วันศุกร์, เมษายน 06, 2561

มาตรา 112 กับผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ - ยกเลิก 112 เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ได้รับฟังความเห็นต่าง + 10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112




ภาพจาก Freedom of Expression Documentation Center


ยกเลิก 112 เพื่อเปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ได้รับฟังความเห็นต่างหรือแย้ง



2018-04-05
ที่มา ประชาไท

วาด รวี


ในขณะที่กฎหมายกำหนดโทษหมิ่นประมาทบุคคลไว้ไม่เกิน 1 ปี (และในกรณีโฆษณาไม่เกิน 2 ปี) กฎหมายอาญามาตรา 112 กำหนดโทษสูงสุดไว้สูงกว่า 15 เท่า หรือ 7.5 เท่า ในกรณีโฆษณา

คดีความเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงยิ่งขึ้นหลังการรัฐประหารของ คสช.

จากสถิติของไอลอว์[1] นับจากรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 มีคนถูกดำเนินคดี 112 อย่างน้อย 94 ราย ในจำนวนเหล่านี้มีเพียง 16% เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัว โทษสูงสุดจากการตัดสิน คือจำคุก 70 ปี และ 92% ของจำเลยรับสารภาพ

ความรุนแรงของ 112 ไม่ใช่เพียงโทษที่สูงกว่าโทษหมิ่นประมาทบุคคลอย่างไม่สมเหตุผล แต่ยังมีโอกาสประกันตัวที่น้อยมาก โอกาสสู้ชนะคดียิ่งน้อยกว่า นอกจากนั้นยังอาจถูกกลุ่มคนที่คลั่งเจ้าล่าแม่มดทั้งตัวเองและคนรอบข้าง สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดความกลัวและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับ จำเลย นักโทษ รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหา 112 จึงมักถูกโดดเดี่ยวจากสังคม บางคนถูกไล่ออกจากที่ทำงาน บางคนถูกหมางเมินจากเพื่อนบ้าน เหล่านี้และอื่นๆ อีกที่ไม่ได้เอ่ยถึง ล้วนส่งผลให้ 112 ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลงทัณฑ์ทางสังคมที่จะทำลายคนถูกกล่าวหาไม่ให้สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปรกติ

นอกจากการทำลายผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผลอีกประการหนึ่งของกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็คือการทำลายบรรยากาศของการวิจารณ์ เสนอความเห็นแย้ง หรือแม้แต่สิ่งที่ไม่ได้แย้ง แต่เพียงแค่แตกต่างออกไปในเรื่องสถาบันกษัตริย์ บรรยากาศนี้ยังรวมถึงผู้ใกล้ชิดซึ่งอาจถวายคำแนะนำ เสนอความเห็นในเรื่องต่างๆ ต่อพระมหากษัตริย์

ภายใต้การดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 จะไม่มีใครกล้าถวายคำแนะนำต่อกษัตริย์อย่างแท้จริง จะไม่มีใครกล้าแม้แต่ถวายความเห็นที่แตกต่าง จะไม่มีใครกล้าถวายความเห็นอะไรก็ตามที่อาจไม่ต้องพระราชอัธยาศัย

ความหมายในทางกลับก็คือจะมีแต่ความเห็นที่เป็นการยอพระเกียรติ จะมีแต่ความเห็นที่ประจบประแจง ทั้งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์และเป็นไปเพราะความหวาดกลัว

สภาพเช่นนี้คือการบังคับให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในสังคมไทยโดยปราศจากคำวิจารณ์หรือการแนะนำอย่างแท้จริง

พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว ด้วยบรรยากาศที่ทำให้ปราศจากคำแนะนำ คำตักเตือน และแม้แต่คำวิจารณ์ ใครก็สามารถทำนายได้ถึงความมืดมัวที่บดบังสายพระเนตร ภายใต้สภาพเช่นนี้พระองค์จะใช้ความสามารถในการครองราชย์อย่างไร?

แม้แต่รัชกาลก่อนก็ไม่ได้เริ่มต้นเป็นกษัตริย์ภายใต้บรรยากาศเช่นนี้ ตัวบทของกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2519 เป็นเวลาซึ่งในหลวงภูมิพลครองราชย์มาร่วม 30 ปีแล้ว ยังไม่นับว่า 10 ปีแรกของรัชกาลที่ 9 คาบเกี่ยวอยู่กับสมัยของคณะราษฎรซึ่งนักการเมืองยังกล้าที่จะอภิปรายและวิจารณ์กษัตริย์ในรัฐสภา

ความสามารถของในหลวงภูมิพลที่มีคนมากมายพากันยกย่อง ส่วนหนึ่งย่อมต้องเกิดจากการได้รับฟังคำวิจารณ์ในโอกาสต่างๆ อันจะนำมาซึ่งการมองเห็นตัวเอง และมีความสามารถที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงตนเอง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไรในรัชกาลปัจจุบัน ภายใต้การบังคับใช้ 112

มาตรา 112 นอกจากถูกเปลี่ยนแปลงตัวบทด้วยความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในปี 2519 แล้ว ยังถูกหล่อหลอมด้วยความขัดแย้งในวิกฤตการเมือง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จนทำให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือในการ “ปิดปาก” ผู้คนในทางการเมือง และ –ตามความเชื่อของคนที่ยังสนับสนุนกฎหมายนี้ เป็นเครื่องมือ “กำจัด” สิ่งที่จะเป็นภัยกับราชบังลังก์

แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ?

โลกผ่านพ้นสงครามเย็นมาหลายสิบปีแล้ว และการเมืองในประเทศก็เคลื่อนเปลี่ยนไป แตกต่างกับสมัยที่ยังกลัวคอมมิวนิสต์มากเหลือเกินแล้ว

ทั้งที่สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปในการลงโทษผู้กระทำผิด การกำหนดบทลงโทษคนที่พูดถึงกษัตริย์ในทางไม่ดีอย่างเป็นกรณีพิเศษดังที่เป็นอยู่นี้ สร้างประโยชน์อะไรให้กับใคร ผู้ที่หวังประจบประแจง? ผู้ที่หากินกับงบประมาณในการประชาสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์?

ประเทศนี้และประมุขของประเทศนี้ มีความจำเป็นต้องได้รับคำวิจารณ์ที่ดี คำแนะนำที่มีเหตุผล เพื่อเปลี่ยนแปลงและก้าวไปข้างหน้า หากยังมีกฎหมายอาญามาตรา 112 อยู่อย่างที่เป็นอยู่นี้ เราจะได้แต่คำประจบสอพลอ ที่นอกจากไร้ค่าแล้วยังอาจเป็นยาพิษ

จะต้องยกเลิก 112 เพื่อก้าวไปข้างหน้า


เชิงอรรถ
[1] ดู สถิติคดี 112 ที่น่าสนใจ ตั้งแต่ปี 2557-2560 https://freedom.ilaw.or.th/Thailand-Lese-Majeste-Statistics-Until-2014-2018%20

ooo

10 คำถาม-คำตอบน่ารู้เกี่ยวกับมาตรา 112




ที่มา iLaw


1.มาตรา 112 คืออะไร?

มาตรา 112 เป็นมาตราหนึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 112 บางครั้งถูกเรียกย่อๆ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่มีความหมายกว้างกว่าเนื้อหาจริงๆ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ จึงใช้คำเรียก มาตรา 112 อย่างย่อว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ” แทน ซึ่งเป็นความหมายที่ใกล้เคียงกับองค์ประกอบจริงๆ ตามกฎหมายมากกว่า

2. มาตรา 112 มีปัญหาอย่างไร?

มาตรา 112 เป็นกฎหมายมาตราหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในสังคม ปัญหาของมาตรา 112 ที่พูดถึงกันมากอาจพอแยกได้เป็นสองประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

2.1 ปัญหาที่เกิดจากตัวบทกฎหมาย

- อัตราโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปีนั้นสูงเกินไป เทียบได้กับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี ฯลฯ

- อัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกอย่างต่ำสามปีสูงเกินไป ทำให้คดีที่เป็นเรื่องเล็กน้อยศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดบทลงโทษให้น้อยกว่านี้ได้

- องค์ประกอบความผิดไม่ชัดเจน โดยเฉพาะคำว่า “ดูหมิ่น” ซึ่งอาจตีความได้กว้าง ครอบคลุมการกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นได้หลายแบบ

- มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองบุคคลหลายตำแหน่งทั้งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เท่ากันโดยไม่แยกแยะ ทั้งที่ผลเสียหายของการกระทำต่อพระมหากษัตริย์อาจมากกว่าการกระทำต่อบุคคลในตำแหน่งอื่น

- มาตรา 112 ถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ทำให้การตีความและบังคับใช้อาจอ้างการรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อให้เป็นผลเสียแก่ผู้ต้องหาได้

