วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 21, 2560

ใช่ กอ.รมน. เป็น 'พ่อ' ของทุกหน่วยงานในภูมิภาค :คำตอบที่ได้จากการอ่านบทความเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช. ๕๑/๒๕๖๐

ยึดเงียบราชการส่วนภูมิภาค

ชำนาญ จันทร์เรือง

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 60 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเมือง ขึ้นในหลายจุดในจังหวัดทางภาคเหนือในวันเดียวกัน ซึ่งตามธรรมเนียมของระบบราชการไทยก็ต้องมีประธานเปิดงาน มีคนกล่าวรายงาน ฯลฯ แต่จากธรรมเนียมและระเบียบปฏิบัติที่ผ่านมา หากเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองในเขตท้องที่ใด ผู้บริหารในท้องที่นั้นก็จะเป็นประธานในพิธี แล้วเจ้าของเรื่องหรือหัวหน้าคณะทำงานก็จะเป็นผู้กล่าวรายงาน เช่นระดับจังหวัดก็จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานฯ ในพิธี เป็นต้น แต่หากเป็นงานของส่วนราชการอื่น เช่นราชการส่วนกลางแต่มาทำพิธีเปิดโครงการในพื้นที่โดยหัวหน้าส่วนราชการ เช่นอธิบดี ฯลฯ ซึ่งหากเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ร่วมพิธีด้วย ก็อาจจะเชิญเป็นประธานร่วมหรือเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดฯเป็นผู้กล่าวต้อนรับ แล้วให้เจ้าของเรื่องเป็นผู้กล่าวรายงานต่อประธาน

แต่กรณีนี้มาแปลก กลับกลายเป็นว่าในกำหนดการนี้ให้แม่ทัพภาคฯ เป็นประธานในหลายๆ จุดในเมืองนั้น แล้วให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นผู้กล่าวรายงานในทุกจุด ซึ่งดูเผินๆ แล้วผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอาจจะเห็นว่า ก็อ้าวภาคก็ต้องใหญ่กว่าจังหวัดสิ หรือไม่เช่นนั้นบางคนก็ยังเข้ามาแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของผมว่าคงเป็นเพราะคำสั่ง หน.คสช.ที่ 51 /2560 ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของกอ.รมน.ใหม่มั้ง หรือ ผอ.รมน.ภาคก็ต้องใหญ่กว่า ผอ.รมน.จังหวัดอยู่แล้ว
ผมขออธิบายว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค ตามพรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี 34 เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของราชการภูมิภาค ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ แต่แม่ทัพภาคเป็นข้าราชการส่วนกลางที่ปฏิบัติราชการในพื้นที่

ผมไม่เถียงว่าในฐานะแม่ทัพภาค ผอ.รมน.ภาคนั้นมีลำดับสูงกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ ผอ.รมน.จังหวัด แต่จะสูงกว่าในอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.เท่านั้น ไม่ใช่ในอำนาจหน้าที่ของข้าราชการส่วนภูมิภาค

เพราะภาคของกองทัพนั้นไม่ได้มีสถานภาพเป็นราชการส่วนภูมิภาคตาม พรบ.ระเบียบริหารราชการแผ่นดินฯ และที่สำคัญที่กิจกรรมการพัฒนาเมืองนั้นไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน.ภาคฯ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจหน้าที่เดิมหรืออำนาจหน้าที่ใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาตามคำสั่งนี้ คือสาธารณภัย ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เข้าไปครอบหน้าที่ของมหาดไทยอีกทีหนึ่ง
อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกับแม่ทัพภาคนั้นก็เป็นข้าราชการคนละประเภท คือ ข้าราชการฝ่ายพลเรือนกับข้าราชการฝ่ายทหาร ซึ่งไม่มีลำดับชั้นการบังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องกันตามสายงานปกติแต่อย่างใด
ในอดีตเคยมีปัญหาถกเถียงแย่งชิงกันในการกล่าวถวายรายงานในพื้นที่ว่าใครก่อนใครหลัง จนสำนักพระราชวังได้มีการประชุมและกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กล่าวรายงานในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบ้านเมืองในจังหวัด ตามด้วยฝ่ายตุลาการ ฝ่ายตำรวจและปิดท้ายด้วยฝ่ายทหารในฐานะผู้ถวายความปลอดภัย ซึ่งก็ยึดถือกันมาโดยตลอด

