วันพุธ, ธันวาคม 27, 2560

มติชนรวบรวม ‘โซเชียลมูฟเมนต์’ แห่งปี ในสังคมจำกัด ‘การเคลื่อนไหว’





รวม ‘โซเชียลมูฟเมนต์’ แห่งปี ในสังคมจำกัด ‘การเคลื่อนไหว’


26 ธันวาคม 2560
ที่มา มติชนออนไลน์


“Social Movement” กลายเป็นหนึ่งในคำที่ถูกพูดถึงอย่างร้อนแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา จากการตอบคำถามนางงามจักรวาลที่ทำให้สังคมต้องตั้งคำถามถึงความหมายของคำนี้

น่าแปลกใจกว่าคำตอบนางงาม คือผู้คนจำนวนมากเข้าใจผิดหรือกระทั่งคิดว่า “บ้านเราไม่มี”

มองย้อนในรอบปีที่ผ่านมา แม้บรรยากาศในสังคมจะไม่เอื้อให้มีการแสดงออกในประเด็นสังคม โดยเฉพาะจากคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป รวมถึงการถูกจำกัดการแสดงความเห็นและถูกเพ่งเล็งเยี่ยมเยียนจากเจ้าหน้าที่

แต่แน่นอน เมื่อความเคลื่อนไหวในสังคมปัจจุบันส่วนหนึ่งอยู่บนโลกเสมือน การรณรงค์เรียกร้องเรื่องต่างๆ จึงไม่จำเป็นต้องออกมาเดินขบวนบนท้องถนนให้เสี่ยงถูกจับกุมเพียงรูปแบบเดียว แต่สามารถรณรงค์ผ่านโลกออนไลน์ได้ รวมถึงการเรียกร้องความต้องการผ่านช่องทางอื่น

แม้หลายครั้งการรณรงค์ออนไลน์สามารถรวบรวมรายชื่อได้มหาศาล แต่เรื่องกลับเงียบหายไม่นำไปสู่อะไร แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนในสังคมฉุกคิดว่ามีปัญหานี้อยู่ในสังคม






‘ตูน’ ฮีโร่วงการสาธารณสุข


ฮอตสุดๆ ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ โครงการก้าวคนละก้าว นำโดย ตูน บอดี้สแลม นักร้องชื่อดัง หลังจากที่เคยวิ่งเพื่อโรงพยาบาลบางสะพานมาแล้ว ในปีนี้เขาหวังระดมทุนให้โรงพยาบาลศูนย์ 11 แห่งทั่วประเทศ ที่ยังขาดแคลนอุปกรณ์เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยจำนวนมาก

ต้องยอมรับว่าการวิ่งจากใต้ไปถึงเหนือสุดของประเทศ สามารถสร้างการพูดถึงได้มากกว่าการจัดคอนเสิร์ตระดมทุนแบบเดิมๆ ในฐานะศิลปิน และทำให้สังคมตระหนักว่าเกิดปัญหาในการจัดสรรงบประมาณสาธารณสุข

แต่สิ่งที่ทำให้สังคมถกเถียงกันคือกลุ่มผู้สนับสนุนเลี่ยงไม่ให้การวิ่งครั้งนี้ถูกเชื่อมโยงกับ “การเมือง” และเป็นไปในรูปแบบการร่วมกัน “ทำบุญ” มากกว่าการเรียกร้องให้รัฐเห็นว่าเกิดความผิดพลาดในการจัดสรรงบประมาณ

รวมถึงการโต้กลับทางโซเชียลกับคนที่ออกมาวิจารณ์ตูนจนแทบไม่มีที่ยืน

ซึ่ง “ตูน” ในฐานะผู้นำการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ก็แสดงออกอย่างมุ่งมั่นว่าต้องการทำเพื่อช่วยเหลือตามกำลังของตน โดยเป้าหมายอยู่ที่หลายชีวิตที่จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล พร้อมน้อมรับคำวิจารณ์ต่างๆ

ด้าน “บิ๊กตู่” ก็ออกมาพูดถึงว่าต้องให้กำลังใจ “ตูน” ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับแนวนโยบายรัฐบาล ที่หลายภาคส่วนต้องช่วยกันทำงาน ซึ่งทั้ง 11 รพ.นั้นรัฐก็ดูแลอยู่ แต่ยอมรับว่างบประมาณมีปัญหาพอควร เพราะเรายังมีรายได้ไม่มาก

