วันอาทิตย์, ธันวาคม 24, 2560

ภาษีปาหี่ "ผ่านมาแล้ว 1 ปี 'ภาษีมรดก'" เก็บไม่ได้สักแดง! - ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: ความชั่วของผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่




ที่มาภาพ:image.bangkokbiznews.com

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง: ความชั่วของผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่


2017-12-23
โดย โสภณ พรโชคชัย
ที่มา ประชาไท


ขึ้นชื่อว่าภาษีก็ไม่มีใครอยากเสีย แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้ต่างจากภาษีอื่นอย่างชัดเจน เป็นคุณอย่างยิ่งต่อประเทศชาติและประชาชน แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่พยายามทำความเข้าใจกับประชาชน กลับเบื่อเมาประชาชน สุดท้ายก็พาลพาโลเลิกเก็บภาษีนี้ ปาหี่/ลิเกนี้ก็รูดม่าน/ปิดฉาก หันมาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าในขณะที่นายทุนใหญ่ก็ผลักภาระภาษีให้ ทั้งนี้ก็เพียงเพราะผู้มีอำนาจไม่ต้องการเสียภาษี แม้ต้องขายชาติก็ยอม!

มีการประชุมเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเมื่อเร็วๆ นี้โดยระบุว่า "กมธ. เคาะอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยปรับลดลง 40% จากร่างเดิมที่ ครม. อนุมัติ หวังลดกระแสคัดค้าน ขณะ อัตราจัดเก็บจริงต่ำกว่าเกณฑ์ พร้อมยกเว้นภาษีบ้านหลังหลักมูลค่าไม่เกิน 20 ล้าน ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยกเว้นภาษีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้าน คาดบังคับใช้ปี 2562 ด้าน คลัง เผยรายได้ภาษีจากเกณฑ์ใหม่ส่อลดเหลือ 3.7 หมื่นล้าน จากร่างเดิม 6-7 หมื่นล้าน"

ผู้มีอำนาจพยายามบิดเบือนว่าภาษีนี้เป็นภาระแก่ประชาชน จึงพยายามเตะถ่วงเพราะที่แท้จริงตนไม่ต้องการเสียภาษี การลดหย่อนต่างๆ นั้นแท้จริงก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่ต่างหาก ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์อันใด ดูอย่างประชาชนคนเล็กคนน้อยมีแค่จักรยานยนต์เก่าๆ สักคันหนึ่งราคา 30,000 บาท ก็ต้องเสียภาษีปีละราว 400 บาท หรือประมาณ 1% ของมูลค่า ถ้าประชาชนผู้มีห้องชุดราคาเพียง 300,000 บาท ก็เสียภาษีแค่ปีละ 3,000 บาท หรือเดือนละ 250 บาท แต่ถ้าเรามีทรัพย์ราคา 1,000 ล้านบาท ก็ต้องเสียภาษีปีละ 10 ล้านบาท นายทุนใหญ่ผู้ครองครองทรัพย์ราคาสูงจึงเสียดายที่จะเสียภาษีต่างหาก

จะสังเกตได้ว่าตอนที่เราจะพยายามให้มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในปี 2535 ทางราชการใช้ทุกองคาพยพในการทำความเข้าใจกับประชาชน แต่กรณีนี้ทางราชการกลับไม่ได้ให้ความรู้แก่ประชาชน ว่าภาษีนี้เป็นคุณอย่างไร เมื่อมีภาษีนี้แล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มก็ไม่ต้องเพิ่มให้เป็นภาระแก่ประชาชน ภาษีค่าโอนอันหฤโหดก็จะหายไป การเสียภาษีโรงเรียนที่ไม่เป็นธรรม (เก็บถึง 12.5%) ก็จะยกเลิกไป สวัสดิภาพของประชาชนก็จะดีขึ้น แม้แต่ทางเท้าในเมืองที่มีจักรยานยนต์ขึ้นไปวิ่ง ถนนขรุขระดั่ง "โลกพระจันทร์" ที่มีผู้มากระโจมอกอาบน้ำประท้วงอยู่บ่อยๆ ก็จะหายไปเพราะท้องถิ่นมีงบประมาณมาดูแลนั่นเอง

ภาษีนี้เป็นคุณต่อทุกฝ่าย แต่ถ้าเทศบาล อบจ. และ อบต. รวม 7,852 แห่งทั่วประเทศ จัดเก็บได้เงินเพียงปีละ 37,000 ล้านบาท ก็ยังไม่รู้ว่าจะคุ้มทุนในการจัดเก็บแค่ไหน แถมกลับเป็นการเพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายแก่ท้องถิ่นหรือไม่ สุดท้ายถ้าเก็บไม่ได้ตามเป้า ทางราชการก็หันไปเก็บ VAT โดยคนรวยก็ผลักภาระให้คนจนเช่นเคย แม้แต่ "คนป่า" เข้าเมืองมาซื้อปลากระป๋องสัก 1 กระป๋อง ก็ต้องเสีย VAT เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้นภาษีนี้ยังเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย แต่เดิมท้องถิ่นมีเงินอุดหนุนจากส่วนกลางราว 85% จึงตกเป็นเบี้ยล่าง แต่ถ้าท้องถิ่นเก็บภาษีใช้เองแทนที่จะส่งเข้าส่วนกลางแล้วส่งต่อมาท้องถิ่นอีกทอดหนึ่ง ก็จะทำให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพทางการเงิน ไม่ถูกครอบงำ การที่เงินท้องถิ่นถูกส่งมาจากส่วนกลาง ประชาชนไม่รู้สึกเป็นเจ้าของเงิน จึงอาจเกิดภาวะ "วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง" แต่ถ้าเงินในท้องถิ่น ใช้ในท้องถิ่น ชาวบ้านก็จะรู้สึกหวงแหนทรัพยากรของตนเอง หันมาตรวจสอบมากขึ้น ความโปร่งใสก็จะเกิด คนดีมีคุณภาพก็จะเข้ามาสู่วงการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมมากขึ้น

การที่มีการ "คุย" ว่า "รมช.คลังลั่นจะปิดตำนานออกกฎหมายให้ได้ในรัฐบาลนี้" อันที่จริง ไม่ต้องคุยก็ได้เพราะที่ผ่านมา เราก็ออกกฎหมายภาษีมรดกมาแล้วเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แต่เป็นภาษีปาหี่คือ "ผ่านมาแล้ว 1 ปี 'ภาษีมรดก'" เก็บไม่ได้สักแดง! นับเป็นกรณี "ศรีธนญชัญ" ที่สามารถเข็นภาษีนี้ออกมาได้ แต่อยู่ในสภาพเหมือนไม่มีภาษี แถมยังมีข่าว "ทหาร-ธุรกิจรื้อภาษีที่ดิน ยื้อแปรญัตติแก้ทุกหมวด" ถ้าเป็นในสมัยก่อน อาจอ้างได้ว่านักการเมืองขวางการเก็บภาษี แต่ไทยไม่มีนักการเมืองมาเกือบ 4 ปีแล้ว ก็ยังทำไม่ได้ แสดงว่าที่ผ่านมาต้องมีผู้มีอำนาจอื่นขวางอยู่เบื้องหลังต่างหาก

ที่น่าอัปยศที่สุดก็คือ การที่ผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่ไม่ต้องการเสียภาษี พวกเขาจึงกำลังขายชาติ ถ้าเราไปซื้อบ้านในสหรัฐอเมริกา เราต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปีละ 1-3% ของราคาตลาด แถมยังมีภาษีมรดกระดับมลรัฐและระดับประเทศที่จัดเก็บอย่างเข้มงวด แต่สำหรับประเทศไทย ต่างชาติมาซื้อทรัพย์ในไทยได้สบายๆ โดยไม่ต้องเสียภาษี นี่เท่ากับเรารักษาผลประโยชน์ส่วนตัวโดยการขายผลประโยชน์ชาติต่อต่างชาติ ถือเป็นความอัปยศน่าละอายยิ่ง ในอาเซียน มีเพียงเมียนมาที่เจริญน้อยกว่าไทย และบรูไนที่รวยมหาศาลที่ไม่จัดเก็บภาษีนี้จากประชาชน

โดยสรุปแล้วหลักภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้รับการนำมาใช้กันทั่วโลก เป็นคุณต่อประชาชนคนส่วนใหญ่ที่ต้องร่วมกันเสียภาษี อย่าปล่อยให้ผู้มีอำนาจและนายทุนใหญ่ปล้นชาติพร้อมกับขายชาติให้ต่างชาติด้วยการไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง