วันศุกร์, เมษายน 13, 2561

เรียนรู้ความเหมือนจากประวัติศาสตร์ ... หรือว่า พระเพทราชาจะเป็นใครสักคนในยุคนี้ ใช้ Time Machine กลับไปทำรัฐประหารในครั้งกระโน้น 555





บุพเพสันนิวาสตอนสุดท้าย ตอนศึกชิงบัลลังก์ มีประเด็นน่าสนใจมากขอรับ

ในละครได้แสดงให้เราเห็นถึงความร่วมมือกันของพระเพทราชา (และหลวงสรศักดิ์) กับขุนนางและพระสงฆ์ ตามที่มีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

แต่สิ่งที่ละครกล่าวถึงน้อยมาก แม้จะมีการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกัน คือ การลุกฮือของประชาชนและพระสงฆ์ และไม่ใช่ลุกฮือธรรมดา แต่ลุกฮือแบบถืออาวุธเสียด้วย

บาทหลวงชาวฝรั่งเศสบันทึกไว้ชัดเจนมากว่า “ทั้งอยุธยาและละโว้เต็มไปปด้วยประชาชนที่ถืออาวุธเข้ายึดเมือง”

จนมีคำกล่าวว่า การรัฐประหารของพระเพทราชาเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากๆๆ ในสมัยอยุธยา นั่นคือ การชิงบัลลังก์โดยมีฐานมวลชนสนับสนุน

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากๆๆ ที่ละครไม่ได้กล่าวถึงหน้าประวัติศาสตร์นี้เลย

เหตุที่พระเพทราชาสามารถปลุกกระแสประชาชนได้มาจากความไม่สบายใจของประชาชนและพระสงฆ์ ที่ออกญาวิชาเยนทร์มีการสึกพระสงฆ์ไปเกณฑ์แรงงานสร้างป้อมปราการ และความกังวลใจที่พระปีย์ (ที่อาจจะขึ้นเป็นขุนหลวงองค์ถัดไป) จะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์

และเครื่องมือสำคัญในการสร้างกระแสในยุคนั้นก็คือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรึอยุธยา”

เพลงพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาเป็นกลอนยาวที่พยายามจะสื่อสารว่า ขุนหลวงนารายณ์ไม่มีทศพิศราชธรรม และจะนำพาความวิบัติมาสู่กรุงศรีอยุธยา ดังเช่นกลอนท่อนหนึ่งที่กล่าวว่า

“คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพต อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน
มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาล เกิดนิมิตพิศดารทุกบ้านเมือง
พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง
ผีป่าก็จะวิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปอยู่ไพร”

ปรากฎว่า เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยากลายเป็นกลอนไวรอลแห่งยุคนั้นเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประชาชนจะเป็นฐานกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น แต่ภายหลังการได้อำนาจของพระเพทราชา ทุกอย่างสำหรับประชาชนก็ยังเป็นเหมือนเดิม เหมือนกับที่อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้สรุปในหนังสือการเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์ ว่า

พระเพทราชาอาจใช้ประชาชนช่วยเปิดประตูวัง และก้าวสู่บัลลังก์ แต่เมื่อได้นั่งบัลลังก์แล้ว ประตูวังก็ปิดลงเหมือนเดิม และกั้นพระองค์ออกจากประชาชนเฉกเช่นที่เป็นมา

หมายเหตุ

เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งใน 325 ปีถัดมา (พ.ศ.2557) ที่มีการระดมผู้คนปิดล้อมกรุงเทพฯ ด้วยคำอธิบายในท่อนฮุคว่า “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” จนในที่สุดก็มีขุนทหารกลุ่มหนึ่งฉวยโอกาสนั้นเข้ายึดอำนาจ และเมื่อยึดอำนาจได้แล้ว ประตูการปฏิรูปที่คยวาดหวังกันไว้ก็ปิดลงตามเดิม พร้อมๆ กับประตูการเลือกตั้งที่ถูกปิดลงด้วย

นี่เราไม่เคยเรียนรู้ประวัติศาสตร์

หรือว่า พระเพทราชาจะเป็นใครสักคนในยุคนี้ที่ย้อนยุค (พร้อมๆ กับเกศสุรางค์ที่ไปใช้ร่างแม่การะเกด) เพื่อกลับไปทำรัฐประหารในครั้งกระโน้น 5555


Decharut Sukkumnoed