วันจันทร์, ธันวาคม 18, 2560

สังกัดหรือไม่สังกัดดี :จะเลือกตั้งสักทีต้นปีโน้น แล้วไหงอะไรมันชักวุ่นวายไปใหญ่

ชัดแจ๋วแล้วสิ ความกระสันอยู่นานยาวๆ ของประยุทธ์และลิ่วล้อ เมื่ออดีต ส.ส.พรรคเก่าแก่ที่เคยเป็นแต่ฝ่ายค้านมาทั้งตาปี เปิดโปงหมดเปลือก

ทหารบางคนถูกอดีตนักการเมืองหลอกว่าจะนำพรรคที่ตนเคยสังกัดไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้” ครั้นอดีตนักการเมืองคนนั้น

“เมื่อยึดพรรคไม่ได้ ก็จะอาศัยอำนาจพิเศษของ คสช. รีเซตสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดทุกพรรค...อดีต ส.ส. ทุกคนจะเป็นอิสระจากพรรค บรรดาลุงๆ ก็จะไล่ช้อนอดีต ส.ส. ไปสังกัดพรรคทหาร”

แถมยังสับแหลก “กลุ่มอดีต ส.ส. ที่เดินแผนให้คณะทหารนี้ ถ้าไปดูเบื้องหลังแต่ละคนเคยได้ผลประโยชน์จากธนาคารของรัฐจนบางแห่งจนล้มมาแล้วในอดีต บางธนาคารก็มีสภาพย่ำแย่ในปัจจุบัน


“พรรคของทหารที่เตรียมจัดตั้ง ว่าจะใช้ชื่อว่า พรรคประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคใหม่ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ปูดซ้ำอีกครั้ง

“เปิดเผยข้อมูลว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะเป็นหัวหน้าพรรคให้กับพรรคของทหาร และให้ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเลขาธิการพรรรค”

 
เช่นนี้ทำให้ ธนาพล อิ๋วสกุล ฟันธงว่าอดีตนักการเมืองตัวการจัดตั้งพรรคทหารเพื่อให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ ต่อ “คนนี้จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากสุเทพ เทือกสุบรรณ” ผู้ซึ่งเพิ่งยื่นจดหมายในนาม กปปส. เสนอแก้กฎหมายพรรคการเมือง

โดยอ้าง “ยังไม่เหมาะสมที่จะอนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆ จัดกิจกรรมทางการเมืองได้...เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมในโอกาสทางการเมือง แก่พรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่”


มันก็เลยไปพ้องกับข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ที่แถลงย้ำความประสงค์จัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยเหมือนกัน แต่บอกจะใช้ชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป

อันนี้ ชำนาญ จันทร์เรือง วิจารณ์ว่า “กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ออกมาเรียกร้องให้แก้ไข พรป.พรรคการเมืองเพื่อให้ทุกพรรคการเมืองเท่าเทียมกัน ผมมองว่าขณะนี้มีความเท่าเทียมกันอยู่แล้ว การรีเซ็ตใหม่ต่างหากคือความไม่เท่าเทียม...

ทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะขัดกับความเป็นจริง แค่นี้ก็ตลกมากพออยู่แล้ว อย่าทำอะไรให้ขายหน้ามากกว่านี้เลย...อย่างนั้นก็อ้างความเท่าเทียมได้ทุกอย่าง ซึ่งมันจะคือความเสมอภาคแต่ไม่เป็นธรรม”


นายชำนาญสาวไปถึงประเด็นที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมาเสนอให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง อันไปจุดต่อมฉุนของรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายบ้าง เมื่อนายวิษณุ เครืองาม เบรคว่า “เป็นไปไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญบังคับอยู่แล้วว่าต้องสังกัด”

ทั่นรองฯ จวกตามต่อ “แต่เมื่อมันตกไปแล้วตั้งแต่ตอนร่าง มันก็ไม่ต้องมาพูดอะไรอีกแล้วในตอนนี้ ท่านพูดช้าไปปีหนึ่ง” ซ้ำยังอ้างว่า กรธ. ได้ถกกันมาเยอะเรื่องนี้จนสรุปได้ที่สุดว่าต้องสังกัด

ทั้งนี้พวกปรมาจารย์กฎหมาย (ถึงจะเป็นฝ่าย คสช.) อย่าง อาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เคยมีความเห็นอย่างนั้น แต่มันก็จบไปแล้ว “มาพูดตอนนี้ไม่มีประโยชน์...

และมาตรา ๔๔ ก็จะไปแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ จำไว้ด้วย...ไม่ต้องมาพูดกันแล้วและไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญใหม่”


แต่กระนั้นนักวิชาการ ม.เที่ยงคืนยังมีความเห็นว่า ถ้า คสช. จนตรอกจริงๆ ก็คงใช้มาตรา ๔๔ นั่นแหละมาแก้ ทั้งที่ “คสช.ตอนนี้ก็ติดขัดไปหมด จะเดินหน้าถอยหลังก็ไม่ได้ จะผ่อนล็อกหรือปลดล็อกก็ไม่ได้

ถึงจะเขียนรัฐธรรมนูญล็อกไว้อย่างไรก็ตาม ผลก็ไม่ได้เป็นไปตามที่คาด เชื่อคงมีการทำผลสำรวจแบบลับๆ ซึ่งยังไงพรรคพรรคใหญ่ก็คงเหลือเป็น ๒ พรรคใหญ่เหมือนเดิม พูดง่ายๆ ว่าทำทุกวิถีทางแล้วก็ยังจะเป็นเหมือนเดิม แต่อาจมีจำนวนไม่เท่าเดิม” นายชำนาญชี้

ที่จริง คสช. ก็ยังไม่อยากปลดล็อคพรรคการเมืองอยู่แล้ว ครั้นมันชักวุ่นวายไม่เป็นไปตามแผนครองเมืองต่ออีก ๕ ปีโดยผ่านการเลือกตั้ง ก็ดูเหมือนจะหันกลับไปยืดเวลาปลดล็อคพรรคการเมืองต่อไปอีก

มีทางทำได้หลายอย่าง ให้ สนช.ยื้อเวลาออกไปอีกหน่อย การพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือก ส.ส.และสรรหา สว. คงยืดออกไป

จากนั้นอาจมีเหตุการณ์สำคัญอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น จนเป็นเหตุให้ คสช. เปลี่ยนแปลงเป้าหมายเลือกตั้งในต้นปี ๖๒ ออกไป เพราะต้องคุมเชิงให้สถานการณ์สงบราบคาบเสียก่อนก็ได้ 

ไหนๆ ก็ไหนๆ เลื่อนมาแล้วสามหน เลื่อนอีกครั้งใครล่ะจะหือ