เชียงใหม่วันนี้ไม่เพียงแค่อากาศเสียที่เป็นปัญหาต่อชาวเมือง
จนทำให้เกิดการรณรงค์สร้างการตื่นรู้ต่อต้านหมอกควันเป็นพิษ
แต่ต้องถูกทางการจังหวัดสกัดด้วยอำนาจตุลาการ แจ้งความฟ้องร้องในข้อหาหนัก
ยังมีการรุกล้ำพื้นที่ป่าต้นน้ำธรรมชาติ
ที่หน่วยงานตุลาการนั่นแหละเป็นผู้ละเมิดเสียเอง แต่ก็ดันทุรังใช้ข้อกฎหมายอ้างว่าทำได้
ทั้งที่ประเด็นของปัญหาไม่ใช่เรื่องการทำถูกต้องระเบียบกฎหมายหรือไม่
หากอยู่ที่ประเด็นภูมิศาสตร์ที่เห็นกันโทนโท่ว่า โครงการก่อสร้างหมู่บ้านพักของผู้พิพากษาทะลวงล้ำเข้าไปในป่าสงวนลึกมากทีเดียว จนชาวบ้านตั้งฉายาโครงการนี้ว่า ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’
การรณรงค์ “ขอให้ศาลอุทธรณ์ ภาค ๕
คืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ๑๔๗ ไร่ ๓ งาน ๔๑ ตร.ว.” ทาง change.org
ที่เริ่มต้นโดย ดร.ทนง ทองภูเบศร์ ขณะนี้มีผู้ร่วมลงนามแล้วกว่า ๓ หมื่น ๔ พันราย ซึ่งเห็นด้วยกับเหตุและผลดังระบุไว้ต่อไปนี้
“ความเป็น ‘ป่า’ ใช่ว่าจะใช้อำนาจหรือกฎหมายของมนุษย์ไปกำหนด ความเป็นป่าโดยชีวภาพ กายภาพ และภูมิสังคม มนุษย์สามารถมองออก
‘กฎหมาย’ ไม่ใช่สิ่งที่จะบอกว่าเป็นป่าหรือไม่ไปได้ตลอดกาล
พื้นที่ป่ามิได้มีอยู่ในเขตอุทยานฯ เท่านั้น การอ้างกฏหมายเพื่อใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติอย่างไม่สมประโยชน์
จึงไม่สมควรอย่างยิ่ง” ด้วยเหตุผล ดังนี้
๑.
ยังมีที่ดินอื่นอีกมากที่จะใช้ทำเป็น ‘บ้านพัก’ ให้กับข้าราชการ
โดยไม่ต้องขึ้นไปแผ้วถางพื้นที่เชิงดอยสุเทพ ไม่เป็นการเบียดเบียนพื้นที่ป่าธรรมชาติและระบบนิเวศน์ภูเขา
จึงควรไปใช้พื้นที่อื่นเพื่อโลก เพื่อระบบนิเวศน์ภูเขา เพื่อประเทศ เพื่อประชาชน และ (สำคัญยิ่ง) เพื่อธำรงไว้ซึ่งศรัทธาต่อสถาบันตุลาการ
๒.
ไม่ว่าโครงการก่อสร้างจะถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
แต่เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่คุ้มค่า กับคุณค่าแท้ของพื้นที่ป่าธรรมชาติและระบบนิเวศน์ภูเขา
๓.
การรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ป่าธรรมชาติและระบบนิเวศน์ภูเขา จะทำให้สูญเสียทัศนียภาพที่งดงามของดอยสุเทพและเมืองเชียงใหม่
ซึ่งเป็นมรดกที่ล้ำค่าทางธรรมชาติและวัฒนธรรม
ทั้งยังทำให้สูญเสียป่าที่เป็นปอดของคนเชียงใหม่
๔.
เมื่อรัฐยังมีกลไกเข้าใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติได้ตามอำเภอใจ และก็อ้างว่าทำถูกกฎหมายแล้ว
เป็นเรื่องที่อันตราย เพราะ ‘ไม่สามารถไว้วางใจ’ ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกับโครงการนี้อีก
ต้องมาทบทวนกลไกการเข้าใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติ
และสำหรับโครงการนี้ควรต้องยุติโครงการไว้ก่อนเพื่อมาทบทวนสิ่งที่รัฐได้ทำลงไป
และร่วมกับภาคประชาชนว่าจะแก้ไขกลไก และโครงการก่อสร้างอย่างไรต่อไป”
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ‘หมู่บ้านป่าแหว่ง’ ดังนี้ :