วันอังคาร, กรกฎาคม 10, 2561
พลังประชารัฐ ไม่ง่ายชนะเลือกตั้ง การเลือกตั้งกำลังจะก้าวไปถึงจุดที่จะต้องเลือกว่า เอาการสืบทอดอำนาจหรือไม่ + “แผลใหญ่” ผลงานการบริหารราชการ 4 ปีที่ผ่านมาล้มเหลวเรื่องปัญหาปากท้อง และปัญหาเศรษฐกิจ
พลังประชารัฐ ไม่ง่ายชนะเลือกตั้ง
09 ก.ค. 2561
ไทยโพสต์
การเปิดตัวของ "พรรคพลังประชารัฐ" ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อสัญญาณทุกอย่างสอดรับกับภารกิจการสนับสนุน "พล.อ.ประยุทธ์"กลับมาเป็นนายกฯต่อ
***********************
โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
การเปิดตัวของ “พรรคพลังประชารัฐ” ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เมื่อสัญญาณทุกอย่างสอดรับไปกับภารกิจการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย เพื่อสานต่อภารกิจปฏิรูปให้สำเร็จลุล่วงหลังจากได้เริ่มต้นวางรากฐานไว้แล้ว
ด้วยจุดเด่นและข้อได้เปรียบต่างๆ ทำให้พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นที่จับตาเป็นพิเศษ จนถึงขั้นมีหลายพรรคการเมืองออกมาดักคอเรียกร้องอย่าให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น
เริ่มตั้งแต่อำนาจรัฐของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ควบคุมกลไกการทำงานระบบราชการมากว่า 4 ปี ผ่านการแต่งตั้งโยกย้ายมาหลายรอบ ยังไม่รวมกับการจัดทำงบประมาณประจำปี กลางปี ที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านหลายโครงการตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา
ยังไม่รวมกับการจัดประชุม ครม.สัญจร และการลงพื้นที่ตามหัวเมืองต่างๆ พร้อมการจัดโครงการช่วยเหลือและงบประมาณก้อนใหญ่ในช่วงระยะหลังที่ถูกมองว่าเป็นความตั้งใจจะกู้คะแนนนิยมให้กลับคืนมาหลังค่อยๆ ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ คสช.ที่จะมีต่อเนื่องไปจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้รัฐบาล คสช.อยู่ในสถานะได้เปรียบทางการเมือง ที่จะกำหนดกฎกติกาต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดประโยชน์ หรือเสียประโยชน์กับใครก็ได้
ไล่มาตั้งแต่คำสั่ง คสช.เดิมที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประชุม จัดกิจกรรม หรือเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเป็นอิสระ จนอาจกระทบไปถึงการเตรียมตัวทั้งเรื่องนโยบาย ผู้สมัคร ที่ครั้งนี้จะต้องมีการทำไพรมารีโหวตเป็นครั้งแรก อันอาจไม่ทันการณ์หลังพรรคการเมืองถูกแช่แข็งมายาวนานกว่า 4 ปี
ความได้เปรียบเหล่านี้ยังนำไปสู่การเลือกข้างสนับสนุนล่วงหน้าของบรรดากลุ่มทุนที่เคยเททรัพยากรลงไปสนับสนุนอดีตพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ในรอบนี้เมื่อเห็นทิศทางลมและความได้เปรียบที่เกิดขึ้นย่อมจะทำให้แรงสนับสนุนไปยังพรรคอื่นๆ ลดน้อยลงไปจากที่ผ่านมา
ที่สำคัญหากจะยืนยันเดินหน้าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย พรรคพลังประชารัฐ จำเป็นจะต้องตั้งเป้าชนะเลือกตั้งหรือได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยจนอาจจะกลายเป็นปัญหาเรื่องเสถียรภาพในการบริหารงานในอนาคต
รวมทั้งผลในแง่ของความสง่างาม เพราะแม้จะมี 250 เสียง จาก สว.เฉพาะกาล เป็นตัวช่วย แต่หากได้เสียงน้อยกว่าพรรคอื่นๆ ย่อมเป็นปัญหาในแง่ความเชื่อมั่นที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
ทว่าในทางปฏิบัติโอกาสชนะเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐอาจไม่ได้มีมากอย่างที่ตั้งเป้าไว้
ด้วยกลไกการเลือกตั้งระบบใหม่ที่แม้ทุกคะแนนจะมีความหมายไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในระบบเขต แต่จุดนี้ทั้งพรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กย่อมได้อานิสงส์ตรงนี้ทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่พรรคพลังประชารัฐที่หวังจะชิงความได้เปรียบตรงนี้
ปัญหาอยู่ที่เวลานี้ฐานเสียงอันเหนียวแน่นของทั้งพรรคเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่พลังประชารัฐต้องหาทางเจาะให้ได้หากหวังจะชนะเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย
การใช้สูตร “ดูด” ที่เคยได้ผลในอดีต มารอบนี้ก็ใช่ว่าจะเห็นผลชัดเจน เมื่อกระแสข่าวการโยกย้ายพรรคช่วงที่ผ่านมายังเป็นเพียงแค่กลุ่มเล็กๆ ที่บางคนมีปัญหาทับซ้อนในพื้นที่ บางคนมีปัญหาส่วนตัว บางคนมีปัญหาเรื่องคดี
การติดประสานดึงอดีต สส.จากพรรคเพื่อไทย ผ่านกลุ่ม “สามมิตร” ที่กำลังเร่งเครื่องอยากหนักเวลานี้ยังทำได้เพียงแค่การประสานงานที่ยังไม่อาจปิดดีลจนมีความชัดเจนได้
ขณะที่กลุ่มเกรดเอซึ่งอยู่ระหว่างการติดต่อทาบทามก็ยังไม่ได้เปิดหน้าหรือแสดงความชัดเจนว่าจะมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐแน่นอนหรือไม่ ยังต้องติดตามกันในช่วงใกล้เดดไลน์สุดท้าย ทำให้หากประเมินตัวว่าที่ผู้สมัคร ณ นาทีนี้ พลังประชารัฐก็ยังยากจะกวาดที่นั่งได้ถล่มทลาย
อีกทั้งในแง่นโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งเคยเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ขาดในการเลือกตั้งที่ผ่านๆมารอบนี้อาจไม่ได้มีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ขาดคนแพ้คนชนะได้อีกต่อไป
ทั้งในแง่ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญที่ควบคุมนโยบายที่เข้าข่ายประชานิยม หลายนโยบายต้องกำหนดความเป็นไปได้ที่มาของรายได้ หลายนโยบายที่ไม่สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และรายละเอียดยิบย่อยทำให้การจัดทำนโยบายครั้งนี้มีข้อจำกัดที่หลายพรรคไม่อาจเสี่ยงสร้างความหวือหวา
ในแง่พลังประชารัฐแม้จะได้มือดีด้านมาร์เก็ตติ้งอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแล้ว แต่หากประเมินทิศทางแล้ว รูปแบบ ทิศทาง นโยบาย ระหว่างพลังประชารัฐ และ เพื่อไทย ซึ่งมีฐานที่มาคล้ายๆ กันย่อมมีนโยบายที่ไม่แตกต่างกันมากจนจะนำไปสู่การชี้ขาดผลเลือกตั้งได้
รวมทั้งปัจจุบันการเลือกตั้งกำลังจะก้าวไปถึงจุดที่จะต้องเลือกว่าเอาการสืบทอดอำนาจหรือไม่สืบทอดอำนาจด้วยแล้ว “แผลใหญ่” ที่เกิดขึ้นย่อมเป็นประเด็นให้พลังประชารัฐถูกคู่แข่งนำไปโจมตีระหว่างการเปิดให้มีการหาเสียงอย่างอิสระ ซ้ำเติมด้วยผลงานการบริหารราชการ 4 ปีที่ผ่านมาซึ่งยังล้มเหลวเรื่องปัญหาปากท้อง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระดับฐานราก
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมสะท้อนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพลังประชารัฐที่จะชนะเลือกตั้ง