วันอังคาร, ธันวาคม 26, 2560

พรรค “เตพ”





ในประเทศ : พรรค “เตพ”


ที่มา มติชนสุดสัปดาห์
ฉบับวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2560


พรรคทหาร ถูกกล่าวขานถึงอีกครั้ง

เมื่อ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตีฆ้องร้องป่าว ว่า

1) ทหารบางคนกำลังถูกอดีตนักการเมืองหลอกว่าจะนำพรรคที่ตนเคยสังกัดไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

2) แต่ต่อมา ยึดพรรคที่เคยสังกัดไม่ได้ ก็หวังจะอาศัยอำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดทุกพรรค

3) เมื่ออดีต ส.ส. ทุกคนเป็นอิสระจากพรรค “บรรดาลุงๆ” จะไล่ช้อนอดีต ส.ส. ไปสังกัดพรรคทหาร

4) พรรคทหารเป็นการรวมตัวกันของกลุ่มอดีต ส.ส. ทหาร อดีตข้าราชการประจำ เจ้าสัว และนักการเมืองพันธุ์เก่าดำเนินการจัดตั้ง

5) พรรคทหารจะชู นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวหน้าพรรค และให้ นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค โดยมีตัวสำรองเป็นอดีต ส.ส. คนหนึ่ง

6) เอานโยบาย “ประชารัฐ” ของรัฐบาลมาเป็นชื่อพรรค

7) ผู้ที่อยู่เบื้องหลังคืออดีตกำนันคนดังของภาคใต้

แม้นายวัชระ ไม่ได้บอกว่าใคร

แต่ก่อนที่นายวัชระจะออกมา “ตีปลาหน้าไซ” นี้

มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตา

เมื่อ นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เปิดเผยว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ได้เสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง

โดยทำหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2560

ความว่า

“ขณะนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในหมู่ประชาชนทั้งประเทศว่ามีความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ร่วมกันทำงานสำคัญของชาติให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี จึงยังไม่เหมาะสมที่จะอนุญาตให้พรรคการเมืองต่างๆ จัดกิจกรรมทางการเมืองได้

แต่เนื่องจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ได้กำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ อีกทั้งมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดขั้นตอนวิธีการปฏิบัติในการจัดตั้งพรรคการเมือง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และความเท่าเทียมในโอกาสทางการเมืองแก่พรรคการเมืองเก่าและพรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่

จึงเห็นสมควรให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายได้โดยสมบูรณ์ครบถ้วน”

เวลาใกล้เคียงกัน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน แกนนำผู้เตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป ออกมาเปิดเผยว่าได้เสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 เช่นกัน

ใน 3 ประเด็น คือ

1. แก้ไขความเหลื่อมลํ้า โดยให้แก้ไขในมาตรา 140 และ 141 ให้สมาชิกทั้งพรรคเดิมและพรรคใหม่สนับสนุนทุนประเดิมและจ่ายค่าบำรุงพรรคจึงมีสมาชิกภาพ ซึ่งจำเป็นต้องรีเซ็ตให้สมาชิกพรรคเดิมยังไม่มีสถานะเป็นสมาชิกพรรค จนกว่าแจ้งความจำนงพร้อมจ่ายเงินสนับสนุนให้พรรคเช่นเดียวกับพรรคจัดตั้งใหม่

2. การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกควรยกเว้นการบังคับใช้ระบบไพรมารีโหวตไว้ก่อน

3. ให้ คสช. ทำหน้าที่รักษาความสงบไปจนกว่า กกต. ประกาศผลการเลือกตั้ง

ข้อเสนอของนายสุเทพและนายไพบูลย์ ถูกจับตาในทันทีว่าไม่ใช่เพียงกฎหมายมีปัญหา

แต่นี่อาจเป็นการปูทางไปสู่การรีเซ็ตระบบสมาชิกพรรค ซึ่งจะทำให้สมาชิกแต่ละพรรคสามารถย้ายไปสังกัดพรรคไหนก็ได้

รวมถึงพรรคทหารที่ตกเป็นข่าวว่าจะตั้งขึ้นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น จู่ๆ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกฯ และแกนนำกลุ่มมัชฌิมาธิปไตย ออกมาเสนอให้มีการงดเว้นการใช้รัฐธรรมนูญ โดยเปิดทางให้ ส.ส. 400 เขต ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง

ทำให้กระแส “ปลดล็อกสมาชิกพรรคการเมือง” เพื่อไปรวมตัวในพรรคการเมืองใหม่ ถูกมองว่ามีการผลักดันเป็น “ขบวนการ”

อันไปสอดคล้องกับข้อมูลที่นายวัชระออกมาปูด ซึ่งทำให้มองเห็น “ตัวละคร” ชัดเจนขึ้น





ขณะที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ฟันธงว่า

ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ทั้งการเสนอแก้กฎหมายพรรคการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็น “ทฤษฎีสมคบคิด”

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะมีปฏิกิริยาขานรับต่อข้อมูลของนายวัชระ มากกว่าพรรคการเมืองอื่นอย่างน่าสังเกต

โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีที่นายสุเทพยื่นหนังสือให้แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองว่า กปปส. ไม่ใช่พรรคการเมือง และเป็นการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนรัฐประหาร

“เราสนับสนุนเป้าหมาย คือ 1.สนับสนุนการปฏิรูป 2.ต่อสู้กับระบบทักษิณ ซึ่งพรรค ปชป. ก็อยู่ที่เดิมใน 2 เป้าหมายนี้ แต่วิธีการเป็นเรื่องของพรรคและ กปปส. ที่สามารถมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนสมาชิกของพรรคที่ไปเป็น กปปส. ส่วนใหญ่ก็อยู่กับพรรคมาก่อน ซึ่งยืนยันว่าวันนี้ทำงานกับพรรค อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าพรรค ปชป. จุดยืนอยู่ที่เดิม”

“แต่ กปปส. จะตัดสินใจอย่างไรก็เป็นสิทธิของ กปปส. ไม่เกี่ยวกัน” นายอภิสิทธิ์ย้ำ

ท่าทีเช่นนี้ ทำให้มีผู้มองว่า ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. เริ่มมีระยะห่างต่อกันหรือไม่

โดยในช่วงหลัง พรรคประชาธิปัตย์มุ่งโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและ คสช. มากยิ่งขึ้น





แต่นายสุเทพกลับวางตัวเงียบเชียบ แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ว่า ยางพารา โรงไฟฟ้า ประมง ไม่ได้ผลและแสดงท่าทีไม่เป็น “มิตร” กับชาวบ้าน

ทำให้คนใต้บางส่วน ประกาศไม่เอา “รัฐบาล” และ “คสช.”

ตรงข้ามกับนายสุเทพ ที่ทำสวนกระแส นอกจากจะออกคลิปเผยแพร่รำลึกการเคลื่อนไหวของ กปปส. แล้ว ยังตามด้วยการทำหนังสือขอแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่ถูกมองว่า เอื้อหรืออวยให้กับรัฐบาลและ คสช. มากกว่า

จนมีการมองและตั้งคำถามว่า นี่เป็นสัญญาณแยกตัวจากกันของ กปปส. และพรรค ปชป. หรือไม่

อย่างไรก็ตาม บางส่วนก็มีคำถามอีกด้าน

นั่นคือ หรือเป็นไปตามยุทธวิธี แยกกันเดิน รวมกันตี

โดยพรรคประชาธิปัตย์จะกลับไปสู่แนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะ “ขาย” และได้รับความนิยมมากกว่าการจะอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัฐบาลและ คสช.

ขณะที่นายสุเทพ แม้จะประกาศว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมืองอีกแล้ว

แต่ ณ นาทีนี้ คงเห็นแล้วว่ายังไม่มีใครมีบารมีพอที่จะนำพา กปปส. จึงต้องโดดออกมาเล่นเอง

และเป้าหมายมิได้มุ่งแย่งชิงฐานเสียงในภาคใต้และ กทม. จากพรรคประชาธิปัตย์

หากแต่จะมุ่งไปยังนักการเมืองจากพรรคอื่น ซึ่งข้อเสนอให้แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่มีเป้าหมายรีเซ็ตสมาชิกพรรค แล้วดึงดูดคนเหล่านี้มารวมตัวในพรรคการเมืองใหม่