2.2 ปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้

- มาตรา 112 ถูกตีความและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดจะผิดกฎหมายหรือไม่

- บุคคลทั่วไปทุกคนสามารถเป็นผู้กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 ได้ โดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดี ซึ่งส่งผลให้มีการกล่าวหากันเป็นคดีมาตรา 112 จำนวนมาก

- เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ได้รับแรงกดดันจากสังคม และไม่กล้าใช้ดุลพินิจที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี การไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง

3.ในทางปฏิบัติ ศาลกำหนดบทลงโทษในความผิดมาตรา 112 อย่างไร?

คดีมาตรา 112 ในศาลยุติธรรม ส่วนใหญ่ศาลสั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม เช่น คดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุข คดีของดารณี (ดา ตอร์ปิโด) คดีของอำพล (อากงSMS) คดีละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคดีที่ศาลกำหนดโทษสูงหรือต่ำกว่านั้น เช่น คดีของปิยะ ให้จำคุก 9 ปี คดีของชาญวิทย์ให้จำคุก 6 ปี คดีคนขายหนังสือกงจักรปีศาจ ให้จำคุก 3 ปี

คดีมาตรา 112 ในศาลทหารยุค คสช. ส่วนใหญ่ศาลมักสั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลย 10 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม เช่น คดีของหัสดิน และจำเลยอีก 9 คน หรือผู้ทำคลิปบรรพต คดีของพงษ์ศักดิ์ คดีของเธียรสุธรรม คดีของสมัคร ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคดีที่ศาลกำหนดโทษสูงหรือต่ำกว่านั้น เช่น คดีของศศิวิมล ให้จำคุกกรรมละ 8 ปี คดีของนิรันดร์ ให้จำคุก 5 ปี คดีของโอภาส ให้จำคุก 3 ปี

4.ในทางปฏิบัติ มาตรา 112 ถูกตีความได้กว้างขวางเพียงใด?

แม้ว่าโดยตัวบทกฎหมายแล้ว ความผิดมาตรา 112 จะจำกัดอยู่เฉพาะการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย และบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครองจะจำกัดอยู่เพียงผู้ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติมีการตีความให้มาตรา 112 ครอบคลุมการกระทำที่กว้างกว่านั้น

เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีของณัชกฤช ที่ศาลตีความว่า การเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็นความผิด เคยมีคดีของนพฤทธิ์ ที่ดำเนินคดีกับการปลอมเอกสารของสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และเคยมีของของฐนกรที่ดำเนินคดีกับการกดไลค์ และการเอ่ยถึงคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง ด้วย ซึ่งการดำเนินคดีนอกตัวบทเหล่านี้ ทำให้ขอบเขตของกฎหมายมาตรา 112 อยู่ในสถานะที่ประชาชนคาดเดาไม่ได้

5. ขอบเขตการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอย่างไร?

หากพิจารณาตัวบทกฎหมายมาตรา 112 แล้วจะเห็นว่า เป็นการคุ้มครองบุคคลผู้ดำรงตำแหน่ง 4 ตำแหน่งเท่านั้น และไม่ได้คุ้มครองตัวสถาบัน ดังนั้น การวิพากวิจารณ์ตัวสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ไม่ใช่การโจมตีตัวบุคคล หรือการวิพากษ์วิจารณ์องค์ประกอบอื่นๆ ในสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี บุคคลใกล้ชิด สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โครงการในพระราชดำริ ไม่ได้มีกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ และการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต ที่ไม่ใช่การหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ย่อมทำได้ตามกฎหมาย แต่เนื่องจากบรรยากาศความเชื่อในสังคมการเมืองไทย และการตีความบังคับใช้กฎหมายที่เกินเลยจากตัวบท ทำให้ขอบเขตการแสดงความีคิดเห็นที่จะไม่ถูกดำเนินคดีนั้นไม่ชัดเจน

6. มาตรา 112 เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร?

