วันพุธ, ธันวาคม 27, 2560

ปรากฏการณ์ “ตูน บอดี้สแลม” การจัดสรรเงินงบประมาณที่ไม่เพียงพอ กับขยะใต้พรมที่รอการแก้ไข





ปรากฏการณ์ “ตูน บอดี้สแลม” กับขยะใต้พรมที่รอการแก้ไข


22 ม.ค. 2560
ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
โดย หมอดื้อ


ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา กรรมการแพทยสมาคม) ชี้ข่าวการออกวิ่งที่ใช้เพียงแค่สองเท้า เวลา 10 วันกับระยะทาง 400 กม. แต่สามารถทำให้ รพ.แห่งหนึ่งลืมตาอ้าปาก ได้เงินบริจาคเพื่อซื้อเครื่องมือทางการแพทย์จำนวนถึง 70 ล้านบาท!!! ได้สร้าง ปรากฏการณ์บนโลกโซเชียลมีเดีย

พร้อมๆกันนี้ ทำให้สังคมได้รับรู้อีกมุมมืดหนึ่งของวงการสาธารณสุขไทยที่บางคนไม่ต้องการให้รับรู้ว่ามีอยู่จริง คือความจริงที่ว่า “โรงพยาบาลรัฐมากมาย ล้วนทำงานภายใต้ความขาดแคลนอย่างมาก!!!” แม้มีคำกล่าวว่าไม่ขาดแคลน หากแต่ปริมาณงานมากขึ้นทำให้เครื่องมือไม่พอ?? แต่อย่างน้อยก็เป็นการบอกสังคมให้ทราบว่า ทุกวันนี้มีวิกฤติอะไรเกิดขึ้นกับ รพ.ของประเทศ

สังคมไทยที่ผ่านมาเคยชินกับการนำเสนอข่าวด้านเดียวที่เป็นด้านลบของ รพ. ทำนองว่า “มา รพ.แล้วตายได้ไง!?!” หรืออย่างคำกล่าวของใครบางคนบนโลกโซเชียลว่า “ขอเพียงรักษาแล้วไม่ตาย ไม่พิการ ก็จะไม่มีการฟ้องร้อง!!!” ดังนั้นหากไม่อยากให้ฟ้องร้อง ก็รีบๆออกกฎหมาย “เงินด่วนได้” มาโดยเร็ว ซึ่งสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างมาก จนต้องค้านสุดลิ่มทิ่มประตู เพราะเงินที่เขาจะเอาไปไล่แจกแบบไม่จับต้นชนปลายว่าอะไรผิดอะไรถูก ก็คือ เงินก้อนเดียวกับที่ รพ.ต้องการเอามาใช้ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์และจ้างคนมารักษานั่นเอง!! ดังนั้นปรากฏการณ์วิ่งสะท้านพิภพของคุณตูน Bodyslam จึงเข้าได้กับทฤษฎี “Butterfly effect” หรือ “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” ที่ทำให้มีการตั้งคำถามว่า แล้วเราต้องหาดาราอีกกี่ท่านมาวิ่งเพื่อให้อีกเกือบ 800 รพ.ในต่างจังหวัดได้มีโอกาสสำหรับการจัดหาเครื่องมือแพทย์ที่ไม่พอกับปริมาณงาน

ย้อนเวลาเมื่อ 20 ปีก่อน หากใครป่วยหนักหรือเป็นโรคร้ายแรง โรคหายาก ต้องรีบพาตัวมาโรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลของรัฐโดยเร็ว เพราะศักยภาพ ความพร้อมสูงกว่าโรงพยาบาลเอกชน แต่ในปัจจุบันหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ (ยกเว้นใน รพ.ระดับโรงเรียนแพทย์) โรงพยาบาลเอกชนไม่ใช่ลูกไล่ของโรงพยาบาลรัฐอีกต่อไป นับแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีหลักการที่ดีมาก แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติที่ประชาชนไม่ทราบมากมาย เพราะทุกคนมองแต่สิ่งที่ตนเองจะได้ และเต็มใจที่จะหรี่ตาลงไม่ยอมรับความจริงของข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ปัญหาความขาดแคลนไม่ได้จบสิ้นที่เครื่องมือแพทย์ไม่พอกับปริมาณงาน!! แต่ที่หนักหน่วงกว่าเพราะถึงมีเงิน 70 ล้านบาทก็แก้ปัญหาไม่ได้อยู่ดี คือ การหาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พยาบาล” มาให้การดูแล ผลการศึกษาวิจัยพบว่า พยาบาลไทยใน รพ.รัฐมีความไม่พอใจในงานของตนเองสูงมาก หลายรายเป็นโรคซึมเศร้า ท้อแท้มองหางานใหม่อยู่ตลอดเวลาเพราะได้รับความกดดันจากผู้ป่วยและญาติสูงมาก (ไม่นับการถูกทำร้าย การดูถูก ไม่ให้เกียรติ) หลาย รพ.ขนาดใหญ่ที่มีความสามารถในการหาเงินด้วยตนเองสูง ก็ยังแก้ปัญหาความขาดแคลนพยาบาลไม่ตก ทำให้ห้องผ่าตัดและเตียงผู้ป่วยต้องปล่อยร้าง ทุกวันนี้สารพัดหน่วยงานมาเร่งเร้าให้เพิ่มมาตรฐานการดูแลเอาใจผู้ป่วย ซึ่งวัดกันด้วยการกรอกเอกสารสารพัด แต่ไม่เคยมีหน่วยงานไหนเลยที่ออกมาพูดเรื่องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ “มาตรฐานการทำงานและคุณภาพชีวิตของบุคลากร” เมื่อผสมโรงกับนโยบายของฝ่ายการเมืองที่เร่งเร้าคะแนนเสียงด้วยนโยบายประชานิยม ผลคือ “ปัญหาสมองไหลที่ยิ่งผลิตยิ่งไม่พอ” ทั้งๆที่ความจริงแล้วประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาผลิตบุคลากรไม่พอ แต่ปัญหาคือ “ผลิตแล้วแต่ไม่สามารถรักษาคนเหล่านั้นไว้ในระบบได้ต่างหาก”

“มาตรฐานการทำงาน” ถือเป็นสิ่งที่บุคลากรในปัจจุบันต้องการมากที่สุด เพราะสภาพทุกวันนี้ถูกบีบบังคับให้ขึ้นเวร ทำงานควบ ขาดอัตรากำลัง และไม่ต้องแปลกใจที่ทุกวันนี้มีการโพสต์ภาพแพทย์พยาบาลที่แม้แต่ป่วย หากแต่ยังมีลมหายใจ ก็ต้องแบกสังขารมาทำงาน ไม่เช่นนั้นเพื่อนร่วมวิชาชีพจะต้องรับภาระแทน ดังนั้นคำพูดที่ว่าจะแก้ปัญหาการฟ้องร้อง ด้วยการบังคับออกมาตรการความปลอดภัยของผู้ป่วย แต่ไม่ละเลยการแก้ต้นเหตุ จึงเป็นตลกร้ายสำหรับบุคลากรทุกครั้งที่ได้ฟังคำสัมภาษณ์จากฝ่ายบริหารของประเทศ บุคลากรล้วนทำใจที่จะตกเป็นแม่มดของขบวนการล่าแม่มด เมื่อเกิดเหตุไม่พึงประสงค์จากการรักษาพยาบาลที่เต็มไปด้วยความไม่พร้อมนานาชนิด สารพัดองค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นโดยดูดงบประมาณที่เป็นเงินก้อนเดียวกับที่จะใช้ซื้อเครื่องมือแพทย์ จ้างบุคลากร อบรมทักษะ ยิ่งเป็นการเร่งให้เกิดความล้มละลายของระบบมากยิ่งขึ้น

ในต่างประเทศ ภาษีเหล้าบุหรี่ จะถูกจัดสรรให้ รพ.โดยตรงเพื่อใช้วิจัยหรือจัดซื้อยาราคาแพงสำหรับโรคเหล่านี้ กรณีแพ้ยาหรือวัคซีน เขาจะไม่ให้ฟ้องร้องบุคลากรหรือโรงพยาบาลเพราะไม่ใช่คนผิด แต่แก้ปัญหาโดยการจัดเก็บภาษียาและวัคซีนจากบริษัทไว้ใช้เยียวยาผู้ป่วยแพ้ยาโดยตรง ไม่ใช่ปล่อยเรื้อรังให้ฟ้องร้อง ร้องเรียนเป็นข่าวซ้ำซากจนภาพพจน์บุคลากรป่นปี้ไม่มีชิ้นดี ทั้งๆที่ทำไปตามตำราและมาตรฐานแล้ว ที่สำคัญคือไม่มีการจัดตั้งกองทุนเงินด่วนได้แบบที่บางกลุ่มพยายามผลักดัน โดยอ้างว่าจะลดปัญหาการฟ้องร้อง เพิ่มความปลอดภัย โดยไม่แม้แต่จะสอบสวนหาว่ากระบวนการรักษามีความบกพร่องหรือไม่อย่างไร

หากรัฐจริงใจที่จะแก้ปัญหาแบบบูรณาการ คงต้อง “คสช.” คืนความสุขให้บุคลากรที่เป็นฟันเฟืองหลักเป็นลำดับแรก ด้วยการออกมาตรการให้คนไทยมีความสามารถในการดูแลตนเองให้มากขึ้น ไม่ใช่ออกมาตรการที่คิดแต่จะให้พึ่งพารัฐ ดูอย่างศาสตร์ของพระราชา ที่ทรงสอนเราผ่านการปฏิบัติจริง ด้วยการสอนให้ประชาชนพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด รัฐควรจะเริ่มมาตรการกำหนดภาระงาน (Working time directive) ที่เหมาะสม ไม่ควรที่จะต้องให้ประชาชนมารับการดูแลแบบเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจากความไม่พร้อมของระบบและจากบุคลากรที่อ่อนล้าเพราะอดหลับอดนอนมาทั้งคืน ห้องฉุกเฉินไม่สมควรเป็นตลาดสดที่ใครอยากเข้ามาเมื่อไรก็ได้ ในประเทศที่เจริญแล้ว การไปห้องฉุกเฉินโดยไม่มีเหตุฉุกเฉินถึงเป็นถึงตาย อาจถูกเชิญออกเพื่อให้ไปทำระบบนัดหมาย หรืออาจหมายถึงราคาที่ต้องจ่ายเป็นพิเศษเหตุเพราะมาใช้ทรัพยากรราคาแพงโดยไม่มีเหตุสมควร ที่สำคัญคือทำให้ผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงต้องเสียโอกาสในการรอดชีวิตเพราะความไม่รับผิดชอบของคนบางคน

หากรัฐไม่เริ่มทำนับแต่ตอนนี้ ต่อให้มีอีกกี่ตูน ปัญหาความไม่พร้อมของระบบสาธารณสุข ปัญหาการทำงานอย่างไร้คุณภาพชีวิตและความสุขของบุคลากร ปัญหาการร้องเรียนฟ้องร้อง คงไม่มีวันจบสิ้น เสียดายรากฐานที่สมเด็จพระราชบิดาและผู้หลักผู้ใหญ่ในอดีตวางไว้อย่างดี ที่ตอนนี้กัดกร่อนจนหลายโรงพยาบาลมีปัญหาขาดคน ขาดเงินที่จะมาดูแลรักษาคนไทย “อย่างมีคุณภาพ” ถึงเวลาแล้วที่ “คสช.” ต้องคืนความสุขให้กับบุคลากรสาธารณสุขของประเทศ อย่าปล่อยให้ รพ.ต้องอยู่โดยการพึ่งพิง หลวงปู่ หลวงพ่อ ผ้าป่า กฐิน หรือสองเท้าของดารา เหตุเพราะเงินงบประมาณที่ถมไม่มีวันพออันเนื่องมาจากประชานิยมจนเกินพอดี...โปรดแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ตามนโยบาย version 4.0

หมอดื้อ

ooo
ตอบโจทย์ : ปรากฏการณ์ “ตูน บอดี้สแลม” โรงพยาบาลรัฐ “ถังแตก” (26 ธ.ค. 60)




https://www.youtube.com/watch?v=Slh7MBGxau0

ThaiPBS
Published on Dec 26, 2017

ดำเนินรายการโดย : คุณวราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ร่วมรายการ : นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น (สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์) ตอบโจทย์ ร่วมพูดคุยประเด็น...โครงการ ก้าวคนละก้าว ปรากฏการณ์ ตูน บอดี้สแลม ภาพสะท้อนวงการสาธารณสุขไทย ติดตามชมรายการตอบโจทย์ วันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2560 เวลา 22.40 - 23.00 น. ทางไทยพีบีเอส หรือรับชมผ่านทีวีออนไลน์ทาง http://www.thaipbs.or.th/Live

...

ชวนอ่านต่อ...

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี: หลักประกันสุขภาพฯ คือสิทธิที่ถอยหลังกลับไม่ได้

ประชาไท

...