โดยนายกฯยังได้มอบเงินส่วนตัวใส่ซองร่วมบริจาคเข้าโครงการด้วย

ซึ่งล่าสุดเงินบริจาคทะลุเกินยอดที่ตั้งเป้าไว้แล้ว และตูนก็ยังมุ่งมั่นที่จะวิ่งให้ถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้



กลุ่มนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย


กลุ่มการเมืองภาคประชาชน


หลังรัฐประหาร พฤษภาคม 2557 เกิดกลุ่มการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยหลายกลุ่ม ทั้งจากการรวมตัวของประชาชนและนักศึกษา เช่น ขบวนการประชาธิปไตยใหม่, พลเมืองโต้กลับ, ดาวดิน, ประชาธิปไตยศึกษา, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย

หรือกระทั่งการรวมตัวของกลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยในชื่อ “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง” ที่เริ่มก่อตั้งเพื่อช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาเมื่อถูกจับขังในเรือนจำ

รูปแบบการเคลื่อนไหวมีอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะช่วงหลังการรัฐประหารที่เกิด “แฟลชม็อบ” ขึ้นหลายครั้ง เป็นการรวมตัวในเวลารวดเร็วเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับคณะรัฐประหาร

แต่เมื่อการยึดอำนาจยืดยาวออกมา กิจกรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวเริ่มเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนขึ้น ทั้งการจัดคอนเสิร์ตระดมทุน การแถลงข่าวโต้รัฐบาล การแสดงออกทางโลกออนไลน์ การจัดเสวนาวิชาการ การจัดนิทรรศการ การทำมิวสิกวิดีโอล้อเลียน

การเคลื่อนไหวหลายครั้งดูเป็นเรื่องธรรมดา ที่กลับแปลกประหลาดเมื่อถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เช่น การเดิน หรือยืนเฉยๆ

เมื่อนักกิจกรรมประกาศล่วงหน้าว่าจะไปปรากฏตัว “ยืนเฉยๆ” ก็จะมีเจ้าหน้าที่มาคอยต้อนรับอย่างพร้อมเพรียง

ช่วงที่ผ่านมานี้แม้เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้มีการจัดกิจกรรมบ้าง โดยไม่มีการควบคุมตัวรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ตอบสนองใดๆ ต่อข้อเรียกร้อง กระทั่งกำหนดการเลือกตั้งก็ยังมีการแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะมีเหตุต้องเลื่อนอีกหรือไม่

กิจกรรมล่าสุด กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยได้ยื่นฟ้องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ห้ามชุมนุม 5 คนขึ้นไป ส่วนประชาธิปไตยศึกษาได้ยื่นขอให้ สนช.เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและลงมติถอดถอนรัฐบาล คสช.ทั้งคณะ


เปิดใช้งานลิฟต์ผู้พิการ ณ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ


ทวงสิทธิ ‘ลิฟต์ผู้พิการ’ ที่บีทีเอส

ภาพผู้พิการนั่งวีลแชร์เรียกร้องสิทธิด้านความสะดวกในการเดินทางเมื่อช่วงต้นปี เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของความเคลื่อนไหวทางสังคมซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

การดำเนินการติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการใน 23 สถานี ควรจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี คือในปี 2559 หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กรุงเทพมหานครและบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ติดตั้งลิฟต์และจัดสิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ ทางลาดและทางเดินสำหรับผู้พิการไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ซึ่ง ณ เวลานั้น สถานีที่มีลิฟต์ผู้พิการมีอยู่เพียง 5 สถานี

ปัญหาหลักของความล่าช้า นอกเหนือจากเพราะติดขัดกับสาธารณูปโภคจำนวนมากที่อยู่ใต้ดิน กรุงเทพมหานครยังให้เหตุผลว่า ประชาชนเจ้าของอาคารบ้านเรือน ณ บริเวณที่ต้องติดตั้งลิฟต์ผู้พิการ มีความไม่มั่นใจว่าลิฟต์อาจกีดขวางหน้าร้านจนสร้างความลำบากในการประกอบอาชีพ ทำให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่แก่เอกชนผู้รับจ้างก่อสร้างได้

เวลาที่ล่วงเลย ไม่มีทีท่าจะรู้จุดสิ้นสุด ทำให้ผู้พิการนั่งวีลแชร์ตัดสินใจรวมตัวที่ศาลแพ่ง ส่งตัวแทนยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายอันเกิดจากความไม่สะดวกในการเดินทาง จำนวน 361,000 บาท

ในที่สุด วันที่ 3 มีนาคม 2560 เครือข่ายผู้พิการ นำโดย “เครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้” ก็ได้รับข่าวดี เมื่อมีการเปิดใช้งานลิฟต์สำหรับคนพิการบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ณ สถานีราชดำริ และสถานีอื่นๆ ในวันเดียวกันรวม 4 สถานี จำนวนลิฟต์ 11 ตัว พร้อมคำมั่นจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครว่าทุกสถานีจะมีลิฟต์ผู้พิการพร้อมให้บริการภายในปี 2560





ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน

หนึ่งในปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมที่สังคมไทยเผชิญมายาวนาน ถูกนำมาขมวดไว้ในประโยคสั้นๆ ที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” อันสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกยิ่งกว่านั้นคือ ความเหลื่อมล้ำในสังคม

จากสถิติกว่า 60,000 คนที่ต้องติดคุกระหว่างรอพิจารณาคดี ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่า เหตุใดคนเราต้องเข้าไปนอนคุกทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิด

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ในฐานะหัวขบวน “เครือข่ายปฏิรูปการประกันตัวเพื่อคนจน” อธิบายว่า ในคดีอาญาจะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลย ไม่มีความผิด ดังนั้น การให้ประกันตัวจึงเป็นเรื่องพื้นฐาน ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาบุคคลนั้น เขาก็ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ นั่นหมายถึงเขาต้องสามารถออกมาสู้คดีได้ ไม่ใช่ติดคุกไว้ก่อน

เพราะหากท้ายที่สุด ศาลตัดสินว่าเขาหรือเธอไม่ได้กระทำความผิด นั่นเท่ากับเป็นการติดคุกฟรี

นี่จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะจน” ในเว็บไซต์ Change.org ซึ่งรวบรวมรายชื่อสนับสนุนของประชาชนเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน เพื่อให้บรรจุการใช้ “ระบบประเมินความเสี่ยง” ในการช่วยให้ศาลใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเพื่อการประกันตัวผู้ต้องหาโดยไม่ต้องใช้เงินเป็นตัวตัดสิน

การเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ได้หวังแค่กระแสตอบรับชั่วครู่ชั่วยาม หากต้องการผลักดันให้กลายเป็นวาระแห่งชาติ สู่การเปลี่ยนแปลงระบบการฝากขังและปล่อยตัวชั่วคราวในประเทศไทย

เพื่อในภายภาคหน้า กระบวนการยุติธรรมซึ่งควรเป็นที่พึ่งของประชาชนและพึงยึดโยงอยู่กับข้อเท็จจริงและความถูกต้อง จะไม่กลายเป็นเสมือนสินค้าตัวหนึ่งที่ประชาชนต้องซื้อเพื่อแลกกับอิสรภาพอีก


เครือข่ายคนสงขลาปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา


‘เทใจให้เทพา’ กับความรุนแรงครั้งล่าสุด


เหตุการณ์ของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ขึ้นมาพีคสุดจากการสลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำที่เตรียมมายื่นหนังสือให้แก่นายกรัฐมนตรีระหว่างการประชุม ครม.สัญจรในพื้นที่

สร้างความย้อนแย้งในเวลาไม่กี่วัน หลังจากที่รัฐบาลประกาศสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ

ความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกับภาครัฐยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน โดยกลุ่มคัคค้านเห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจะสร้างผลเสียมหาศาลทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในพื้นที่

เริ่มต้นจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 ของกระทรวงพลังงานเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าเพิ่มในช่วงปี 2562-2567 เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยพยายามเพิ่มสัดส่วนจากถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด

โดยการตัดสินใจเกิดขึ้นจากส่วนกลางทำให้ชาวบ้านรู้สึกไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการ อีกทั้งยังตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาหลายด้าน

ซึ่งการจัดเวทีรับฟังความเห็นหลายครั้งมีการปิดกั้นไม่ให้ฝ่ายคัดค้านเข้าร่วม นำไปสู่การตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการ เกิดการประท้วงและยื่นหนังสือให้ทบทวนหลายครั้ง นำมาสู่การปะทะเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่สงขลา



กลุ่มรักษ์เชียงของ


‘รักษ์เชียงของ’ ต้านจีนระเบิดแก่งแม่น้ำโขง

กลายเป็นพื้นที่ของความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่เนืองๆ สำหรับ “แม่น้ำโขง” มหานทีแห่งชีวิตที่ไหลผ่าน 6 ประเทศ คือ จีน ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนามและไทย โดยเฉพาะหลังการเติบโตขึ้นเป็น “พี่ใหญ่” แห่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้ต้นน้ำอย่าง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” กล้าเดินหน้าท้าทาย ทำโครงการเกี่ยวกับแม่น้ำโขงโดยไม่สนผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำ

ในประเทศไทย ภายหลังมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ระหว่างปี 2558-2568 อันจะตามมาด้วยการระเบิดเกาะแก่ง เพื่อเปิดทางให้การเดินเรือพาณิชย์ขนาด 500 ตัน ก่อให้เกิดเสียงคัดค้านอย่างหนักจากชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะ “กลุ่มรักษ์เชียงของ” ที่กังวลว่าโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อธรรมชาติของแม่น้ำโขง

การเคลื่อนไหวเริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี ด้วยการนัดรวมพลและระดมรายชื่อ และยิ่งทวีความเข้มข้นเมื่อเรือสำรวจของจีนได้เข้าเขตพื้นที่ของไทย จนทางกลุ่มต้องติดป้ายต่อต้าน 3 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ แสดงจุดยืนให้หยุดระเบิดแก่ง

กระทั่งวันที่ 19 ธันวาคม 2560 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยว่า จีนมีท่าทีอ่อนลงในเรื่องดังกล่าว โดยบอกว่าหากโครงการนี้สร้างปัญหาต่อประเทศอื่นๆ จีนก็ยินดีจะปรับปรุงหรือยกเลิก

อย่างไรก็ดี กลุ่มรักษ์เชียงของมิได้วางใจต่อท่าทีล่าสุดนี้มากนัก เพราะแม้จีนจะยกเลิกโครงการนี้ไปแต่ก็ยังมีโครงการอื่นที่สร้างผลกระทบต่อประเทศปลายน้ำอยู่ดี อาทิ เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงของจีนที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นยิ่งกว่าในปัจจุบัน





บทสรุป ‘ปล่อยเข้เลพัง’

เป็นเรื่องฮือฮาอยู่พักใหญ่ ภายหลังมีผู้พบเห็นและถ่ายวิดีโอจระเข้ว่ายน้ำแถวหาดเลพัง รอยต่อหาดบางเทา อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ไว้ได้ ทำให้เจ้าหน้าที่เร่งล่าจับตัว ก่อนกรมประมงจะนำไปพักฟื้นในบ่อซีเมนต์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 จ.ภูเก็ต

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า กรณีนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2556 ก็เคยมีรายงานว่าชาวบ้านพบเห็นที่หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต เช่นกัน

ระหว่างนั้นในสังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพจระเข้ “เลพัง” มีท่าทีเครียด ซึมเศร้า และไม่ยอมกินอาหาร ทำให้เกิดดราม่าเรียกร้องปล่อย “เลพัง” กลับสู่ธรรมชาติ

ทำนองเดียวกับ ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ที่ระบุผ่านเฟซบุ๊กภายหลังลงพื้นที่ศูนย์วิจัยดังกล่าวพบว่า ไม่ทราบว่าจระเข้จะซึมเศร้าหรือไม่ แต่ยังไม่ยอมกินอาหาร พร้อมยื่นข้อเสนอแนะคือควรย้ายจระเข้น้ำเค็มไปยังพื้นที่รองรับทางธรรมชาติที่เหมาะสม พร้อมศึกษาทางเลือกในการปล่อยคืนพื้นที่ธรรมชาติ ตลอดจนเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับจระเข้น้ำเค็ม

เป็นผลให้เกิดแคมเปญ “ปล่อยเข้เลพัง Please Release Crocodile” ทางเว็บไซต์ Change.org ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คนไทยให้ความสำคัญและตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดยไม่เบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น เพื่อร้องเรียนถึงผู้ว่าฯภูเก็ต และ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งเขต 5 จ.ภูเก็ต

เรื่องนี้กลับลงเอยที่ไม่สามารถปล่อย “เลพัง” กลับสู่พื้นที่ธรรมชาติได้ เนื่องจากดีเอ็นเอสรุปว่าเป็นจระเข้ลูกผสม จึงไม่สามารถปล่อยในธรรมชาติได้ และจะส่ง “เลพัง” ไปอยู่สวนสัตว์จังหวัดภูเก็ตแทน




ชัยชนะ’ เหนือความต่าง

ไม่อาจปฏิเสธว่า สายตาของคนในสังคมมอง “กลุ่มเพศทางเลือก” ไม่ปกติเท่าไหร่ มิหนำซ้ำยังมีบางส่วนประทับตรา “สิ่งแปลกประหลาด” ให้เขาเหล่านี้

