วันเสาร์, เมษายน 07, 2561

คลิป "จากรัฐธรรมนูญ ถึงศาลรัฐประหาร" คุยกับปิยบุตร แสงกนกกุล + 1 ปี รัฐธรรมนูญคู่ (รัฐธรรมนูญ + ม.44) เราจะยุติระบบ “รัฐธรรมนูญคู่” นี้ได้อย่างไร?




https://www.facebook.com/sameskybook/videos/1582789175103469/

คลิปบันทึกการไปร่วมพูดคุยในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ผมได้พูดถึงวัตถุประสงค์ของการเขียนหนังสือสองเล่มนี้ โครงเรื่องของหนังสือสองเล่มนี้ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย บทบาทของศาลกับเผด็จการ รัฐประหาร




ooo


1 ปี รัฐธรรมนูญ 2560 1 ปี รัฐธรรมนูญคู่





โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล
เวป thefuturewewant.today


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีอายุครบ 1 ปีในวันนี้ มีใครบ้างที่รู้สึกว่าประเทศไทยปกครองในระบบรัฐธรรมนูญ? เรารู้สึกหรือไม่ว่าประเทศนี้มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรใช้บังคับอยู่?

ทำไมเมื่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับได้ 1 ปีแล้ว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับยังคงอยู่ในอำนาจ และหัวหน้า คสช. ก็ยังคงมีอำนาจ “เด็ดขาด” ตามมาตรา 44 อยู่ต่อไป? เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้มาแล้ว 1 ปี ทำไมเรายังไม่มีการเลือกตั้ง?

นี่คือปรากฏการณ์ที่แปลกประหลาด ไม่น่าเกิดขึ้นที่ใดในโลก

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ปรากฏการณ์นี้แยกไม่ออกจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่สามารถจัดการได้เบ็ดเสร็จ เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 และมีการเลือกตั้งอีก 2 ครั้ง กลุ่มการเมืองกลุ่มเดิมก็ยังคงกลับมาเป็นรัฐบาลได้เหมือนเดิม และเมื่อเวลาผ่านไป มีแนวโน้มว่า ดุลอำนาจที่รัฐธรรมนูญ 2550 ออกแบบมา อาจจะถูกกลุ่มการเมืองเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงเสีย ผลที่ตามมา ก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ในปลายปี 2551 จนเกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ครั้งหนึ่ง และกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557 อีกครั้งหนึ่ง

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จึงเป็น “รัฐประหารซ่อม” จากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตาม รัฐประหารทั้งสองครั้งมีความแตกต่างกันอยู่ ในแง่ของจำนวนเวลาที่ครองอำนาจของคณะรัฐประหาร

คณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ปกครองโดย “ปลอด” รัฐธรรมนูญอยู่ 12 วัน

คณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ปกครองโดย “ปลอด” รัฐธรรมนูญอยู่ 2 เดือน

หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง และคณะรัฐประหารไม่มีอำนาจมากในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว

หัวหน้าคณะรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง พร้อมควบตำแหน่งหัวหน้า คสช. และคณะรัฐประหารมีอำนาจมากในช่วงเวลาที่มีรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผ่านมาตรา 44

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ 10 เดือน 24 วัน จึงมีรัฐธรรมนูญ 2550

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่ 2 ปี 8 เดือน 15 วัน จึงมีรัฐธรรมนูญ 2560

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 แล้ว อีก 4 เดือนมีการเลือกตั้ง

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว จนวันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง และยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมี

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 แล้ว หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่มีอำนาจพิเศษใดๆลงเหลือ

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หัวหน้าคณะรัฐประหารมีอำนาจตามมาตรา 44 และมีต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ แม้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แล้วก็ตาม

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อายุของรัฐบาลหลังจากรัฐประหาร ประมาณ 1 ปี 3 เดือน

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 อายุของรัฐบาลหลังจากรัฐประหารใกล้ครบ 4 ปี และคงอยู่ในอำนาจต่อไปเกิน 4 ปี ยาวนานกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง

หากนับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ประเทศไทยมีชีวิตอยู่ในระบอบรัฐประหาร 4 ปีเศษๆ และคงผ่านเข้าปีที่ 5 เข้าปีที่ 6 แน่ๆ และมีชีวิตอยู่ในรัฐบาลที่เข้าสู่อำนาจจากผลพวงของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญอีกเกือบ 3 ปี

เท่ากับว่า ประเทศไทยมีชีวิตทางการเมืองในระบอบพิเศษ-ไม่ปกติ อยู่เกือบทศวรรษ !!!

ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 คนจำนวนมากตัดสินใจรับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ ต้องการกลับไปสู่การเลือกตั้ง ต้องการให้ คสช.ออกจากอำนาจ และกลับมาสู่การเมืองแบบปกติตามรัฐธรรมนูญ พวกเขาอาจคิดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ต้องวนเวียนกลับไปร่างใหม่ภายใต้การอำนวยการของ คสช. อีก เพื่อยุติกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่รู้จบ และกลับไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ดังนั้น การรับร่างรัฐธรรมนูญ จึงอาจเป็น “ความชั่วร้ายที่จำเป็น” (necessity evil)

การออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ผลปรากฏว่า มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนคิดเป็นร้อยละ 59.40 มีผู้ให้ความเห็นชอบ 16,802,402 คน คิดเป็นร้อยละ 61.35 มีผู้ไม่ให้ความเห็นชอบ 10,598,037 คน คิดเป็นร้อยละ 38.65 อย่างไรก็ตาม เราต้องรออีก 8 เดือน จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และเมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้แล้ว จนถึงวันนี้ผ่านไปหนึ่งปี เรายังไม่มีการเลือกตั้ง และรัฐบาลทหารยังคงปกครองประเทศอยู่

นั่นเท่ากับว่า การตัดสินใจรับรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ช่วยให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว ไม่ได้ทำให้ คสช.ออกจากอำนาจ และไม่สามารถทำให้การเมืองไทยกลับไปสู่ระบบปกติได้ในทันที
รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 ยังกำหนดให้ คสช.ยังคงดำรงอยู่ต่อไป และหัวหน้า คสช. ยังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2557 มาตรา 44 ต่อไป (แม้รัฐธรรมนูญ 2557 สิ้นผลไปแล้ว) จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้ารับตำแหน่ง

ณ วันนี้ ประเทศไทยจึงมี “รัฐธรรมนูญคู่” ได้แก่ รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา และ มาตรา 44 เมื่อมีรัฐธรรมนูญคู่ขนานเช่นนี้ ปัญหาที่ตามมา คือ รัฐธรรมนูญ 279 มาตรา กับ มาตรา 44 อะไรใหญ่กว่ากัน?

รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 รับรองให้การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ดังนั้น คำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 จึงไม่มีทางที่จะขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ ต่อให้รัฐธรรมนูญ 2560 รับรองสิทธิและเสรีภาพให้แก่บุคคลไว้ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับคำสั่งของหัวหน้า คสช.ที่ออกมาตามมาตรา 44 สิทธิและเสรีภาพเหล่านั้นก็หยุดลงทันที ในนัยนี้ ก็คือ มาตรา 44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

หากจะกล่าวให้เห็นภาพ หัวหน้า คสช. อาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งละเมิดสิทธิมนุษยชน ออกคำสั่งที่มีเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรม ออกคำสั่งที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขหรือยกเลิกพระราชบัญญัติ ออกคำสั่งเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ออกคำสั่งเพื่องดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ออกคำสั่งเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญ หรือแม้กระทั่งออกคำสั่งเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ คำสั่งทั้งหมดนี้ ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

สถานะของหัวหน้า คสช. เช่นนี้ ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและปรัชญาการเมือง เราเรียกว่า “องค์อธิปัตย์” (sovereign) อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือคนที่มีอำนาจตัดสินใจว่าเมื่อไรคือสถานการณ์ยกเว้น ดังที่ Carl Schmitt ว่าไว้

จริงอยู่ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง คสช.ก็จะพ้นไป และอำนาจตามมาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.ก็จะสิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าประกาศ คำสั่ง คสช. จะหายไปด้วย เรายังคงต้องอยู่กับ “มรดกของ คสช.” ชั่วกัลปาวสาน เพราะ มาตรา 279 ตามไปรับรองให้ ประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย

หากบุคคลใดต้องการโต้แย้งว่าประกาศ คำสั่ง คสช. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว องค์กรผู้มีอำนาจก็จะชี้ขาดว่าบรรดาประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องเหล่านี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมาย ตามที่มาตรา 279 กำหนด

