วันอาทิตย์, มิถุนายน 16, 2562

บทเรียนจาก “ฮ่องกง” อยากประท้วงในยุคดิจิทัล “ต้องตัดขาดดิจิทัล”



ผู้ประท้วงในฮ่องกงกำลังต่อแถวเข้าคิวซื้อบัตรโดยสารรถไฟใต้ดิน (ขอบคุณภาพจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ Mary Hui)


บทเรียนจาก “ฮ่องกง” อยากประท้วงในยุคดิจิทัล “ต้องตัดขาดดิจิทัล”


By Mrs.OK
June 15, 2019
Brand Buffet


หากการประท้วงของชาวฮ่องกง เมื่อปี 2014 เป็นการประท้วงที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจนเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกและประสบความสำเร็จในแง่การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้คน การประท้วงของชาวฮ่องกงในปี 2019 ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ อาจต้องเป็นการตัดขาดจากดิจิทัลเพื่อความปลอดภัยของตัวเองไปเสียแล้ว

เหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะภาพการประท้วงในวันนี้มีบางสิ่งที่ต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้งาน Social Media ลงอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงหันไปสนทนาผ่านแอปพลิเคชันแชทที่มีการเข้ารหัสเป็นหลัก ขณะที่ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงบางส่วนหันมาใช้ซิมการ์ดแบบพรี-เพด เพื่อลดโอกาสการถูกสาวไปถึงตัวตนที่แท้จริง และยังปิดฟีเจอร์การระบุตำแหน่งที่อยู่บนโทรศัพท์มือถือด้วย

ที่น่าสนใจไปกว่านั่นคือหลายคนหันมาซื้อตั๋วรถไฟใต้ดินแบบใช้ครั้งเดียว แทนการใช้บัตรสมาร์ทการ์ด Octopus ที่ผูกกับข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองในการเดินทางมาร่วมประท้วง ผลก็คือตู้ขายตั๋วรถไฟอัตโนมัติ มีชาวฮ่องกงเข้าคิวยาวเหยียดนับ 10 เมตรเพื่อรอซื้อตั๋วแบบใช้ครั้งเดียว ทั้งที่แต่เดิมมีแต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่มารอต่อคิว แถมราคาค่าตั๋วยังแพงกว่าการจ่ายด้วยบัตร Octopus ด้วย

การใช้ข้อมูลจากบัตร Octopus เพื่อติดตามผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในปี 2010 ตำรวจฮ่องกงมีการใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อติดตามผู้ต้องสงสัยในการก่ออาชญากรรมได้สำเร็จ อีกทั้งทุกวันนี้ บัตร Octopus ยังสามารถเชื่อมโยงกับบัตรเครดิตเพื่อเติมเงินโดยอัตโนมัติเมื่อเงินหมดได้ จึงทำให้การติดตามตัวทำได้ง่ายยิ่งขึ้น หรืออาจเปรียบบัตร Octopus เป็นระบบ GPS ที่สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ และเวลาที่ผู้ใช้ใช้มันได้

ปิดบังใบหน้า ลดโอกาสเสี่ยงถูกติดตามตัว

ส่วนภาพของผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่ปรากฏออกมาตามสื่อยังมีการใส่หน้ากากเพื่อปิดบังใบหน้า ไม่ให้สามารถยืนยันตัวตนได้ และมีการปฏิเสธที่จะเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเองแก่ผู้สื่อข่าว เนื่องจากเกรงว่า ข้อมูลเหล่านี้อาจถูกส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ เรากลัวว่าจะถูกสะกดรอยได้หากเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวออกไป” ผู้ประท้วงหญิงรายหนึ่งกล่าว

สำหรับการประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ ถูกเปรียบว่าเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในฮ่องกง นับตั้งแต่ปี 2014 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านร่างกฎหมายการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ที่เปิดทางให้ฮ่องกงสามารถส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปพิจารณาคดีที่จีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวกมากขึ้น

สถานการณ์ในฮ่องกงขณะนี้จึงเป็นบทพิสูจน์ได้ดีว่าประเด็นเรื่อง Data Privacy และการถูกสอดแนมโดยหน่วยงานภาครัฐนั้นเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ หากอยู่ภายใต้ความไฮเทคที่ชื่อ “Smart Cities”