ที่ผมยกประเด็นนี้ขึ้นมานั้นผมไม่ได้มาต่อสู้เรียกร้องให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด เพราะท่านที่รู้จักผมย่อมรู้ว่าผมรณรงค์และขับเคลื่อนมานานแล้วในเรื่องของการกระจายอำนาจหรือจังหวัดจัดการตนเอง ซึ่งมีหลักการสำคัญก็คือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคเสียด้วยซ้ำ น่าเสียดายที่ร่างพรบ.เชียงใหม่มหานครฯ ซึ่งเป็นเรื่องของจังหวัดจัดการตนเองของเชียงใหม่ที่เสนอโดยภาคประชาชนต้องมาแท้งไปเสียก่อน เพราะเหตุแห่งการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา

แต่ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมานั้นเพราะเห็นว่าการที่ หน.คสช.มีคำสั่งที่ 51/2560 ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหลายส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการแก้ไขโครงสร้าง กอ.รมน.ภาคใหม่ โดยให้ กอ.รมน. ภาคแต่ละแห่งมีคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค

ประกอบด้วย ผอ.รมน.ภาคเป็นประธานกรรมการ อธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุด แม่ทัพน้อย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีอาวุโสสูงสุด และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ

ผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ อธิบดีอัยการภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตที่อยู่ในเขตพื้นที่ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่อยู่ในเขตพื้นที่ หัวหน้าสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาเพื่อความมั่นคงในระดับพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการอื่นที่อยู่ในเขตพื้นที่ซึ่ง ผอ.รมน.ภาคแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสิบห้าคน และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่ง ผอ.รมน.ภาคแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ

และให้เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค เป็นกรรมการและเลขานุการ ที่น่าสังเกตคือมีการเอาอธิบดีอัยการที่อยู่ในภาคเข้ามาเป็นกรรมการด้วย ซึ่งย่อมมีผลต่อการสั่งคดีอย่างแน่นอน

แต่ถึงอย่างไรก็ตามคำสั่งนี้ก็ยังไม่ได้รวมถึงกิจกรรมการพัฒนาในพื้นที่แต่อย่างใด ฉะนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกล่าวรายงานต่อแม่ทัพภาคในกิจกรรมการพัฒนาเมืองนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ามีการตีความกันจนเกินเลย โดยอาจจะด้วยความผิดพลาดหรืออาจจะด้วยความตั้งใจ ซึ่งย่อมเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่ต้องทำหน้าที่อรรถาธิบายให้ชัดเจน

ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยมัวแต่หวงอำนาจ กลัวแต่การกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น แต่หารู้ไม่ว่าในส่วนบนของราชการส่วนภูมิภาคได้ถูก กอ.รมน.ยึดอำนาจไปเสียแล้ว เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะมาจากที่ใดก็ตาม อำนาจของ กอ.รมน.ตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 51/2560 นี้ก็เปรียบเสมือนรัฐซ้อนรัฐ คุมกระทรวงทบวงกรมอื่นไปอีกทีหนึ่ง จึงเป็นการยากที่จะพัฒนาให้ทหารเป็นทหารอาชีพที่ทำหน้าที่เฉพาะการป้องกันประเทศจากอริราชศัตรูโดยไม่มาแทรกแซงการบริหารบ้านเมืองจนกลายเป็นรัฐทหารไปโดยปริยายเช่นในคำสั่งนี้ และแน่นอนว่าย่อมเป็นการยากที่จะพัฒนาการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยในระดับชาติได้

กว่าจะฮู้คิง น้ำปิงปอแห้ง (บ่าเฮ้ย) - กว่าจะรู้ตัว น้ำปิงก็แห้งเสียแล้ว

-----------
หมายเหตุ เรียบเรียงจากบทความที่เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 20 ธันวาคม 2560