วันศุกร์, กรกฎาคม 06, 2561

ปูนบำเหน็ดตุลาการและองค์กรอิสระ จากที่เป็นไม้เป็นมือช่วยจัดการผู้ที่เห็นต่างและคัดค้านระบอบ คสช. มาตลอดสี่ปี

ไม่ใช่มองโลกแง่ร้ายหรือแง่ดีอย่างใดๆ ในเมื่อ สนช. แขนขาในการสร้างกฎหมายเพื่อให้ประชาชนอยู่ในการครอบงำและกำกับของ คสช. ต่อไปให้นานเท่านาน ผ่านฉิวยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี ๑๗๙ เสียงไม่มีค้าน

นอกจากนั้นยังเตรียมการผ่านรวด ร่างกฎหมายเสริมสร้างความมั่งคั่งแก่รัฐราชการ โดยรับพิจารณาข้อเสนอของคณะรัฐมนตรี คสช. เร่งรัดอนุมัติร่างกฎหมาย ๕ ฉบับ ที่ล้วนแต่เป็นการปูนบำเหน็ด สินน้ำใจ แก่ตุลาการและองค์กรอิสระ

ด้วยการขึ้นเงินเดือน เพิ่มเงินประจำตำแหน่ง และเสริมประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ แก่ข้าราชการทั้งสององค์กร ครั้งนี้เบาะๆ เตรียมวงเงินงบประมาณไว้ทุ่มราว ๔๕๐ ล้านบาท อ้างว่า “เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่สูงขึ้น”


พวกข้าราชการตุลาการเหล่านี้ ได้แก่ศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ระดับประธาน จะได้เงินเดือนละกว่า ๘ หมื่น ๓ พันบาท บวกเงินประจำตำแหน่งอีก ๕ หมื่น ๕ พันบาท รวมแล้วกว่า ๑ แสน ๓ หมื่นต่อเดือน

ส่วนพวกองค์กรอิสระ เช่นกรรมการเลือกตั้ง กรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริต กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น เงินเดือนประธานคนละเกือบ ๘ หมื่น ๒ พันบาท แถมเงินประจำตำแหน่งอีกคนละ ๕ หมื่นบาท เช่นเดียวกับอัยการสูงสุด


จะว่านี่เป็นผลจากการที่องค์กรเหล่านี้ยืนหยัดเคียงข้างกับคณะรัฐประหารมาตลอดกว่าสี่ปี ก็ไม่ผิดที่พวกนี้เป็นไม้เป็นมือช่วยจัดการผู้ที่เห็นต่างและคัดค้านระบอบ คสช. ดังตัวอย่างล่าสุดนี่ ศาลแขวงเชียงใหม่รับฟ้องคดีที่ทหารฟ้องร้องกลุ่ม ๕ ผู้ต้องหา

ว่าฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘ ข้อ ๑๒ จากการติดป้ายข้อความ เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร ด้วยข้ออ้างง่ายๆ “มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป” แม้นว่าโดยธรรมชาติของการแสดงความเห็นเช่นนั้น เป็นเพียงการใช้สิทธิพลเมืองธรรมดา


แต่กับกรณีที่ส่อถึงการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างที่ลูกชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกลาโหม น้องชายนายกฯ ตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง สำนักงานอยู่ในค่ายทหารที่พ่อเคยเป็นผู้บัญชาการ ในลักษณะเป็นนายหน้าจับเสือมือเปล่า กินหัวคิว
มีเสียงร้องให้ตรวจสอบติดต่อกันมาอย่างน้อยสองปี กลับเงียบกริบ แต่กิจการขยับไปเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง ดังที่สมาชิกทวิตเตอร์ ‘VoteNoจ้า @iamasiam14ออกมาปูดอีก “หจก.ลูกชายปรีชา จันทร์โอชาได้งานรัฐแล้วไปจ้างช่วงงานทั้งโครงการต่อ กินเปล่าไปโครงการละเกือบ ๒๐-๔๐ ล้าน...ได้เหรอ”

ได้ไม่ได้ก็กินไปแล้ว “ร้อยเอ็ด งบ ๖๔ ล้าน จ้างช่วง ๔๖ ล้าน ตาก งบ ๗๓ ล้าน จ้างช่วง ๔๖ ล้าน” ส่วนต่างสองรายการนี้ประมาณ ๔๕ ล้าน เป็นกำไรหัวคิว อย่างนี้เรียกได้ไหมว่าโปร่งใส

กรณีเช่นนั้นอาจเล็ดรอดไปได้น้ำขุ่นๆ เพราะทหารอ้างว่าตั้งกรรมการทำการตรวจแล้ว ไม่พบว่ามีการละเมิดหรือทำผิดแต่อย่างใด แต่กับที่เป็นคดีโจ่งแจ้งก็ยังหลีกเลี่ยงไปอย่าง ด้านๆดังเช่นคดีของจิตภัสร์ กฤดากร ที่เป็นผู้ต้องหาความผิดหลายกระทง

“เช่น ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕, ๓๖๒ ตามลำดับ และความผิดขัดขวางการเลือกตั้ง”

สาว ตั๊น และพวกใช้ชั้นเชิงที่อัยการทำเฉย ด้วยการเตะถ่วงเวลาไปรับคำฟ้อง อ้างว่ายังรอรับเงินช่วยเหลือในการสู้คดีจากกองทุนยุติธรรมอยู่ ทั้งที่คนเกือบทั่วประเทศรับรู้ว่าหนูตั๊นเป็นลูกเศรษฐี ภิรมย์ภักดีที่ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา ท่องเที่ยวต่างประเทศ เล่นสกี ขี่ม้า ดื่มกินอาหารร้านหรู หลายต่อหลายหน
 
จนทนายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) ต้องออกมาร้องฟ้องสังคมว่า “หากอัยการผู้รับผิดชอบไม่ได้ตัวน.ส.จิตภัสร์ กับพวกอีกหลายคนมาฟ้องต่อศาลอาญาในเร็วนี้

คดีในฐานความผิดเหล่านี้เป็นอันขาดอายุความลง ซึ่งอาจเทียบเคียงกับคดีบอส ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ไม่สามารถนำตัวมาฟ้องจนคดีขาดอายุความไปบางข้อหา”


เหล่านี้นี่ละคือผลลัพท์ของการที่บ้านเมืองถูกครอบครองและครอบงำโดย ทหาร ตุลาการ และชนชั้นหัวสูง ที่บางคนทำชั่วร้ายได้โดยไม่ผิด แต่หลายๆ คนเพียงปกป้องสิทธิของตนเองกลับกลายเป็นความผิด