ต่อให้ประกาศ คำสั่ง คสช. ละเมิดสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาที่ไม่ยุติธรรม หรือขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ต่อให้ประกาศ คำสั่ง คสช. กำหนดให้พระอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตก ตกทางทิศตะวันออก ให้หญิงเป็นชาย ให้ชายเป็นหญิง ประกาศ คำสั่งเหล่านั้น ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

วันหน้า เมื่อ คสช.ออกไป บุคคลที่ดำรงตำแหน่งใน คสช. ล้มหายตายจากไป แต่การใช้อำนาจของพวกเขา ประกาศ คำสั่ง ของพวกเขา ก็ยังคงอยู่กับพวกเราตลอดกาล และไม่มีใครโต้แย้งได้

กล่าวโดยสรุป ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ “ระบบรัฐธรรมนูญคู่” ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

ณ ปัจจุบัน เราอยู่ภายใต้ รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา + มาตรา 44 โดยมาตรา 44 ใหญ่กว่า

มาตรา 44
รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา
-----

ในอนาคต เมื่อมีการเลือกตั้งและคณะรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่ง เราก็ยังคงอยู่ภายใต้ระบบรัฐธรรมนูญคู่ นั่นคือ รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา + ประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง โดยประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่องใหญ่กว่า

ประกาศ คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. 
และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง

รัฐธรรมนูญ 2560 รวม 279 มาตรา

-----

เราจะยุติระบบ “รัฐธรรมนูญคู่” ได้อย่างไร? 

ระบบรัฐธรรมนูญคู่ (dual constitution) ที่ให้รัฐธรรมนูญพิเศษ (ได้แก่ การใช้อำนาจของ คสช.ทั้งหลาย) อยู่เหนือรัฐธรรมนูญปกติ ทำให้ประเทศไทยไม่อาจกลับเข้าสู่การเมืองในระบบปกติได้ หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ หลักการประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่สามารถเกิดขึ้นและมีผลจริงได้

ระบบรัฐธรรมนูญคู่จะสิ้นสุดลงได้อย่างไร? ประเทศไทยต้องอยู่กับ “มรดก คสช.” ไปชั่วกัลปาวสาน นิรันดร อย่างนั้นหรือ?

ไม่ เพราะ การเมือง คือ ความเป็นไปได้

ไม่ เพราะ การเมือง คือ แรงปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ให้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่า

เรายุติระบบรัฐธรรมนูญคู่ได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนแรก

ต้องยกเลิกมาตรา 279 เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากประกาศ คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ได้ฟ้องโต้แย้งไปยังองค์กรผู้มีอำนาจตรวจสอบว่าประกาศ คำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ขั้นตอนที่สอง


ต้องนำประกาศ คำสั่ง คสช และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด กลับมาทบทวนเสียใหม่ โดยตั้งคณะกรรมการพิจารณาแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
ประกาศ คำสั่ง ที่มีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน มีเนื้อหาไม่ยุติธรรม มีวัตถุประสงค์ปราปรามศัตรูทางการเมือง

ประกาศ คำสั่ง ที่ออกมาในชีวิตประจำวัน ราชการประจำวัน มีบุคคลผู้สุจริตที่ได้รับประโยชน์ไปแล้ว

โดยประกาศ คำสั่งในกลุ่มแรก ต้องถูกยกเลิก และต้องสร้างระบบการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหาย ส่วนประกาศ คำสั่งในกลุ่มสอง ให้ “แปลงรูป” กลายเป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง หรือคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี

ขั้นตอนสุดท้าย

ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด เพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 256/1 ลงไปในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีประชามติ ให้ประชาชนตัดสินใจว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ หรือไม่

ข้อเสนอยกเลิกมาตรา 279 ข้อเสนอทบทวนประกาศ คำสั่ง คสช เสียใหม่ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่ข้อเสนอที่ radical หรือรุนแรง ไม่ใช่ข้อเสนอที่ต้องการกวาดล้าง คสช. แต่เป็นข้อเสนอเพื่อให้หลักนิติรัฐ ระบอบรัฐธรรมนูญ หลักการประชาธิปไตย กลับมา

ถึงเวลาแล้วที่ต้องยุติ “รัฐธรรมนูญคู่” มุ่งหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้ประชาชนได้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่