วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 14, 2560

สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบ ม.112: ย้อนดูคดีในอดีต ก่อนเริ่มสืบพยานคดีแอบอ้างที่กำแพงเพชร





สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบ ม.112: ย้อนดูคดีในอดีต ก่อนเริ่มสืบพยานคดีแอบอ้างที่กำแพงเพชร


By TLHR
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
16/07/2017


ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.60 เป็นต้นไป ยาวไปจนถึงเดือนธันวาคมนี้ ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีกำหนดเริ่มสืบพยานโจทก์และจำเลยในคดีมาตรา 112 ของนางอัษฎาภรณ์ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) กรณีแอบอ้างสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเรียกหาผลประโยชน์ รวมทั้งหมด 20 นัด เฉลี่ยมีการสืบพยานราวเดือนละ 2-3 นัด

จำเลยสี่รายในกรณีนี้ ได้แก่ นางอัษฎาภรณ์, นายกิตติภพ, นายวิเศษ และนายนพฤทธิ์ (สงวนนามสกุล) ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 และปลอมแปลงเอกสารราชการ โดยปลอมหนังสือของสำนักราชเลขานุการ กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพฯ และนำไปอ้างแสดงต่อเจ้าอาวาสวัดไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร พร้อมกับผู้เสียหายอีกหลายคน และยังมีการกล่าวอ้างว่าสามารถที่จะทูลเชิญสมเด็จพระเทพฯ มาร่วมในพิธีของวัดได้ โดยมีการอ้างแสดงตนว่าเป็นหม่อมหลวง พร้อมเรียกเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ จากผู้เสียหาย ต่อมา ทางเจ้าอาวาสวัดไทรงามได้ให้ตัวแทนเข้าแจ้งความดำเนินคดี ก่อนจำเลยทั้งสี่ได้ทยอยถูกจับกุมตัวในช่วงเดือนส.ค.58

ในคดีนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายกับนายนพฤทธิ์ หนึ่งในจำเลย ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้รับทราบหรือเกี่ยวข้องกับการแอบอ้าง และไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากกรณีนี้ เพียงแต่ถูกเพื่อนรุ่นพี่ชวนให้ไปร่วมทำบุญที่วัดในจังหวัดกำแพงเพชรในช่วงเดือนเม.ย.58 เพียงครั้งเดียวเท่านั้น (ดูเรื่องราวของนพฤทธิ์)

คดีนี้ดำเนินไปอย่างล่าช้า โดยตั้งแต่อัยการสั่งฟ้องคดีในเดือนพ.ย.58 ยังไม่สามารถเริ่มสืบพยานได้ ทั้งเนื่องจากจำเลยมีแนวทางต่อสู้คดีไม่เหมือนกัน โดยนายวิเศษและนายกิตติภพได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา แต่จำเลยอีกสองรายเลือกจะต่อสู้คดี ทำให้ต้องรออัยการแยกฟ้องจำเลยที่สู้คดีเข้ามาใหม่ และทั้งเหตุที่ทางอัยการโจทก์ได้มีการฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชนเพิ่มเติมเข้ามา ภายหลังกำลังจะเริ่มสืบพยานในเดือนพ.ย.59 แล้ว ทำให้ต้องมีการนัดพร้อมถามคำให้การใหม่ และรอศาลสั่งให้รวมการพิจารณาคดีที่ฟ้องเข้ามาใหม่นี้กับคดีเดิม ส่งผลให้การสืบพยานเนิ่นช้าออกไป

ตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมา นายนพฤทธิ์เองยังไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว และแม้ทนายความจะพยายามยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น ในประเด็นว่าสมเด็จพระเทพฯ มิใช่รัชทายาท ตามองค์ประกอบความผิดของมาตรา 112 และขอให้ศาลยกฟ้องในข้อหานี้ เพื่อส่งผลให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว เนื่องจากไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญบางข้อ แต่ศาลได้วินิจฉัยโดยยกคำร้องมาแล้ว 2 ครั้ง โดยเห็นว่าการวินิจฉัยประเด็นนี้ไม่ทำให้คดีแล้วเสร็จ จึงยังไม่มีเหตุสมควรวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้

รวมทั้งญาตินพฤทธิ์เอง ยังพยายามยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับทางอัยการสูงสุด โดยร้องเรียนว่ามูลคดีทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่อัยการฟ้องจำเลยนั้น หารับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 การกระทำตามฟ้องไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด จึงได้ขอให้อัยการสูงสุดพิจารณาให้อัยการจังหวัดกำแพงเพชรสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบพยานหลักฐานเพิ่มเติมในประเด็นเกี่ยวกับรัชทายาท และขอให้ถอนฟ้องคดีในความผิดตามมาตรา 112 ด้วย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้แต่อย่างใด