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา หลายครั้งที่การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถูกอีกฝ่ายกล่าวหา หรือนำไปกล่าวโทษต่อตำรวจว่า เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง และทำให้ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาเสียหายอย่างมาก ปรากฏการณ์ที่คู่ขัดแย้งทางการเมืองต่างกล่าวหากันด้วยมาตรา 112 เกิดขึ้นเป็นระยะจากทุกกลุ่มการเมือง

7. มาตรา 112 สร้างผลกระทบต่อสังคมอย่างไร

การดำนินคดีมาตรา 112 กับบุคลจำนวนมาก และการลงโทษที่สูง ประกอบกับกระบวนการพิจารณาคดีที่ส่วนใหญ่ผู้ต้องหาไม่ได้ประกันตัว และศาลสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่เชื่อที่ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นพูดถึงหรือแตะต้องไม่ได้ ประชาชนต้องใช้วิธีการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างสูงสุดทุกครั้งที่พูดถึงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งในการพูดคุยส่วนตัวและการในทางต่อสาธารณะ ภาวะเช่นนี้ ทำให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอยู่อย่างจำกัดไปด้วย
นอกจากนี้ เมื่อมาตรา 112 กลายเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดในสังคมไทย จึงปรากฏคดีที่มีการกล่าวหาใส่ร้ายกันด้วยมาตรา 112 จากคนใกล้ชิด เช่น คดีพี่ชายฟ้องน้องชาย หรือการปลอมเฟซบุ๊กกันระหว่างคนที่มีปัญหาส่วนตัวกัน เช่น คดีของศศิวิมล คดีของวิชัย เป็นต้น

8. มาตรา 112 สร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร

เมื่อปรากฏข่าวในทางสาธารณะว่ามีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนมาก และมีการลงโทษหนัก ซึ่งเข้าข่ายละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน จะส่งผลในทางอ้อมให้เกิดภาพลักษณ์ในทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวออกไปยังต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่รับทราบข่าวสารอาจเกิดความรู้สึกทางลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยได้
นอกจากนี้ เมื่อการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ ในสังคมไทยเอง เป็นเรื่องที่อ่อนไหวอย่างสูงสุด ก็ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่อยู่ห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของสังคม ไม่อาจถูกตรวจสอบได้ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส ไว้ว่า “...เวลาบอกเดอะคิง บอกว่า The King can do no wrong ก็เป็นสิ่งที่ wrong แล้ว ก็เป็นสิ่งที่ผิดแล้ว ไม่ควรพูดอย่างนั้น....” http://kanchanapisek.or.th/speeches/2005/1204.th.html

9. มีข้อเสนอแก้ไขมาตรา 112 อย่างไร

ตลอดเวลาหลายปีที่มาตรา 112 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก มีข้อเสนอจากนักกฎหมายหลายคนให้แก้ปัญหาที่การบังคับใช้ เช่น ทองใบ ทองเปาว์, วรินทร์ เทียมจรัส เป็นต้น ขณะที่อีกหลายกลุ่มก็เชื่อว่า มาตรา 112 ควรถูกยกเลิกเลย เช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ กลุ่ม 24 มิถุนาฯ เป็นต้น ขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเห็นการแก้ไขกฎหมายมาตรานี้ ไม่ใช่การยกเลิกโดยตรง เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เดวิด สเตรกฟัส เป็นต้น

ข้อเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 ที่เป็นรูปธรรมที่สุด เป็นของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งเสนอการแก้ไขไว้ 7 ประการ ดังนี้

1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร

2. เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

3. แบ่งแยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นคนละมาตรากับการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษ โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ แต่กำหนดเพดานโทษสูงสุดจำคุกไม่เกินสามปี โดยแยกระหว่างการหมิ่นประมาททั่วไปกับการหมิ่นประมาทที่เป็นการโฆษณาออกจากกัน

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริง และการพิสูจน์นั้นเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และ

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด ให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษเท่านั้น

10. การแก้ไขมาตรา 112 มีความเป็นไปได้แค่ไหน

หลังมาตรา 112 ถูกแก้ไขครั้งล่าสุด โดยประกาศคณะปฏิวัติเมื่อปี 2519 คณะรัฐมนตรีทุกชุดหลังจากนั้นยังไม่เคยเสนอแก้ไขมาตรา 112 อีกเลย ในเดือนพฤษภาคม 2555 ประชาชนในนาม ครก.112 เข้าชื่อกันมากกว่า 10,000 ชื่อ ยื่นขอให้รัฐสภาแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น วินิจฉัยว่า ข้อเสนอนี้เป็นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมาย

...

ยูเอ็น เรียกร้องให้ยกเลิก 112 ระบุ ก.ม.หมิ่นพระบรมฯ ขัดกับ หลักสิทธิมนุษยชนสากล
http://www.bbc.com/thai/thailand-38894463