เป็นผลให้ “กลุ่มเพศทางเลือกมช” ทำการเคลื่อนไหวด้วยการพยายามเปลี่ยนแปลงลดคำปรามาสการให้คุณค่าของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ประกอบกับการพากเพียร เห็นคุณค่าของ “การศึกษา” ด้วยหวังว่าการศึกษาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ เพื่อลบคำสบประมาทและการถูกลดทอนคุณค่ากว่า “บุคคลที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด”

สิ่งเหล่านั้นไม่ทำให้พวกเขาเกิดอุปสรรคในการพัฒนาตัวเองด้วยการศึกษาแม้แต่น้อย

กระทั่งวันเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ว่าที่บัณฑิตกลุ่มเพศทางเลือกกลับต้องแต่งกายเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรตามเพศกำเนิด ทำให้เกิดเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิและความชอบธรรม ด้วยการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org ร้องเรียนต่อประธานคณะกรรมการอำนวยการงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และคณะอนุกรรมการฝ่ายพิธีการงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยมีผู้ลงชื่อสนับสนุนกว่า 2,500 คน

ที่สุดแล้ว Change.org ได้ประกาศชัยชนะให้กลุ่มเพศทางเลือกมช เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม มีประกาศจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อนุญาตให้ผู้สำเร็จการศึกษาเพศทางเลือก สามารถแต่งกายตามเพศสภาวะที่แสดงออกในปัจจุบันในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้

ถือเป็นการเปิดใจ ให้โอกาสและยอมรับถึงความแตกต่างที่ไม่เคยแตกแยก




จากน้องเมย ถึงป้ามล(และบิ๊กป้อม)

ปิดท้ายที่การเสียชีวิต “กรณีพิเศษ” ของ “น้องเมย” นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ภายหลังพ่อแม่ร้องต่อสื่อมวลชนถึงการเสียชีวิตของลูกราวกลางเดือนตุลาคม หลังกลับเข้าโรงเรียนเตรียมทหารได้เพียง 1 วัน

รวมถึงไม่ได้รับคำชี้แจงที่ละเอียดจากผู้เกี่ยวข้อง แต่ได้รับเพียงใบมรณบัตรระบุสาเหตุการตาย “ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน”

กระทั่งครอบครัวน้องเมยนำศพส่งผ่าพิสูจน์รอบ 2 จนพบรอยช้ำ ซี่โครงหัก รวมถึงอวัยวะสำคัญหลายส่วนหายไป แม้สุดท้ายแล้ว กองทัพไทยจะออกมาแถลงว่า น้องเมยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ไม่พบบุคคลเกี่ยวข้อง หรือถูกลงโทษในวันเกิดเหตุ แม้ถูกซ่อม 2 วันติด แต่เชื่อว่าไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้ตายแน่นอน

ซ้ำร้ายเรื่องฟกช้ำนั้น แท้จริงแล้วเกิดจาก “การตกบันได 8 ขั้น”

ขณะเดียวกัน พี่สาวของน้องเมยเคยระบุว่า มีนักเรียนในฐานะผู้บังคับบัญชาได้มีการ “ธำรงวินัย” น้องเมยเกินกว่าเหตุ จนทำให้สังคมตั้งคำถามต่อการ “ธำรงวินัย” ว่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตหรือไม่

ทำให้ภายหลังปรากฏคำพูดที่กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์จาก “บิ๊กป้อม” อย่าง “ผมก็เคยโดนซ่อมจนเกินกำลังจะรับได้ จนสลบไปเหมือนกัน แต่ผมไม่ตาย”





ร้อนถึง “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้เชี่ยวชาญด้านเยาวชน และอดีต สปช. ได้โพสต์เฟซบุ๊กเรียกร้องให้ “บิ๊กป้อมลาออกจากตำแหน่ง” เพื่อรับผิดชอบต่อกรณีน้องเมย รวมถึงเป็นผู้สร้างการรณรงค์ “ให้รองนายกประวิตรฯ ลาออก” ผ่านเว็บไซต์ Change.org มูลเหตุจากการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว

ตลอดจนการชันสูตรยังพบข้อบ่งชี้ว่าน้องเมยเสียชีวิตจากการถูกทำร้าย ไม่ใช่ร่างกายอ่อนแอหรือเจ็บป่วยแต่อย่างใด