วันอาทิตย์, ธันวาคม 31, 2560

คสช. เซ็ทซีโร่พรรคการเมืองเพื่อรวบรวม ส.ส. เก่าเข้าพรรคตัวเอง เพราะอยากจะเป็นรัฐบาลต่อหลังเลือกตั้ง - ปริญญา เทวานฤมิตรกุล




#การเซ็ทซีโร่สมาชิกพรรคการเมืองนำไปสู่อะไร?
#อะไรคือเจตนาที่แท้จริง?

การใช้มาตรา 44 ที่ส่งผลต่อการเมืองในปี 2561 มากที่สุดคือคำสั่ง คสช. ที่ 53 / 2560 ที่เพิ่งออกไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา

คำสั่ง คสช. นี้มีประเด็นหลักอยู่สองประเด็น ประเด็นแรกคือ กำหนดให้สมาชิกพรรคการเมืองจะต้องยืนยันว่า ต้องการที่จะต่ออายุสมาชิกพรรคการเมืองที่ตนสังกัดต่อไป ส่วนประเด็นที่สอง เป็นเรื่องการผ่อนกฎเกณฑ์การสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งที่ให้สมาชิกพรรคและสาขาพรรคมีส่วนร่วม (ที่สื่อมวลชนเรียกกันว่า 'ไพรมารี่โหวต') บทความสั้นๆ นี้จะขอกล่าวถึงประเด็นที่เป็นหัวใจสำคัญคือประเด็นแรกเท่านั้น ส่วนประเด็นที่สองผู้เขียนจะได้หาโอกาสเขียนในลำดับต่อไป

ในเรื่องการให้สมาชิกพรรคการเมืองต้องต่ออายุนั้น คำสั่ง คสช. ฉบับนี้กำหนดให้ 'สมาชิกพรรคการเมืองที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกจองพรรคการเมืองนั้นต่อไป' ต้อง 'มีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกเป็นหนังสือ' โดยต้องมี 'หลักฐานเป็นเอกสาร' แสดงด้วยว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามในการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พร้อมด้วยเงินค่าสมาชิกพรรค โดยทั้งหมดนี้ถ้าไม่ดำเนินการภายใน 30 วันนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 การเป็นสมาชิกพรรคของบุคคลนั้นก็เป็นอันสิ้นสุดลง

การกำหนดให้ต่ออายุสมาชิกพรรคเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมด้วยหลักฐานต่างๆ เป็นเอกสารดังที่ว่าไปนี้ ผู้เขียนเห็นว่าไม่ต่างอะไรกับการสมัครเป็นสมาชิกใหม่เลย และพรรคที่มีสมาชิกมากยิ่งจะมีภาระมาก พรรคใดมีสมาชิกหลายแสน หรือเป็นล้านคน (ดังเช่นพรรคประชาธิปัตย์มีสมาชิก 2 ล้านคน) ตัองประสบความลำบากในเรื่องนี้เป็นอย่างมากแน่

แต่เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ การกำหนดเช่นนี้ ย่อมทำให้ ส.ส. เก่าของพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้ว สามารถออกจากพรรคเก่าได้โดยไม่ต้องมีการลาออกอีกต่อไป ซึ่ง - ไม่ทราบว่าเป็นเจตนาที่แท้จริงของคำสั่งนี้หรือไม่ - ก็คือการเซ็ทซีโร่ ส.ส. เก่าทั้งหมดนั่นเอง เมื่อครบ 30 วันนับจากวันที่ 1 เมษายน 2561 คือวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป ทุกอย่างจะเริ่มใหม่หมด อดีต ส.ส. ทุกคนสามารถหาพรรคใหม่สังกัดได้ตามอัธยาศัย โดยไม่ต้องไปลาออกจากพรรคเก่าอีกต่อไป

ผู้เขียนเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ถ้าจะดูว่า คสช. อยากจะเป็นรัฐบาลต่อหลังเลือกตั้งหรือไม่ ให้ดูว่าจะมีการรีเซ็ทพรรคการเมืองหรือไม่ และบัดนี้มันได้เกิดขึ้นแล้ว หากการดำเนินการนี้เป็นไปโดยผู้ออกคำสั่งไม่มีส่วนได้เสียก็พอทำเนา แต่ถ้ามีพรรคทหารขึ้นมาจริง หรือมีพรรคใดประกาศสนับสนุนให้ คสช.เป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง ก็จะกลายเป็นว่า คสช. เซ็ทซีโร่พรรคการเมืองเพื่อรวบรวม ส.ส. เก่าเข้าพรรคตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลยทั้งต่อประเทศ และต่อ คสช. เอง ซึ่งตอนนี้อยู่ในภาวะขาลงแล้ว

แล้วผลที่ตามมาคืออะไร โดยธรรมดา ส.ส. ก็ย่อมอยากจะอยู่พรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลกันทั้งนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ส.ส. เก่าที่เห็นว่า คสช. จะได้เป็นรัฐบาล ก็จะไปเข้าพรรคใหม่ หรือพรรคเก่าที่ประกาศสนับสนุน คสช. ส่วน ส.ส. เก่าที่ไม่ต้องการให้ คสช.เป็นรัฐบาลต่อ ก็จะไปอยู่อีกข้างหนึ่ง

นี่คือการแบ่งข้างครั้งใหม่ ไม่ใช่ เสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ไม่ใช่ เพื่อไทย กับประชาธิปัตย์อีกต่อไป แต่คือการแบ่งข้างระหว่างฝ่ายทหารหรือที่เชียร์ทหาร กับฝ่ายที่ไม่เชียร์ทหาร นั่นหมายถึงว่า คสช. จากที่เคยเป็นคนกลางที่เข้ามายึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองเพื่อ 'ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง' จะกลายเป็นคู่ขัดแย้งไปเองแล้ว โดย คสช. หรือทหารอยู่ข้างหนึ่ง แล้วฝ่ายที่ไม่เอา คสช. หรือไม่ต้องการให้ทหารมีอำนาจต่อหลังเลือกตั้งอยู่อีกข้างหนึ่ง

แล้วครั้งสุดท้ายที่ประเทศไทยอยู่ในสภาพนี้เกิดเมื่อไหร่? คำตอบคือปี 2535! ผู้เขียนหวังว่าจะวิเคราะห์ผิด และ คสช. จะไม่ได้เซ็ทซีโร่เพื่อให้ตนเองได้สืบทอดอำนาจต่อ เพราะถ้าเป็นอย่างที่ว่า ผู่เขียนคิดว่าสถานการณ์จะยุ่งยากขึ้นและจะเกิดเรื่องที่แย่กว่านี้ตามมาแน่.

ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
30 ธันวาคม 2560
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




Prinya Thaewanarumitkul