วันเสาร์, ธันวาคม 23, 2560

มาตรการสร้างความหวาดกลัว และคดี 112 ใน “ระยะใหม่” - 1 ปี การคุมขัง ‘ไผ่ ดาวดิน’ กับสถานการณ์มาตรา 112 ในรอบปี 2560





1 ปี การคุมขัง ‘ไผ่ ดาวดิน’ กับสถานการณ์มาตรา 112 ในรอบปี 2560


22/12/2017
By admin99
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


22 ธันวาคม 2559 ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งให้ถอนประกันนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” โดยอ้างถึงการไม่ลบโพสต์ข่าวของบีบีซีไทยที่เป็นเหตุแห่งคดีของเขา ทั้งยังโพสต์ภาพ “เยาะเย้ยอำนาจรัฐ” ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ ผ่านไปครบ 1 ปี หรือ 365 วัน นอกจาก “ไผ่” จะยังไม่ได้ออกมาจากเรือนจำแล้ว ยังต้อง “จำยอม” รับสารภาพในคดีมาตรา 112 ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหา โดยยังไม่ได้ต่อสู้คดีและ “พิสูจน์ความบริสุทธิ์” อย่างที่ตั้งใจด้วย

คดี “ไผ่” นับได้ว่าเป็น “จุดเริ่มต้น” ของสถานการณ์คดีมาตรา 112 ใน “ระยะใหม่” ภายหลังการเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.59 อันนับเนื่องมาจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 13 ต.ค.59

แม้อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงสถิติตัวเลขคดีอย่างมีนัยยะมากนัก แต่ก็มีปรากฏการณ์ที่สำคัญๆ ซึ่งเกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา รายงานนี้ประมวลสถานการณ์ที่แวดล้อมมาตรา 112 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว และกล่าวถึงคดีที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นภายใต้รัชกาลปัจจุบัน รวมทั้งปรากฏการณ์สำคัญอื่นๆ อันแวดล้อมสถานการณ์การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์





ภาพรวมสถิติคดีในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่าน

ในขณะของการเปลี่ยนผ่านรัชสมัย มีช่วงระยะเวลา “รอยต่อ” หลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และการขึ้นทรงราชย์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่ราว 1 เดือน 19 วัน ระยะนี้ภายใต้บรรยากาศของความโศกเศร้า พร้อมกับความโกรธเกรี้ยวในสังคมไทย ได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ “ล่าแม่มด” ต่อบุคคลผู้แสดงออกแตกต่างออกไปในหลายกรณี และตามมาด้วยการดำเนินคดีมาตรา 112 จำนวนหนึ่งด้วย (ดูในรายงาน 1 เดือนหลังการสวรรคตของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ในช่วงดังกล่าว ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เคยมีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 พ.ย.59 ระบุว่าหลังจากวันที่ 13 ต.ค.59 มีผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จำนวน 27 คดี เจ้าหน้าที่สามารถติดตามตัวมาดำเนินคดี 10 ราย และอยู่ระหว่างติดตามจับกุมอีก 17 ราย

ขณะที่จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในช่วงดังกล่าว พบว่าเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวหลังวันที่ 13 ต.ค. มีกรณีการกล่าวหาดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 และกรณีที่มีมวลชนเข้าไล่ล่าบุคคลอันเนื่องมาจากการแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมกันจำนวนอย่างน้อย 20 กรณี ในจำนวนนี้ปรากฏข้อมูลว่าได้มีการจับกุมผู้ต้องหาแล้วอย่างน้อย 9 กรณี ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก

จนถึงปัจจุบันคดีในช่วงนี้มีหลายคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาล อาทิเช่น คดี “นายเค” (นามสมมติ) ซึ่งได้โพสต์เฟซบุ๊กในเพจกลุ่มสินค้ามือสอง โดยเป็นการโพสต์ขายเหรียญกษาปณ์ชนิดต่างๆ ที่ปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 18 ต.ค.59 ก่อนจะเกิดการโต้เถียงกับบุคคลในเฟซบุ๊ก ทำให้ต่อมาถูกไล่ล่าโดยมวลชน นำไปสู่การดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ต่อข้อความที่โต้ตอบกันดังกล่าว คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล ทั้งคดีในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังมีคดีอีกจำนวนหนึ่งที่ดำเนินไปอย่างเงียบๆ และไม่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด

ในส่วนภายหลังจากการขึ้นทรงราชย์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.59 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นแล้วอย่างน้อย 13 คดี จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 18 คน ตัวอย่างคดีเท่าที่มีข่าวปรากฏต่อสาธารณะ ได้แก่ คดีของไผ่ ดาวดิน, คดีของทนายประเวศ, คดีของเอกฤทธิ์, คดีเผาซุ้มฯ ที่จังหวัดขอนแก่น หรือคดีของผู้แชร์ข้อความในเฟซบุ๊กของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

ทางด้านตัวเลขสถิติของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในช่วงปี 2560 ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน 2560 มีดำเนินคดีมาตรา 112 ในชั้นสอบสวนทั่วประเทศอยู่ที่จำนวน 45 คดี

นอกจากนั้นในช่วงปีที่ผ่านมา ยังมีข่าวการจับกุมดำเนินคดีมาตรา 112 จากพฤติการณ์ในลักษณะแอบอ้างสถาบันอีกจำนวนหนึ่ง อาทิเช่น การจับกุมบุคคล 4 คนในนาม “ศูนย์ภูมิทานงานพ่อ” ซึ่งมีการแอบอ้างสถาบันไปเรียกผลประโยชน์ที่จังหวัดเชียงราย หรือการจับบุคคล 6 คน ที่จังหวัดตรัง ซึ่งดำเนินการแอบอ้างสถาบันเรียกรับผลประโยชน์จากการเข้ารับรางวัล “เทพกินรี” เป็นต้น



ภาพโดย Banrasdr Photo


“ผมยังอยู่ในนี้ เพียงเพราะแชร์ข่าว BBC”: สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมของ ‘ไผ่’

ช่วงระยะเวลาที่รัชกาลที่ 10 ขึ้นทรงราชย์นั้นเอง ทางสำนักข่าวบีบีซีไทยได้จัดทำรายงานข่าว “พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย” เผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.59 รายงานดังกล่าวนำไปสู่การกล่าวหา “ไผ่ จตุภัทร์” ด้วยมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีการแชร์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยไม่ได้มีการเขียนความเห็นใดๆ เพิ่มเติม คดีนี้อาจนับได้ว่าเป็นคดีแรกสุดในรัชสมัยใหม่นี้

ไผ่ไม่ได้รับการประกันตัว และแม้ในคดีนี้จะให้การปฏิเสธตั้งแต่ต้นเมื่อถูกจับกุม แต่ด้วยความ “ผิดปกติ” ของกระบวนการยุติธรรมที่ทั้งไผ่และครอบครัว ตลอดจนเพื่อนฝูงที่พบเจอตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปี ในที่สุดภายหลังสืบพยานโจทก์ไป 5 ปาก เมื่อวันที่ 15 ส.ค.60 เขาได้ตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจังหวัดขอนแก่นได้อ่านคำพิพากษาเป็นการลับ ลงโทษจำคุก 5 ปี สารภาพลดโทษครึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 6 เดือน

