ส่วนหนึ่งของรายงาน
ผาสุก พงษ์ไพจิตร : 'ทุนพันลึก' บทวิเคราะห์ประชารัฐผลพวงจากความสัมพันธ์ 'รัฐ-ทุน'
โดย ทัศมา ประทุมวัน
ประชาไท
ประชารัฐมีรูปธรรมอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือเรื่องคณะกรรมการขับเคลื่อนประเทศ 12 ชุด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การเชิญนักธุกิจใหญ่ให้มาร่วมในคณะทำงานระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน ในคณะทำงานทั้ง 12 ชุด หัวหน้าจะเป็นการประกบคู่กันระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงและ CEO ของกลุ่มบริษัทใหญ่ เช่น ประชารัฐสามัคคีทั่วประเทศเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจับคู่กับผู้อำนวยการใหญ่บริษัทไทยเบฟฯ จึงเกิดสถานการณ์ที่นักธุรกิจขนาดใหญ่สามารถทำงานใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจการเมืองสูงสุดในประเทศได้ในกรอบโครงของคณะทำงานนี้
สำหรับรูปธรรมในเรื่องอื่นๆ เช่น การยกเลิกระบบข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์ 70:30 ชาวไร่อ้อยและโรงงานโดยฝ่ายชาวไร่แทบจะไม่มีส่วนร่วม เรื่องนี้จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากและยังไม่มีสื่อลงไปทำอย่างลึกซึ้ง มีเพียงบทความของ อ.วีรพงษ์ รามากูร ในมติชนรายวัน ซึ่งผลพวงของประชารัฐที่ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงจีน – ไทย โครงการนี้ก็มีการถกเถียงกันมากว่าคุ้มทุนหรือไม่แต่ก็ยังดำเนินการสร้างต่อ
การตั้งบริษัทประชารัฐ รัฐสามัคคีประเทศไทย จำกัดเป็น Holding company และก็ยังมีการจัดตั้งบริษัทลูกในอีก 77 จังหวัด บริษัทเหล่านี้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการในท้องถิ่น ในการส่งเสริมอาชีพผ่านกลุ่มงานเกษตรแปรรูปและการท่องเที่ยว ตามนโยบายการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้ามาร่วมทุนกับโครงการนี้ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี มีบริษัทชั้นนำบางแห่งที่พร้อมจะเข้าไปลงทุน 99.99% แล้วในกลุ่มอื่นๆ ก็ลงทุนระดับที่น้อยลงมา บริษัทประชารัฐส่วนใหญ่ทำในเรื่องการส่งเสริมเกษตร ส่งเสริมคนท้องถิ่นต่างๆ ให้มีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ที่เชียงใหม่ประชารัฐพยายามส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไผ่แทนข้าวโพด
เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทประชารัฐรัฐสามัคคี Holding โดยบริษัท ไทยเบฟฯ ที่มีหุ้น 99.9% พึ่งจะลงนามความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนการผลิตผ้าขาวม้าไปขายทั่วโลก และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก กิจกรรมสอนเลี้ยงผึ้ง โครงการเกษตรปราดเปรื่อง โครงการเกษตรแปลงใหญ่ โครงการบริษัทผู้ผลิต (Producer Company) สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนวิสัยทัศน์ของกลุ่มคนที่จัดตั้งหรือเสนอแนวคิดประชารัฐ คือการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนใหญ่เป็นระบบขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งทุนใหญ่ในไทยและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นรูปธรรมของประชารัฐในด้านนโยบายเศรษฐกิจอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องของ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะมีการชักชวนนักธุรกิจใหญ่ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุน มีคนเสนอว่าประชารัฐในด้านเศรษฐกิจ มีโครงการที่มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนค่อนข้างมาก เลยชูประเด็นเรื่องการดึงเอาตัวนักธุรกิจเข้ามาร่วมวงหรือร่วมมือในการสร้างนโยบายเศรษฐกิจโดยตรงไม่ใช่เป็นตัวแทนผ่านสมาคมหรือองค์กรของนักธุรกิจ นอกจากนั้นประชารัฐยังมีการใช้ ม.44 ในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่โดยไม่มีการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หรือผลกระทบทางสังคม
ประชารัฐกับประเด็นความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการ
ประเด็นที่ 4 ประชารัฐกับประเด็นความเหลื่อมล้ำ สวัสดิการ สืบเนื่องมาจากนิตยสารฟอร์บส์ได้จัดอันดับ 50 เศรษฐีไทยในปี 2561 มูลค่ารวมของเศรษฐีไทย 50 รายพุ่งสูงกว่า 5 ล้านๆ บาท เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 ในครึ่งปี หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2557 พบว่ากลุ่มเศรษฐีไทย top 4 มูลค่าของทรัพย์สินรวมกันเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวตั้งแต่ปี 2557 จะเป็นพวกกลุ่มค้าปลีก, แปรรูป, กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง, กลุ่มสุราและอสังหาริมทรัพย์ หากเราวิเคราะห์ประกอบกับนโยบายเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มันก็มีความเกี่ยวโยงกันกับนโยบายในเรื่องการลดภาษีเงินได้ขั้นสูงทั้งนิติบุคคลและรายบุคคลธรรมดา หรือนโยบายช้อปช่วยชาติ และการมีเครือข่ายใกล้ชิดกับระบบรัฐบาลกับคนสำคัญก็เป็นเรื่องของการเปิดช่องที่จะเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงสิทธิประโยชน์หรือการส่งแรงดันต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ในบางทีเราอาจจะมองไม่เห็นแต่มันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นซึ่งให้ประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องได้
จะเห็นตัวเลขดัชนีแสดงความเหลื่อมล้ำในสังคมมันมีแนวโน้มลดลงหลังเศรษฐกิจวิกฤต 2540 แต่หลังๆ เริ่มเพิ่มขึ้นซึ่งเรื่องนี้มันก็สะท้อนถึงกลุ่มคนจำนวนน้อยที่อยู่บนพีระมิดสังคมมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันมีนโยบายที่ทำให้คนตัวเล็กเสียเปรียบ บางทีจนถึงขนาดขาดแหล่งทำมาหากินเช่น นโยบายการจัดระเบียบแผงลอย ทางเท้าไม่ให้คนขายของแต่ไม่ได้จัดหาที่ให้คนเหล่านี้ขายของเพื่อเป็นการทดแทน ขณะที่ Thailand 4.0 ยังไม่ก้าวไปไหน ที่สิงคโปร์ก็มีการจัดระเบียบแผงลอยทางเท้าเช่นเดียวกันแต่เขาได้มีการจัดที่ให้คนเหล่านี้ได้ไปขายของซึ่งก็ตั้งอยู่ในเขตชุมชนด้วย ในกรณีของประเทศไทยที่ยกเลิกเพราะให้เกิดความเรียบร้อยเพื่อให้กรุงเทพฯ มีความศิวิไลซ์เหมือนกับปารีสหรือลอนดอนไม่มีหาบเร่ไม่มีแผงลอย แต่ตรงนี้มันทำให้คนขาดการทำมาหากินจำนวนมากบางคนต้องกลับบ้าน บางคนต้องพยายามไปแอบที่ซอยต่างๆเพื่อขายของ
