วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 28, 2560

รถไฟความเร็วสูง กับ รถไฟความเลวสูง




...


สั่งลดไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เหลือแค่ความเร็วเป็นปานกลาง หวังก่อสร้างปี’61 ก่อนเลือกตั้ง





26 ธันวาคม 2560
ข่าวสดออนไลน์


นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ที่ญี่ปุ่นส่งผลการศึกษามาถึงรัฐบาลไปแล้วค่าก่อสร้างมากกว่า 4 แสนล้านบาท นายกรัฐมนตรี สั่งให้ไปดูเรื่องความคุ้มค่านั้น เบื้องต้นอาจมีการปรับลดความเร็วจากความเร็วสูง 250 กิโลเมตร(ก.ม.)/ชม. ให้เหลือเป็นความเร็วปานกลางประมาณ 180-200 ก.ม./ชม. เพื่อลดค่าใช้จ่าย และสามารถดำเนินการได้ในปี 2561 ก่อนการเลือกตั้ง

ส่วนปี 2561 ขับเคลื่อนมาตรการด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเมืองรอง โดยคมนาคมต้องหารือกับกระทรวงท่องเที่ยวโดยใช้การท่องเที่ยวเป็นหลักเพื่อวางโครงข่ายคมนาคม ต้องเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ ใช้การท่องเที่ยวเป็นโจทย์ เพื่อให้การคมนาคมเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ รัฐบาลไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด ให้เน้นเส้นทางที่มีกำไร

“ก่อนหน้านี้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ สร้างเพื่อรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศจีน แต่ตอนนี้จีนไม่เชื่อมในจุดเชียงใหม่ หันไปเชื่อมเส้นอีสานแทน ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูง ลดความเร็วลง ทำได้เลยไม่ต้องศึกษาเพราะทุกอย่างคิดไว้หมดแล้ว ทุกอย่างต้องเริ่มให้ได้ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 คมนาคมต้องคิดใหม่เน้นเส้นทางทำกำไร ดำเนินการร่วมลงทุน หรือเอกชนลงทุนแล้วเก็บค่าต๋ง แต่ให้ไปดูเงื่อนไขว่าเราจะเปิดแบบพีพีพีได้หรือไม่เพราะโครงการนี้เราคุยกับญี่ปุ่นว่าเป็นโครงการจีทูจี”นายสมคิด กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ สั่งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทบทวนงบประมาณกับความคุ้มค่าของเงินลงทุน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 380 ก.ม. ให้นำไปเทียบกับโครงการความเร็วสูงที่ไปภาคอีสาน สามรถต่อขยายได้ไปถึงจีน ให้ทบทวนสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ว่ายังเป็นเป็นรถไฟความเร็วสูงอยู่หรือไม่ หรือให้ลดความเร็วเหลือเป็นปานกลางแทน

ส่วนการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 เพิ่มเติมจากหลังเดิมที่มีอยู่เพื่อลดการแออัด แต่กำลังพิจารณาว่าจะใช้พื้นที่ก่อสร้างที่สันกำแพงเชียงใหม่ หรือ ลำพูนแทน

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่ เสนอเข้ามาเป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูงคือมากกว่า 4 แสนล้านบาท โดยในช่วงเส้นทาง กทม.-พิษณุโลก ซึ่งเป็นโครงการระยะแรกใช้วงเงินก่อสร้างถึง 2.76 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ครม. ไม่ได้ชะลอโครงการนี้แต่นายกฯ และครม. ให้กระทรวงคมนาคมไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมถึงความคุ้มค่าของโครงการ และพิจารณาถึงการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการ ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอรายละเอียดของโครงการนี้ให้ครม. พิจารณาเห็นชอบในหลักการในเดือนมี.ค.ปีหน้า

สำหรับภาพรวมของแผนการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งในภาคเหนือ กระทรวงได้หารือกับภาคเอกชนและนำข้อเสนอมาหารือกันในที่ประชุมครม. โดยเส้นทางรถไฟทางคู่ตามข้อเสนอของภาคเอกชนที่กระทรวงฯ สนับสนุนคือเส้นทางเด่นชัย-เชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางจาก กทม. มายังเชียงใหม่เหลือ 12 ชั่วโมงจากเดิม 14 ชั่วโมง ส่วนเส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย-เชียงของ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม. ได้ในช่วงต้นปี 2561 โดยนายกฯ ให้กระทรวงฯ ไปดูแผนการพัฒนาระบบรางขนาดเล็กที่จะเชื่อมโยงจากเส้นทางรถไฟสายหลักไปยังเส้นทางท่องเที่ยวในเมืองรองเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวมากขึ้น

ในส่วนของการพัฒนาโครงการทางถนนปัจจุบันภาคเหนือได้รับการจัดสรรงบประมาณในสัดส่วน 24% เพื่อก่อสร้างถนน แบ่งเป็นถนนที่เชื่อมโยงภาคเหนือกับประเทศเพื่อนบ้านไปเชื่อมโยงกับถนนของ สปป.ลาว ที่จะเชื่อมไปยังประเทศจีน และการเชื่อมโยงภาคเหนือกับภาคอื่นๆ ซึ่งนายกฯ ให้นโยบายว่าควรมีการก่อสร้างในเส้นทางเป็นช่วงๆ เชื่อมโยงระหว่างเมืองท่องเที่ยว ส่วนโครงการที่กระทรวงฯ เร่งรัดได้แก่ถนนอุตรดิตถ์-ตาก และเส้นทางสายแม่สอด-น่าน และในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในคลัสเตอร์ภาคเหนือโดยกระทรวงฯ จะหารือกับผู้ประกอบการเอกชนในการจัดหารถบัสนำเที่ยวเพื่อให้บริการคนจากสนามบินมายังสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