คดีของไผ่ ถูกจับตามองตั้งแต่ชั้นจับกุม เนื่องจากไผ่ตกเป็น “ผู้ต้องหา” เพียงคนเดียวเท่านั้นท่ามกลางผู้แชร์ข่าวจากแหล่งเดียวกันบนเฟซบุ๊กกว่า 3,000 คน ด้วยการกล่าวหาของพ.ท.พิทักษ์พล ชูศรี นายทหารในพื้นที่ซึ่งติดตามนักกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอด ไผ่มิได้ถูกนำตัวไปยังสภ.เมืองขอนแก่นทันทีที่ถูกจับ ไม่ได้รับการติดต่อจากทนายความที่ตนเลือก อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจยังยึดมือถือเครื่องหนึ่งของไผ่ไปในชั้นสอบสวน 18 วัน นับแต่ไผ่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ทั้งศาลจังหวัดขอนแก่นกลับสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ประกันตัวในเวลาต่อมาด้วยเหตุผลผิดเงื่อนไขประกันตัวซึ่งศาลไม่ได้กำหนดไว้

การปิดล้อมการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ในคดี “ไผ่” ยังเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องในกระบวนการพิจารณาคดีมาตรา 112 ในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งการไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราว โดยแม้ครอบครัวของไผ่จะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวถึง 10 ครั้ง และอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ถึง 2 ครั้ง คำสั่งศาลที่ว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” ยังคงเป็นเหตุผลเดียวที่รัฐควบคุมตัวไผ่ไว้ หรือการไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย โดยศาลจังหวัดขอนแก่นสั่งให้แม้แต่การไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต้องกระทำเป็นการลับ ตลอดจนการอ่านคำพิพากษา และแม้จะรายงานถึงสถานการณ์ในห้องพิจารณาก็ไม่อนุญาตเช่นกัน

ในคดีไผ่นี้ ทั้งทางครอบครัวและทนายความยังต้องรับมือกับการเข้ามาสอดส่องสถานการณ์ด้วยการถ่ายรูปและถ่ายวิดีโอของ “ฝ่ายความมั่นคง” ณ บริเวณศาลจังหวัดขอนแก่น ไผ่เองยังถูกข่มขู่คุกคามทั้งขณะเดินทางไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษจังหวัดขอนแก่น และระหว่างอยู่ในสถานที่ดังกล่าว บางครั้งร้ายแรงถึงขั้นใช้กำลังเช่น ตบศีรษะ และพูดจาข่มขู่เอาชีวิต เป็นต้น

แม้การได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิ May 18 ประเทศเกาห





เมื่อทนายกลายเป็นจำเลย และเดินหน้าท้าทายบทบาทตุลาการในคดี 112


คดีสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ในปี 2560 นี้ คือคดีของทนายประเวศ ประภานุกูล ทนายความซึ่งเคยทำคดีมาตรา 112 ให้นางดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือดา ตอร์ปิโด กรณีของทนายประเวศเริ่มปรากฏกระแสข่าวเมื่อวันที่ 1 พ.ค.60 ว่าเขาถูกควบคุมตัวหายจากบ้านพักไปโดยไม่มีใครสามารถติดต่อได้ มีเพียงเบาะแสที่ทนายประเวศโทรศัพท์มาหาเพื่อนทนายความเพื่อฝากดูแลคดี และแจ้งว่าต้องไปรายงานตัวต่อคสช. ก่อนจะมีการพบบันทึกตรวจค้นและยึดสิ่งของแนบไว้ในสมุดนัดความ ทำให้ทราบว่าทนายประเวศถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากบ้านพักไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.60 โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น แต่ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/58 ไม่ใช่เพียงการไปรายงานตัวตามที่ได้แจ้งไว้ ทราบต่อมาภายหลังว่าทนายประเวศต้องอดข้าวเพื่อประท้วงเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ให้สิทธิในการติดต่อญาติ ก่อนจะได้ใช้โทรศัพท์โดยต้องเปิดเสียงให้เจ้าหน้าที่ได้ยินบทสนทนาด้วย