การยกเลิกข้อตกลงระบบแบ่งผลประโยชน์ต่อชาวไร่อ้อยและโรงงาน 70:30 ที่เคยมีมาเป็นเวลานานและก็ได้ผลดีแต่ก็ถูกยกเลิกไป การยกเลิกระบบนี้คือโรงงานก็จะได้ประโยชน์จากการบีบอ้อยเอาไปทำขนมเอาไปทำอย่างอื่นได้โดยไม่ต้องแบ่งกับชาวไร่อ้อย มีข้อถกเถียงว่าการยกเลิกข้อตกลงอะไรแบบนี้ มันน่าจะต้องพูดคุยกันระหว่างสองฝั่งมากกว่าที่จะใช้ม.44 นโยบายที่กล่าวมานั้นถือได้ว่าทำให้ประชาชนทั่วไปเสียเปรียบเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่และร้านสะดวกซื้อ เราจึงพบว่าเศรษฐีไทยเข้าสู่ศูนย์กลางอำนาจในการกำหนดนโยบาย มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โอกาสที่คนธรรมดามีสิทธิสู้แรงกดดันต่อนโยบายกลับลดลง จึงไม่แปลกใจที่ความเหลื่อมล้ำมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่ยังไม่พูดถึงประชารัฐที่เป็นรูปธรรมอีกอันหนึ่งแต่ยังไม่เกิดขึ้นก็คือ การคุกคามที่จะยกเลิกระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือว่ายังอยู่ในช่วงที่พยายามจะยกเลิกแต่ยังไม่ยกเลิกและก็ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะยกเลิกค่อนข้างสูง
ผาสุก สรุปว่า ประชารัฐเป็นความพยายามที่จะทดแทนประชานิยมสมัยพรรคเพื่อไทยและพรรคพวก แล้วก็พยายามที่จะดึงมวลชนออกจากความยึดแน่นความเชื่อถือในระบบรัฐสภาประชาธิปไตยมาสู่ความเชื่อถือในระบบการกุศลจากภาครัฐอาจจะเป็นในรูปของบัตรคนจนหรืออะไรก็ตาม โดยที่ประชาชนไม่ได้มาด้วยการมีสิทธิ์จากการออกเสียงเลือกตั้ง แล้วเรียกร้องให้พรรคที่ตนสนับสนุนอยู่เป็นผู้ดำเนินนโยบาย มีลักษณะเป็นเหมือนการกุศลประชาชนไม่ต้องเรียกร้องแค่รออยากได้อะไรห้ามพูดห้ามบอก รอให้ภาคราชการ ภาครัฐบาลหาให้หรืออยากที่จะจัดให้ อันนี้ก็เป็นความแตกต่างในเรื่องของวิธีคิดเกี่ยวกับการปกครองเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
คสช.ใช้คำว่าประชารัฐมาเพื่อทดแทนประชานิยมเป็นวาทกรรมปฏิเสธทักษิณและกลุ่ม ในทางปฏิบัติเน้นไปที่หน้าที่ เน้นบทบาทของข้าราชการจะพูดถึงว่ามีส่วนร่วมในการพัฒนาแต่เอาเข้าจริงในการปฏิบัติคือห้ามออกความคิดเห็น ห้ามประชุมกันเกิน 5 คน ยกเลิกการเลือกตั้ง อปท.ปฏิเสธหลักการที่ว่าสวัสดิการเป็นของประชาชนซึ่งจะเรียกร้องจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้ คสช.สวัสดิการเป็นเหมือนการกุศล ประชารัฐมีวิสัยทัศน์อยากจะให้นักธุรกิจใหญ่นำประเทศเป็นประเทศพัฒนาจนสามารถเป็นสมาชิกของ OECD ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ได้ตั้งความหวังไว้ตอนรัฐประหารเมื่อปี 2557 ว่าอยากจะเข้าไปอยู่ในสมาชิก OECD ในเวลา 20 ปีซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนับสนุนเพราะเอาเข้าจริงเรื่องนี้ OECD จะให้เข้าไปอยู่ได้ก็ต่อเมื่อระบบรัฐบาลมีความโปร่งใสและแก้ปัญหาคอรัปชั่น ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ก็เข้า OECD ไม่ได้ เราจึงควรจะสนับสนุนวิสัยทัศน์นี้
อ่านรายงานเต็มได้ที่...
https://prachatai.com/journal/2018/06/77470