วันอาทิตย์, ธันวาคม 24, 2560

โพลชักจะเสียงแตก สองแห่งเริ่ม 'ยี้' กับประยุทธ์

ถ้าจะอ่านโพลตอนนี้ให้มีผล ก็ต้องบอกว่ามันชักจะเสียงแตกแล้วละ โพลที่ออกมาสองแห่งล้วน ยี้ กับประยุทธ์ด้วยกันทั้งคู่

สวนดุสิตให้ประยุทธ์ ไม่เหมาะสม ๕๓ เปอร์เซ็นต์ ขณะที่นิด้า ไม่ให้ประยุทธ์เป็นบุคคลแห่งปี มีคะแนนอันดับสอง ทิ้งห่างอันดับหนึ่งไกลลิบ

มาดูกันที่โพลนิด้าก่อนสักหน่อย คราวนี้เป็นโพล บุคคลแห่งปี ๒๕๖๐ก็ได้ ตูน บอดี้แสลม สมดังมาดหมาย ด้วยคะแนน ๕๗ เปอร์เซ็นต์โดดอยู่คนเดียว อันดับสองคือประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ ๑๗ เปอร์เซ็นต์ โดยมีทักษิณ ชินวัตร ติดอันดับสาม ตามมาห่างมากเข้าไปอีก ที่ ๒ เปอร์เซ็นต์

และถ้าดูจากเหตุผลของคะแนน ขณะที่ตูนได้เพราะ “มีความเสียสละ ช่วยเหลือสังคม” แต่ประยุทธ์กับทักษิณได้เพราะ “ชื่นชอบเป็นการส่วนตัว” อันเป็นคะแนนอย่างงั้นๆ ไม่สลักสำคัญ ‘insignificant’ เช่นเดียวกับอดีตนักการเมืองอื่นบางคน และเหล่าดารา

มีผู้ที่ได้คะแนนเพราะ ไม่ใช่ ความชื่นชอบส่วนตัวอยู่ไม่กี่คน เช่นบิณฑ์ บันลือฤทธิ์ ได้ ๓/๔ ของ ๑ เปอร์เซ็นต์ ด้วยความเสียสละ ช่วยเหลือสังคม ไผ่ พงศธร ได้ครึ่งเปอร์เซ็นต์กว่าๆ เพราะมีผลงานดีเด่น เช่นเดียวกับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งรั้งท้ายอันดับสิบ ได้ครึ่งเปอร์เซ็นต์พอดี


เหล่านี้แสดงว่า ‘pendulum’ ตุ้มเวลาทางการเมือง ได้แกว่งเบนออกไปจากแนวเดิมเสียแล้ว จะให้ชัดเจนยิ่งขึ้นต้องไปดูดุสิตโพล ที่วัดผลทำนายทิศทางการเมืองล้วนๆ ได้แก่ อยากมีพรรคการเมืองใหม่ๆ กันไหม ถ้ามีควรจะลักษณะอย่างไร และถ้าตั้งพรรคใหม่เพื่อหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอก จะเอาไหม
ปรากฎว่าทั้งที่คนตอบโพล ๖๑ เปอร์เซ็นต์อยากได้พรรคการเมืองหน้าใหม่ แต่ถ้าตั้งขึ้นมาเพื่อหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ ละก็ ไม่เอาดังที่คะแนน ๕๓ เปอร์เซ็นต์ บอกว่า ไม่เหมาะสม นั่นละ

โดยสาเหตุของความไม่เหมาะสมอยู่ที่ “อาจถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตี อยากได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ควรให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ” และที่อยากได้พรรคการเมืองใหม่ๆ เพราะ

เป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชนมีตัวเลือกมากขึ้น เปิดโอกาสให้คนใหม่ ๆ เข้ามาทำงาน รู้สึกเบื่อพรรคการเมืองเดิมๆ อยากรู้ว่าจะมีพรรคใดเกิดขึ้นมาใหม่บ้าง ทำให้บรรยากาศทางการเมืองคึกคัก”


แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งที่โพลออกมาต่อต้านการจะกลับมาครองอำนาจของบิ๊กตู่อีกครั้งหลังเลือกตั้ง ผ่านทางพรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่สองสามพรรค ที่เรียกกันว่า พรรคทหาร

ซึ่งหากจัดตั้งสำเร็จ แล้วหลังเลือกตั้งได้ ส.ส.เข้าสภาสักสี่ซ้าห้าคน ก็สามารถป่วนปั่นให้การตั้งรัฐบาลโดยพรรคเก่าๆ ไม่ลงตัว (รัฐธรรมนูญ คสช.ออกแบบไว้ให้สภาผู้แทนฯ เป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีพรรคใดสามารถเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดได้) ต้องทำการผสมน้ำพริกปนน้ำยา เอาประยุทธ์มาเป็นนายกฯ คนนอกจนได้

การที่ คสช. ใช้อำนาจรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา ๔๔ ออกคำสั่งให้ปรับการดำเนินงานตาม พรป. พรรคการเมือง ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมนั่นแล้ว ทั้งนี้เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่มีเวลาจัดเตรียมและตั้งตัวทันเข้าแข่งกับพรรคการเมืองเก่าๆ ได้อย่างดี

แล้วนี่ไม่ใช่การบังเอิญ ที่พรรคซึ่งจะตั้งขึ้นใหม่ทั้งพรรค ประชาชนปฏิรูปโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน และพรรค ประชารัฐ ที่นายวัชระ เพชรทอง จากค่ายประชาธิปัตย์ออกมาปูดไว้แล้วว่า มีกำนันเทือกคนดังหนุนหลัง ล้วนประกาศชัดแจ้งว่าตั้งขึ้นมาเพื่อจะหนุนประยุทธ์เป็นนายกฯ อีก

หนังสือพิมพ์คมชัดลึกซึ่งพูดได้เต็มปากว่านอกจากพยายาม อยู่เป็นกับคณะรัฐประหารมาโดยตลอดแล้ว มีท่าทีถือหางทางการเมืองให้แก่พรรคประชาธิปัตย์อยู่เนืองๆ แจงประเด็นการใช้ ม. ๔๔ ครั้งล่าสุดของ คสช. ว่า

“คำสั่งดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขในการคงความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของพรรคเก่าไว้เข้มกว่าเงื่อนไขตามกฎหมายพรรคการเมือง ๒๕๖๐” ด้วยการกำหนดให้พรรคการเมืองเก่าต้องให้สมาชิกทำหนังสือยืนยันและจ่ายค่าบำรุงพรรคทันที ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการทางการเมืองได้

“คำสั่งนี้ไม่ได้รีเซตสมาชิกพรรค แต่ก็ถือได้ว่าเกือบจะรีเซต เพราะทำได้ยากขึ้น และมีเวลาดำเนินการสั้นลง จาก ๙๐ วัน เหลือแค่ ๓๐ วันเท่านั้น” คมชัดลึกอ้าง นักวิเคราะห์การเมืองของตน

นอกเหนือจากนั้นยังกำหนดให้พรรคการเมืองเก่าเริ่มกิจกรรมการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๑ แต่พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่จะเริ่มงานได้วันที่ ๑ มีนาคม ก่อนพรรคเก่า ๑ เดือน นี่เป็นการเปิดโอกาสให้พรรคใหม่ตั้งตัวทัน และพร้อมสำหรับการหาเสียงได้เท่ากับพรรคเก่า
 
เท่ากับ คสช.ประกาศแล้วว่าจะปลดล็อคพรรคการเมือง (เก่า) ในเดือนเมษายน และให้พรรคที่ตั้งใหม่ทำกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ระหว่างนี้ คสช. อ้างว่ายังมีความจำเป็นต้องบังคับใช้คำสั่งที่ ๕๗/๒๕๕๗ (ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม) และ ๓/๒๕๕๘ (ห้ามชุมนุมเกิน ๕ คน) เอาไว้ต่อไป

“เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างการดําเนินการตามกฎหมายไปกระทํากิจกรรมทางการเมืองอื่น อันกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและความปกติสุขในบ้านเมือง” รวมทั้งจะรอให้จัดทำแผนปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปีเสร็จเสียก่อนด้วย

จะอ้างอย่างไรก็แล้วแต่ คมชัดลึกได้ฟันธงไปแล้วว่า ท่าทีของ คสช. เวลานี้ เป็นการ ล็อค พรรคเก่าเอาไว้เหมือนเดิม วางกติกาใหม่เพิ่มความลำบากแก่พรรคเก่า และ “ยังซ่อนหมากกล เปิดช่องให้ ‘รีเซตโรดแม็พเลือกตั้งได้อีก



ท่าทีของ คสช. ที่สอดรับประสานกับบทบาทของไพบูลย์ นิติตะวัน และสุเทพ เทือกสุบรรณ ทำให้สื่อสายหลักบางรายเริ่มอยู่ไม่เป็นกับประยุทธ์เสียแล้ว