จนวันที่ 3 พ.ค.60 ทนายประเวศปรากฏตัวที่ศาลอาญาในฐานะ “ผู้ต้องหา” คดีมาตรา 112 จำนวน 10 ข้อความ และมาตรา 116 จำนวน 3 ข้อความ ประกอบกับมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 รวมทั้งหมด 13 ข้อความ โดยข้อความที่ถูกดำเนินคดีเป็นการกล่าวถึงระบอบสาธารณรัฐหรือสหพันธรัฐ เงินภาษีของประชาชน และระบอบกษัตริย์ โดยไม่มีข้อความใดพาดพิงถึงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นตำแหน่งในความคุ้มครองของมาตรา 112

ต่อมา เมื่ออัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ทนายประเวศได้ตัดสินใจถอนทนายความและยื่นคำแถลงต่อศาลไม่ยอมรับกระบวนยุติธรรมในการพิจารณาคดี 112 เนื่องจากเห็นว่าศาลไทยประกาศตนว่ากระทำในนามพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด ศาลจึงมีส่วนได้เสียทำให้ขาดความเป็นกลางและความชอบธรรม ประกอบกับศาลได้สั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์ในคดีร้ายแรง กรณีเป็นการกระทำร้ายแรงต่อสถาบันกษัตริย์ เสมือนมีคำพิพากษาล่วงหน้าไปแล้ว ทนายประเวศจึงจะไม่เข้าร่วมกระบวนการพิจารณาคดี โดยไม่ให้การ ไม่แต่งทนายความ ไม่ถามค้านพยานโจทก์ ไม่นำสืบพยานจำเลย และไม่ลงชื่อในเอกสารใดๆ ของศาล

ศาลได้ระบุในรายงานกระบวนพิจารณาว่าจำเลยไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรมและได้นัดสืบพยานโจทก์ในเดือนพฤษภาคม 2561 การต่อสู้ของทนายประเวศเป็นการต่อสู้ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในคดีมาตรา 112 ทนายความตัวเล็กๆ คนหนึ่ง “ทดลอง” ตั้งคำถามใหญ่ๆ กับสถาบันตุลาการ น่าจับตาอย่างยิ่งว่าการพิจารณาคดีของเขาจะดำเนินต่อไปอย่างไร





คดีผู้แชร์และคอมเมนต์โพสต์ “Somsak Jeamteerasakul” 5 ราย

ขณะเดียวกันในช่วงเดือนเมษายน ภายหลังเหตุการณ์หายไปของหมุดคณะราษฎร และการปรากฏแทนที่ของ “หมุดหน้าใส” ในช่วงปลายเดือนนั้น ปรากฏข่าวเรื่องการควบคุมตัวบุคคลหายไปจากบ้านพัก ก่อนที่ในวันที่ 3 พ.ค. จะพบว่ามีบุคคล 5 ราย ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งทนายประเวศ ประภานุกูลอีกรายหนึ่ง ถูกนำตัวมาขออำนาจศาลฝากขังในคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (โดยบางคนยังถูกกล่าวหาว่ากระทำตามมาตรา 116 ด้วย)

ก่อนมีการกล่าวหาผู้ต้องหา 4 คน จากการแชร์โพสต์ในเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับหมุดคณะราษฎร และอีกรายหนึ่งถูกกล่าวหาจากการแสดงความคิดเห็นในโพสต์ดังกล่าว ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่นำตัวไปควบคุมภายในมณฑลทหารบกที่ 11 เช่นเดียวกับทนายประเวศ รวมเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำตัวมาฝากขัง และทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัวหลังจากนั้น

กรณีของทั้ง 5 คนนี้ ต่อมามีการฝากขังจนครบ 7 ผัด (84 วัน) และอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทุกคนต่างได้รับการปล่อยตัวออกมา โดยที่กรณีนี้ยังมี “ลักษณะพิเศษ” บางประการซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในคดีมาตรา 112 แต่ไม่สามารถนำเสนอได้ในที่นี้





คดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ: สถิติใหม่และความสิ้นหวังซ้ำซาก


