วันอาทิตย์, มิถุนายน 16, 2562

ชุมนุมยุค 2019 ชาวฮ่องกงป้องกันการสอดแนมออนไลน์ และไม่ทิ้งรอยเท้าดิจิทัลอย่างไร





ชุมนุมยุค 2019 ชาวฮ่องกงป้องกันการสอดแนมออนไลน์ และไม่ทิ้งรอยเท้าดิจิทัลอย่างไร


June 15, 2019
The Momentum


แม้จะใช้เครื่องมือดิจิทัลต่างๆ มากมายในการชุมนุมเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ของชาวฮ่องกงครั้งนี้ แต่ประสบการณ์จาก Occupy Central เมื่อปี 2014 ก็ทำให้ผู้ชุมนุมปรับเปลี่ยนกลวิธีเพื่อปกป้องตัวเองเพิ่มขึ้น ให้ความสำคัญกับการรักษาข้อมูลส่วนตัวในการใช้เครื่องมือดิจิทัลมากขึ้น เพราะเกรงว่าอาจถูกนำมาใช้ดำเนินคดีทางกฎหมายได้ในภายหลัง

เมื่อปี 2014 แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกำลังได้รับความนิยม มีการใช้เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์อย่างกว้างขวาง ครั้งนั้นตำรวจจับกุมชายคนหนึ่ง โดยอ้างว่าเขาโพสต์ข้อความชวนคนมาชุมนุมผ่านเว็บบอร์ด และมีการส่งข้อความที่เป็นมัลแวร์แพร่กระจายไปทั่ววอทซแอป (WhatsApp) ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์แอบดักฟังโดยเจ้าของเครื่องไม่รู้ตัว นักวิจัยกล่าวว่าส่วนใหญ่มาจากรัฐบาลจีน

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เติบโตมาในโลกดิจิทัล และตระหนักดีถึงอันตรายจากการสอดแนมและการทิ้งรอยเท้าดิจิทัล ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจดจำใบหน้าจากจีนแผ่นดินใหญ่และการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ทำให้ผู้ชุมนุมเตรียมหาทางหลบหลีกเทคโนโลยีการสอดส่องประชาชนหลายรูปแบบ

ครั้งนี้ ในวันแรกๆ ของการชุมนุมมีการเผยแพร่คู่มือ คีย์บอร์ด ฟรอนท์ไลน์ องค์กรรณรงค์เสรีภาพเน็ต เผยแพร่แผ่นพับว่าด้วยการปกป้องตัวตนสำหรับผู้ชุมนุม ตั้งแต่แนะนำไม่ให้ใช้ไวไฟสาธารณะ ทิ้งโทรศัพท์ไว้ที่บ้าน หรือแม้แต่ห่อบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง บัตรของธนาคารด้วยแผ่นอะลูมิเนียม เพื่อไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหลได้ จากการใช้สแกนเนอร์จากคลื่นความถี่ RFID

ปกติแล้ว คนฮ่องกงใช้วอทซแอปเป็นช่องทางในการสื่อสารหลัก แต่สำหรับการชุมนุม พวกเขาเปลี่ยนมาใช้แอปที่เข้ารหัสอย่าง เทเลแกรม (Telegram) แทน เพราะเชื่อว่าคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยกว่า และเพราะว่าสามารถสร้างกลุ่มสนทนาได้ใหญ่กว่าด้วย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน เทเลแกรมประกาศว่า แอปเทเลแกรมเป็นเป้าหมายของการจู่โจมทางไซเบอร์ด้วยวิธี DDoS ต้นทางมาจากจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตาม มีการจับกุมแอดมินกลุ่มแชตทางเทเลแกรม ด้วยข้อหาสมคบคิดเพื่อก่อกวนสาธารณะ โดยเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ตำรวจไปที่บ้านควบคุมตัวแอดมินกลุ่มแชตที่มีสมาชิก 20,000 คน เขาถูกกล่าวหาว่าวางแผนบุกอาคารรัฐสภาและปิดถนนตามจุดต่างๆ

