วันพุธ, เมษายน 11, 2561

สรุป 5 คดีกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" กรุงเทพ-เชียงใหม่-พัทยา รวมผู้ต้องหากว่า 100 คน





สรุป 5 คดีกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" กรุงเทพ-เชียงใหม่-พัทยา รวมผู้ต้องหากว่า 100 คน

ต้นปี 2561 เมื่อ คสช. ใช้เทคนิคทางกฎหมายสารพัดวิธี ทำให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งที่กำหนดไว้เดิมไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 ถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย 90 วัน และอาจจะมากกว่านั้น ก่อให้เกิดเป็นกระแสความไม่พอใจ และมีกลุ่มประชาชนภายใต้ชื่อ "คนอยากเลือกตั้ง จัดกิจกรรมคัดค้านการขยายเวลาอยู่ในอำนาจของ คสช. ต่อเนื่องหลายครั้ง

กลุ่มคนอยากเลือกตั้งไม่ใช่คนหน้าใหม่ทางการเมืองเสียทีเดียว เพราะหลายคน เช่น รังสิมันต์ โรม จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, สิรวิชญ์ หรือ "จ่านิว" จากกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา, อานนท์ นำภา จากกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ต่างก็เคยเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารและถูกจับกุมดำเนินคดีมาแล้วหลายครั้ง

การเกิดขึ้นของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจอย่างหลวมๆของนักกิจกรรมทางการเมืองกลุ่มเล็กๆหลายๆกลุ่มรวมทั้งประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้มีความสนใจการเมืองแต่ไม่ได้สังกัดกลุ่มกิจกรรมกลุ่มใด ความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งมีความน่าสนใจเพราะแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนหนึ่งยังกล้าลุกออกมาแสดงออกคัดค้านคสช. โดยไม่กลัวการถูกจับกุมหรือดำเนินคดี หลังจากที่กระแสกิจกรรมลักษณะนี้เงียบหายไปในช่วงปี 2560

เมื่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหว คสช.ก็ใช้มาตรการทาง "กฎหมาย" ในแบบของคสช. เพื่อจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง เช่น การอ้างคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 หรือใช้ข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยหวังจะสร้างความกลัวและทำให้คนไม่กล้าออกมาเคลื่อนไหวอีก แต่มาตรการเหล่ากลับไม่สามารถทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยุติการทำกิจกรรมได้ การดำเนินคดีทำได้แค่เพียงสร้างภาระให้คนที่เคลื่อนไหวต้องเดินทางไปรายงานตัวต่อตำรวจ อัยการ ศาลเท่านั้น ส่วนการทำกิจกรรมก็ยังเดินหน้าต่อไป

การดำเนินคดีกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2561 จนถึงวันที่ 9 เมษายน 2561 มีทั้งหมด 5 คดี ได้แก่

1. คดีชุมนุมหน้าห้างมาบุญครอง หรือ #MBK39

27 มกราคม 2561 หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติตัดสินใจขยายเวลาบังคับใช้ กฎหมายการเลือกตั้งเป็นเหตุให้โรดแมปการเลือกตั้งถูกเลื่อนออกไปอย่างน้อย 90 วัน กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมบริเวณสกายวอล์คหน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการปราศรัยด้วยเครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก มีคนมาร่วมราว 100-200 คน ก่อนที่จะเลิกการชุมนุมในเวลาประมาณ 19.00 โดยไม่มีบุคคลใดถูกจับกุมในวันเกิดเหตุ

ในเวลาต่อมามีคนถูกออกหมายเรียกทั้งหมด 39 คน แบ่งเป็น 9 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม ถูกตั้งข้อหาสามข้อหา ได้แก่ "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, ชุมนุมในบริเวณที่ห่างจากพระราชวังของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ถึง 150 เมตร ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ มาตรา 7 และข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ส่วนอีก 30 คนถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรม ถูกตั้งข้อหาสองข้อหา โดยไม่ถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 ด้วย