รายงานชิ้นนี้ชวนย้อนกลับไปทบทวนองค์ประกอบของบุคคลที่มาตรา 112 ให้การคุ้มครองกันใหม่อีกครั้ง พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าทั้งสำนักพระราชวัง คณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลยุติธรรมในคดีที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 คดี ล้วนวินิจฉัยว่าสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามความหมายที่มาตรา 112 ให้การคุ้มครอง การปล่อยให้มีการดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ จึงยิ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมและตัวกฎหมายมาตรานี้เองอีกด้วย

อ่านมาตรา 112 และกฎมณเฑียรบาลซ้ำๆ อีกครั้ง

หากดูเนื้อความในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี” จะเห็นได้ว่าตัวบทคุ้มครองบุคคลที่อยู่ใน 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ความผิดตามมาตรานี้จึงไม่ใช่เรื่องของ “การหมิ่นเบื้องสูง” หรือ “หมิ่นสถาบัน” อย่างที่สื่อมวลชนมักใช้คำเหล่านี้ในการรายงานข่าว เพราะไม่ได้มีองค์ประกอบเรื่องการคุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ หรือบุคคลอื่นใดนอกเหนือไปจากบุคคลใน 4 สถานะดังกล่าวเท่านั้น

กรณีความเข้าใจว่ามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพฯ อาจเนื่องมาจาก “ความเข้าใจผิด”, “ความสับสน” หรือ “ความตั้งใจตีความ” ก็ตาม ว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงอยู่ในตำแหน่ง “รัชทายาท” ด้วย อันเนื่องมาจากการได้รับการสถาปนาเป็น “สยามบรมราชกุมารี”

หากพิจารณากรณี “รัชทายาท” ในทางกฎหมายนั้น ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ.2467มาตรา 4 (1) ระบุว่า “พระรัชทายาท คือเจ้านายเชื้อพระวงศ์พระองค์ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สมมติขึ้นเพื่อเป็นผู้ทรงสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์ต่อไป”

ขณะที่ตามมาตรา 5 ของกฎมณเฑียรบาลระบุว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพและพระราชสิทธิที่จะทรงสมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งให้เป็นพระรัชทายาท สุดแท้แต่จะทรงพระราชดําริเห็นสมควรและเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยได้ว่าท่านพระองค์นั้นจะสามารถสืบราชสันตติวงศ์สนองพระองค์

“แต่การที่สมมุติเจ้านายเชื้อพระบรมราชวงศ์ให้เป็นพระรัชทายาทเช่นนี้ให้ถือว่าเป็น การเฉพาะพระองค์ของพระรัชทายาทพระองค์นั้น” (เน้นโดยผู้เขียน)

จากความดังกล่าว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2515 ตามพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “…สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงอยู่ในฐานะที่จะรับราชสมบัติปกครองราชอาณาจักรสืบสนองพระองค์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นเล่าก็ทรงพระเจริญพระชนมายุบรรลุนิติภาวะ ทรงพระวีรยภาพและพระสติปัญญาสามารถที่จะรับภาระของแผ่นดินตามพระอิสริยศักดิ์ได้ ถึงสมัยที่จะสถาปนาเป็นองค์รัชทายาท ควรจะทรงอนุวัตรให้เป็นไปตามธรรมนิยมและขัตติยราชประเพณี…” (เน้นโดยผู้เขียน)

ขณะที่การประกาศสถาปนาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2520 ก็ไม่ได้เป็นการระบุเรื่องการสถาปนาเป็นองค์รัชทายาทแต่อย่างใด เป็นแต่อย่างเพียงการ “สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสรยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชา และสัปตปฏลเศวตฉัตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไปตามโบราณขัตติราชประเพณี” (ถ้อยความในประกาศสถาปนา)

สรุปความได้ว่าตลอดเกือบห้าสิบปีที่ผ่านมา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสถาปนาบุคคลในตำแหน่งองค์รัชทายาทไว้เพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ดังที่ต่อมา สมเด็จพระบรมฯ เองก็ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จึงไม่ได้คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ แต่อย่างใด

สมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท: ความเห็นสำนักพระราชวังและกฤษฎีกา ปี 2532