ล็อคแมน ซุย อาจารย์ด้านสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยไชนีสยูนิเวอร์ซิดี้แห่ฮ่องกงให้สัมภาษณ์กับ เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ว่า เทเลแกรมไม่ใช่ตัวเลือกที่ปลอดภัยนัก เพราะปกติเทเลแกรมไม่ได้เข้ารหัสข้อความตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางได้เลย แต่ผู้ใช้ต้องตั้งค่าเอง ต่างจากแอปฯ วอทซแอปหรือซิกแนล (Signal) ที่เป็นการเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางโดยอัตโนมัติ

นอกจากการสื่อสาร ผู้ชุมนุมยังปิดตำแหน่งที่อยู่หรือโลเคชั่นบนสมาร์ตโฟน รวมทั้งตั้งค่าความเป็นส่วนตัวต่างๆ ก่อนที่จะเข้าร่วมการชุมนุม และลบข้อความและรูปทางโซเชียลมีเดียและแอปส่งข้อความ หลังจากออกจากพื้นที่ชุมนุมแล้ว

ตามกฎหมายฮ่องกง ประชาชนมีสิทธิในการปฏิเสธไม่เปิดเผยรหัสผ่านของโทรศัพท์ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐสามารถบังคับให้ผู้ถูกควบคุมตัวปลดล็อกโทรศัพท์ด้วยลายนิ้วมือหรือใบหน้าได้ โดยไม่ต้องได้รับการยินยอมโดยสมัครใจ วิธีหนึ่งที่ปลอดภัยคือ การปิดฟีเจอร์ Face ID และ Touch ID ของโทรศัพท์

ไม่เพียงแค่ระวังโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ผู้ชุมนุมยังเปลี่ยนวิธีเดินทางของตัวเองด้วย เพื่อไม่ให้ทิ้งรอยเท้าดิจิทัลให้ระบุตัวตนได้ ในการเดินทางด้วยรถไฟใต้ดิน แทนที่จะใช้บัตร Octopus ที่เป็นบัตรเติมเงินตามปกติ ผู้ชุมนุมก็เปลี่ยนมาใช้บัตรแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งที่ซื้อด้วยเงินสดแทน เพื่อทำให้เดินทางได้โดยไม่สามารถถูกติดตามตัวในภายหลัง โดยยอมทนยืนรอคิวซื้อบัตรนานๆ และมีราคาที่แพงกว่าด้วย

แทนที่จะเปิดเผยใบหน้าของตัวเองหรือถ่ายรูปการชุมนุมลงในโซเชียลมีเดียของตัวเองแบบปี 2014 พวกเขาพยายามไม่ให้ใครเห็นใบหน้า การชุมนุมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ผู้ชุมนุมตะโกนห้ามคนที่อยู่ด้านนอกไม่ให้ถ่ายภาพพวกเขา หรือถ่ายเซลฟี่ ส่วนผู้สื่อข่าวได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพได้เฉพาะคนที่สวมหน้ากากเท่านั้น ขณะเดียวกันก็มีการเฝ้าระวังการถ่ายภาพจากโดรนด้วย

เหตุผลหนึ่งนอกจากเพื่อป้องกันแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และกระสุนยาง จากการสลายการชุมนุม การสวมผ้าปิดปาก แว่นตา ใส่หมวกกันน็อคหรือหมวกแก็ป ก็เป็นเพราะทำให้ระบุตัวตนได้ยาก


ที่มา:

https://www.france24.com/en/20190613-surveillance-savvy-hong-kong-protesters-go-digitally-dark
https://www.scmp.com/news/hong-kong/article/3014255/facebook-and-twitter-telegram-whatsapp-and-signal-how-protest
https://www.nytimes.com/2019/06/13/world/asia/hong-kong-telegram-protests.html