พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐามนตรี ขณะพูดคุยกับญาติของเด็กๆ ที่ยังสูญหายในถ้ำหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2018 (Linh Pham/Getty Images)
ความเข้าใจผิดของ ‘ประยุทธ์’ ข้าวที่ไหนๆ มันก็ไม่มีกลูเตน ไม่ใช่แต่ข้าวไทย
โดย อดิเทพ พันธ์ทอง
ที่มา GM Live
ประเทศไทยถือว่าขึ้นชื่อในเรื่องการเป็นแหล่งอาหาร และก็ยังมีตำรับอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบในหลายประเทศ แต่น่าเสียดายที่คนไทยยังมีความรู้ด้านอาหารค่อนข้างน้อย แม้กระทั่งในกลุ่มคนที่ทำงานด้านอาหารโดยตรงหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐ
“รัฐบาลนี้เข้ามา ข้าวมีแตกต่างจากต่างประเทศอะไรรู้ไหม? กลูเตนมันน้อย สารที่ทำให้แพ้อะ หนมปง หนมปัง ฝรั่งบางทีแพ้กัน ข้าวนี่ไม่แพ้ ข้าวไทยกลูเตนน้อย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับญาติพี่น้องของเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน
ไม่รู้ว่าแรงบันดาลใจของนายกฯ ในการให้ความรู้เรื่องนี้ต่อญาติๆ ของเด็กที่ยังสูญหายคืออะไร ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลของนายกฯ ก็ถือว่าคลาดเคลื่อนกับความเป็นจริง
เพราะใน “ข้าว” ไม่ว่าจะมาจากชาติไหนก็ตามโดยธรรมชาติไม่มีกลูเตนอยู่แล้ว เว้นแต่จะมีการปนเปื้อนระหว่างการบรรจุหรือขนส่ง
ทั้งนี้ กลูเตนเป็นกลุ่มโปรตีนที่พบในธัญพืชจำพวกข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ หรือข้าวไรย์ซึ่งล้วนเป็นธัญพืชที่อยู่ในสกุลเดียวกัน (Secale) ไม่พบใน “ข้าว” ปกติที่ไม่มีชื่อสร้อยอย่างที่เรากินกัน (rice - ซึ่งอยู่ในสกุล Oryza) แล้วก็รวมไปถึงข้าวกล้อง ข้าวแดง ข้าวบัสมาติ หรือแม้กระทั่งข้าวเหนียวซึ่งชื่อในภาษาอังกฤษอาจชวนให้คิดว่าจะมีกลูเตนรึเปล่า? (glutinous rice)
ที่ปรึกษานายกฯ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดจึงควรทำความเข้าใจเรื่องนี้กับผู้นำของตนให้ดี ก่อนที่จะไปเผยแพร่ความรู้ผิดๆ ให้เป็นที่เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่อยู่ในวงการอาหารบางส่วนที่ยังไม่ได้ผ่านการอบรมวิชาชีพอย่างเหมาะสม เมื่อเห็นเป็นคำพูดของนายกฯ ก็อาจหลงเชื่อโดยไม่ได้ไตร่ตรอง
ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ ตัวผมเองซึ่งอยู่ในวงการอาหารมาก่อน เคยเห็นตัวอย่างความเสียหายจากความไม่รู้ของคนในแวดวงเดียวกันมาแล้ว และสาเหตุหนึ่งก็คือการ “มีความมั่นใจผิดๆ” คิดเอาเองว่าในอาหารจานนั้นๆ ไม่มีสิ่งที่จะก่อให้เกิดอาการแพ้กับลูกค้า แต่เมื่อนำไปเสิร์ฟกลับทำให้ลูกค้าเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงจนต้องส่งโรงพยาบาล ส่งผลเสียต่อกิจการนั้นๆ เอง และอาจส่งผลเสียถึงภาพรวมของวงการอาหารไทยได้ หากเหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นซ้ำๆ เพราะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ได้สนใจ (หรือมีส่วนในการสร้างความเข้าใจผิดเสียเอง)