ข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่สถาบันในกระบวนการยุติธรรมเองก็ตระหนักมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยหากย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2532 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในส่วนที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ ไว้แล้ว (ดูในเอกสารเลขเสร็จที่ 281/2532 เดือนมิถุนายน 2532 บันทึกเรื่องการดำเนินคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นรัชทายาทตามมาตรา 112 และในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา)

ในครั้งนั้น ทางกรมตำรวจ (ขณะนั้นอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย) ได้ขอให้กฤษฎีกาช่วยวินิจฉัยถึงสถานะของสมเด็จพระเทพฯ ว่าทรงเป็นรัชทายาทหรือไม่ โดยบันทึกฉบับดังกล่าวได้ระบุว่าทางกรมตำรวจเคยสอบถามไปยังสำนักพระราชวังในเรื่องนี้ และสำนักพระราชวังได้เคยแจ้งว่าในรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงใช้พระราชอำนาจสมมติองค์รัชทายาทขึ้นเพียงพระองค์เดียว คือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และคำว่า “สยามบรมราชกุมารี” ในท้ายพระนามของพระเทพฯ ซึ่งแปลว่าลูกหญิงของพระเจ้าแผ่นดินสยาม ไม่ใช่สถาปนาให้เป็น “สยามมกุฏราชกุมารี” จึงไม่ได้หมายถึงการแต่งตั้งให้เป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์แต่อย่างใด

ครั้งนั้น ทางกรมตำรวจได้สอบถามมายังคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ยืนยันว่า (1) ในกรณีที่มีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสมเด็จพระเทพฯ พนักงานสอบสวนจะดำเนินการตามมาตรา 112 ได้หรือไม่ และ (2) หากไม่สามารถดำเนินคดีตามมาตรา 112 และต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจะทำอย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบประเด็นแรกในลักษณะเดียวกับที่สำนักพระราชวังเคยตอบต่อกรมตำรวจ กล่าวคือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่องค์รัชทายาท คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงวินิจฉัยว่าตำรวจจะดำเนินคดีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ ตามมาตรา 112 ไม่ได้

ในส่วนประเด็นที่สองนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการดำเนินคดีตามมาตรา 326 ผู้เสียหายจะต้องเป็นฝ่ายร้องทุกข์ แต่กฎหมายอนุญาตให้ผู้เสียหาย มอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์และฟ้องคดีอาญาแทนได้ ดังนั้น ในกรณีสมเด็จพระเทพฯ ถ้ามีผู้หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระองค์ พระองค์ท่านซึ่งเป็นผู้เสียหาย ทรงสามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นร้องทุกข์ และฟ้องคดีอาญาแทนได้

คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ ที่นครสวรรค์

ขณะเดียวกันในอดีตที่ผ่านมา เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบข้อมูล ก็ปรากฏกรณีที่มีการกล่าวหาและดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเทพฯ อยู่เช่นกัน รวมทั้งมีการต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายเอาไว้

คดีแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ในปี 2547 เป็นคดีของนายประจวบ นักธุรกิจในจังหวัดนครสวรรค์ ที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ในศาลจังหวัดนครสวรรค์รวม 2 กรรม โดยกล่าวหาว่าได้แอบอ้างตัวว่าเคยถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ระหว่างที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นรถ และกล่าวหาว่าแอบอ้างกับผู้สื่อข่าวว่าเคยถวายงานสมเด็จพระราชินี และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา พระราชธิดาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

ศาลจังหวัดนครสวรรค์ได้มีคำพิพากษาในปลายปี 2547 ว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 โดยให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี 2 กระทง รวม 10 ปี โดยในประเด็นเรื่องสมเด็จพระเทพฯ นั้น ศาลได้วินิจฉัยว่าคำว่า “รัชทายาท” หมายความถึง “พระราชโอรส” หรือ “พระราชธิดา” ทุกพระองค์ของพระมหากษัตริย์ หาใช่เพียงลำพังแต่พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพฯ พระองค์ท่านทรงอยู่ในความหมายของคำว่า “รัชทายาท” แห่งมาตรา 112 แต่ทั้งนี้มิได้มีประเด็นก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคำว่าพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด

หากแต่ในปี 2548 ศาลอุทธรณ์ก็ได้มีคำพิพากษาแก้ว่าการถอนหรือแต่งตั้งองค์รัชทายาทเป็นไปตามกฎมณเทียรบาล อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อันเป็นกฎหมายเฉพาะ และเนื่องจากสมเด็จพระเทพฯ มิใช่องค์รัชทายาท การกระทำของจำเลยจึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามมาตรา 112 แต่ในส่วนที่จำเลยอ้างถึงสมเด็จพระราชินีฯ และสมเด็จพระบรมโอสาธิราชฯ ถือเป็นความผิด ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี

ส่วนในชั้นศาลฎีกา เมื่อปี 2552 ได้พิพากษาเห็นตามศาลอุทธรณ์ แต่ได้แก้ให้ลดโทษจำคุกจำเลยจาก 5 ปี เป็น 4 ปี เพราะจำเลยไม่เคยทำความผิดทางอาญามาก่อน และยังคงแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบัน

คดีแจกปลิวการเมืองที่ศาลนนทบุรี


กรณีที่พบอีกคดีหนึ่ง ได้แก่ คดีของนายชาญวิทย์ (สงวนนามสกุล) ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี โดยจำเลยถูกกล่าวหาจากกรณีการแจกใบปลิวเอกสารบริเวณท่าน้ำนนทบุรีในช่วงปี 2550 โดยมีฟ้องตามมาตรา 112 จำนวน 4 กรรม โดยกรรมหนึ่งในคำฟ้องได้ระบุถึงการแจกจ่ายเอกสารที่มีข้อความใส่ความสมเด็จพระเทพฯ ต่อประชาชน โดยอัยการโจทก์ระบุว่าทรงเป็น “องค์รัชทายาท” ทำให้เข้าข่ายมาตรา 112 ขณะที่กรรมอื่นๆ เป็นข้อความที่พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

คดีนี้มีการสืบพยานในช่วงปี 2558 โดยข้อต่อสู้หนึ่งของจำเลยที่ถูกคุมขังตลอดมาในเรือนจำ คือสมเด็จพระเทพฯ ไม่ใช่บุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 โดยที่พนักงานสอบสวนสภ.เมืองนนทบุรี ในฐานะพยานโจทก์ ได้ขึ้นเบิกความระบุว่าหลังจากได้ส่งสำนวนคดีนี้ไปยังพนักงานอัยการแล้ว อัยการได้มีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นรัชทายาท พนักงานสอบสวนจึงได้มีหนังสือสอบถามไปยังสำนักพระราชวัง และได้รับหนังสือตอบจากสำนักพระราชวังว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เป็นองค์รัชทายาทพระองค์เดียว โดยมีการอ้างส่งหนังสือของสำนักพระราชวังเข้าเป็นพยานหลักฐานในสำนวนคดีนี้ด้วย โดยที่เอกสารดังกล่าวศาลไม่อนุญาตให้คัดถ่ายสำเนาเอาไว้

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อเดือนธ.ค.58 โดยพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 6 ปี แต่ศาลไม่วินิจฉัยในประเด็นสมเด็จพระเทพฯ ว่าเป็นบุคคลตามองค์ประกอบมาตรา 112 หรือไม่ เนื่องจากศาลให้ลงโทษจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวกันทั้งหมด จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ (ดูในรายงานข่าว)

คดีกล่าวข้อความพาดพิงสมเด็จพระเทพฯ ที่ศาลธัญบุรี


คดีล่าสุดที่พบ ได้แก่ คดีของ “อานันท์” (นามสมมติ) ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยถูกกล่าวหาว่าได้กล่าววาจาหมิ่นประมาท ใส่ความสมเด็จพระเทพฯ และพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ตั้งแต่เมื่อปี 2555 โดยถูกกล่าวหาว่าได้พูดข้อความดังกล่าวระหว่างการสนทนาส่วนตัว อัยการโจทก์ได้ฟ้องจำเลยตามมาตรา 112 และมาตรา 326 โดยระบุว่าสมเด็จพระเทพฯ และพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นองค์รัชทายาท

คดีนี้ ฝ่ายจำเลยได้รับการประกันตัว และมีการต่อสู้คดีเช่นกันว่าทั้งสองพระองค์ไม่ได้เป็นบุคคลตามองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 แต่ในคดีนี้ ศาลได้ให้มีการพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ทำให้องค์กรหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถทราบรายละเอียดระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีได้

ต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยได้ใส่ความบุคคลทั้งสองพระองค์จริง แต่การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจาก “รัชทายาท” ตามมาตรา 112 หมายถึงสมเด็จพระบรมฯ เท่านั้น ศาลจึงให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี หากต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ และมีรายงานว่าศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องจำเลยในทั้งสองข้อหาแล้ว





