ระหว่าง “ช่างไม้” กับ “คนทำสวน” “The Gardener and the Carpenter” เป็น “อุปมา” ของแนวทางการเลี้ยงลูกที่ต่างกันสุดขั้ว พ่อแม่ส่วนใหญ่ทำตัวแบบ “ช่างไม้” มีแผนการผลิตชัดเจน มีขั้นตอนการปฏิบัติงานชัดเจน มีแนวทางตายตัวว่า ลูกต้องเข้าโรงเรียนอะไรก่อนหลัง ต้องเน้นการเรียนวิชาไหน เพื่อจะให้ได้ “ผลลัพธ์” ที่ต้องการ ตรงกันข้าม พ่อแม่ที่เป็น “คนทำสวน” มุ่งเตรียมเนื้อนาดินให้อุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย หว่านเมล็ด บำรุงดูแลพืชพรรณต่าง ๆ แต่ต่างจาก “งานไม้” เราไม่อาจคาดหวัง “ผลลัพธ์” ตามที่ต้องการได้ 100% เราไม่อาจคาดหวังได้ว่าพืชพรรณในสวนจะเติบโตขึ้นมาอย่างไร อาจมีต้นไม้อื่นขึ้นแซมมาบ้าง อาจมีการกลายพันธุ์ผิดเพี้ยนไปบ้าง
นักจิตวิทยาระดับโลกอย่าง Alison Gopnik บอกว่าแนวทางการเลี้ยงลูกแบบ “คนทำสวน” สอดคล้องกับหลักวิวัฒนาการของมนุษย์มากสุด สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ เพราะอะไร?
เพราะต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ มนุษย์มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ‘creativity’ ระหว่างการเติบใหญ่ขึ้นมา เด็กจึงต้องการพื้นที่อิสระเพื่อการเรียนรู้ เพื่อจินตนาการ อันนี้คือสิ่งที่ทำให้ ‘play’ “การเล่น” เป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก เขาทดลองเอาของเล่นชิ้นหนึ่งที่ทำงานได้หลายอย่าง ถ้าเด็กแตะถูกปุ่ม มันสามารถส่งเสียงได้ ร้องเพลงได้ ส่องแสงได้ และมีกระจกซ่อนอยู่ข้างใน เขาทดลองโดยแบ่งเด็กเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้เล่น “ของเล่น” ชิ้นนี้เอง โดยครูทำหน้าที่ชี้แนะอยู่ห่าง ๆ แต่เด็กอีกกลุ่มจะมีครูสาธิตวิธีเล่นของเล่นให้ดูอย่างละเอียด ปรากฏว่าเด็กกลุ่มแรกที่ได้ลองผิดลองถูก กดปุ่มนี้กดปุ่มนั้นด้วยตัวเอง สามารถเปิดฟังชันของของเล่นชิ้นนี้ได้หมดเลย ตรงกันข้าม เด็กที่ได้รับการชี้แนะอย่างละเอียด สามารถค้นพบแค่บางฟังชัน เล่นแต่ฟังชันที่ซ้ำ ๆ กัน และไม่ค่อยสนใจอยากรู้อยากเห็นสักเท่าไร
มนุษย์โดยเฉพาะในวัยเยาว์จึงต้องการ “พื้นที่” ที่จะทดลองด้วยตัวเองเสมอ อันที่จริงคำว่า ‘parenting’ ศ. Gopnik ซึ่งสอนที่ UC Berkeley บอกว่าเป็นคำสมัยใหม่ เพิ่งเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายเมื่อ 20-30 ปีมานี้เอง เป็นช่วงที่ “พ่อแม่” ในยุคอุตสาหกรรมเริ่มทำตัวเหมือน “ช่างไม้” กำหนดแผนการที่ตายตัวในการบ่มเพาะเลี้ยงดู ต้องเข้าโรงเรียนนั้น ต้องเข้ามหาวิทยาลัยนี้ ต้องอ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ “ปั้น” ลูกให้เป็นไปอย่างที่ตัวเองต้องการ (ซึ่งส่วนใหญ่มันไม่เป็นอย่างนั้นนะสิ) สิ่งที่นักจิตวิทยาท่านนี้แนะนำคือต้อง “un-parenting” “เลิกทำตัวเป็นเจ้าของผู้ให้กำเนิด” (parent = ผู้ให้กำเนิด) ทำตัวเป็น “เพื่อน” กับลูก เตรียมสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขา แต่ย่าไปคาดหวังกับผลลัพธ์มากนัก ปล่อยวางให้เขาได้เติบโตอย่างที่ต้องการระดับหนึ่ง เพราะมนุษย์ต่างจากสัตว์ ตรงที่มีนิสัยชอบทำอะไรที่สร้างสรรค์มากกว่าจำเจครับ
ถือว่าไม่ใช่ความรู้ใหม่ แต่แป็นความรู้ที่ได้รับการยืนยันจากผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์แล้ว
“Raising and caring for children is more like tending a garden: it involves “a lot of exhausted digging and wallowing in manure” to create a safe, nurturing space in which innovation, adaptability and resilience can thrive.”
Review หนังสือ The Gardener and the Carpenter น่าอ่านมากครับ
https://www.theguardian.com/books/2016/aug/17/gardener-and-the-carpenter-by-alison-gopnik-review
https://www.nature.com/articles/536027a
https://n.pr/2BzKVQW
Pipob Udomittipong