สถิติใหม่เกี่ยวกับคดี 112 ประการหนึ่งในปี 2560 นี้ ได้แก่ การดำเนินคดีกับเด็กอายุ 14 ปี ซึ่งนับว่าเป็นรายแรก ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีข้อมูลปรากฏต่อสาธารณะว่า มีการดำเนินคดีเด็กหรือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี มาก่อน

พฤติการณ์ของคดีเป็นกรณีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ใน อ.บ้านไผ่ และ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ต่อมาตำรวจ-ทหาร เข้าจับกุมเด็กชาย 1 คน วัยรุ่นชาย 6 คน ชายวัยหนุ่มและสูงอายุอีก 2 คน ระบุว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ รวมทั้งภรรยาของผู้จ้างวาน นำตัวไปควบคุมในค่ายทหาร 6 วัน นับว่าเป็นกรณีแรกเช่นกันที่มีการควบคุมตัวบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ในค่ายทหาร โดยไม่คำนึงถึงมาตรการที่เหมาะสมกับเด็กตามที่กฎหมายกำหนด จน Human Rights Watch ต้องออกถ้อยแถลงแสดงความกังวลในเรื่องนี้

การดำเนินคดีผู้ก่อเหตุทั้ง 9 ในช่วงแรกมีการแจ้งข้อหาเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร วางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ โดยแยกเป็น 3 คดี พร้อมแยกเด็กไปดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ แต่ต่อมามีการเพิ่มข้อหา 112 เมื่อมีการส่งฟ้องคดีต่อศาล ที่สำคัญอัยการระบุในตอนหนึ่งของคำฟ้องคดีหนึ่งว่า “…กฎหมายอาญาจึงมิได้บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์จะต้องครองราชย์อยู่เท่านั้น การกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้วย่อมกระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน…” อันแสดงถึงการพยายามตีความว่าความผิดมาตรา 112 นั้น รวมความถึงการกระทำต่ออดีตพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นพฤติการณ์ของจำเลยด้วย

จำเลยทั้งหมดยืนยันว่า ตนเองไม่มีเจตนาหมิ่นฯ จึงปฏิเสธข้อหา 112 แต่ด้วยเหตุที่ไม่ได้ประกันตัว ประกอบกับกระแสว่าคดีสู้ยาก รับสารภาพได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง และการพระราชทานอภัยโทษที่จะมาถึง สุดท้ายทั้งหมดจึงตัดสินใจรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม วัยรุ่น 6 คนที่ตัดสินใจรับสารภาพล่าสุด ศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 31 ม.ค.61 ทำให้พวกเขามีโอกาสจะได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีอย่างเร็วคือสิ้นเดือน ธ.ค.61 และความหวังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษในปี 61 ก็คงค่อนข้างเลือนราง…




คดีสุลักษณ์: การขยายความมาตรา 112 คุ้มครองไปถึงกษัตริย์อยุธยา?


“กรณีของพระนเรศวรรบกับพระมหาอุปราช พงศาวดารไทยกับพม่าเขียนตรงกันครับ แต่พม่าบอกว่าพระนเรศวรยิงพระมหาอุปราช ไม่ได้ขาดคอช้าง…” นี่เป็นคำอภิปรายตอนหนึ่งของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักเขียนและปัญญาชนคนสำคัญ ในงานเสวนา “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการชำระและการสร้าง” ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มสภาหน้าโดมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.57

ไม่กี่วันหลังการอภิปราย (16 ต.ค.57) นายทหารยศพลโท 2 นาย ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 ที่สน.ชนะสงคราม โดยกล่าวหาว่าสุลักษณ์หมิ่นประมาทอดีตพระมหากษัตริย์ คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยกล่าวในทำนองว่าการทำยุทธหัตถีไม่มีจริง และมีอีกบางข้อความที่เข้าข่าย “หมิ่นประมาท” คดีนี้คาอยู่ในชั้นตำรวจเกือบสามปี จนในปีนี้ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.60 พนักงานสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่ออัยการศาลทหารกรุงเทพ และคดีมาอยู่ในชั้นอัยการทหาร

