้างเป็นเรื่องของอธิบดีหรือรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าของงาน ไม่ใช่คณะรัฐมนตรี และ ครม.ก็อนุมัติโครงการนี้ครั้งเดียวเมื่อ ๑๗ ก.พ.๕๒ การที่ตนถูกชี้ผิดว่า “พอจะเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดซื้อจัดจ้างกลับไม่เสนอขอมติ ครม.นั้นไม่ตรงกับความเป็นจริง”

สุเทพเลยสรุปใหม่ว่า “ทั้งหมดนี้ที่ ป.ป.ช.กล่าวหาผมเอง ไม่เกี่ยวกับการทุจริตเลย เป็นเพียงประเด็นว่า ผมใช้อำนาจหน้าที่ชอบหรือไม่ชอบเท่านั้น” อันนี้แน่นอนว่าสุเทือกแถไปตามข้างคู โดยพยายามผลักความผิดไปให้แก่บรรดาข้าราชการทั้งหมด
 
ในเมื่อการกระทำผิดเกิดขึ้นตามเงื่อนเวลา หลังจากมีการเปลี่ยนตัว ผบ.ตร. จาก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ไปเป็น ปทีป ตันประเสริฐ (รักษาการ) แล้ว ปรากฏลักษณะชัดเจนต่อ ปปช.ว่า ปทีปชง สุเทพอนุมัติ “โดยรู้อยู่แล้วว่าแนวทางที่อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงดังกล่าวการก่อสร้างจะไม่แล้วเสร็จ”

นั่นคือความผิดแท้จริงที่ ปปช.ชี้ สุเทพจะอ้างอีกว่า “การก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จ ไม่ได้เกี่ยวกับการอนุมัติสั่งการของตนเอง เกี่ยวกับการบริหารสัญญาคือ การกำกับควบคุมดูแลการก่อสร้าง” เสียละมากกว่า “และเวลาก่อสร้างมีการขยายสัญญาให้หลายครั้ง โดยผู้บัญชาการตำรวจหลายคน”

ว่าที่จริงโครงการนี้ต่อเนื่องกันหลาย ผบ.ตร. จากพัชรวาทสู่ปทีป แล้วจึงถึง วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เห็นชอบราคา ทั้งนี้นายสุเทพยังเบี่ยงความผิดไปยังผู้ช่วย ผบ.ตร. อ้างถึง พล.ต.ท.พงศพัศ พงศ์เจริญ (ยศขณะนั้น) ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาจัดจ้างโครงการนี้

ว่าเป็นผู้ที่รับข้อเสนอราคาของบริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น ที่ได้สัมปทาน และตกเป็นผู้ต้องหาสร้างไม่เสร็จ จนสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับความเสียหาย ๑,๗๒๘ ล้านบาท ร้องต่อ ปปช.เพื่อให้ได้รับการชดใช้

แต่สำหรับนายสุเทพ การกระทำผิด ม.๑๕๗ ไม่ได้มีเพียงคดีโรงพัก ๓๙๖ แห่ง ยังมีคดีการก่อสร้างแฟล็ตตำรวจอีก ๑๖๓ แห่ง ที่เกิดความเสียหายเป็นมูลค่า ๓,๙๙๔ ล้านบาทด้วย ที่เจ้าตัวไม่ได้เอ่ยถึงในการชี้แจงความบริสุทธิ์ของตนวานนี้

โครงการสร้างแฟล็ตดังกล่าวอยู่ในมูลความผิดอย่างเดียวกันกับโครงการโรงพัก คือรวบสัญญาเป็นจัดจ้างครั้งเดียวให้ส่วนกลางทำ แทนที่จะแบ่งกระจายรายภาค และกระทำในขณะที่จเรตำรวจขณะนั้น พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการ ผบ.ตร.

คดีแฟล็ตนั่นหนักหน่อย เพราะมีการเรียกเงินค่าน้ำร้อนน้ำชาจากผู้รับเหมาจัดสร้าง โดยคณะกรรมการตรวจและควบคุมงานก่อสร้าง (ตำรวจยศนายพันและดาบตำรวจ) เป็นเงินถึง ๙๑,๖๑๘,๐๐๐ บาท เป็นที่ฉงนของ ปปช.อย่างยิ่ง

ว่าตำรวจชั้นผู้น้อยกล้าเรียกเงินใต้โต๊ะจำนวนกว่า ๙๑ ล้านได้อย่างไร เส้นทางเงินไปที่ไหน มีใครตัวใหญ่ๆ อยู่เบื้องหลังหรือไม่ และ ปปช.บอกแล้วว่าจะ ตามติด ต่อไป ส่วนกรณีที่ประชาชีไม่น้อยต่าง ฉงน เหมือนกันว่า ม้าร์ครอดได้อย่างไร ทั้งที่มีชื่อถูกฟ้องเป็นคนแรก (ในฐานะนายกรัฐมนตรี) ทั้งสองคดี

ปปช.ไม่ได้แจงละเอียด เพียงว่า “สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พลตำรวจเอก เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว พลตำรวจโท ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และพลตำรวจโท สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป”

ขออนุญาตเดาเอาว่าน่าจะเป็นเหตุผลเดียวกับที่สุเทพพยายามแก้ตัวขณะนี้ ผมไม่รู้ไม่ชี้เขาส่งเรื่องขึ้นมาก็อนุมัติไปตามสายงานในตำแหน่ง อะไรทำนองนั้น ผมคนดีเสียอย่าง แล้วไม่ได้ไปเหยียบฝ่าเท้าหรือหางใคร น่าจะรอดแบบม้าร์ค

แต่เอ๊ะ หรือว่ามีเผลอกับเค้าเหมือนกัน