การโยนภาระให้จำเลยต่อสู้คดี และพิสูจน์ข้อกฎหมายเอง

จะเห็นได้ว่าคดีความข้างต้น แม้ในที่สุดศาลจะมีคำพิพากษาไปในแนวทางที่ว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองไปถึงสมเด็จพระเทพฯ ก็ตาม แต่กระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ ตั้งแต่ตำรวจ อัยการ หรือแม้แต่ศาลเอง ได้โยนภาระให้ฝ่ายจำเลยต้องต่อสู้คดี เพื่อพิสูจน์ข้อกฎหมายเรื่ององค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ด้วยตนเอง โดยที่จำเลยบางรายเองก็ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี

เช่นเดียวกับคดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ ที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลเอง ได้ปฏิเสธจะพิจารณาหรือตีความข้อกฎหมาย ทั้งที่การสั่งฟ้องและดำเนินคดีมาโดยตลอดนั้น ไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบข้อหาตามมาตรา 112 แต่อย่างใด หากกลับผลักภาระให้ฝ่ายจำเลยต้องพยายามพิสูจน์และนำเสนอประเด็นทางกฎหมายเอง

ทั้งในส่วนของจำเลยสองรายในคดีนี้ที่ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลยังพิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 โดยไม่มีการพิจารณาวินิจฉัยข้อกฎหมายใดๆ ว่าการกระทำของจำเลยที่รับสารภาพนั้นครบองค์ประกอบความผิดตามข้อหานี้หรือไม่ อย่างไร

อีกทั้ง ไม่เพียงประเด็นเรื่ององค์ประกอบบุคคลที่ตัวบทให้การคุ้มครอง หากตีความมาตรา 112 อย่างเคร่งครัด กรณีการกระทำผิดในการแอบอ้างต่างๆ นั้น ก็ไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดมาตรานี้เช่นกัน เนื่องจากการแอบอ้างมีเจตนาต่างจากการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือการแสดงความอาฆาตมาดร้าย และการกระทำในลักษณะการแอบอ้างเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ก็มีความผิดฐานฉ้อโกงกำหนดโทษไว้อยู่แล้ว แต่การใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีต่อกรณีแอบอ้างก็เป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้นภายหลังการรัฐประหารครั้งนี้ (ดูเพิ่มเติมในรายงานโดยไอลอว์)

การไม่ยอมพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเรื่องมาตรา 112 ดังกล่าว ยังส่งผลต่อสิทธิในการประกันตัวของจำเลย โดยญาติของนพฤทธิ์เคยยื่นขอประกันตัวต่อศาลมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง แต่ศาลไม่อนุญาต โดยให้เหตุผลเรื่องที่คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี ซึ่งข้อกล่าวหาที่มีโทษสูงนั้นก็คือข้อหาตามมาตรา 112 นั่นเอง ทำให้การไม่ยอมวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวส่งผลมาถึงดุลยพินิจการให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีอย่างมาก

การตีความขยายความมาตรา 112 อย่างกว้างขวาง และปฏิเสธสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จึงส่งผลต่อสิทธิของจำเลยในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial) ทำให้จำเลยถูกปฏิบัติเสมือนราวกับ “นักโทษ” ที่ถูกคุมขังตลอดมา ทั้งที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิด ขัดต่อหลักการที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence)

การไม่ยึดหลักการตีความโดยเคร่งครัดในกฎหมายอาญา และปล่อยให้มีการดำเนินคดีที่ไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของตัวบทกฎหมายอยู่เรื่อยมานั้น จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม และความน่าเชื่อของระบบกฎหมายในประเทศไทยไปเสียเองอีกด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

“ผมเพียงแต่ถูกชวนไปทำบุญ”: เรื่องราวของ ‘นพฤทธิ์’ จำเลยมาตรา 112 คดีแอบอ้างสมเด็จพระเทพฯ

“ผมเป็นแค่คนที่ถูกกล่าวหา แต่ถูกปฏิบัติราวกับนักโทษ”: เสียงจากจำเลยคดี 112 แอบอ้างพระเทพฯ หลังการสืบพยานยังไม่เริ่ม

หมายเหตุ

เอกสารความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเลขเสร็จที่ 281/2532 ที่อ้างอิงถึง ขณะกำลังเขียนรายงานนี้ระหว่างวันที่ 5 ก.ค.60 ยังสามารถเข้าถึงออนไลน์ได้ แต่ปัจจุบัน (วันที่ 17 ก.ค.60) กลับไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว