กรณีสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์ที่เคลื่อนที่ได้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 1303 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินตกอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด บุคคลนั้นมีสิทธิยิ่งกว่าบุคคลอื่นๆ” ดังนั้น กรณีนาฬิกากว่า 20 เรือนที่พลเอกประวิตรเป็นผู้ครอบครองจึงต้องถือว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของพลเอกประวิตร การอ้างว่านาฬิกาดังกล่าวมิได้เป็นของตน พลเอกประวิตรมีหน้าที่ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ตามข้ออ้าง แต่ไม่ใช่หน้าที่ของ ป.ป.ช. ที่จะต้องไปช่วยแสวงหาหลักฐานให้
สิ่งที่ ป.ป.ช. ควรทำคือตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน สั่งให้บุคคลที่พลเอกประวิตรอ้างว่าเป็นเจ้าของนำพยานหลักฐานมายืนยัน หากบุคคลดังกล่าวไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ได้ ก็จะต้องถือว่าเป็นนาฬิกาของพลเอกประวิตรที่ได้มาโดยไม่มีเหตุอันสมควร ป.ป.ช. จะต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญากับพลเอกประวิตรและยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งให้นาฬิกาทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดินต่อไป อันเป็นหลักเกณฑ์ที่เคยใช้กับการยึดรถโฟล์คตู้ของอดีตปลัดคมนาคมที่อ้างว่าเป็นรถที่ยืมบุคคลอื่นมาใช้โดยรถคันดังกล่าวจดทะเบียนในนามบุคคลอื่นเช่นกัน
ดังนั้น การที่คณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานให้ที่ประชุม ป.ป.ช. รับทราบความคืบหน้าการแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวว่า ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยไม่ยอมให้ข้อมูลทำให้ ป.ป.ช. ไม่สามารถตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องดังกล่าวได้ ขอให้ที่ประชุม ป.ป.ช. ทำหนังสือไปยังบริษัทผู้ผลิตที่อยู่ต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลมาพิสูจน์ว่าใครเป็นผู้ซื้อนาฬิกาตัวจริง นั้น คือการที่ ป.ป.ช. กำลังช่วยเหลือพลเอกประวิตรโดยผลักภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงมาเป็นของ ป.ป.ช. ทั้งที่ภาระการพิสูจน์ต้องเป็นของพลเอกประวิตร ท้ายสุดเรื่องนี้จะจบลงโดย ป.ป.ช. จะเป็นผู้ฟอกขาวให้กับพลเอกประวิตร โดยอ้างว่าผู้ผลิตต่างประเทศไม่ยอมส่งข้อมูลให้จึงไม่มีพยานหลักฐาน ข้อกล่าวหาแหวนแม่ นาฬิกาเพื่อนจึงเป็นอันตกไป เอวังประเทศไทยครับ
วัฒนา เมืองสุข
15 กรกฎาคม 2561
(Photo credit: FB page CSI LA)
Watana Muangsook