ผู้ถูกกล่าวหาว่า เป็นแกนนำ 5 คนเข้ารายงานตัว และเดินทางไปพบพนักงานสอบสวนตามนัดที่ศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อเข้าสู่กระบวนการฝากขัง ซึ่งศาลสั่งไม่อนุญาตให้ฝากขัง ส่วนอีก 4 คนที่ไม่ได้เข้ารายงานตัวถูกศาลออกหมายจับและถูกควบคุมตัวในเวลาต่อมาโดยคนหนึ่งถูกควบคุมที่บ้านพักส่วนอีกสามคนเข้ามอบตัวหลังเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ทั้งสี่ได้รับการประกันตัวจากพนักงานสอบสวนด้วยหลักทรัพย์คนละ 100,000 บาท

สำหรับผู้ถููกกล่าวหาว่าเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุม 30 คน มารายงานตัว และถูกตำรวจสั่งฟ้อง ผู้ต้องหาสองคนที่ให้การรับสารภาพ ศาลแขวงปทุมวันพิพากษาให้จำคุก 6 วัน ปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้หนึ่งปี ส่วนอีก 28 คน ที่ให้การปฏิเสธอัยการเจ้าของสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากการฟ้องคดีไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตามทั้ง 28 คนจะต้องรอฟังคำสั่งคดีจากอัยการสูงสุดอีกครั้งในวันที่ 19 เมษายน 2561

รายละเอียดคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ >>> https://freedom.ilaw.or.th/th/case/815
รายละเอียดคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมชุมนุม >>>https://freedom.ilaw.or.th/th/case/817

2. คดีชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน หรือ #RDN49

10 กุมภาพันธ์ 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดหมายการเคลื่อนไหวอีกครั้ง ใช้ชื่อกิจกรรมว่า "หยุดยื้อเลือกตั้ง หยุดสืบทอดอำนาจ" โดยเริ่มชุมนุมที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่ก่อนเวลาจัดกิจกรรมมีตำรวจหลายร้อยนายเข้าปิดล้อมพื้นที่และเอารั้วเหล็กมาวางขวางอนุสาวรีย์ไว้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงขยับมาชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนินด้านหน้าสภาทนายความ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 300 ถึง 500 คน

ในวันที่มีการชุมนุมไม่มีบุคคลใดถูกจับกุมจากการชุมนุมครั้งนี้ มีเพียงรังสิมันต์ ทนายอานนท์ และสิรวิชญ์ที่เข้ามอบตัวต่อตำรวจเพราะทั้งสามเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในคดี #MBK39 แต่ในภายหลังมีการออกหมายเรียกผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวม 49 คน โดยแบ่งเป็น 7 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดกิจกรรมถูกตั้งข้อหา "ยุยงปลุกปั่น" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ส่วนอีก 42 คน ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 เพียงข้อหาเดียว

5 เมษายน 2561 อัยการศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหากลุ่มผู้เข้าร่วมการชุมนุม 42 คนต่อศาลแขวงดุสิต ซึ่งศาลมีคำสั่งปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัวและในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 จำเลยทั้ง 42 คนจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลในนัดตรวจพยานหลักฐานที่ศาลแขวงดุสิต ส่วนกลุ่มที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ อัยการจะมีคำสั่งคดีในวันที่ 11 เมษายน 2561

รายละเอียดคดีของผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุม >>>https://freedom.ilaw.or.th/th/case/822

3. คดีชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

14 กุมภาพันธ์ 2561 นักศึกษากลุ่มสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตยจัดกิจกรรม “รวมพลคนอยากเลือกตั้ง” ใน “เทศกาลแห่งความหมดรัก” บริเวณหน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคนเข้าร่วมราว 100 คน และเป็นกิจกรรมสั้นๆ ราวหนึ่งชั่วโมง ต่อมา ร.ท.เอกพล แก้วศิริ ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 เข้าแจ้งความดำเนินคดีผู้เข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้จำนวน 6 คน และวันที่ 21 มีนาคม 2461 ผู้ต้องหาทั้ง 6 คน ซึ่ง 4 คนเป็นนักศึกษา เข้ารายงานตัวและถูกตั้งข้อหา ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ในจำนวนนี้ 5 คนที่กล่าวปราศรัยระหว่างการชุมนุมถูกตั้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มเติมด้วย พนักงานสอบสวนปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมดในชั้นสอบสวนโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกันตัว

ในเวลาต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่ออัยการศาลแขวงเชียงใหม่ อัยการนัดให้ผู้ต้องหามาพบเพื่อจะสั่งว่าจะฟ้องคดีนี้หรือไม่ใน วันที่ 11 เมษายน 2561 โดยเลื่อนจากนัดเดิมในวันที่ 9 เมษายน เนื่องจากผู้ต้องหาขอให้สอบพยานเพิ่มเติมและได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไว้

รายละเอียดคดีการชุมนุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่เชียงใหม่ >>> https://freedom.ilaw.or.th/case/823

4. คดีชุมนุมที่ห้างเซ็นทรัลพัทยา

4 มีนาคม 2561 สิรวิชญ์ หรือ "จ่านิว" ประกาศว่า จะจัดกิจกรรมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่พัทยา โดยใช้ชื่อว่า กิจกรรม “START UP PEOPLE ON TOUR: ปลุกพลังคนอยากเลือกตั้ง ครั้งที่ 2” บริเวณ ถนนเลียบชายหาด หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล พัทยา โดยมีผู้มาร่วมกิจกรรมประมาณ 100-200 คน ผู้ร่วมการชุมนุมครั้งนี้มีทั้งคนในพื้นที่และคนที่เดินทางมาจากกรุงเทพ ตลอดกิจกรรมสิรวิชญ์ เป็นผู้ปราศรัยคนเดียว โดยใช้เครื่องขยายเสียงขนาดเล็ก มีการแจกเอกสารและถ่ายภาพร่วมกัน ใช้เวลาทำกิจกรรมประมาณหนึ่งชั่วโมงเศษ หลังจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับ

ในเวลาต่อมามีผู้ต้องหา 7 คนถูกออกหมายเรียกและถูกตั้งข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุมฯ มาตรา 10 และข้อหาชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

อัยการนัดให้ผู้ต้องหามาพบเพื่อสั่งว่าจะฟ้องคดีนี้หรือไม่ใน วันที่ 9 เมษายน 2561อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันนัดอัยการแจ้งผู้ต้องหาทั้ง 7 ว่าจะเลื่อนการสั่งคดีออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 10 พฤษภาคม 2561 เนื่องจากยังสอบปากคำพยานที่ผู้ต้องหาร้องขอให้สอบเพิ่มเติมไม่แล้วเสร็จและผู้ต้องหาทั้ง 7 ร้องขอความเป็นธรรมถึงอัยการสูงสุดไม่ให้ฟ้องคดีเนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ

รายละเอียดคดีการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่พัทยา >>> https://freedom.ilaw.or.th/case/825

5. คดีเดินขบวนไปหน้ากองทัพบก หรือ #ARMY57

24 มีนาคม 2561 กลุ่มคนอยากเลือกตั้งจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้มาร่วมกิจกรรมประมาณ 300-400 คน ข้อเรียกร้องของการชุมนุมครั้งนี้คือให้กองทัพยุติการสนับสนุนคสช. การทำกิจกรรมในวันดังกล่าวนอกจากจะมีการปราศรัยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วยังมีการเดินเท้าไปหน้ากองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอกด้วย

ระหว่างการเดินเท้ามีการปราศรัยโจมตีคสช.ด้วยเครื่องเสียง ตำรวจพยายามเข้าขัดขวางการเดินหลายครั้งแต่กลุ่มผู้ชุมนุมสามารถฝ่าแนวกั้นของตำรวจไปได้ การชุมนุมในวันเกิดเหตุจบลงโดยไม่มีเหตุความรุนแรง ไม่มีการจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหาบุคคลใด

ในเวลาต่อมาตำรวจออกหมายเรียกผู้ชุมนุมรวม 57 คนมารับทราบข้อกล่าวหา โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นแกนนำ 10 คน และกลุ่มที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุม 47 คน

เจ้าหน้าที่นัดผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำ 10 คนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.นางเลิ้งในวันที่ 9 เมษายน 2561 และพาตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตามศาลมีคำสั่งยกคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนโดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาทุกคนมารายงานตัวตามหมายเรียก ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงไม่มีเหตุเพียงพอให้ฝากขัง สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมการชุมนุม พนักงานสอบสวนนัดมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 เมษายน 2561

ดูรายงานแค่ “อยากเลือกตั้ง” ก็โดนคดี : อัพเดตความคืบหน้าคดีของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ http://www.tlhr2014.com/th/?p=6726


iLaw