หรือพรรคทหาร อย่างที่กล่าวขวัญก็ได้

ซึ่งแน่นอนว่า พรรคนั่นคงไม่จำกัดวงเป็นพรรคสุ “เตพ” หรือพรรคคนใต้เท่านั้น

หากแต่พยายามจะสร้างให้เป็นพรรคสุ “เทพ” ที่หวังเป็นพรรคเทพที่ครอบคลุมทั้งประเทศ

โดยมี คสช. และรัฐบาล ให้การสนับสนุน

หากบรรลุผล ในการเลือกตั้ง ก็อาจหวนกลับมาจับมือกับประชาธิปัตย์ ในการตั้งรัฐบาลก็ได้

ในท่ามกลางความคาดหมายต่างๆ นั้น

เฉพาะหน้าในส่วนพรรคการเมืองที่กล่าวขานถึงนี้ จะมีหัวหน้า เลขาฯ พรรค หรือโครงสร้าง อย่างที่นายวัชระนำออกมาแฉหรือไม่

คงจะต้องเฝ้าดูกันต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายสมคิดที่มีชื่อจะเป็นหัวหน้าพรรคประชารัฐได้ออกปฏิเสธเรื่องนี้แล้ว

โดยระบุเพียงว่า “ข้อมูลผิดมั้ง ผมอายุ 60 กว่าแล้ว ไม่มีอะไรหรอก คงได้ข้อมูลมาผิด”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกว่า ต้องไปถามคนพูด





“พรรคทหารคืออะไรผมยังไม่รู้ และยังไม่เห็นมีทหารที่ไหนมาตั้งพรรคการเมืองให้ ถ้าเขาไปตั้งของเขาเองก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ไม่เกี่ยวกับผม ฉะนั้น คงไม่มีใครไปตั้งพรรคทหาร ก็รู้อยู่ว่าตั้งมาแล้วก็คือปัญหา มันไม่เคยสำเร็จสักที จะไปตั้งให้มันเมื่อยทำไม ทุกคนพยายามจะสร้างกระแสให้ได้ว่าจะมีพรรคทหารให้คนรังเกียจ ต้องไปดูจุดมุ่งหมายที่เขาพูดกันเพื่ออะไร ไปถามเขาดู ทั้งนี้ สิ่งที่รัฐบาล คสช. คิดคำนึงตลอดเวลาที่จะสนับสนุนนั้น เป็นการสนับสนุนทุกพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่ที่เข้ามาสู่การเมืองอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพมองเห็นอนาคตประเทศ เป็นเรื่องของประชาชนที่จะตัดสินในการเลือกต่อไป ทุกพรรคมีโอกาสทั้งสิ้น อย่าไปมองว่าพรรคนี้จะได้ พรรคโน้นจะไม่ได้ เดี๋ยวทุกอย่างจะค่อยๆ เดินไปเรื่อยๆ ความชัดเจนจะเกิดขึ้น ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองในการเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง”

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ปฏิเสธเช่นกันว่า “ไม่มี คำว่าพรรคทหารคืออะไรผมก็ไม่เข้าใจ ในเวลานี้ไม่มี และที่ถามว่ามองยังไง ผมก็คงไม่มองอย่างไรเพราะไม่มี”




ไม่ต่างกับ พล.อ.ประวิตร ที่ย้ำว่าไม่มี ยังไม่มี ยังไม่เห็นเลย

กระนั้น ในท่ามกลางการปฏิเสธดังกล่าว “พฤติกรรม” และการเคลื่อนไหว ที่สอดคล้องต่อเนื่องกัน “ส่อเจตนา” ว่า กำลังมีการดำเนินการ “อะไร” บางอย่างอยู่

แต่อาจเพราะไม่ง่าย และเพราะการไม่ลงตัวในหลายอย่าง

ทำให้เงื่อนไขที่ถูกสร้างขึ้นตอนนี้คือ การเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

เลื่อน ที่จะรอ “พรรคใหม่”

ซึ่งจะเป็นเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบ

ด้วยตัวละครสำคัญคือ ลุงกำนัน และ กปปส. ไม่ได้เป็น “เทพ” ของมวลชนอันหนาแน่นเหมือนเดิมอีกแล้ว

แต่เป็น สุ “เตพ” ที่คนใต้กำลังจับตามองว่า คิดและทำอะไรอยู่พรื้ออ…