วันพุธ, ธันวาคม 20, 2560

ไทยรัฐออนไลน์ Exclusive : เปิดเบื้องลึกอียูยอมฟื้นสัมพันธ์กับไทยหลังสะบั้นจากปฏิวัติ โดยที่ผ่านมา ทั้ง คสช. และรัฐบาลได้รักษาความสัมพันธ์ และดำเนินมาตรการต่างๆ ตามข้อเรียกร้องของอียูมาตามลำดับ



นายมนัสวี ศรีโสดาพล หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป หรือ อียู ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงเหตุผลและรายละเอียดต่างๆ ถึงกรณีที่อียูฟื้นความสัมพันธ์กับไทย...


เปิดเบื้องลึกอียูยอมฟื้นสัมพันธ์กับไทยหลังสะบั้นจากปฏิวัติ


โดย ไทยรัฐออนไลน์
19 ธ.ค. 2560


เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมนัสวี ศรีโสดาพล หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป หรือ อียู ให้สัมภาษณ์พิเศษ นายบุญธง ก่อมงคลกูล ผู้สื่อข่าวไทยรัฐกรุ๊ปประจำเบลเยียม หลังจากอียูออกแถลงการณ์ข้อมติของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเกี่ยวกับไทย ระบุให้มีดำเนินการติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับประเทศไทยเพื่ออำนวยความสะดวกการเจรจาในประเด็นที่มีความสำคัญร่วมกัน ดังนี้

สาเหตุหลักที่อียูยอมคืนความสัมพันธ์กับไทยทุกระดับคืออะไร?

นายมนัสวี : อียูเห็นถึงพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมในการกลับสู่ประชาธิปไตยของไทยรวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงว่า จะมีการเลือกตั้งในช่วงเดือน พ.ย.2561 และความคืบหน้าของการดำเนินการร่างกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ที่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน

อียูตระหนักถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-อียู เพราะนอกจากการที่อียูมีการค้า และการลงทุนเป็นกอบเป็นกำกับไทยแล้ว ยังเล็งเห็นบทบาทของไทยในภูมิภาค ทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ อีกทั้งเป็นพันธมิตรในการขับเคลื่อนประเด็นท้าทายต่างๆ ของโลก เช่น สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนั้น บทบาทของไทยฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อียู ระหว่าง 2558-2561 ซึ่งได้แสดงถึงความตั้งใจจริง และความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่จะยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-อียูให้แน่นแฟ้นขึ้น ทำให้ได้รับความชื่นชมจากอียูเป็นอย่างมาก

ฝ่ายไทยได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการปรับความสัมพันธ์ดังกล่าว?


นายมนัสวี : การเปิดกว้างให้มีการติดต่อทางการเมืองทุกระดับระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกของอียูทั้ง 28 ประเทศ และกับคณะกรรมาธิการยุโรป จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับไทยทั้งในทางการทูตและในทางธุรกิจ นอกจากนั้น จะเป็นโอกาสดึงดูดให้ยุโรปมาช่วยสนับสนุนการลงทุนใน Eastern Economic Corridor (EEC) และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ทั้งตลอดจนเพิ่มพูนการค้าระหว่างอียูกับไทยอย่างเป็นรูปธรรม โดยเปิดโอกาสให้มีการเตรียมการเพื่อรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู





เงื่อนไขของอียูเกี่ยวกับการเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพพื้นฐาน เป็นการสร้างความกดดันให้กับฝ่ายไทยมากน้อยเพียงใด?

นายมนัสวี : อียูให้ความสำคัญกับหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพพื้นฐานมาโดยตลอด เพราะเป็นค่านิยมที่ก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบัน และอียูก็พูดคุยเรื่องหลักการเหล่านี้กับหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่กับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว รวมถึงประเทศสมาชิกอียูด้วยกันเอง

ไทยรับฟังอียูในฐานะมิตรและอียูรับฟังไทยถึงสถานการณ์และสิ่งที่ทำมาโดยตลอด เช่น การที่รัฐบาลกำหนดให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนการเลือกตั้งที่ยุติธรรม และการเป็นประชาธิปไตยก็เป็นเป้าหมายร่วมกันของทั้งไทยและอียูอยู่แล้ว

การติดต่อทางการเมืองทุกระดับของอียูมีเป้าหมายเพื่อติดตามและสอดส่องการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีหน้าหรือไม่?

นายมนัสวี : ที่ผ่านมา ในทุกโอกาสที่มีการพบปะกับระดับการเมืองของต่างประเทศรวมถึงกับประเทศสมาชิกอียู ฝ่ายไทยได้ใช้โอกาสแจ้งถึงการดำเนินการตามโรดแม็ปมาโดยตลอดอยู่แล้ว และว่าหากมีการติดต่อทางการเมืองในทุกระดับกับอียูเพิ่มขึ้น ฝ่ายไทยคงใช้ช่องทางนี้ชี้แจงความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน นอกเหนือจากการหยิบยกประเด็นอื่นๆ ที่ต่างฝ่ายต่างสนใจ

อียูให้ความสำคัญกับไทย เพราะมีความร่วมมือที่ดีกันหลายเรื่อง เช่น การทำประมงอย่างยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และอียูอยากเห็นไทยเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคในประเด็นเหล่านี้ สำหรับเรื่องประชาธิปไตยนั้นก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีการหารือกันด้วยดี ไม่ใช่เป็นเรื่องที่อียูจะติดตามสอดส่องเป็นการเฉพาะ และในอียูเองก็มีการหารือเรื่องหลักการประชาธิปไตยของประเทศสมาชิกอียูด้วยกันเอง

ใบเหลืองที่อียูให้ไทยด้านการประมงจะต้องใช้เวลาอีกนานไหมในการปลดล็อก ประเด็นหลักที่ติดขัดในขณะนี้ คืออะไร?

นายมนัสวี : ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในไทยเป็นเรื่องใหญ่ที่มีมาช้านาน โดยในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ไทยและอียูได้หารืออย่างสม่ำเสมอ และอียูเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยที่จะแก้ไขปัญหาและปฏิรูปให้สามารถทำการประมงได้จนชั่วลูกชั่วหลาน โดยอียูเป็นห่วงเรื่องการรักษาทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน จะเห็นได้จากการที่อียูให้ใบเหลืองด้านการทำประมงผิดกฎหมายกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทย และการที่อียูเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ Our Ocean Conference เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศมอลตาแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างยิ่งยวด





การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู จะเริ่มต้นใหม่ได้เมื่อไหร่ และคาดว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่?

นายมนัสวี : การหารือระดับเทคนิคจะเริ่มต้นได้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอียูสนใจให้มีการหารือเรื่อง FTA กับไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การเจรจาถูกระงับไปตั้งแต่ปี 2557 จึงคาดว่า ฝ่ายอียูอยากจะให้มีการพูดคุยเรื่อง FTA เพื่อไม่ให้เสียเวลา และอียูเองต้องใช้เวลานานพอสมควรในการเจรจากับประเทศต่างๆ ก่อนได้ข้อสรุป เช่น การเจรจากับสิงคโปร์ เวียดนาม และล่าสุด กับญี่ปุ่น

นอกจากนั้น กระบวนการที่จะให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ก็ใช้เวลานานเช่นกัน เพราะนอกจากต้องได้รับความเห็นชอบจากสภายุโรปแล้ว ยังต้องได้รับการเห็นชอบของประเทศสมาชิก ซึ่งกระบวนการภายในของแต่ละประเทศมีความซับซ้อนต่างกัน เช่น สำหรับเบลเยียมต้องได้รับการเห็นชอบจาก 6 สถาบัน ได้แก่ รัฐบาลกลาง 2 รัฐบาลภูมิภาค และ 3 ประชาคมด้วย

ประเด็นที่ท่านทูตเห็นว่า สังคมไทยควรจะรับทราบเพิ่มเติม?

นายมนัสวี : นอกจากความสำคัญทางด้านการค้าและการลงทุนที่การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท เป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น และบริษัทของอียูมาลงทุนในไทยมากเป็นลำดับ 3 ในช่วง 10 ปี รองจากญี่ปุ่นและอาเซียน

มีหลายเรื่องไทยกับอียูร่วมมือกันด้วยดี เช่น การพัฒนาการประมงอย่างยั่งยืน มาตรฐานความปลอด ภัยด้านการบินพลเรือน การต่อสู้กับปัญหาการค้าไม้ผิดกฎหมาย การยกระดับมาตรฐานแรงงาน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย และจากการพูดคุยกับฝ่ายอียูที่บรัสเซลส์ ทั้งกับคณะกรรมาธิการยุโรป กับประเทศสมาชิกและสภายุโรป ต่างมีความประทับใจต่อความร่วมมือที่ไทยกับอียูมีมาช้านาน และความก้าวหน้าของไทยในหลายๆ เรื่อง ฝ่ายอียูมีความคาดหวังที่จะให้ไทยเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค จึงมีความพร้อมและมีความตั้งใจจริงที่จะสนับสนุนการปฏิรูปของไทย





การพูดคุยกับอียูเป็นลักษณะสร้างสรรค์และเชิงแนะนำ เพราะทั้งไทยกับอียูก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากเป็นสังคมประชาธิปไตย มีการพัฒนา มีความกินดีอยู่ดี และมีส่วนร่วมในสังคมระหว่างประเทศที่ดี ซึ่งอียูเห็นคุณค่าและบทบาทของไทยที่ทำมาโดยตลอดทุกยุคทุกสมัย

ทั้งนี้ การปรับข้อมติของคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเกี่ยวกับไทย เมื่อ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่จะก้าวไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย-อียู ให้กลับสู่ปกติและให้แน่นแฟ้นขึ้นไปในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อียูได้ตัดสัมพันธ์กับไทยหลังจากมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยที่ผ่านมา ทั้ง คสช. และรัฐบาลได้รักษาความสัมพันธ์ และดำเนินมาตรการต่างๆ ตามข้อเรียกร้องของอียูมาตามลำดับจนมีการคืนความสัมพันธ์กัน.