แม้ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2556 ศาลฎีกาจะเคยมีคำพิพากษาลงโทษกรณีการหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 4 มาแล้ว โดยตีความในลักษณะว่าทรงเป็นพระบิดาของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเป็นพระอัยกาของในหลวงรัชกาลที่ 9 การละเมิดจึงทำให้กระทบต่อพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันได้ แต่คำพิพากษาดังกล่าวก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการกฎหมายอย่างมาก ถึงการขยายการตีความมาตรา 112 ให้รวมไปถึงอดีตพระมหากษัตริย์

การดำเนินคดีต่อสุลักษณ์ในกรณีใหม่ในปี 2560 นี้ จึงน่าจับตายิ่งขึ้นไปอีกต่อแนวทางการใช้มาตรา 112 ที่พยายามขยายความ “ถอยหลัง” ไปมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ให้คุ้มครองกษัตริย์ถึงในสมัยอยุธยา ในยุคที่ยังไม่มีแม้แต่ “ประเทศ” และ “ชาติ” ไทย ทั้งกษัตริย์ไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ ทางสายเลือดกับกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี กระทั่งน่าจับตาในแง่ผลกระทบที่นำไปสู่การปิดกั้นการศึกษาและการถกเถียงอภิปรายประวัติศาสตร์ไทยโดยทั่วไป และทิศทางการตีความมาตรา 112 ในอนาคตภายใต้รัชสมัยใหม่อีกด้วย



(ภาพการชุมนุมของคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553)


รื้อคดีค้างก่อนรัฐประหาร และยังคงใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนอย่างเงียบๆ


สถานการณ์ในรอบปีนี้อีกประการหนึ่ง ได้แก่ การรื้อคดีเก่าก่อนหน้าการรัฐประหาร 2557 ซึ่งเคยมีการแจ้งความหรือสำนวนค้างไว้อยู่ในชั้นสอบสวน กลับมาดำเนินการใหม่ โดยมีการทยอยส่งคดีไปสู่ชั้นอัยการและชั้นศาล โดยเท่าที่ทราบมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 3 คดี ที่เกิดปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์การรื้อฟื้นคดีทางการเมืองเก่าของคนเสื้อแดงในข้อหาต่างๆ กลับมาดำเนินการ

ในขณะที่คดีมาตรา 112 หลังการรัฐประหาร โดยเฉพาะคดีที่ต่อสู้อยู่ในศาลทหาร ก็ยังดำเนินต่อไปอย่างช้าๆ เนื่องจากปัญหารูปแบบการนัดสืบพยานของศาลทหารราว 2-3 เดือนต่อหนึ่งนัด และยังมีการเลื่อนคดีบ่อย เพราะพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมักติดภารกิจหรือไม่สามารถมาศาลในวันนัดได้ ทำให้รวมแล้วในคดีหนึ่งสืบพยานได้โดยเฉลี่ยปีละ 3-4 ปาก เท่านั้น

คดีเหล่านี้ที่น่าสนใจ อาทิเช่น คดีฐนกร จากกรณีโพสต์ข้อความเสียดสีสุนัขทรงเลี้ยง, คดีพัฒนรี มารดาของสิรวิชญ์หรือจ่านิว จากการแชท “จ้า” ในเฟซบุ๊ก, คดีสราวุทธิ์ ช่างตัดแว่นในจังหวัดเชียงราย, คดีสิรภพ หรือ “รุ่งศิลา” นักเขียนและกวี, คดีบัณฑิต นักเขียน หรือคดีสุริยศักดิ์ แกนนำนปช.สุรินทร์ ผู้ถูกกล่าวหาจากการส่งข้อความในไลน์ เป็นต้น

การสืบพยานยาวนานในศาลทหารดังกล่าว และการไม่ได้รับการประกันตัว ยังส่งผลให้จำเลยบางรายตัดสินใจเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ คดีที่สะท้อนปัญหาดังกล่าวในปีนี้ ได้แก่ คดีธารา ที่ถูกกล่าวหาจากการแปะลิงก์คลิปเสียง ‘บรรพต’ บนหน้าเว็บไซต์ขายสมุนไพร จำนวน 6 ครั้ง หลังเลือกต่อสู้คดี และสืบพยานมาได้เพียง 2 ปาก ในช่วงเวลา 2 ปี ในที่สุดจำเลยตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ วันที่ 9 ส.ค.60 ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาจำคุกข้อความละ 5 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือข้อความละ 3 ปี 4 เดือน รวมโทษทั้งหมด 18 ปี 24 เดือน กระบวนการในคดีนี้จึงสะท้อนลักษณะแนวโน้มการบีบบังคับให้จำเลยจำยอมรับสารภาพที่ดำเนินเรื่อยมาในคดีมาตรา 112

ในปีนี้ ยังมีการพิพากษาคดีมาตรา 112 ในศาลทหาร ที่กลายเป็นสถิติโทษจำคุกที่สูงที่สุดใหม่ด้วย ได้แก่ กรณีของวิชัยพนักงานขายของบริษัทเอกชน ถูกฟ้องตามมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการปลอมเฟซบุ๊กแล้วโพสต์ข้อความจำนวน 10 ข้อความ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี นับโทษรวมเป็น 70 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือกรรมละ 3 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุกเป็น 30 ปี 60 เดือน (35 ปี)

นอกจากโทษที่สูงที่สุดในคดีมาตรา 112 เท่าที่เคยมีมาแล้ว คดีนี้ยังสะท้อนถึงช่องว่างของมาตรา 112 ที่เปิดโอกาสให้เกิดการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งบุคคลจากความขัดแย้งส่วนตัวอีกด้วย



(ภาพจาก สำนักข่าวมติชน)


มาตรการสร้างความหวาดกลัว ผ่านการควบคุมตัว-เรียกคุย โดยไม่ต้องดำเนินคดี

นอกจากการดำเนินคดีในภาพรวมดังกล่าว ในรอบปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้กล่าวในพิธีเปิดงานประชุมหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 ส.ค.60 ว่า “สถาบันทรงเมตตาทรงรับสั่งเสมอว่า ไม่อยากให้ประชาชนต้องถูกลงโทษด้วยเรื่องเหล่านี้…พระองค์ท่านไม่อยากให้มีการลงโทษอะไรต่างๆ” (ไม่แน่ใจว่าเขียนลักษณะนี้ได้ไหม)

ใจความดังกล่าวน่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญหนึ่งที่ทำให้รอบปีนี้ ในหลายกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีการดำเนินการด้วยมาตรา 112 โดยตรง แต่ก็ปรากฏมาตรการอื่นๆ ที่ทาง คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐพยายามใช้อำนาจในการควบคุม-จัดการเรื่องการแสดงความคิดเห็นของประชาชน โดยไม่ต้องดำเนินคดีทั้งหมด

อาทิเช่น การอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 มาใช้ดำเนินการควบคุมตัวบุคคลไว้ในค่ายทหาร ยกตัวอย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวนายเจริญชัย แซ่ตั้ง นักกิจกรรมผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 112 หายไปจากบ้านพักเมื่อวันที่ 1 ก.ค.60 ต่อมาหลังจากครบ 7 วัน มีการนำตัวมาส่งที่บ้าน โดยทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการควบคุมตัวภายใน มณฑลทหารบกที่ 11 มีการซักถามถึงเนื้อหาการโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊ก รวมทั้งเตือนไม่ให้โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด พร้อมกับให้เซ็นเงื่อนไขการปล่อยตัวเรื่องการห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง

ในการควบคุมตัวครั้งนี้ เจริญชัยยังเปิดเผยว่าเขาพบว่ามีบุคคลอีกอย่างน้อย 4 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวมาในลักษณะเดียวกันด้วย แต่เจริญชัยไม่รู้จักคนเหล่านั้น และถูกสั่งห้ามไม่ให้พูดคุยด้วย ทำให้ไม่ทราบแน่ชัดถึงเหตุในการควบคุมตัว และยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ามีบุคคลถูกควบคุมตัวในลักษณะนี้และในปีนี้อีกมากน้อยเพียงใด

นอกจากการควบคุมตัวแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐยังใช้มาตรการเข้าติดตามตัวบุคคล ตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2559 หลังการขึ้นทรงราชย์ของรัชกาลที่ 10 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามตัวผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพียงแค่เข้าไปกดไลค์ (Like) หรือกดติดตาม (Follow) เพจการเมืองบางเพจที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความใดๆ ด้วยตนเอง

รูปแบบมีทั้งกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์เรียกให้ไปพบ หรือบางรายก็ถูกเจ้าหน้าที่กองปราบปรามเดินทางไปพบที่บ้านโดยตรง โดยไม่ทราบชัดเจนว่าอาศัยอำนาจในกฎหมายใด เจ้าหน้าที่มีการทำบันทึกการซักถาม บางรายถูกขอตรวจสอบอุปกรณ์สื่อสาร บางรายถูกขอให้ยกเลิกการติดตาม (Unfollow) เพจใดเพจหนึ่งต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือบางรายถูกเจ้าหน้าที่ขอให้พูดต่อหน้ากล้องวีดีโอเพื่อแสดงถึงความจงรักภักดี





ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานในเรื่องการเรียกบุคคลไปพูดคุยทำบันทึกซักถามและขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือ โดยกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จากการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ โดยที่ไม่ได้มีการดำเนินคดีตามมา

ถึงปัจจุบันยังไม่มีใครทราบถึงจำนวนของผู้ที่ถูกดำเนินการในลักษณะนี้แน่ชัด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้ปรากฏเป็นข่าว และหลายคนที่ถูกคุกคามยังไม่ใช่นักกิจกรรมหรือนักเคลื่อนไหว ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารติดตามมาก่อน ทั้งมีลักษณะเป็นเพียงผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วๆ ไป ที่เข้าไปกดติดตามเพจการเมืองเท่านั้น แต่อาจพอคาดการณ์ได้ว่าอาจมีประชาชนถึงหลักร้อยคน ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามโดยที่ไม่เป็นที่รับรู้ในทางสาธารณะแต่อย่างใด

อีกมาตรการหนึ่งที่น่าสนใจ คือลักษณะของการออกประกาศหรือให้ข่าวสารที่สร้างความคลุมเครือ ส่งผลให้เกิดความไม่แน่ใจและหวาดกลัวในการแสดงความคิดเห็นหรือการดำเนินการใดในโลกออนไลน์ อาทิเช่น กรณีการออกประกาศของกระทรวงดิจิทัลฯ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.60 ที่ระบุให้ประชาชนทั่วไปงดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่เนื้อหาข้อมูลทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเจตนาและไม่เจตนาของ 1. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล 2. ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ 3. Andrew Macgregor Marshall ซึ่งทั้งสามคนมีบทบาทในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามว่าประกาศฉบับดังกล่าวใช้อำนาจตามกฎหมายใดในการห้ามประชาชนติดตามใคร

การใช้ “เครื่องมือ” เหล่านี้ เพื่อให้ผู้คนและสังคมหวาดกลัว โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องร้องด้วยตัวบทกฎหมายไปถึงชั้นศาลโดยตรง และหลายกรณีก็ไม่ปรากฏเป็นข่าวทางสาธารณะมากนัก ดูจะเป็นแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในรัชสมัยใหม่นี้